‘ตัก’ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ (1)

ญาดา อารัมภีร

เพลงเกี่ยวกับ ‘ตัก’ สะท้อนความรักความใกล้ชิด คนรักกันนอนหนุนตักกัน เช่น “หนาวตัก” ของ อิงอร นักเขียนสมญา ‘ปลายปากกาจุ่มน้ำผึ้ง’ และ ครูสมาน กาญจนผลิน ศิลปินแห่งชาติ

“ดูซิดู ใครสอน ให้นอนหนุนตัก

ซุกซนนัก ไม่กลัวน้องจะหมองศรี”

หรือ “ตักที่น่านอนตาย” อีกเพลงที่โด่งดังของวงดนตรีดิอิมพอสซิเบิ้ล

“ตักคุณน่าหนุนนอนตาย อวบอวบละม้ายคล้ายหมอน

หากผมได้หนุนนอน จะลืมตาช้อนขึ้นสบตา”

‘ตัก’ ในเพลงโดยมากเป็นชายหนุนตักหญิงเพราะเนื้อแน่นนุ่มกว่าชาย สบายกว่ากัน เพลงส่วนใหญ่มักสงวนตักหญิงไว้ให้ชายคนรักหนุนนอน แต่ ‘ตัก’ ในวรรณคดีเปิดกว้างกว่าทั้งตัวคนและจุดประสงค์การใช้ เริ่มจากเจ้าของตักใช้เอง เด็กและผู้ใหญ่ใช้ตักของอีกฝ่ายได้ในฐานะลูกหลาน คนรัก ไปจนถึงผัวเมียก็มีให้เห็น

คำว่า ‘ตัก’ บ่อยครั้งที่วรรณคดีใช้ว่า ‘เพลา’ ออกเสียงว่า (เพฺลา) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่าหมายถึง ตัก, ช่วงขาตั้งแต่เข่าถึงโคนขา ราชาศัพท์ใช้ว่า พระเพลา

 

บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เมื่อสังคามาระตารู้ว่าคำตอบของเรื่องที่สงสัยเป็นดังคาด ก็หัวเราะและออกอาการถูกใจ

“สรวลพลางตบเพลาเข้าทันใด นั่นฤๅมิใช่พระราชา”

การ ‘ตบเพลา’ หรือ ‘พระเพลา’ เป็นได้ทั้งอารมณ์พึงพอใจและโกรธแค้น ในนิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” เมื่อท้าวพรหมทัตประจักษ์ว่า นางยักษ์คือต้นเหตุทำให้พระมเหสีและโอรสพลัดพรากไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

“ตบพระเพลาผางผางทางประภาษ เหวยอำมาตย์จับอีกาลีหญิง

อย่าให้มันทำฉะอ้อนวอนประวิง ไปถ่วงทิ้งเสียในกลางทะเลวน”

‘ตัก’ ยังเป็นที่ระบายความหมั่นไส้ได้เป็นอย่างดี ดังกรณีของนางอรุณรัศมี แต่งงานแล้วแต่ไม่ยอมเข้าหอกับเจ้าบ่าว นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” บรรยายท่าทีพระมเหสีท้าวทศวงศ์ ดังนี้

“นางพระยาว่าไม่ไปจะได้หรือ พลางฉุดมือหลานขวัญให้ผันผาย

ดูดู๋ดื้อถือตัวไม่กลัวยาย ทำเหลียวซ้ายแลขวาหาไม้เรียว

แล้วนางตีที่ตรงน่องนั้นสองแปะ เข้ากอดแกะยุดยื้อทำมือเหนียว

พลางหยิกเพลาเบาบิดนิดนิดเดียว ทำเข่นเขี้ยวขู่ทีนี้กลัวมิกลัว”

ส่วนนางจินตะหรากับอิเหนา เมื่อเดินไปสุดทางปรารถนาก็หยอกเอินกันด้วยความเสน่หา ดังที่บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” บรรยายว่า

“พระจุมพิตชิดเชยปรางทอง พลางประคองเล้าโลมโฉมเฉลา

กัลยาหยิกตีที่พระเพลา หยอกเย้าแย้มสรวลชวนสำราญ”

 

ตักเป็นที่แสดงความรักระหว่างกันได้เป็นอย่างดี ในบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” หลังจากนางวานรินทร์นางฟ้าถูกสาป ยินยอมพร้อมใจเป็นของหนุมานแล้ว ท่าทีทั้งคู่เป็นดังนี้

“วายุบุตรยุดหยอกก็หยิกข่วน เย้ายวนยั่วอารมณ์สมหมาย

ทำกระชดกระช้อยชม้อยชม้าย เอียงอายเอนทับลงกับเพลา”

แม้ยามตายจาก การประคองศีรษะอีกฝ่ายวางแนบตักสะท้อนความอาลัยรักยากจะหักหาย ดังกรณีของพระลักษณวงศ์สั่งประหารพราหมณ์เกสร เมื่อศีรษะขาดกระเด็น ‘กลับเป็นหญิงพริ้งเพริศดูเฉิดฉาย แล้วคลอดบุตรงามสุดประเสริฐชาย’ ความจริงที่ปรากฏว่าพราหมณ์ คือ นางทิพเกสร มเหสีสุดที่รัก พระสวามีผู้สูญเสียจึงรันทดยิ่งนัก

“พระทรงฤทธิ์อิสราวราเดช ลืมพระเนตรดูศพมเหสี

ยิ่งกรรแสงโศกศัลย์พันทวี ประคองศีรษะนางขึ้นวางลงเพลา

พระโอรสก็ตื่นสะอื้นอ้อน สองพระกรกอดลูกน้อยให้สร้อยเศร้า”

การนอนหนุนตักกันในวรรณคดีมิได้มีเฉพาะชายหญิงเท่านั้น แม้เด็กเล็กๆ ผู้ใหญ่ก็ให้นอนหนุนตัก ดูดนมคนละข้างทั้งซ้ายขวา ดังจะเห็นได้จากกุมารน้อยสุดสาครและเสาวคนธ์ที่ร่วมกันหนุนตักพระมเหสีเจ้ากรุงการเวกที่เมตตาเลี้ยงดูคู่กัน วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” บรรยายว่า

“น่าสงสารมารดรกรประคอง อุ้มให้สองทรามเชยเสวยนม

สุดสาครนอนทับพระเพลาซ้าย แล้วดื่มสายโลหิตสนิทสนม

จนอิ่มหนำฉ่ำชื่นรื่นอารมณ์ นางจูบเกล้าเผ้าผมเฝ้าชมเชย”

 

การใช้ตักแสดงความรักใคร่สนิทสนมใช่จะจำกัดเฉพาะคนเท่านั้น แม้สัตว์ก็ไม่เว้น ดังตอนที่พระลักษณวงศ์คิดถึงพญาม้าคู่ใจซึ่งใช้ทำศึกกระแสจิตที่ส่งถึงกันทำให้พญาม้า

“ควบทะยานผ่านพวกขุนนางมา เข้าหมอบแทบบาทาพระทรงธรรม์

พระทรงศรช้อนคางขึ้นวางเพลา จึ่งตรัสเล่าที่พระองค์เธอทรงฝัน”

การที่พระลักษณวงศ์ช้อนคางม้าวางบนตักพระองค์เอง แสดงถึงความรักความผูกพันลึกซึ้งต่อพญาม้า ‘ซึ่งพระองค์รักเคียงคู่ชีวา’ เคยร่วมกันทำศึก ฝ่าอันตรายหลายครั้งหลายครา

ฉบับหน้า ‘ตัก’ เป็นตัวช่วยชั้นดี เป็นสะพานนำไปสู่ฝั่งฝัน

พลาดไม่ได้ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร