ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
มีการรวบรวมเจ้ากระทรวงในรัฐบาล “เศรษฐา 1” คัดเกรดเอบวก ระดับแบรนด์เนมลักชัวรี่ ที่ประกอบด้วย “มหาดไทย-คมนาคม-เกษตรและสหกรณ์” เป็นสมบัติผลัดกันชมของ 3 พรรคการเมือง คือ “ภูมิใจไทย-เพื่อไทย-พลังประชารัฐ”
“เสี่ยหนู-นายอนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นายทุนพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หัสเดิม ก่อนเลือกตั้ง 3 กระทรวงจะต้องบริหารจัดการโดยพรรคแกนนำ ซึ่ง “พรรคเพื่อไทย” ก็เคยตั้งธงไว้เยี่ยงนี้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อเป็นรัฐบาลผสม เลยต้องผ่องถ่าย คายแก้วทั้ง “มหาดไทย-เกษตรและสหกรณ์”
กาลเวลาล่วงเลยไปไม่ทันไร แค่แป๊บเดียวเอง “ก.เกษตรและสหกรณ์” ป้ายยังแดงแปร๊ด กลับสวมบทหลวงพ่อทันใจ ชนเร็ว เคลมเร็ว นำร่องก่อนใครเพื่อน พลันที่ “ว่าการธรรมนัส” ลงนามในคำสั่ง แบ่งงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วย กำกับดูแล รับผิดชอบ
“นายไชยา พรหมา” จากพรรคเพื่อไทย กำกับดูแล 4 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย 1.กรมปศุสัตว์ 2.กรมฝนหลวง 3.กรมหม่อนไหม 4.องค์การส่งเสริมกิจการโคนมฯ”
ขณะที่ “นายอนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีช่วยอีกคน จากรวมไทยสร้างชาติ กำกับและดูแล 1.กรมการข้าว 2.กรมพัฒนาที่ดิน 3.สำนักงานมาตฐานสินค้าเกษตรฯ 4.องค์การสะพานปลา
11 หน่วยงานหลักสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อื่นๆ “ร.อ.ธรรมนัส” เหมาเข่งมากำกับดูแลเองทั้งหมด ได้แก่ “สำนักงานปลัดกระทรวงฯ-กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์-กรมชลประทาน-กรมส่งเสริมการเกษตร-กรมวิชาการ-สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม-องค์การตลาดเพื่อการเกษตร-กรมประมง-กรมการยางแห่งประเทศไทย
มีข่าวว่า การแบ่งงานของ “ผู้กองธรรมนัส” ซึ่ง 2 รัฐมนตรีช่วย บุญได้หาบให้รับผิดชอบแค่จิ๊บ-จิ๊บระดับ “กุ้งฝอย” ขณะที่เซอร์ลอยน์ ริบอาย สันนอก สันหน้า ส่งเข้าช่องฟรีซ ไว้จัดการเองทั้งหมด
หลังยืนงงในดงกล้วยได้สักครู่ “ไชยา พรหมา” ที่ได้ขึ้นลิฟต์เป็นเสนาบดีหนแรก สวมบทหมูไม่กลัวน้ำร้อน ตามประสามือยังอ่อนประสบการณ์ ปรารภสะท้อนผ่านตามช่องทางสื่อว่า “การแบ่งงานกันกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ การที่ว่าการรับผิดชอบมากถึง 11 หน่วยงานหลัก พูดไม่ได้น้อยใจ แต่เกรงว่าท่านจะงานหนักมากเกินไป เลยต้องพูด ไม่ใช่ขัดแย้ง หรือส่งสัญญาณว่า เกิดรอยร้าว กระทรวงนี้ทำงานร่วมกัน หัวใจเดียวกัน”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดราม่า ปม “เสือแย่งเหยื่อ” ในกระทรวงเกษตรฯ คงไม่มีการทลายห้าง แบ่งปันอำนาจ เกลี่ยงานกำกับดูแลกันใหม่ “ผู้กองธรรมนัส” คงปิดเกมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปีมะโว้
ทีนี้ลองตามไปดู การจำหน่ายจ่ายแจกงานเพื่อกำกับดูแล ข้ามฟากไปอีก 2 กระทรวง เริ่มต้นที่ “มหาดไทย” เจ้าของรหัส “มท.1-เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” ขอกำกับดูแล “กรมปกครอง-กรมโยธาธิการและผังเมือง-การไฟฟ้านครหลวง-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค”
“นายทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.จากภูมิใจไทย รับผิดชอบ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-การประปานครหลวง”
“นายชาดา ไทยเศรษฐ์” ภูมิใจไทย กำกับดูแล “กรมการพัฒนาชุมชน-กรมที่ดิน-การประปาส่วนภูมิภาค”
“นายเกรียง กัลป์ตินันท์-มท.4” ข้าวนอกนาเพียงหนึ่งเดียวจากค่ายเพื่อไทย กำกับดูแล “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย-กรุงเทพมหานคร-องค์การตลาดและองค์การจัดการน้ำเสีย”
“กระทรวงคลองหลอด” แม้ว่าเสนาบดีที่มาบริหาร จะมากันต่างพรรค “นายเกรียง” ถือว่าผลัดถิ่น หลงป่ามาเพียงคนเดียวจากเพื่อไทย นอกจากนั้น ยี่ห้อภูมิใจไทย ค่ายสีน้ำเงินด้วยกันทั้งหมด
แต่เมื่อชำเลืองดูเม็ดงานที่ “มท.1” มอบหมายให้กับ “นายเกรียง” กำกับดูแล ถือว่าไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ หรือดูไม่จืดเสียเลยทีเดียว สมกับสถานะ “มท.4”
ในบรรดา “กระทรวงเกรดเอบวก” ที่การแบ่งปัน แชร์อำนาจกันลงตัว ดูแล้วงามมากที่สุด ต้องยกเครดิตให้ “คมนาคม” ที่ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ จัดสรร แบ่งงานออกมาดีกว่าใครเขาเพื่อน
“นายสุริยะ” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ กำกับดูแล 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย “กรมทางหลวง-กรมทางหลวงชนบท-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร-สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย-สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม-สถาบันฝึกอบรมระบบราง-กรมท่าอากาศยาน-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย-บมจ.ท่าอากาศยานไทย”
“นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยเบอร์ 2 กำกับดูแล “กรมการขนส่งทางบก-กรมการขนส่งทางราง-บริษัท ขนส่ง จำกัด-การรถไฟแห่งประเทศไทย-บริษัทเอสอาร์ที แอสเสท-บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย-บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย”
“นางมนพร เจริญศรี” รมช.ที่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน ว่ามีรายการเดียว เป็นเงินฝากในบัญชี 3 ธนาคาร ยอดเงินแค่ 6,819 บาท ได้กำกับดูแล “กรมเจ้าท่า-องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ-การท่าเรือแห่งประเทศไทย-สถาบันการบินพลเรือน-บริษัทโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ”
สาเหตุที่การแบ่งงานกันกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ไม่มีใครหือใครอือ ดูดีกว่า “เกษตรและสหกรณ์-มหาดไทย” เงื่อนไขหนึ่งมาจาก ทั้งระนาบรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วย 2 คนมาจากสังกัดเดียวกันคือ “พรรคเพื่อไทย” พูดจาภาษาดอกไม้ด้วยกันได้
ถึงตอนนี้ ทั้ง 3 กระทรวงเกรดเอบวก “มหาดไทย-คมนาคม-เกษตรและสหกรณ์” ระหว่าง “ว่าการ-รมช.” แบ่งงานกันกำกับดูแล ลงตัวเรียบร้อยหมดแล้ว ใครสังกัดพรรคการเมืองใด รับผิดชอบส่วนไหน มากและน้อยต่างกัน ตามชื่อชั้น
ทายซิว่า 3 เกรดเอข้างต้น กระทรวงไหน “กระสุนตก” จะตกใส่หลังคาบ้านพังพาบหลังแรก
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022