ความซับซ้อนของเขาวงกต แห่งประวัติศาสตร์ไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ทั้ง “ประวัติศาสตร์” และความเป็น “ชาติ” ของไทย ถูกสร้าง และยังผลิตซ้ำโดยรัฐอยู่บ่อยครั้งโดย หลวงวิจิตรวาทการ เมื่อครั้งรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งสองสมัยเลยนะครับ

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯ เพราะเป็นนายกฯ คนก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนี้ ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ ต่อเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ

จนกระทั่งวันที่ 16 ธันวาคม ปีเดียวกัน ได้มีการประกาศให้ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการดำรงตำแหน่งในครั้งนั้น โดยมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นหัวหอกสำคัญในกิจการด้านวัฒนธรรมของรัฐบาล

กล่าวโดยสรุป ในช่วงเวลาที่จอมพลชื่อแปลกคนนี้ ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก ระหว่างปี พ.ศ.2481-2487 นั้น หลวงวิจิตรวาทการได้ใช้ประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมีรูปแบบต่างไปจากประวัติศาสตร์แบบประเพณีนิยมของไทย ที่มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้นำและตัวอย่างสำคัญ ซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มาเป็นพื้นฐานสำคัญในการนิยาม “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย”

เพราะสิ่งที่หลวงวิจิตรวาทการเน้นย้ำที่สุดก็คือ “ชาติไทย” เป็นชาติของคน “เชื้อชาติไทย”

 

หลวงวิจิตรวาทการได้เคยจำกัดนิยามความหมายคำว่า “เชื้อชาติ” ตามความเห็นของท่านเอาไว้ว่า

“คำว่าเชื้อชาติ หรือ Race หมายถึงการที่มนุษย์มีเชื้อสาย ภาษา วัฒนธรรม ขนบประเพณี และชีวิตความเป็นอยู่อย่างเดียวกัน…ชาติ…คือส่วนรวมของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน ร่วมโชคชะตากัน”

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ศาสตราจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ อีกหนึ่งหญิงนักประวัติศาสตร์ ซึ่งทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับหลวงวิจิตรวาทการ กับการสร้างความเป็นไทย ไว้มากเสียจนเรียกได้ว่าเป็นผู้ชำนัญการเฉพาะทาง จะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ในรัฐบาลจอมพล ป. 1 เอาไว้ว่า

“ในทศวรรษ 2480 นี้ (คือสมัยที่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก) หลวงวิจิตรวาทการไม่ได้เน้นความเจริญทางศิลปะของไทยแต่โบราณ (ตามอย่างประวัติศาสตร์สกุลสมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพ) แต่เปลี่ยนมาเน้น ‘นิสสัย’ หรือ ‘จิตใจ’ หรือ ‘ศีลธรรม’ ของคน ‘เชื้อชาติไทย’ สามารถสร้าง ‘ชาติไทย’ ให้เป็น ‘ชาติอารยะ’ และเป็น ‘มหาอำนาจในแหลมทอง’ ได้สำเร็จ”

ในบางยุคสมัย ประวัติศาสตร์จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับบงการ และหล่อหลอมคนในชาติ ให้มี “จิตใจ” และ “นิสัยใจคอ” ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเอื้อต่อความเจริญของชาติ (ตามทัศนะ หรือ “ข้ออ้าง” ของชนชั้นนำ)

เฉพาะกรณีของหลวงวิจิตรวาทการนั้น อ.สายชล ได้อธิบายว่า

“ได้ใช้วิธีนำคุณลักษณะเหล่านี้ใส่เข้าไปในบริบทสมัยสุโขทัย เพื่อแสดงให้เห็นว่า ‘คนไทย’ ในอดีต ได้เคยมีคุณลักษณะเหล่านี้จริง”

ในขณะเดียวกัน ความเป็นไทยอย่างนี้ก็เบียดขับเอาความเป็นอื่นออกไปด้วยนะครับ

เพราะในเมื่อ “ชาติ คือส่วนรวมของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติเดียวกัน” คนเชื้อชาติอื่นก็ย่อมไม่ใช่คนในชาติไทย ยิ่งไม่ใช่ผู้ที่ “ร่วมโชคชะตากัน” กับคนเชื้อชาติไทยอีกด้วยแน่

และยิ่งแน่นอนอีกด้วยว่า มี “จิตใจ” และ “นิสัยใจคอ” ที่ต่างไปจากคนไทย (เป้าประสงค์ใหญ่ในสมัยนั้นมุ่งไปที่คนจีนที่มีอยู่มาก และแม้ว่าโดยพื้นเพ หลวงวิจิตรวาทการจะเป็นลูกจีนด้วยก็ตาม)

“ประวัติศาสตร์” ที่ผูกพันกับ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” แบบนี้ สำคัญเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายของรัฐบาล “ท่านผู้นำนิยม” ของจอมพล ป. เพราะในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งท่านผู้นำของชาติไทยอยู่นั้น ได้ออก “รัฐนิยม” จำนวน 12 ฉบับ ที่มีเนื้อหาไล่มาตั้งแต่เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย (ตามเชื้อชาติของคนในชาติ) วัฒนธรรมความเป็นอยู่ การแต่งกาย เพลงชาติ ฯลฯ

แน่นอนว่า ในกรณีนี้ประวัติศาสตร์ มีบทบาทเป็นเครื่องมือให้รัฐสามารถบงการร่างกาย, จิตใจ และนิสัยใจคอของประชาชนภายในรัฐ เพื่อเอื้อต่อความเจริญของชาติตามทัศนะ หรือ “ข้ออ้าง” ของคนชั้นนำนั่นเอง

 

จอมพล ป.ก้าวลงจากตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2487 เนื่องจากเกือบนำประเทศตกเป็นผู้แพ้สงคราม เพราะประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (แต่ก็ที่ทราบกันดีว่า ไทยโชคดีเป็นอย่างมาก ไม่ตกเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย)

และแม้จะต้องโทษจำคุก อันเป็นผลจากการเป็นผู้นำประเทศครั้งแรก แต่จอมพล ป.ก็ยังมีบารมีพอที่จะทำให้นายทหารบางกลุ่ม ซึ่งนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ กระทำการรัฐประหาร แล้วเชิญจอมพลท่านกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกสมัยหนึ่ง เมื่อเรือน พ.ศ.2491

แต่ “ความเป็นไทย” ในรัฐบาลจอมพล ป. 2 ที่ยังคงมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นหัวหอกทางด้านวัฒนธรรมเหมือนเดิม กลับไม่เน้นย้ำที่ “เชื้อชาติไทย” เหมือนในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.สมัยแรก

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่จอมพล ป.ไม่สามารถยึดครองอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จเหมือนเมื่อครั้งรัฐบาลจอมพล ป. 1 เพราะในสถานการณ์ “สงครามเย็น” ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้จอมพลท่านนี้ต้องพยายามร้องหาความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์

สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ นอกเหนือจากต้องสร้างดุลอำนาจระหว่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมืองของจอมพล ป. ซ้ำยังมีอิทธิพลอย่างสูงในรัฐสภา เป็นหัวหอกสำคัญในการฟื้นฟู “จารีตนิยม” และ “กษัตริย์นิยม” ที่ถูกหลายฝ่ายทำให้กลับมามีพลังสูงขึ้นมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (โดยเฉพาะหลังเกิดกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อเรือน พ.ศ.2489)

จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการจึงต้องหันกลับมาเชิดชูภาพตัวแทนของ “ความเป็นไทย” ที่โดดเด่นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ “พระพุทธศาสนา” และ “พระมหากษัตริย์” เพื่อลดแรงเสียดทานจากขั้วจารีตนิยม พร้อมๆ กับที่เน้นย้ำถึงอันตรายของลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อสถาบันกษัตริย์ และพระพุทธศาสนา

ในช่วงรัฐบาลจอมพล ป. 2 นั้น หลวงวิจิตรวาทการจึงเพียรพยายามจะชี้ให้เห็นอยู่บ่อยครั้งว่า หากคอมมิวนิสต์ยึดประเทศไทยได้แล้ว ความเป็นไทยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ และพระพุทธศาสนาจะต้องถูกทำลายลงไปอย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกัน จอมพล ป.เองก็ดูจะปรับตัวให้กับแนวคิดแบบจารีตนิยมได้ดี ด้วยการดึงตัวเองเข้ากับพ่อขุนรามคำแหง และอุดมคติของความเป็นสุโขทัย ที่ถูกสร้างภาพให้เป็นขุดกำเนิดของอาณาจักรของคนไทย ซ้ำยังเป็นราชธานีแห่งแรกอันยิ่งใหญ่ของผู้ที่มีเชื้อชาติไทยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อพรรคการเมืองว่า “เสรีมนังคศิลา” การอุปถัมภ์พุทธศาสนา การจัดแสดงละครเวทีเรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ไปจนถึงการบูรณะซ่อมแซมเมืองเก่าสุโขทัย

ถึงแม้ว่า จอมพล ป. ดูจะไม่โปรดปรานนัก กับการให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างนี้ เพราะไม่ต้องการให้สถาบันมีอำนาจเหนือผู้นำประเทศ จนทำให้หลวงวิจิตรวาทการได้ทำงานใกล้ชิดกับจอมพลชื่อแปลกท่านนี้น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่ก็ทำให้จารีตนิยมแบบเก่ากลับเข้ามาอยู่ใน “เขาวงกตของประวัติศาสตร์ไทย” นับแต่นั้นเป็นต้นมา จะต่างจากเดิมก็เพียงแต่ ไม่ได้เป็นเขาวงกตที่สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ของชนชั้นสูงเพียงอย่างเดียวเหมือนแต่เดิม เพราะในหลายครั้งก็ยังสวมเครื่องแบบลายพรางของทหาร เพื่อคอยเฝ้าระวังภัยให้กับอธิปไตยของอุดมการณ์ชาตินิยมไทย จนทำให้เขาวงกตของประวัติศาสตร์ไทยทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ