‘ดร.โจ ก้าวไกล’ สแกน ‘จุดอ่อน’ นโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

หมายเหตุ : “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” สนทนากับ “ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร” หรือ “ดร.โจ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อดีตรองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ในประเด็นว่าด้วยนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ของรัฐบาล ผ่านทางรายการ “มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์” ออกอากาศในช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 17 กันยายน

 

: ทำไมถึงเลิกทำงานที่แบงก์ชาติ แล้วมาร่วมงานกับพรรคก้าวไกล?

จริงๆ คือผมไม่ได้ลาออกจากแบงก์ชาติเพื่อมาทำงานการเมือง ผมลาออกมาก่อนแล้ว ด้วยทำมาสัก 10 กว่าปี ก็รู้สึกอิ่มตัว อยากจะหาความท้าทาย เปิดประตูบานใหม่

เป็นช่วงที่อยู่ระหว่างพักผ่อนและหาโอกาสใหม่อยู่ ก็มีคนชวนไปทำงานอยู่หลายที่พอสมควร แต่มีอยู่วันหนึ่ง ก็ได้เจอกับเลขาฯ ต๋อม ชัยธวัช (ตุลาธน) เจอกับคุณวิโรจน์ (ลักขณาอดิศร) ได้มีโอกาสคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน

เราก็สนใจและอยากจะเปลี่ยนสังคมเพื่อคนรุ่นถัดไป รุ่นลูก รุ่นหลาน ก็เลยคิดว่า ถ้าเราลองทำดูแล้วมันเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นได้ ก็เป็นเป้าหมายชีวิตอย่างหนึ่งที่อยากจะทำ

: เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่?

ต้นปีครับ ตอนนั้นยังไม่ยุบสภา (ศิโรตม์ – แล้วไปเจอกับชัยธวัชและวิโรจน์ได้อย่างไร?) ที่ร้านอาหารครับ มีการนัดกิน (ระหว่าง) พวกกลุ่มเด็กวิศวะ จุฬาฯ ผมเป็นรุ่นน้องคุณชัยธวัชน่าจะสัก 3 ปี (เป็นรุ่นน้อง) ของคุณวิโรจน์อาจจะสัก 4 ปี

 

: เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ตกลงตอนนี้ถ้าฟังรัฐบาล เหมือนกับว่าแหล่งที่มาของเงินยังไม่ชัด ถ้าเกิดให้ ดร.โจ ช่วยประเมิน คิดว่าแหล่งที่มาของเงินมันจะเป็นอย่างไร?

ถ้าได้ดูการอภิปราย (การแถลงนโยบายของรัฐบาล) ที่รัฐสภา มีการพูดถึงแหล่งที่มาของเงินค่อนข้างเยอะเหมือนกัน แล้วก่อนหน้านี้ ท่านนายกฯ เศรษฐา (ทวีสิน) หรือทางพรรคเพื่อไทยก็บอกมาตลอดว่าทำได้ ไม่ต้องกู้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะเราดูแหล่งเงินแล้ว ยังไงมันก็ไม่พอ 5.6 แสนล้านบาทมันเยอะมากนะครับ

เพราะว่าเงินที่สามารถเอามาให้รัฐบาลบริหาร 20 กระทรวง จริงๆ มันมีอยู่แค่ 4 แสนล้าน มันมีงบฯ ที่ต้องถูกกันไว้ใช้อยู่แล้วเยอะมาก แล้วจะไปใช้ 5.6 แสนล้านเพื่อมาแจกในดิจิทัลวอลเล็ต มันเลยเป็นคำถาม เป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่มาก ว่าเขาจะเอา (เงิน) มาจากไหน? ถ้าไม่กู้

ถ้าจะให้วิเคราะห์ตอนนี้ คือถ้าดูจากคำชี้แจงอะไรต่างๆ คือผมคิดว่ายังไงก็คงต้องกู้ แล้วจะกู้กับใคร? อันนี้เป็นคำถาม (สำคัญ) มากว่าเราจะเอา (เงิน) มาจากไหน?

 

: พรรคเพื่อไทยบอกว่าเขามีวิธีบริหารจัดการงบฯ ให้ไม่ต้องกู้ มันมีความเป็นไปได้จริงๆ หรือไม่? ทำไมเพื่อไทยถึงยืนยันเรื่องนี้?

ที่เขาพูดแบบนั้น สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่เขาอยากจะออกเงินดิจิทัลนี้มาเป็น “โทเคน” ก็คือบอกว่าเป็น “สิทธิ์ในการใช้เงิน” ไม่ได้ออกมาเป็น “เงินจริงๆ” แบบ “อี-มันนี”

เพราะว่าถ้าออกมาเป็นโทเคน เขาอาจจะยังไม่ต้องเตรียมเงินไว้แบ๊กอัพทันที เขาก็เลยคิดว่า ถ้ากำหนดระยะเวลา 6 เดือน แล้วออกมาเป็นโทเคนก่อน แล้วอีก 6 เดือนค่อยเอาโทเคนนี้มาแลกเป็นเงิน ค่อยเตรียมเงินไว้ในช่วง 6 เดือนให้หลัง อันนั้นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่ง ถ้าจะให้ผมเดา

 

: อธิบายเรื่อง “โทเคน” ก่อน เพราะชาวบ้านงงว่าออกเงินมาเป็น “โทเคน” นี่คืออะไร?

ก็คือว่าจริงๆ เวลาเราใช้เงิน-โอนเงินกันปกติ เราได้เงินมาปุ๊บ มันก็สามารถไปใช้เป็น 1 บาทได้เลย แต่ “โทเคน” เนี่ย เขาเรียกว่าเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” ประเภทหนึ่ง ซึ่งอันนี้เขาออกมา (แล้ว) บอกว่า 1 โทเคน ก็คือ 1 บาท

ผมเอาไปซื้อ สมมุติ อาจารย์ศิโรตม์ขายหมูปิ้งอยู่ ผมไปซื้อหมูปิ้งกับอาจารย์ศิโรตม์ อาจารย์ศิโรตม์รับโทเคนผมไป อันนี้ก็คือต้อง “เชื่อ” ว่าโทเคนนี้มีมูลค่า อาจารย์ต้องเอาโทเคนนี้ไปซื้อ (เนื้อ) หมูได้ แล้วร้านขายหมูรับโทเคนหรือเปล่า? ถ้าร้านขายหมูรับ ร้านขายหมูจะต้องเชื่อว่าเขาสามารถเอาโทเคนนั้นไปซื้อหมูที่เป็นหมูสดมาได้

แต่ว่าท้ายที่สุด มันจะต้องแลกเป็นเงิน ตอนจบมันต้องเป็นเงินอยู่ดี (ศิโรตม์ – เพราะฉะนั้น เรื่องของการหาเงินสดมาเคลียร์ยังไงก็ต้องเกิดขึ้น?) ใช่ แต่ว่าจะเกิดขึ้น ณ จุดไหน? เวลาใด?

แต่เนื่องจากความที่มัน (โทเคน) ไม่ได้เทียบเท่ากับเงินได้จริงๆ ดังนั้น บางทีมันอาจจะมีการลดมูลค่าลงไป เพราะการใช้มันจะยากกว่าใช้เงิน

(ผู้ประกอบการบางส่วน) อาจจะไม่อยากรับ (โทเคน) ก็ได้ ถ้าสมมุติ อาจารย์ขายหมูปิ้ง มีคนหนึ่งเอาเงินสดมาให้ แต่ผมบอกขอซื้อด้วยโทเคนได้ไหม? (ศิโรตม์ – ผมก็เอาเงินสดอยู่แล้ว) เพราะฉะนั้น ถ้าจะรับโทเคน อาจารย์อาจจะขึ้นราคานิดหน่อย แบบนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้

มันเป็นเรื่องที่เขาเรียกว่า “Price of Money” (หมายความ) ว่าเงินที่มันมีศักดิ์ไม่เท่ากัน บางทีมันจะมีราคาที่ไม่เท่ากัน

 

: ตกลงเงิน 5.6 แสนล้าน น่าจะต้องกู้?

หลายคน (ในรัฐบาล) บอกว่า (โทเคนในดิจิทัลวอลเล็ต) สามารถจะเอามาแลกเป็นเงินสดได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอจบหกเดือน ถ้าอย่างนั้น เขาต้องเตรียมเงินเพื่อมาให้แลกนะครับ

เพราะฉะนั้น ก็คือรัฐบาลต้องมีกระแสเงินสดมากพอตลอดช่วงโครงการนี้ ซึ่งดูแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าเขามีกระแสเงินสดที่มากพอ ถ้าไม่กู้

 

: พอพูดถึงเงินดิจิทัล คนขายของมักกังวลว่าตัวเองจะได้เงินคืนยากไหม? เท่าที่ได้ฟังรัฐบาลพูดมา คิดว่าเขาได้แก้ปัญหาเรื่องนี้เอาไว้หรือยัง?

ก็มีการกำหนดเงื่อนไข นอกจากใช้ในรัศมี 4 กิโล (ยัง) บอกว่าถ้าเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ถึงจะแลกเป็นเงินสดเข้าบัญชีธนาคารได้

อันนี้ก็จะเป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้ร้านค้ารายเล็กไม่สามารถจะแลกโทเคนนี้มาเป็นเงินได้ เพราะฉะนั้น เขาจะต้องหาวิธีที่จะจ่าย (โทเคน) ออก และตอนที่เขาจะรับ (โทเคน) เขาก็ต้องลังเลแล้วว่า ถ้าเขารับไปแล้วมันจะเป็นภาระที่จะต้องไปหาทางใช้หรือไม่? เขาจะใช้ได้หรือเปล่า?

(ยกตัวอย่าง) ร้านหมูปิ้งเจ้าเดิมเลย ถ้ารับมาแล้ว ไม่สามารถไปแลกเป็นเงินได้ด้วยตัวเอง ต้องใช้ (โทเคน) ให้หมดนะครับ เขาก็จะลำบากแล้ว

 

: ในฐานะคนที่เคยอยู่แบงก์ชาติ แนวคิดรัฐบาลเรื่องแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตมันกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงไหม? แล้วรัฐบาลประเมินว่าเขาจะทำให้จีดีพีประเทศโตได้ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ด้วย คิดว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มันจะทำให้เศรษฐกิจโตได้จริงหรือเปล่า?

อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสงสัย เพราะถ้าเรามาดูนโยบายแจกเงิน หลายประเทศเคยทำ แล้วนักเศรษฐศาสตร์เขาก็มีวิธีในการวัดผล ก็คือเขาวัดว่ารัฐบาลแจกเงินออกมา 1 บาท มันไปทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้นได้เท่าไหร่? ซึ่งจากการที่เขาวัดผลกันมา นโยบายแจกเงินพวกนี้ ส่วนมากแจกไป 1 บาท มันไม่ได้ทำให้จีดีพีโตถึง 1 บาท

อย่างญี่ปุ่นทำ จ่ายไป 1 บาท โตแค่ 0.2 บาท โตแค่ 0.5 บาทอย่างมาก เขาก็เลยมาดูว่า ปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อการทำให้นโยบายแจกเงินนี้มันช่วยขยายจีดีพีได้ ก็ได้ข้อสรุปว่ามันขึ้นอยู่กับจังหวะขยายตัวของการบริโภค หรือเป็นจังหวะที่การบริโภคหดตัว

อย่างช่วงที่เป็นโควิด แน่ชัดเลยว่าการบริโภคหดตัว เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจมันไม่ได้เกิด จังหวะอย่างนั้นอาจจะเป็นจังหวะที่เหมาะในการใช้นโยบายกระตุ้นด้วยการแจกเงิน

แต่ว่าช่วงจังหวะที่การบริโภคกำลังขยายตัวอยู่แล้ว มันจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ของนโยบายพวกนี้ต่ำมาก จากตัวเลขสถิติที่ทั้งไอเอ็มเอฟได้ศึกษามา หรือถ้าเราไปดูที่ญี่ปุ่นที่อเมริกาเคยทำ อัดฉีดไป 1 บาท มันไม่ได้โตถึง 1 บาท

เพราะฉะนั้น ถ้าให้ผมมอง ก็คือมองว่ามันไม่คุ้มที่จะทำ เพราะมันจะสร้างภาระทางการคลังมหาศาล 5.6 แสนล้าน เราเอาไปทำอะไรได้เยอะมากครับ