‘ช่างภาพ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกปากแอ่นหางดำ - พวกมันจำนวนมาก เดินทางหลบความขาดแคลนอาหารมาจากบ้าน มารวมกันบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ช่วงฤดูหนาว

ผมเริ่มต้นด้วยการถ่ายรูปนก

หลังจากใช้กล้องเป็นเครื่องมือทำงานในป่ามานานพอสมควร กระทั่งถึงวันนี้ ผมบอกตัวเองได้ว่า การถ่ายภาพนกหรือสัตว์ป่า ทักษะหรือความชำนาญในเชิงถ่ายภาพนั้น เป็นเรื่องรอง

คุณสมบัติประการแรกที่ต้องมีคือ เรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติมาพอสมควร

รวมทั้งจำเป็นต้องมี “ใจ” ที่ยอมรับว่า สัตว์ป่าคือชีวิต ไม่ได้เป็นเพียง “สัตว์”

สำหรับผม พวกมันไม่ได้เป็นแค่ชีวิตที่เท่าเทียม แต่พวกมันคือ “ครู” ที่สอนเรื่องการถ่ายภาพ และการใช้ชีวิต

เมื่อยอมรับว่าสัตว์ป่าคือชีวิต มีความรู้สึก ไม่ว่าจะรู้สึกรัก หวาดกลัว และมองว่า มนุยษ์เป็นสัตว์อันตราย

หากรู้สึกเช่นนี้ เราจะทำอะไรๆ ที่เป็นการรบกวนพวกมันน้อยลง

นี่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่อง “อนุรักษ์” แต่อย่างใด

ในความรู้สึก ผมไม่คิดว่าผมจะยิ่งใหญ่กว่าชีวิตอื่น

ผมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในธรรมชาติ เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ด้วยซ้ำ ไม่ต่างจากกวาง เก้ง กบ เขียด แมลง ซึ่งทำหน้าที่อยู่ในป่า

 

ตั้งแต่ทำงานกับสัตว์ป่าใหม่ๆ ผมก็พบว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าใด

ปัญหาประการแรก คือ ผมหาตัวสัตว์ป่าไม่พบ

ก่อนหน้านี้ เหล่าสัตว์ป่าผ่านยุคแห่งการทำลายล้างมา ยุคที่ผู้ชายจำนวนไม่น้อยถือว่าการฆ่าสัตว์ป่า เป็นการผจญภัยและเกมกีฬาอย่างหนึ่ง

ขณะชาวบ้านริมป่าออกหาล่าเนื้อได้เก้งสักตัว แบ่งกันกินทั้งหมู่บ้าน แต่พรานชาวกรุง ขึ้นรถจี๊ปส่องไฟยิงกวางคืนละนับสิบต้ว

เป็นเหตุการณ์ที่สัตว์ป่าจดจำและสั่งสอนกันมาตลอดว่า หากเพียงได้กลิ่นคน ก็ให้หลบหนีไปไกลๆ เพราะมนุษย์นั้นอันตราย

 

ผมเริ่มต้นด้วยความอยากเป็นคนถ่ายรูปสัตว์

ตำราเรียนสำหรับเรื่องนี้ คือ หนังสือภาพสัตว์ป่า ที่บันทึกในป่าแอฟริกา ช่างภาพทำงานโดยการนั่งรถแลนด์โรเวอร์เข้าไปหาสัตว์เป็นฝูงในทุ่งกว้าง

มีโอกาสได้เริ่มทำงานในป่าจริงจัง ผมพบว่า การศึกษาเฉพาะตำราการถ่ายภาพสัตว์ป่าในแอฟริกา และนำมาใช้ในป่าบ้านเรา ไม่ได้ผล

คนที่ทำงานในป่า หรือใช้ชีวิตอยู่ในป่ามาตั้งแต่เกิด อย่างลุงสังวาลย์ ลุงกาหลง พรานบุญ ที่ผมได้รู้จัก มีโอกาสได้เดินตาม รับฟังคำสอน พวกเขาคุ้นเคยกับป่า และสัตว์ป่า

คนเหล่านี้แหละคือ “ตำรา” ที่สอนให้รู้ว่า ต้องทำอย่างไรหากอยากพบสัตว์ป่า

 

มีคนเช่นนี้อยู่ในป่าทุกป่า ผมเรียนรู้จากพวกเขา เชื่อฟัง หลายคนพูดภาษาไทยไม่ชัด อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้

แต่ผมยอมรับว่า ผมไม่ได้ “เหนือ” กว่า

พวกเขาช่วยพาผมไปยังแหล่งที่จะพบสัตว์ป่า

ช่วยในการให้ผมซ่อนตัวได้อย่างมิดชิด

สิ่งที่เหลือ ขึ้นอยู่กับตัวผมเอง

นกปากแอ่นหางดำ – พวกมันจำนวนมาก เดินทางหลบความขาดแคลนอาหารมาจากบ้าน มารวมกันบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ช่วงฤดูหนาว

ในช่วงแรกๆ ผมพลาดเสมอ รีบร้อนกดชัตเตอร์ ตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็นกระทิงเดินออกมา และทำให้สัตว์รู้ตัวก่อน พวกมันหยุดยืนนิ่ง เงยหน้าสูดกลิ่น และหันหลังวิ่งกลับเข้าป่า

กระทิงกำลังวิ่งตื่นหนี ฝุ่นกระจาย อาจเป็นภาพที่ดี แต่นั่นคือการทำให้พวกมันพลาดโอกาสในการกิน

ลุงสังวาลย์บอกผมว่า

“ปล่อยให้มันเดินเข้ามากินน้ำ กินแร่ธาตุในโป่งไปสักพักค่อยเริ่มต้นถ่ายภาพ มันจะระแวงน้อยลง อย่างน้อยถ้าพวกมันตื่นหนี ก็ยังได้กินไปบ้างแล้ว”

ครั้งหนึ่ง ขณะอยู่ในซุ้มบังไพร ริมโป่งขนาดใหญ่ กับน้าสนม ผู้ทำงานในป่ามาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ตั้งแต่เช้ามืด กระทั่งบ่ายสามโมง เราพบแต่โป่งอันว่างเปล่า

ราวสามโมงครึ่ง กระทิงตัวผู้ ท่าทางอาวุโสตัวหนึ่งเดินออกมา ด้วยความตื่นเต้น ผมขยับตัว ทำกิ่งไม้ที่พื้นหัก เสียงไม้หักเบาๆ ทำให้กระทิงรู้ตัว มันเงยหน้า ก่อนหันหลังวิ่งกลับไป และทำให้กระทิงอีกหลายตัวที่กำลังจะออกมา ตื่นหนีไปด้วย เสียงห้อตะบึงไป พร้อมกับผมหลบสายตาของน้าสนมที่มองอย่างตำหนิในความอ่อนด้อยของผม

ในยุคสมัยที่กระทิงไม่ได้พบเห็นง่ายเป็นจำนวนมากดังเช่นทุกวันนี้ วันนั้น ผมทำให้เสียโอกาสทั้งผม และกระทิง

น้าสนมบอกผมค่ำวันนั้นว่า “บทเรียนแรก คือ ต้องนิ่งให้เป็น”

 

คุณสมบัติอีกประการในการทำงานในป่า ผมรู้ว่าต้องมีใจที่พร้อมรับกับความผิดหวัง

เพราะหลายครั้งที่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด มีโอกาสที่จะไม่พบเจอสัตว์ป่าเลยทั้งที่ซ่อนตัวอย่างมิดชิด แนบเนียน เป็นเวลาสองสัปดาห์

ถึงที่สุดก็ยอมรับว่า การได้พบเจอสัตว์นั้น เป็นเพราะพวกมันอนุญาต

และผมบอกตลอดเวลาว่า การซ่อนตัวอย่างมิดชิด คล้ายเป็นการขออนุญาตอย่างหนึ่ง

 

กระทั่งถึงวันนี้ แม้ว่าผมจะยังชีพด้วยการเป็น “ช่างภาพสัตว์ป่า”

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้คือ ยิ่งคุ้นเคยกับสิ่งใดมาก ดูเหมือนจะยิ่งรู้จักสิ่งนั้นน้อยลง

ในฐานะที่ทำงานในป่า ใช้กล้องเป็นเครื่องมือ หลายคนเรียกว่าเป็น “ช่างภาพสัตว์ป่า”

ทำให้ผมรู้ว่า แท้จริงแล้ว อาชีพที่ผมทำ ไม่ต้องการ “ช่างภาพ” หรอก

สิ่งที่ผมควรเป็นคือ คนถือกล้อง ที่รู้จักนก และสัตว์ป่าบ้างเท่านั้น… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ