สอนหนังสือ ดูหาเสียง และนักศึกษาไทยในตุรกี (3)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

สอนหนังสือ ดูหาเสียง

และนักศึกษาไทยในตุรกี (3)

 

การคัดค้านตุรกีของสหรัฐในการซื้ออาวุธที่ไม่ใช่ของชาติตะวันตก และการไม่รวมตุรกีเอาไว้ในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ และการคว่ำบาตรหน่วยงานของตุรกีเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดของเรื่องนี้

ข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีใครทราบก็คือ ตุรกีก็เหมือนกับสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ตกเป็นเหยื่อการก่อการร้ายทางอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ โดยมีวิศวกรทางทหารจำนวนหนึ่งเสียชีวิตลงอย่างลึกลับ

นั่นแสดงให้เห็นว่ามีองค์ประกอบบางอย่างที่ไม่พอใจประเทศอย่างตุรกีและอิหร่านที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ อันเป็นการขับเคลื่อนที่ทำลายการผูกขาดของกลุ่มมหาอำนาจตะวันตกกลุ่มเล็กๆ ลงไป

ประสบการณ์ของตุรกีกับมหาอำนาจยุโรปเกี่ยวกับการเข้าร่วมสหภาพยุโรป (EU) ก็คล้ายคลึงกันมากกับประสบการณ์ของอิหร่านเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการร่วมที่ครอบคลุม (JCPOA) อันเป็นข้อตกลงที่ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันให้ยุติการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านหากอิหร่านยุติโครงการนิวเคลียร์ของตนลง

ทั้งนี้ ประเทศในยุโรปไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะกอบกู้ข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 หลังจากฝ่ายบริหารของสหรัฐอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เดินออกจากข้อตกลงเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ การเมืองของตุรกีและอิหร่านยังเป็นหัวข้อของการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากโลกตะวันตก

แม้ว่า 44 ปีของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านจะผ่านไปแล้ว แต่ชาวตะวันตกก็ยังคงไม่เข้าใจความจริงที่ว่าชาวอิหร่านโค่นล้มระบอบเผด็จการที่มีตะวันตกหนุนหลังและเลือกระบอบประชาธิปไตยในการลงประชามติได้อย่างไร

ในทำนองเดียวกัน ประเทศตะวันตกก็มีปัญหาในเรื่องการยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในตุรกี

ดังที่เราจะพบได้ว่าหลังการเลือกตั้ง Adam McConnel อาจารย์มหาวิทยาลัย Sabanci ในกรุงอิสตันบูล ในบทความที่เผยแพร่โดย Anadolu Agency ได้ตำหนิสื่อตะวันตกที่แสดงความไม่เคารพต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวตุรกี

เขากล่าวว่า “หนทางเดียวที่เปิดรับสื่อตะวันตกคือต้องเริ่มต้นด้วยการเคารพตัวเลือกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวตุรกี จากนั้นจึงพยายามทำความเข้าใจตัวเลือกเหล่านั้นอย่างเป็นองค์รวม”

ในส่วนความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับอิหร่านอันเป็นประเทศที่เป็นปรปักษ์กับสหรัฐและพันธมิตรนั้น ผลสำรวจหลายรายการที่จัดทำเมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่าชาวตุรกีส่วนใหญ่มองว่าอิหร่านเป็นมิตรประเทศและต่อต้านการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีต่ออิหร่าน และไม่ไว้ใจพันธมิตรนาโต้

เวทีนี้กำหนดไว้สำหรับการขยายความร่วมมือระหว่างอิหร่านและตุรกีในช่วงที่แอร์โดอานเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีคนใหม่ โดยสอดคล้องกับแรงบันดาลใจของประชาชนทั้งสองประเทศ และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกจากขั้วเดียวเป็นหลายขั้ว

ภาพของเออร์โดอัน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของตุรกีที่มีอยู่ทั่วไปตามจตุรัสสำคัญของประเทศ

นักศึกษาไทยในตุรกี

ตุรกีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นักศึกษาไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเลือกที่จะมาเรียนที่นี่และได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลและองค์กรด้านการศึกษาที่เป็นเอกชนของตุรกี

นอกจากนักศึกษามุสลิมแล้วก็เคยมีนักศึกษาไทยที่ไม่ได้เป็นชาวมุสลิมมาเรียนด้านศิลปะอิสลามอยู่บ้างประปราย

ทั้งนี้ นักศึกษาไทยจะกระจายกันอยู่ในกรุงอิสตัสบูลมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัย IZU (Istanbul Sabahattin Zaim University) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในราวปี 2010

ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยเรียนอยู่ราว 40 คน กระจายอยู่ในสาขาต่างๆ เช่น สาขาการค้าและการเงินระหว่างประเทศ (International Trade and Finance) ซึ่งมีอยู่ราว 10 คน ศาสตร์ว่าด้วยอิสลาม (Islamic Science) ราว 2 คน เศรษฐศาสตร์อิสลาม 5 คน การระหว่างประเทศ (International Relations) 10 คน การเงินอิสลาม (Islamic Finance) 3 คน ครุศาสตร์เอกการสอนภาษาอังกฤษ 6 คน วิศวกรรมซอฟต์แวร์ วิศวกรรมเกษตร พยาบาลและสถาปัตยกรรม อย่างละ 1 คน รวมทั้งสาขาจิตวิทยา (Psychology) อีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนนักศึกษาไทยในกรุงอังการามีอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ราว 15 คน

คุณ อภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ.ถลาง เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอังการา ประเทศตุรกี พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ของตุรกีว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทย-ตุรกี ที่ร้าน Quick China กรุงอังการา

ทูตไทยในอังการา

ในการเดินทางมาเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการสอนกับประเทศตุรกีในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศตุรกี คุณอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง และเจ้าหน้าที่ทางการทูต คือ คุณนาวินี ทลายน้อย อัครราชทูตที่ปรึกษา และ น.ส.อนิสสา นาคเสวี เลขานุการเอก (โดยทั้งสองคนเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ โดยนาวินี (แป้งร่ำ) ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทกับผมเองในสาขาการระหว่างประเทศภาคภาษาอังกฤษ (Master of International Relations MIR) ส่วนอนิสสาเรียนการระหว่างประเทศในระดับปริญญาตรี ภาคภาษาไทย) ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นพร้อมนำเสนอความสัมพันธ์ไทยตุรกีที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านการศึกษา

ทั้งนี้ ตัวของเอกอัครราชทูตไทยเองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของตุรกีมาโดยตลอด

ในโอกาสที่ผมเดินทางมาประเทศตุรกีเพื่อการศึกษา คุณอภิรัตน์จึงได้เชิญบรรดาคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมาพบปะแลกเปลี่ยนและพูดคุยถึงความสัมพันธ์ไทย-ตุรกีในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศ

โดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งกรุงอังการาได้มอบหนังสือว่าด้วยความสัมพันธ์ไทยตุรกีมามอบให้กับผมด้วย

หนึ่งในบทความเล่มนี้มีผู้เขียนชาวไทยคือ ผศ.ดร.ยัซมิน ซัตตาร์ อดีตนักศึกษาไทยที่เรียนจบปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย Istanbul ในกรุงอิสตันบูลรวมอยู่ด้วย

ในระดับปริญญาเอกยัซมินเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องบทบาทของตุรกีที่มีต่อพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันยัซมินที่เคยเรียนกับผมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์ยัซมิน จบปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Jawaharlal Nehru อินเดีย

เป็นหนึ่งในอาจารย์ของไทยที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาว่าด้วยความสัมพันธ์ไทยตุรกีหรือตุรกีศึกษาในแวดวงการศึกษาการระหว่างประเทศของไทย

ส่วนบทความอื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ไทย) ตุรกี จะมาจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของตุรกี

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังการสอน

นักศึกษาไทย

ในสถานการณ์แผ่นดินไหว

ในตุรกี-ซีเรีย

ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกี-ซีเรียที่ผ่านมา เมื่อผมได้มีโอกาสไปสอนที่มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ในกรุงอังการา ช่วงหลังการเลือกตั้งรอบแรกเพียงหนึ่งวัน ผมได้มีโอกาสพบกับอุสมาน วาเต๊ะ นักเรียนไทยที่เรียนอยู่ที่กรุงอังการา ที่น่าสนใจก็คือตัวของอุสมานเอง

ทั้งนี้ อุสมานได้สมัครเข้าร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ยังคงตกอยู่ในสภาพที่มีอาฟเตอร์ช็อกอยู่ติดต่อกันหลายคืนและหลายวัน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจะอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ขนาดความรุนแรงส่งผลกระทบกว้างใหญ่ไพศาลถึง 10 จังหวัด

โดยอุสมานเล่าให้ฟังว่าเมื่อเขารู้ว่ามีองค์กรการกุศลของตุรกีประกาศรับอาสาสมัครที่จะไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจากแผ่นดินไหว เขาได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมทันทีโดยองค์กรการกุศลอาสาสมัครมีข้อแม้ว่าทุกคนที่มาเป็นอาสาสมัครต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อนเพราะอาจมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ตามมา

นักศึกษาไทยที่ชื่อ อุสมาน วาเต๊ะ ซึ่งเรียนอิสลามศึกษา (Islamic Studies) อยู่ที่มหาวิทยาลัยในกรุงอังการาได้ตอบรับการเข้าร่วมกับองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและเข้าไปในพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวอยู่หลายวัน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครครั้งนี้ตัวเขาต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง ทั้งนี้ ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาระหว่างนั้น หรือระหว่างที่มีอาฟเตอร์ช็อก ทั้งผู้ปกครองและองค์กรจะเป็นผู้รับทราบพร้อมกัน

อุสมาน วาเต๊ะ เล่าว่าช่วงหลังการเกิดแผ่นดินไหวใหม่ๆ พื้นที่ที่ได้รับรับผลกระทบเต็มไปด้วยความหนาวเย็น

บรรดาอาสาสมัครจะกางเต็นท์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ ภาพที่เขาเห็นและสัมผัสได้คืออาฟเตอร์ช็อก หลังเกิดแผ่นดินไหวซึ่งมีมาเป็นระลอกๆ โดยบรรดาอาสาสมัครจะเปลี่ยนเวรยามเฝ้าติดตามและคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบและเข้าไปในหมู่บ้านที่อยู่ไกลออกไปจากสถานที่เกิดแผ่นดินไหว

ผมชื่นชมนักศึกษาไทยผู้นี้ที่มีความมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในความสูญเสีย ท่ามกลางความไม่แน่ใจว่าจะมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ตามมาอีกหรือไม่ หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่จะตามมาหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีขนาดความสูญเสียข้ามแผ่นดินจากตุรกีไปจนถึงซีเรีย

การจัดการกับจิตใจของคนจำนวนมากก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งมีผู้คาดหมายว่าหากแอร์โดอานจัดการได้ไม่ดีก็อาจจะเกิดการลุกฮือของประชาชนได้เช่นกันซึ่งจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงภายใน หรือการลุกฮือในรูปของ “การปฏิวัติสี” ได้เช่นกัน แน่นอนว่าแอร์โดอานและพรรคพวกของเขาต้องเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งนี้

ในช่วงหลังแผ่นดินไหวได้ไม่นาน ไม่แปลกใจเลยถ้าแอร์โดอานจะร่วมมือกับทหารในการดูแลประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก เพราะมันเกี่ยวข้องกับการป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติในที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตุรกีได้เหมือนกัน