วิกฤตเศรษฐกิจจีน ใต้เกล็ดมังกร คือแผลฉกรรจ์ชนิดเสียโฉม

ทุกวิกฤตล้วนส่งผลแบบสัมพันธ์กัน เช่นเดียวกับโลกที่ผ่านวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ความรุนแรงของโรคระบาดนอกจากสุขภาพของพลเมืองโลก แม้แต่ระบบเศรษฐกิจกลับหยุดนิ่งและพลิกผันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ระบบและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อนหยุดนิ่ง นำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบออนไลน์ที่มีบทบาทอย่างเข้มข้น

พ้นวิกฤตโรคระบาดได้ไม่นาน อีกวิกฤตก็เข้ามาแทนที่ หลายประเทศได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่กระเทือนหลายประเทศ

รวมถึงจีนซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า หลังผ่านพ้นวิกฤต ประชาชนหลายประเทศและจีนจะออกมาใช้จ่ายแบบระบายแค้นจนทำให้เศรษฐกิจกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

จีนกลับมีอัตราการบริโภคในประเทศลดลง แม้แต่อัตรานักท่องเที่ยวที่จะออกเดินทางนอกประเทศกลับไม่เป็นตามที่คาดไว้

จนเมื่อกลางสิงหาคมที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ อสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 ของจีน ยื่นขอล้มละลายหลังผิดนัดชำระหนี้ตามกำหนด จากที่ก่อไว้มานานเป็นปีๆ

แต่สิ่งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของสภาพทางเศรษฐกิจของจีนที่อาจเข้าขั้นน่าเป็นห่วง จนมีการมองแบบฉากทัศน์ร้ายสุดว่า จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ หากเศรษฐกิจจีนถดถอยอย่างรุนแรงจนถึงขั้นล่มสลาย?

แล้วระบบเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบแค่ไหน?

 

การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ ได้ทำให้นักวิเคราะห์มองดูบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนอีกหลายแห่งที่เข้าขั้นความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นปัจจัยทำให้เอเวอร์แกรนด์ล้มคือ รัฐบาลจีนได้บังคับใช้กฎเกณฑ์ใหม่ในการควบคุมปริมาณหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ทำให้เอเวอร์แกรนด์ต้องเสนอขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทออกไปในราคาต่ำ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินไหลเข้ามาในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ความไร้เสถียรภาพนี้ ประกอบกับที่ทางบริษัทต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยชำระหนี้มหาศาลที่ถืออยู่ ทำให้มูลค่าหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ลดลงถึง 85% เมื่อปี 2021 ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือก็ดิ่งเหว

ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัวที่ออกอาการทั้งในภาคอสังหาริมทรัพย์จนลามถึงธนาคารระดับย่อย เอาเข้าจริงก็เป็นเพราะความทะเยอทะยานของจีนเอง

จากการตัดสินใจสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เจ็บหนักจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 และภาวะเงินทุนไหลออกอย่างหนักในปี 2015 จีนเร่งฉวยจังหวะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อดึงเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามา

แต่เพราะการเร่งเปิดจนโตแบบพุ่งทะยานโดยไม่ระมัดระวัง ได้ส่งผลเกิดหนี้มหาศาลและภาวะฟองสบู่ จนเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีน

ถึงต่อให้รัฐบาลจีนอัดฉีดเงินเพื่อช่วยเหลือ แต่การต้องอุ้มหลายบริษัทที่ออกอาการเจ็บหนักพร้อมกัน ก็ทำให้สถานะทางการคลังลดลงสวนทางกับยอดส่งออกลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

จีนจึงต้องหันพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ แต่มาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศชะงักงันครั้งใหญ่ ไม่สามารถชดเชยส่วนที่ขาดหายได้ทัน

จีนจึงต้องหืดจับกับภาวะชะลอตัวพร้อมกับความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลง

 

แต่จีนยังไม่ทันกู้วิกฤตเอเวอร์แกรนด์พ้นขีดอันตราย “คันทรี่ การ์เด้น” คืออสังหาริมทรัพย์ใหญ่สุดของจีนก็มีข่าวขาดสภาพคล่องจนมีสัญญาณส่อผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความน่ากลัวของวิกฤตเศรษฐกิจจีนที่จะรุนแรงหากคันทรี่ การ์เด้นล้มละลายต่อเป็นอีกเจ้า

รัฐบาลจีนต้องแก้ทางทั้งการอุ้มบริษัทไม่ให้ล้มยาว พร้อมผ่อนปรนข้อจำกัดในการซื้อบ้านเพื่อบรรเทาผลกระทบ

แม้ล่าสุดคันทรี่ การ์เด้นมีโอกาสพอต่อลมหายใจได้บ้าง เมื่อ “รอยเตอร์” รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวและเอกสารที่ได้รับมาว่า จะได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้ให้ขยายเวลาการชำระเงินสำหรับพันธบัตรเอกชน เพื่อบรรเทาทุกข์ครั้งใหญ่สำหรับนักพัฒนาชาวจีนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต

โดยกำลังขอขยายอายุพันธบัตรเอกชนบนบกมูลค่า 3.9 พันล้านหยวน (540 ล้านดอลลาร์) เมื่อวันที่ 1 กันยายนผ่านมา

แต่นอกจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคธนาคารโดยเฉพาะธนาคารท้องถิ่น เผชิญอาการหนักเหมือนกัน จนหนักถึงขั้นรัฐบาลกลางออกคำสั่งไปยังธนาคารท้องถิ่นหยุดทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาสถานะของค่าเงินหยวน

 

บลูมเบิร์กได้รายงานบทวิเคราะห์เมื่อ 5 กันยายนที่ผ่านมาว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่เติบโตช้าลงเช่นนี้ ทำให้ประเมินได้ว่า ไม่สามารถขึ้นแซงสหรัฐในฐานะประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกได้ แค่ในตอนนี้ และต้องใช้เวลาถึงปี 2040 หรืออีก 17 ปี ถึงทำให้ตัวเลขจีดีพีของจีนโตแซงได้

แม้แต่มูดี้ส์ ก็ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน จากระดับมีเสถียรภาพลงไปเป็นติดลบ อ้างเหตุผลปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้า ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในจีนลดต่ำลง

มูดี้ส์ คาดว่ายอดขายบ้านในจีนจะลดลงราวร้อยละ 5 ในช่วง 6-12 เดือนต่อจากนี้ และมองว่ามาตรการกระตุ้นกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลน่าจะมีผลแค่ในระยะสั้นๆ เท่านั้น

สถานการณ์ที่ถูกรายงานออกไปทั่วโลกเช่นนี้ ทำให้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวถึงความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่จีนเจออยู่นี้ จะไม่นำไปสู่การรุกรานไต้หวันอย่างที่หลายคนกังวล โดยไบเดนอยู่ระหว่างเยือนเวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การเติบโตของจีนชะลอตัวเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอตลอดจนนโยบายของจีน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศจีนรวมถึงสื่อรัฐบาลจีนรีบออกมาตอบโต้ทันทีว่าไม่เป็นความจริง เศรษฐกิจจีนยังคงเข้มแข็ง

 

แต่กระนั้น ก็เป็นเรื่องที่อดคิดไม่ได้ว่า ความปั่นป่วนเช่นนี้จะทำให้จีนยิ่งแข็งกร้าวและตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกไต้หวันเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาเศรษฐกิจภายในเร็วขึ้นหรือไม่

ฮัล แบรนด์ส อดีตผู้ช่วยพิเศษด้านวางแผนยุทธศาสตร์รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐช่วง 2558-2559 กล่าวว่า จีนอาจดำเนินการเชิงรุกมากขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ เมื่อขีดความสามารถทางการทหารของตนเติบโตเต็มที่ ต้องรีบคว้าไว้ในขณะที่ยังมีโอกาส

นี่คือเหตุผลว่าทำไมอันตรายของสงครามบุกไต้หวันจึงสูงที่สุดในทศวรรษนี้ เนื่องจากจีนจะมีขีดความสามารถทางการทหารมากกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่กำลังถึงจุดสูงสุดและเริ่มถดถอยทางเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ สถานการณ์ในจีนตอนนี้ก็เริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่พึ่งพาจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะโซนอาเซียนอย่างลาว กัมพูชา และไทย ประเทศเหล่านี้จะพึ่งพาจีนอยู่ต่อไป หรือต้องรีบหาหุ้นส่วนใหม่แบบกระจายความเสี่ยง ยืดหยุ่นบนเป้าหมาย “ความอยู่รอดของชาติต้องมาก่อน”