การต่างประเทศไทย : อะไร? | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

นโยบายรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน หลายนโยบายมีความสำคัญ เป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจไทยภายใต้การนำของรัฐบาลที่ผ่านมาประสบปัญหาสำคัญเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเนื่องจากเศรษฐกิจไทยผูกพันกับระบบทุนนิยมโลก ครั้นระบบทุนนิยมโลกเกิดภาวะชะลอตัว เศรษฐกิจไทยก็ชะลอตัวตามไปด้วย

ในเวลาเดียวกัน ในระบบทุนนิยมโลก การต่างประเทศของประเทศต่างๆ สัมพันธ์กับระเบียบเศรษฐกิจโลกต่างๆ อย่างสำคัญและแยกจากกันไม่ได้

ดังนั้น การต่างประเทศย่อมมีส่วนสำคัญในการกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย การเข้าใจการต่างประเทศในโลกยุคใหม่ย่อมก่อประโยชน์นานัปการ

ด้วยเหตุนี้ บทความนี้ขอนำเสนอประเด็นเรื่อง การต่างประเทศไทยเป็นหลัก

 

การต่างประเทศไทย : อะไร?

การต่างประเทศไทย : อะไร? หาใช่คำถามแนววิชาการขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด แต่ความสลับซับซ้อนของระเบียบระหว่างประเทศในโลกสมัยใหม่ทำให้การนิยามและการดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องยุ่งยากและสัมพันธ์กับมิติต่างๆ มากมาย การต่างประเทศหาใช่แค่ การทูตแบบเดิมๆ กล่าวคือ การทูตแห่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาติเท่านั้น

การต่างประเทศไทย อะไรน่าจะเป็นคำถามหลักที่ควรต้องตอบให้ได้ก่อน ทั้งนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อคิดและงานเขียน 9 ปีกับทศวรรษที่สูญเสียของการต่างประเทศ ของอดีตเอกอัครราชทูต รัศม์ ชาลีจันทร์ ที่เสนอต่องานสัมมนา1 ก่อนที่จะมีรัฐบาลเศรษฐา 1 และก่อนที่ท่านเอกอัครราชทูตท่านนี้จะได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลปัจจุบัน2

ท่านทูตมองว่า “…10 ปีภายใต้ประยุทธ์คือ ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ ของการต่างประเทศไทย การทำรัฐประหารในปี 2014 ทำให้ไทยสูญเสียจุดยืนในสายตานานาชาติ เนื่องจากรัฐบาลขึ้นสู่อำนาจโดยขาดความชอบธรรม ส่งผลสืบเนื่องให้ไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างอิสระได้ …” (เน้นโดยผู้เขียน)

“…การขึ้นสู่อำนาจ ด้วยการรัฐประหาร เป็นการยากที่รัฐบาลจะอธิบายให้นานาชาติเข้าใจได้ เมื่อชาติตะวันตกคอยถาม ย้ำๆ ซ้ำๆ ถึงเรื่องประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยก็ไม่สบายใจที่จะตอบ เลยโน้มเข้าหาชาติที่ไม่แตะประเด็นภายในเหล่านี้มากกว่า …” (เน้นโดยผู้เขียน)

 

ยิ่งเปลี่ยน ยิ่งเหมือนเดิม คำถามสำคัญ

ไม่มีใครเถียงว่า รัฐประหารในปี 2014 สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยอย่างมาก การรัฐประหารเป็นการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขาดความชอบธรรมแน่นอน แล้วทำให้โดยเฉพาะชาติตะวันตกวิตกกังวลต่อประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชนแน่นอน

อีกทั้งรัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหารไม่มีทางหาคำตอบคำถามนี้ในเวทีนานาชาติได้ อันนี้ไม่นับการบอยคอตผู้นำรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งในแต่ละยุคเกิดขึ้นจริงๆ แต่ถูกรัฐบาลสมัยนั้นปิดบังเอาไว้

เช่น หลังรัฐประหาร 2006 รัฐบาลต่อมานายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่สามารถเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการได้

เช่นเดียวกัน รัฐประหารปี 2014 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาบอยคอตรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลสหรัฐไม่ขายอาวุธ ไม่ช่วยเหลือทางการทหาร ระงับความช่วยเหลือโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาของนายทหารนักศึกษาไทย และระงับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลไทย

ดังนั้น การต่างประเทศไทยยุคนั้นเลยเลือกโน้มเข้าหาชาติที่ไม่แตะต้องประเด็นภายในเหล่านี้มากกว่าก็คงจริง การต่างประเทศไทยจึงหันไปใกล้ชิดกับจีน ชาติที่ไม่เน้นเข้าไปก้าวก่ายการเมืองภายในของไทย

ในทางตรงกันข้าม เท่ากับจีนรับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารด้วย

เช่นเดียวกัน การต่างประเทศไทยไปได้ดีมากกับรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมา แถมยังคุยได้ด้วยว่า ผู้นำทหารไทยใกล้ชิดกับผู้นำทหารเมียนมามากกว่ารัฐบาลพลเรือนเสียอีก

คำถามคือ การต่างประเทศของไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะดำเนินนโยบายอย่างไรกับจีนและสหรัฐอเมริกา เพราะข้อจำกัดของการเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารได้หมดสิ้นไปแล้ว

ความจริง ปัญหารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็เรื่องหนึ่ง แต่การต่างประเทศของไทยท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ดังกล่าวนี้ยุ่งยากและสลับซับซ้อนแม้ต่อประเทศที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

โจทย์การต่างประเทศไทยที่ถกเถียงกันมาในหมู่ผู้นำทางนโยบายต่างประเทศก็ยังคงเป็น ไทยจะมีบทบาทอย่างไรต่อสหรัฐอเมริกาหรือจีน ชื่อเรียกเท่ๆ ด้านการต่างประเทศของชาติเล็กๆ อย่างไทย ไร้ความหมาย ไร้เสน่ห์

ชาติเล็กๆ อย่างไทยไม่ใช่ผู้เล่นหลักในภูมิรัฐศาสตร์ใหม่นี้

 

วิกฤตการณ์การเมืองเมียนมา
วิกฤตการณ์ของการเมืองไทย

การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว การเมืองไทยกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้ว นับว่าไทยโชคดีกว่าเมียนมามากๆ

วิกฤตการณ์การเมืองเมียนมายังคงวิกฤตต่อไป ไร้ทางออกอย่างสันติวิธี แย่ไปกว่านั้น วิกฤตการณ์เมียนมาบั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะผู้คนที่อพยพหนี้ภัยสงครามก็ก่อปัญหาให้หลายๆ ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีกทั้งเราไม่ควรลืมคนโรฮิงญาที่ลี้ภัยสู้รบ ความอดอยาก ปัญหาชาติพันธุ์จากเมียนมาไปบังกลาเทศ

การอพยพลี้ภัยสงครามนับว่ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แย่ยิ่งกว่านั้น ยังมีเรื่องการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทับซ้อนปัญหาการลี้ภัยสงครามในเมียนมาอีกด้วย ในเวลาเดียวกัน

นอกจากประเด็นด้านมนุษยธรรมแล้ว การอพยพลี้ภัยสงครามยังก่อปัญหาด้านเศรษฐกิจต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

ดังที่หลายๆ ท่านอ้างถึงอยู่ตลอดว่า ด้วยพรมแดนไทย-เมียนมายาวร่วม 3,000 กิโลเมตร น่าอนุมานได้ว่า ไทยย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจากวิกฤตการณ์การเมืองเมียนมามากกว่าประเทศใดๆ

ผลกระทบที่รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลได้รับคือ ชาติตะวันตกและชาติอาเซียนประสานเสียงมาตลอดว่า ไหนรัฐบาลไทยประกาศว่าตนเป็นเพื่อนรักของรัฐบาลทหารเมียนมา แล้วเพื่อนรักอย่างไทยทำไมไม่สามารถโน้มน้าวให้ผู้นำทหารเมียนมารับข้อเสนอคือ ฉันทามติ 5 ประการของอาเซียน

ที่สำคัญคือ ปล่อยผู้นำฝ่ายค้าน นางออง ซาน ซูจี และผู้นำฝ่ายค้านคนอื่นๆ จัดให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสระและยุติธรรม อนุญาตให้ผู้แทนต่างชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้

แต่ว่าบทบาทของรัฐบาลไทยกี่ยุคกี่สมัยต่อวิกฤตการณ์เมียนมา ยิ่งเปลี่ยน ยิ่งเหมือนเดิม

นำเมียนมาสู่อาเซียนอีกครั้ง

ถึงแม้จะมีการเรียบเรียงประเด็นเชิงนโยบายการต่างประเทศของไทยในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินอีกมากมาย ผู้เขียนกลับคิดว่า หลายสิ่งหลายอย่างเป็นนโยบายเชิงนามธรรม เชิงหลักการ หลายสิ่งดี เช่น นโยบายสีเขียว คือนโยบายต่างประเทศที่สอดรับกับนโยบายสำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) แต่ในเมื่อหลายท่านเน้น ทศวรรษแห่งความสูญเสียด้านการต่างประเทศไทย โดยเฉพาะจากเวทีอาเซียนและเวทีโลก

ผู้เขียนคิดว่า หากเราแปลงวิกฤตการณ์การเมืองเมียนมาเป็นโอกาส คือไทยเป็นชาติหลักที่นำเมียนมากลับคืนสู่ระเบียบระหว่างประเทศภายใต้อาเซียน นอกจากอาเซียนจะร่วมมือทางการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง การเมืองภายในหาใช่ข้อห้ามของอาเซียน อันเป็นความสำเร็จของอาเซียนอีกครั้งเหมือนที่เคยสำเร็จในครั้งยุคสงครามเย็น เหมือนเมื่อครั้งสงครามกลางเมืองกัมพูชา ผลสำเร็จเชิงภูมิภาคของอาเซียนที่มีไทยเป็นแกนหลัก ย่อมทำให้บทบาทของไทยโดดเด่นอีกครั้งหนึ่งในเวทีโลก

วิกฤตการณ์เมียนมาที่เคยเป็นวิกฤตการณ์การเมืองไทย เป็นสิ่งบ่อนทำลายชื่อเสียงของประเทศไทยด้านมนุษยธรรม เป็นตัวบั่นทอนความน่าเชื่อถือต่อไทยในเวทีการเมืองโลกมานานหลายทศวรรษ จะคลี่คลายลง แน่นอนการต่างประเทศมีทั้งศาสตร์และศิลป์ มีทั้งประนีประนอมและกดดัน มีทั้งพลังทางการทูตและพลานุภาพทางการทหาร

หากผู้นำทางนโยบายของไทยเห็นความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคและของโลก แล้วประยุกต์เพื่อการต่างประเทศยุคใหม่ เปลี่ยนวิกฤตการณ์เมียนมาเป็น ประเด็นเมียนมา เปลี่ยนการต่างประเทศไทยเป็น ยิ่งเปลี่ยน ยิ่งไม่เหมือนเดิม

เราจะได้ฝังกลบ ทศวรรษแห่งความสูญเสียการต่างประเทศ ไปเสียที


1 เพ็ญพิชชา มุ่งงาม ยิ่งเปลี่ยน ยิ่งเหมือนเดิม? : ความท้าทายและทิศทางการต่างประเทศไทยในรัฐบาลใหม่ 101 World 13 กันยายน 2023

2 ท่านดำรงตำแหน่งในกระทรวงการต่างประเทศนาน 30 ปี เป็นอดีตเอกอัครราชทูต เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns