จรัญ มะลูลีม : สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ในซาอุดีอาระเบีย (2)

จรัญ มะลูลีม

ในช่วงที่สอง (ระหว่างปี 1902-1932) เริ่มจากครอบครัวอัล-สะอูด ได้เข้าครองกรุงริยาฏอีกครั้งในปี 1902 และอยู่ในอำนาจต่อมาอีก 30 ปี ในสมัยของพระองค์ซาอุดีอาระเบียมีความรุ่งเรืองทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง แม้ว่าครอบครัวต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนักหน่วงทั้งจากออตโตมานและอังกฤษ นอกเหนือไปจากอาหรับเผ่าต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ ซาอุดีอาระเบียจึงต้องเผชิญกับอำนาจที่มาจากหลายทิศทาง ทั้งจากอียิปต์ ตุรกีและอังกฤษ รวมทั้งเผ่าพันธุ์อาหรับอีกหลายเผ่าพันธุ์ที่ออกมาต่อต้านอำนาจทางทหารของครอบครัวอัล-สะอูดและอำนาจทางศาสนาของวะฮาบีย์ที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของอัล-สะอูดก็สามารถขยายอำนาจออกไปได้กว้างไกลอีกครั้งและมีการจัดระเบียบภายในได้สำเร็จอันเนื่องมาจากการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมาน

ในปี 1912 อิบนุ สะอูดได้สร้างกองทหารอาชีพขึ้นมาเรียกว่ากองทหารอิควาน (Ikwan) หรือกองทหารแห่งภราดรภาพ

กองทหารอิควานได้กลายมาเป็นอาวุธของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบียที่จะจัดการกับผู้ลุกฮือหรือก่อการปฏิวัติขึ้นมาภายในดินแดนของรัฐที่ก่อตัวขึ้น

กองกำลังนี้มีหน้าที่ต่อสู้กับศัตรูของครอบครัวอัล สะอูดและเป็นกองกำลังที่ปฏิบัติตามแนวคิดวะฮาบีย์

 

เมื่อ อิบนุ สะอูด รับรู้ถึงการสนับสนุนจากอังกฤษให้เข้ายึดครองกรุงริยาฏอีกครั้ง พระองค์ไม่ต้องการให้ซาอุดีอาระเบียเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ

ในช่วงทศวรรษ 1920 เมื่อมีการค้นพบน้ำมันในซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรก ครอบครัวของ อิบนุ สะอูด ก็ใช้โอกาสนี้โดยทันทีเป็นเครื่องเชื่อมความสัมพันธ์กับสหรัฐ

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐขึ้นอยู่กับน้ำมัน ซึ่งในเวลาต่อมากลายมาเป็นเครื่องมือความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไปในที่สุด

ช่วงทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ 21 (ระหว่างปี 1930-1973) ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของซาอุดีอาระเบีย วิธีชีวิตทางสังคม-เศรษฐกิจที่เคยเรียบง่ายมาตลอดขวบปีที่ผ่านมา กลายมาเป็นการทำให้ประเทศมีโครงสร้างสาธารณูปโภคทันสมัยไปทั่วคาบสมุทร อุตสาหกรรมหนักกลายมาเป็นความสำคัญเพิ่มขึ้น

ในช่วงนี้เช่นกันที่ประเทศเปลี่ยนไปสู่รัฐชาติสมัยใหม่โดยมีรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจ และระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพโดยขึ้นอยู่กับการปิโตรเลียม

มีการนำเอางบประมาณของชาติและระบบภาษีมาใช้ นี่เป็นชั่วขณะที่ค่านิยมทางวัฒนธรรมและศาสนาถูกมองว่ามีความจำเป็นที่จะเปลี่ยนตัวเองไปสู่สังคมเทคโนโลยีสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม อิบนุ สะอูด ก็มีความปรารถนาที่จะไม่สร้างสถาบันที่เป็นศูนย์รวม และยังคงมีความปรารถนาที่จะรักษาเอกภาพเอาไว้ผ่านความภักดีของบุคคลที่จงรักภักดีต่อพระองค์โดยปฏิบัติตามจารีตวิถีของเผ่าพันธุ์

 

หลังการสวรรคตของ อิบนุ สะอูด ในปี 1953 ได้เกิดการต่อสู้ขึ้นในหมู่โอรสของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเจ้าชายสะอูดซึ่งเป็นโอรสองค์แรกกับเจ้าชายฟัยซอล (Prince Faizal) ซึ่งเป็นโอรสองค์ถัดมาอันเป็นการแข่งอำนาจในระหว่างโอรสของพระองค์ด้วยกันเอง

ปี 1958 ได้มีแรงกดดันมาจากครอบครัวกษัตริย์เอง เจ้าชายสะอูดถูกบีบให้สละอำนาจการบริหารให้กับเจ้าชายฟัยซอล แต่ยังคงดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป

ภายใต้การปฏิรูปของเจ้าชายฟัยซอล ซาอุดีอาระเบียได้เปลี่ยนรูปแบบการเงินขนานใหญ่

ในปี 1964 เจ้าชายสะอูดโอรสองค์โตซึ่งเป็นกษัตริย์ถูกบีบให้สละอำนาจ และแสวงหาการลี้ภัยในยุโรป ปล่อยให้ราชบัลลังก์ตกอยู่ในการบริหารจัดการโดยเจ้าชายฟัยซอล

เมื่อเข้ามาควบคุมซาอุดีอาระเบียได้แล้ว เจ้าชายฟัยซอลก็พยายามปฏิรูปขนานใหญ่ และเรียนรู้ถึงความจำเป็นที่จะทำให้เศรษฐกิจซาอุดีอาระเบียมีความทันสมัย

พระองค์ได้นำเอาแผนพัฒนาห้าปีมาใช้ ลงทุนในทางการศึกษา การขนส่ง การอุตสาหกรรม เพื่อยกมาตรฐานกาiครองชีพของชาวซาอุดีอาระเบีย

ช่วงทศวรรษ 1970 ซาอุดีอาระเบียจึงเป็นประเทศที่มีความเติบโตและกลายมาเป็นสังคมที่พัฒนาเพียงพอที่จะให้ประชากรของประเทศมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานได้ทั้งหมด

 

สําหรับช่วงปี 1973-ปัจจุบันนั้นพบว่าแม้ว่าในตอนกลางของศตวรรษที่ 21 ซาอุดีอาระเบียจะมีความรุ่งเรืองจนมีความพอเพียงแล้วก็ตาม แต่ผลกระทบในเวลาต่อมาของการพัฒนาก็คือการขาดแคลนแรงงานที่จะมาสนองตอบสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่ ยิ่งไปกว่านี้นั้นบางด้านของจารีตประเพณีที่ไม่อนุญาตให้ชายชาวซาอุดีอาระเบียทำงานเป็นแรงงานหรือกรรมกรก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียขาดแคลนแรงงานทั่วไป

สตรีของซาอุดีอาระเบียถูกห้ามการทำงานอาชีพใดๆ ที่จะต้องมามีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่มิได้มีสายเลือดเดียวกันหรือผู้ที่แต่งงานกันได้

การห้ามสตรีมิให้ขับรถยังหมายถึงว่าสตรีส่วนใหญ่ไม่อาจทำงานได้

ด้วยเหตุนี้ในปลายทศวรรษ 1900 ร้อยละ 50 ของแรงงานในซาอุดีอาระเบียจึงประกอบขึ้นจากคนต่างชาติ

 

ช่วงเวลานี้ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่โซเวียตเข้ารุกรานอัฟกานิสถาน และการปฏิวัติของอิหร่านทำให้ประเทศอนุรักษนิยมอย่างซาอุดีอาระเบียมีความกังวลต่อสถานะของตนเองในทางจารีตประเพณี

หลายภาคส่วนที่เป็นประชาชนที่เคร่งครัดเริ่มต่อต้านผู้นำของตนเองที่พวกเขาเชื่อว่าทำให้ซาอุดีอาระเบียเสื่อมถอยและเอียงเข้าหาตะวันตก

ภายใต้กษัตริย์อับดุลลอฮ์ (King Abdullah) ซึ่งเข้าสู่อำนาจในปี 2005 ซาอุดีอาระเบียได้เข้าสู่ขั้นตอนการปฏิรูปที่เน้นการเป็นสายกลางอีกครั้งหนึ่ง

พระองค์ให้การยอมรับระบบกฎหมายและภายใต้การปกครองของพระองค์ซาอุดีอาระเบียได้เข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก (World Trade Qrganization)

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่พระองค์ได้ทรงกระทำ ภาพทางสังคม-เศรษฐกิจในซาอุดีอาระเบียก็ยังคงค่อนข้างจะซึมเซาอยู่

คนหนุ่มว่างงาน มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่แรงงานต่างชาติ มีความหวาดกลัวเกี่ยวกับฝ่ายสุดโต่งกับฝ่ายที่ขับเคลื่อนความทันสมัย ทั้งสองกระแสต่างก็สร้างความไร้เอกภาพให้แก่ประเทศ

ด้วยเหตุนี้ในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบียจึงต้องมีการเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อันยาวนานซึ่งจะทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และการเปลี่ยนผ่านที่ประเทศต้องเผชิญตลอดขวบปีที่ผ่านมา

 

กษัตริย์สัลมาน อิบนุ อับดุล อะซีส (Salman ibn Abdul al-Aziz) ซึ่งเข้าสู่อำนาจในปี 2015 ได้แต่งตั้งโอรสของพระองค์ มุฮัมมัด อิบนุ สัลมาน (Muhammad ibn Salman) หรือที่เรียกกัน MBS ขึ้นมาเป็นมกุฎราชกุมาร (Crown Prince) เมื่อฤดูร้อนของปี 2017 ขึ้นมา

เป็นการแต่งตั้งเพื่อให้โอรสของพระองค์เข้ามาแทนที่มกุฎราชกุมาร นาญีฟ อัล-สะอูด (Nayef al-Saud)

เหตุผลสำคัญที่พระองค์เปลี่ยนเอาโอรสของพระองค์เข้ามาแทนมกุฎราชกุมารนาญีฟก็ด้วยความเชื่อที่ว่าโอรสของพระองค์มีความสามารถที่จะจัดการแก้ปัญหาของประเทศและดูแลคนหนุ่มที่มีความอึดอัดต่อราชอาณาจักรได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม คนส่วนมากมีความเชื่อว่าความคิดที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังการเข้ามามีอำนาจของเจ้าชายมุฮัมมัด บินสัลมาน นั้นอยู่ที่ว่าเจ้าชายนาญีฟเป็นผู้ขัดขวางการตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ และตั้งข้อสงสัยการเข้าทำสงครามตัวแทนในซีเรียและเยเมนของซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองประการนี้มกุฎราชกุมารองค์ใหม่ล้วนเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น

ขั้นตอนการหันมาทำให้ซาอุดีอาระเบียทันสมัยโดยทันทีทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของกษัตริย์สัลมานคือความมุ่งหวังที่จะทำให้อำนาจของพระองค์มีความมั่นคงกว่าเดิมและสามารถเอาชนะฝ่ายต่อต้านที่จะเข้ามาในหนทางของพระองค์ได้

ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นจึงกลายมาเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของซาอุดีอาระเบียอย่างไม่ต้องสงสัย