17 ปีรัฐประหาร 19 กันยา ความขัดแย้ง หวนมา…กลายพันธุ์ (จบ) รัฐประหาร 2557 สร้างคนรุ่นใหม่ ให้ต่อต้านรัฐบาล

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

17 ปีรัฐประหาร 19 กันยา

ความขัดแย้ง หวนมา…กลายพันธุ์ (จบ)

รัฐประหาร 2557

สร้างคนรุ่นใหม่ ให้ต่อต้านรัฐบาล

 

วิบากกรรมของระบอบประชาธิปไตยภาค 2 ต้องกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งปี 2549 ยังเป็นเด็ก พอมาถึงปี 2557 ก็เป็นหนุ่มอายุ 15-25 ปี จึงได้รับรู้ประวัติศาสตร์การเมืองในอดีต มาบ้างพอสมควร และก็ได้มาเห็นของจริงหลังการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2557

1. พวกเขาเห็นการใช้อำนาจเผด็จการ จึงไม่พอใจต่อกระบวนการยุติธรรม

ในระยะเวลา 10 กว่าปี กระบวนการในการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่ยุติธรรม ไม่มีมาตรฐาน หากแต่มีการเลือกบังคับใช้เฉพาะคนเฉพาะกลุ่ม

ลักษณะเผด็จการของคณะ คสช. คล้ายกับยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการจับกุมคุมขังผู้แสดงความเห็น หรือต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ เริ่มจากการที่จับกุมนักการเมือง และบุคคลต่างๆไปคุมขังปรับทัศนคติ ชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช ก็ผิดกฎหมาย

มีการทำลายคู่แข่งทางการเมือง ปกป้องพวกเดียวกัน ป.ป.ช.มีมติให้ข้อกล่าวหาต่อผู้นำรัฐบาลและทหาร กับพวก ที่เกี่ยวข้องสลายการชุมนุมที่มีคนเสียชีวิต เมื่อปี 2553 ตกไป ให้ไปหาคนยิงคนฆ่ามาฟ้องเอง

2. เกิดความไม่พอใจต่อสภาพเศรษฐกิจที่มีผลทำให้ตนเองและคนส่วนใหญ่ในสังคมต้องมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เพราะรัฐประหารปี พ.ศ.2549 และ 2557

ทำลายความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ 9 ปีที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้งบประมาณไปมากถึง 28 ล้านล้าน แต่คนยากจนมากกว่าเดิม หนี้ครัวเรือนปี 2566 สูงถึง 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ของ GDP เฉลี่ยเกือบ 560,000 บาทต่อครัวเรือน

คนหนุ่มสาวในวันนี้จะเป็นผู้รับกรรมพวกเขาจะต้องทำงานใช้หนี้ไม่น้อยกว่า 30 ปี ในขณะที่คนค้าขายก็ขาดทุน ธุรกิจ SME ล้มมากมาย

 

3. ความไม่พอใจต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

หลังรัฐประหาร 9ปี การคอร์รัปชั่นกลับเพิ่มมากขึ้นทุกวงการ

ทั้งในการเมืองและในระบบราชการ ทหาร ตำรวจ ศาสนา การศึกษา ตุลาการ ตั้งแต่ชั้นบนลงมาถึงชั้นล่าง มีระบบส่วย มีการซื้อตำแหน่ง ทำให้มาเฟียมีอำนาจ

ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก รถไฟ เรือเหาะ รถเกราะ เครื่องบิน เรือดำน้ำ สัมปทานเหมืองทอง

ประชาชนรู้ว่า คสช.ต้องสืบทอดอำนาจ เพราะกลัวจะถูกเล่นงานย้อนหลัง

 

4. ความไม่พอใจต่อระบบการเมือง

การร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปูทางสืบทอดอำนาจโดย ให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน…มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภาด้วย

มีการใช้เงินดูด ส.ส.ให้ย้ายพรรค

ดังนั้น พรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามที่ประชาชนเลือกได้ รัฐบาลจึงต้องกลายพันธุ์

แถมรัฐธรรมนูญ 2560 ดีไซน์ไว้ให้ การแก้ในสภาทำได้ยากมาก

 

ความขัดแย้งกลายพัน

เพราะการเกิดขึ้น

ของอนาคตใหม่ และก้าวไกล

ในสายตาของกลุ่มอำนาจเก่าพรรคทักษิณคือผู้ร้ายตัวหลักจนกระทั่งการเลือกตั้งในปี 2562 ก็มีพรรคอนาคตใหม่ปรากฏตัวขึ้นอย่างรวดเร็วสร้างความสั่นสะเทือนให้กลุ่มอำนาจเก่าและฝ่ายอนุรักษนิยมทุกระดับ

พรรคอนาคตใหม่ประกาศว่า ไม่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเข้าเลือกตั้ง เพื่อส่งใครไปเป็น ส.ส. หรือส่งใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พวกเขาตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับคนไทยเท่าเทียมกันใน 3 มิติ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ดังนั้น จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การล้มล้างผลของการรัฐประหาร ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปองค์กรอิสระ

 

คู่ขัดแย้งแปรเปลี่ยน

ในเมื่ออนาคตใหม่…ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย กลุ่มอำนาจเก่าจึงต้องต่อต้านด้วยแผนเดิมที่ทำกับไทยรักไทย คือ ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการพรรค 10 ปีด้วย

แต่ผลก็คือ พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคก้าวไกลและเติบโตรวดเร็วมากขึ้น มีความนิยมมากขึ้น ผลการเลือกตั้งล่าสุด ที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเกิน 14 ล้านได้ ส.ส. 151 คน จึงกลายเป็นผู้ร้ายตัวหลักของกลุ่มอำนาจเก่า

แต่การชิงคะแนนในการเลือกตั้งทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ขัดแย้งกันมากขึ้น และที่สำคัญแนวทางในการดำเนินงานของพรรคการเมืองทั้งสองมีความแตกต่างในขณะที่เพื่อไทยยอมประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่า และฝ่ายอนุรักษนิยมอื่นๆ

พรรคก้าวไกลยังเลือกเดินแนวทางที่จะต่อสู้แตกหัก ทั้งสองแนวทางนี้ทำให้มวลชนที่สนับสนุน 2 พรรคมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

คน 14 ล้านที่เลือกก้าวไกลไม่ยอมประนีประนอม กับกลุ่มอำนาจเก่า แถมคนที่เลือกเพื่อไทยประมาณ 50% ไม่อยากให้จัดรัฐบาลข้ามขั้ว

นี่คือพลังพื้นฐานที่จะเป็นตัวหลักของความขัดแย้ง ต่อให้พรรคการเมืองคุยกันได้ ประชาชนใช่ว่าจะยอมตาม

ดังนั้น หลังเลือกตั้งเมื่อมีรัฐบาลกลายพันธุ์ ความขัดแย้งก็กลายพันธุ์ตาม

 

การแก้รัฐธรรมนูญ

เพื่อเลือก ส.ส.ร.และร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ยาลดวิกฤตการเมือง

เรื่องนี้เป็นเป้าหมายหลักในทางการเมือง ที่ฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรค ประชาชน นักเรียน นักศึกษามีความมุ่งมั่นว่าจะต้องแก้ไข

ถ้าไม่ทำแล้วปัญหาที่ตามมาจะมีมากมายเพราะรูปธรรมในการตั้งรัฐบาลก็ปรากฏให้เห็นแล้วถึง 2 ครั้งถ้ากรณีนี้พรรคเพื่อไทยและพรรครัฐบาลไม่ยอมทำ แต่ขัดขวางหรือถ่วงเวลา จะเกิดเป็นความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่ได้

ดังนั้น การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงจะกลายเป็นจุดปะทะทั้งในสภาและนอกสภา

ทีมวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลชุดนี้น่าจะฉลาดพอ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญโดยการตั้ง ส.ส.ร.นั้นไม่ใช่ทำได้สำเร็จโดยเร็ว โดยกระบวนการแล้วทั้งการลงประชามติ…ร่างกฎเกณฑ์ที่จะคัดเลือก ส.ส.ร. ระยะเวลาการคัดเลือก… แม้คัดเลือกได้มาแล้วก็ต้องมานั่งถกเถียงประชุมกัน ซึ่งกว่าจะเสร็จน่าจะประมาณ 3 ปี… กว่าจะลงมติและนำมาใช้ได้ก็น่าจะอีกครึ่งปี

ดังนั้น เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถ้าพิจารณาในด้านกลับน่าจะเป็นคุณประโยชน์ต่อรัฐบาลที่จะช่วยประคอง ให้รัฐบาลอยู่ยืด จนเกือบครบ 4 ปี แต่ถ้าทำช้าไป 4 ปีอาจจะไม่เสร็จ

 

บทสรุปของวิกฤตการเมืองในรอบ 17 ปี

ความขัดแย้งจะปะทุอีกครั้ง

อดีตที่เริ่มต้นด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ในปี 2549 สุดท้ายได้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่สร้างปัญหาให้กับประเทศ และทำให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุด กำลังจะกลายเป็นวิกฤตการเมืองในเร็วๆ นี้ถ้าไม่หาทางแก้ไขให้ถูกวิธี

ตอนนี้รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าต้นทุนทางการเมืองไม่สูงนัก เพราะมีคน 20 ล้านที่ไม่ค่อยพอใจตั้งแต่จัดรัฐบาลข้ามขั้ว แต่ยังให้โอกาสและจับตาดูการทำงานตามที่เคยสัญญาไว้ ถ้ามีอะไรที่ผิดพลาดขึ้นมา การต่อสู้เรียกร้องก็จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันคนอีก 20 ล้านซึ่งเดิมก็นั่งดูอยู่เฉยๆ แต่ถ้าความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจจะลุกขึ้นมาสมทบด้วย การสลายขั้วอาจเกิดขึ้นจริงเพื่อมารวมกันเรียกร้องต่อรัฐบาล

ในระยะ 2-3 เดือน ถ้ารัฐบาลไม่แสดงเจตนาหรือการกระทำที่มุ่งมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงใจหรือกลัวอำนาจเก่า ก็จะกลายเป็นความขัดแย้งกับประชาชนจนเกิดการต่อสู้ทางการเมืองขึ้นมาได้

ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองต้องแก้ไปพร้อมกัน บทเรียนการต่อสู้ของประชาชนกับรัฐบาลอย่างรุนแรงในอดีตนั้นไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจโดยตรง แต่เป็นปัญหาการเมือง