Monster สัตว์ประหลาดตัวไหน ที่เธอเป็น?

วัชระ แวววุฒินันท์

ผมกำลังเขียนถึงภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “Monster” ที่เพิ่งออกฉายไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดีกรีของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การได้รับรางวัล “บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ในปีนี้มาสดๆ ร้อนๆ

ยืนยันได้จากการฉายรอบพรีวิวในเทศกาลดังกล่าว เมื่อหนังจบลง ผู้ชมพากัน Standing Ovation นานถึง 6 นาที

ยิ่งเมื่อได้ดูชื่อของทีมงานเบื้องหลังแล้วก็คงไม่มีข้อสงสัย เพราะเป็นฝีมือการกำกับของ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” หนึ่งในผู้กำกับฯ รุ่นใหม่ฝีมือฉกาจของญี่ปุ่น คอภาพยนตร์อาทิตย์อุทัยน่าจะเคยชมผลงานของเขามาบ้าง อย่าง “Shoplifters” “Like Father Like Son” และ “Broker”

และที่เขียนบทจนได้รับรางวัลก็คือ “ยูจิ ซากะโมโตะ” ที่เคยฝากผลงานเขียนไว้หลายเรื่อง เช่น “Tokyo Love Story” และ “Mother” ซึ่งเรื่องหลังนี้เคยถูกรีเมกด้วยฝีมือคนไทยมาแล้ว

ส่วนงานดนตรีนั้นก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ก็มาจากฝีมือของ “ริวอิจิ ซากะโมโตะ” ที่เคยทำดนตรีให้กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “The Last Emperor” เมื่อปี 1987 หลังจากที่เขาทำงานชิ้นนี้ไม่นานก็เสียชีวิตลง เรื่องนี้จึงนับเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของเขา

หากชมหนังเรื่องนี้แล้วจะพบความเยี่ยมยอดของดนตรีที่เขาทำให้กับหนังได้อย่างดี

 

นักดูหนังที่อาจจะไม่ค่อยชื่นชอบหนังญี่ปุ่น ด้วยมีสไตล์เนิบช้า นิ่ง นานนั้น สำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่แบบนั้น การเดินเรื่องฉับไว ตัดต่อเล่าเรื่องให้ชวนติดตามตลอด ยิ่งดูก็ยิ่งพลิกความคาดหมายไปเรื่อยๆ รับรองว่าชมได้ไม่เบื่อครับ

ซึ่งผู้เขียนบทเองก็สามารถสร้างวิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจได้อย่างฉลาด เพราะหากดูจากภาพรวมของเรื่องก็คือ หนังเกี่ยวกับความผูกพันของเด็กชายสองคนที่มีบ้านและโรงเรียนเป็นส่วนประกอบของชีวิต ดูทั่วๆ ไปธรรมดาๆ

แต่ยูจิได้ใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบหนัง “ราโชมอน” คือการมองผ่านสายตาและความคิดของตัวละครหลัก ซึ่งทำให้คนดูได้ค่อยๆ รู้จักตัวละครแต่ละตัวในมุมที่ต่างออกไปจากการรับรู้เดิม และได้เห็นถึงที่มาที่ไปของการกระทำนั้นๆ

ที่บางครั้งก็กลายเป็น “หน้ามือกับหลังมือ” ไปเลย

หากดูจากโปสเตอร์ของหนัง จะเห็นเด็กชายสองคนในสภาพมอมแมม หันหน้ามาหากล้อง นั่นคือสองตัวละครหลักของเรื่องที่ชื่อ “มินาโตะ” กับ “โยริ” ทั้งสองเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกัน ในโรงเรียนคนอื่นจะไม่ได้เห็นถึงความสนิทสนมของคนทั้งสอง หากว่าความสัมพันธ์นั้นมันได้งอกงามเมื่อพวกเขาได้ใช้เวลาร่วมกันกับโลกภายนอก โดยเฉพาะกับโลกภายนอกที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อหลีกหนีจากความเป็นจริงที่ชวนหดหู่และเป็นทุกข์

ข้อเขียนนี้อาจจะไม่ได้เล่าอะไรได้มาก เพราะอาจจะไปเป็นการเฉลยถึงเรื่องราวที่ผู้เขียนใช้กลวิธีซ่อนไว้ หากใครอ่านแล้วสนใจไปชม จะได้ชมแบบไม่รู้อะไรมาก่อน

“สัตว์ประหลาดตัวไหน ที่เธอเป็น?”

เราจะได้ยินประโยคนี้จากเด็กทั้งสองตลอดทั้งเรื่อง ชวนให้คิดว่า สัตว์ประหลาดคืออะไร และใครคือสัตว์ประหลาด

“ถ้าผ่าเอาสมองของคนเราออกไป แล้วเอาสมองหมูมาใส่แทน เราจะยังคงเป็นคนอยู่ไหม?” นี่เป็นประโยคที่มินาโตะถามแม่ของเขาในตอนต้นเรื่อง ซึ่งแม่ หรือ “ซาโอริ” ก็ประหลาดใจว่าลูกถามทำไม

ประกอบกับซาโอริสังเกตเห็นพฤติกรรมที่แปลกไปของลูกชาย บางครั้งก็มีเลือดออกเหมือนโดนทำร้าย เมื่อสอบถามก็มักจะไม่ใคร่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่พอคะยั้นคะยอมากเข้า มินาโตะก็บอกว่าเป็นฝีมือของ “ครูโฮริ” ที่เป็นครูประจำชั้น

ถ้าเป็นราโชมอน นี่ก็เป็นตัวละครตัวแรกที่เราจะมองผ่านมุมมองและความรู้สึกของซาโอริ ผู้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ได้สัญญากับสามีที่เสียชีวิตไปว่าจะดูแลลูกชายคนเดียวให้ดีที่สุด เธอทำงานหนักที่ร้านซักแห้ง พอๆ กับที่ต้องจัดเวลาเพื่อดูแลมินาโตะ

เหตุการณ์ที่เกิดกับลูกนี้มากเข้าจนเธอต้องพุ่งไปที่โรงเรียน เพื่อร้องเรียนและหาความจริง

 

หนังได้ปูลักษณะของซาโอริว่าเป็นผู้หญิงที่เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง และไม่ยอมใครง่ายๆ เราจึงได้เห็นการปะทะกันระหว่างเธอกับเหล่าครูที่ดาหน้ามาพบเธอเพื่อขอโทษเท่านั้น

หนึ่งในนั้นคือตัวละครสำคัญอีกตัวคือ “ครูโฮริ” ที่ตอนแรกเหล่าครูใหญ่และครูอื่นๆ ต่างไม่ให้มาเผชิญหน้ากับซาโอริ แต่ภายหลังจำต้องยอม ท่าทีกระอักกระอ่วนของเขาที่พูดแต่ “ขอโทษๆ” พร้อมก้มหัวคำนับอยู่อย่างนั้นของโฮริก็ยิ่งสร้างอารมณ์เดือดดาลให้กับซาโอริอย่างมาก

ฉากที่เธอเหลืออดและถามครูใหญ่ที่เอาแต่ก้มหน้าว่า “ที่ฉันพูดอยู่ด้วยนี่เป็นคนหรือเปล่า?” นั้น แสดงออกถึงความคับแค้นและความไม่พอใจที่ระอุอยู่ข้างในอย่างมาก

ช่วงแรกนี้เราจะได้เห็นการเลี้ยงดูของผู้เป็นแม่อย่างซาโอริ จะว่าไปเธอเป็นแม่ที่ไม่ได้บังคับลูกอย่างเข้มงวดแต่อย่างใด แถมยังมีวิธีการพูดจาที่สบายๆ ไม่คาดคั้นกับลูก แม้เมื่อลูกทำหรือพูดอะไรที่ชวนโกรธ ชวนสงสัยก็ตาม เธอพยายามเก็บอารมณ์และทำให้บรรยากาศระหว่างเธอกับลูกไม่เลวร้ายจนเกินไป

และศัตรูที่เธอจ้องเอาเรื่องจนถึงที่สุดก็คือ “ครูโฮริ”

ช่วงถัดมา หนังจึงเล่าเรื่องของครูโฮริผู้นี้บ้าง เราจะได้เห็นว่าสิ่งที่เรารับรู้ผ่านผู้เป็นแม่และเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงแรกนั้น มันมีคำตอบในช่วงที่สองนี้เองว่า แท้จริงแล้วครูโฮริเป็นคนอย่างไร เป็นครูชนิดไหน และที่แสดงออกอย่างนั้นเพราะมีที่มาอย่างไร

ซึ่งในหนังช่วงนี้เราจะได้เห็นความน่ารังเกียจของครูใหญ่ ครูผู้บริหาร และโรงเรียนแห่งนี้อย่างมาก โดยเฉพาะครูใหญ่ที่เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้เกิดความอึมครึม เพื่อปกปิดความจริงไม่ให้โรงเรียนของเธอเสียชื่อเสียง มีเรื่องมีราวจนถูกสอบสวนเอาผิดจากภาครัฐได้ ชื่อเสียงและหน้าตาของโรงเรียนเป็นสิ่งที่เธอต้องปกป้อง และยอมให้แปดเปื้อนไม่ได้เด็ดขาด

เช่นเดียวกับชีวิตส่วนตัวของเธอ ที่มีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น และเธอก็ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อปกป้องชื่อเสียงและหน้าตาของตนเอง แท้จริงแล้วในใจของเธอนั้นรู้สึกผิดอยู่ลึกๆ

ผู้แสดงเป็นครูใหญ่ก็คือ ผู้เคยรับบท “โอชิน” ที่โด่งดังในอดีต เธอยังแสดงได้อย่างลุ่มลึกและซับซ้อนสมกับที่อยู่ในวงการมานานเช่นนี้

 

ในช่วงท้ายของหนังจะเป็นการเล่าผ่านตัวเอกอย่าง “มินาโตะ” บ้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้ เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ของมินาโตะ กับโยริ ที่ค่อยๆ ก่อประสานกันขึ้นมา จนนำไปสู่เหตุการณ์ในตอนจบที่เชื่อว่าจะค้างคาใจของผู้ชมแน่นอน

มินาโตะ โตมากับแม่ ในขณะที่โยริ โตมากับพ่อเพียงลำพัง เรื่องสมองหมูและการเป็นสัตว์ประหลาดนี้ก็เป็นผลพวงมาจากคำพูดของผู้เป็นพ่อที่มีต่อโยริ พ่อของโยริเป็นแบบฉบับของผู้ชายที่เอาตัวเองเป็นหลัก มีความสุขจากการกินเหล้าและเที่ยวบาร์เด็กดริ๊งก์ ไม่เคยให้ความอบอุ่นกับลูก มีแต่การตะคอกบังคับ และใส่หัวให้ลูกชายถึงความเป็น “ผู้ชาย” ในแบบที่เขาเชื่อ

เมื่อเด็กสองคนมาใกล้ชิดกันจึงเหมือนเป็นการเติมเต็มให้กันและกัน แต่นั่นก็เป็นเพียงหลังฉาก เพราะเมื่ออยู่ต่อหน้าเพื่อนๆ ที่ชั้นเรียน โยริที่มักถูกเพื่อนกลั่นแกล้งรังแกอยู่บ่อยๆ ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเข้าข้างจากมินาโตะเลย เขาเลี่ยงโดยการเดินหนีปัญหาด้วยความสับสน เพื่อหลีกเลี่ยงการล้อเลียนจากเพื่อนว่ามาคบหากับสัตว์ประหลาดอย่างโยริ

แต่ท้ายที่สุดแล้ว มินาโตะก็ยื่นมือเข้ามาช่วยโยริในแบบฉบับของเขา ที่โยรินั้นเข้าใจและเห็นในความหวังดีนั้นเต็มเปี่ยม

เด็กทั้งสองสับสนกับชีวิตและโทษชะตากรรมในปัจจุบัน จนคิดถึงเรื่องการ “เกิดใหม่” ที่เชื่อว่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่มีอยู่ได้ พวกเขามีสถานที่ลับแห่งหนึ่งในป่ารกใกล้ๆ กับเมือง มันเป็นตู้ขบวนรถไฟเก่าที่ถูกทิ้งร้างไว้ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่ว

ทั้งสองช่วยกันสร้างให้ตู้ขบวนรถไฟนั้นเป็นเหมือนสวรรค์ของพวกเขา เขาพูดคุย หัวเราะ เล่นเกม และกินขนมกันอย่างมีความสุข เกมที่พวกเขาเล่นที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ความผูกพันของทั้งสองคือ “สัตว์ประหลาดตัวไหนที่เธอเป็น?”

สัญลักษณ์ของตู้รถไฟในความเชื่อของทั้งสองคนคือ พาหนะที่จะพาพวกเขาเดินทางไปยังจุดหมายที่มีความสุขรออยู่ นั่นคือ “การเกิดใหม่”

ในวันหนึ่งที่เกิดพายุรุนแรงพัดสู่เมือง เกิดดินถล่มและไฟฟ้าดับ เด็กสองคนได้หายไปจากบ้าน แน่นอนที่ทั้งสองได้มาที่ตู้รถไฟนี้ ด้วยความรุนแรงของพายุทำให้ตู้รถไฟพลิกคว่ำลงจากจุดเดิม และถูกต้นไม้ดินโคลนถล่มทับ

เมื่อพายุสงบ แสงแดดสดใสสว่างสาดไปทั่วเมือง ชวนให้เกิดความสุข ภาพที่ผู้ชมได้เห็นนั้นกลับเป็นภาพที่เหมือนจะเปี่ยมด้วยความสุข แต่ก็เต็มไปด้วยคำถามและความสงสัยว่าเป็นภาพความจริงหรือความฝันกันแน่ ส่วนจะเป็นอย่างไรคงต้องไปชมกันเอง

 

ชื่นชมฝีมือการแสดงของเด็กชายทั้งสองที่ถ่ายทอดออกได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะตัวเอกอย่าง “มินาโตะ” นั้น ซึ่งแสดงโดย “โซยะ คุโระคาวะ” ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา โซยะเป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น พ่อเป็นคนไทย เลยมีความรู้สึกภูมิใจเสริมนิดๆ

“สัตว์ประหลาดตัวไหนที่เธอเป็น?”

หากจะดูจากเรื่องทั้งหมดแล้ว พบว่าเราทุกคนสามารถเป็นสัตว์ประหลาดของคนอื่นได้เสมอ หากเรามีความคิดมีการแสดงออกที่แตกต่างจากคนนั้นๆ เราก็พร้อมจะเป็น “สัตว์ประหลาดในสายตาของเขา” ได้ไม่ยาก

และกระบวนการลงโทษหรือกำจัดสัตว์ประหลาดจึงเกิดขึ้นด้วยวิธีต่างๆ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ นั่นเป็นความเลวร้ายอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์

เหมือนกับที่ตัวละครแต่ละตัวในเรื่องนี้ได้ถูกกระทำ

ประโยคหนึ่งที่ตัวละครผู้กระทำ ได้พูดกับผู้ถูกกระทำว่า “เรื่องจริงเป็นยังไง ไม่มีใครสนใจหรอก” นั้น มันเจ็บปวดหัวใจยิ่งนัก

หากจะถามว่า “ในโลกใบนี้ ใครเป็นสัตว์ประหลาดกันแน่?” จึงมีคำตอบอยู่ที่ว่านี้เอง •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์