คณะทหารหนุ่ม (57) | “เราก็ไปอุ้มท่านไว้ไม่ได้” หลักกการของคณะทหารหนุ่ม ต่อพล.อ.เปรม

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ความพยายามฟื้นฟูโครงสร้างอำนาจ

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เครือข่ายอำนาจในกองทัพบกจับตัวแน่นหนาคล้ายจอกแหนที่ทอตัวกระหวัดเหนียวแน่นจนเป็นเหตุแห่งความเน่าเสียของน้ำเบื้องล่าง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นเสมือนหินก้อนโตที่ถูกทุ่มลงกลางสระจนจอกแหนแตกกระจาย ช่วงเวลานี้เองที่คณะทหารหนุ่มถือกำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะขจัดจอกแหนต้นเหตุของน้ำเน่าเสียให้หมดไป

แต่เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายทหารผู้เงียบขรึมที่แทบไม่มีใครรู้จัก ไม่มีทั้งฐานอำนาจ และไม่เคยมีทั้งประสบการณ์ในศูนย์กลางแห่งอำนาจขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ.2521โครงสร้างอำนาจของกองทัพบกก็กลับเริ่มฟื้นตัวขึ้นช้าๆ แทบสังเกตไม่เห็น

การข้ามมาจากภาคอีสานตรงสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ของ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2522 อาจมองได้ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต้องการสร้างฐานอำนาจเพื่อถ่วงดุลกับคณะทหารหนุ่ม จปร.7 แต่ผลที่ติดตามมามิได้มีเพียงแค่นั้น

ประสบการณ์รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันในสงครามกลางเมืองแห่งภาคอีสาน พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก นับเป็นตัวเลือกที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำหน้าที่ “ผู้บังคับบัญชาโดยตรง” เหนือตำแหน่งผู้บังคับการกรมของ จปร.7

พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นนายทหารประเภท “กล้าได้-กล้าเสีย” ที่มีบุคลิก “พร้อมชน” ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถลดทอนอำนาจแฝงของคณะทหารหนุ่มลงได้โดยมีกฎเหล็กแห่งสายการบังคับบัญชาเป็นอาวุธในมือแล้ว ยังจะเป็นการฟื้นฟูศูนย์อำนาจการบังคับบัญชาของกองทัพบกที่อ่อนแอลงให้ฟื้นคืนกลับอีกด้วย

ด้วยการจับ “ทหารนอกแถว” ให้ “เข้าแถว”

 

สุญญากาศอำนาจ

ศูนย์กลางอำนาจกองทัพบกที่ถูกทำลายลงเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ได้ทำให้เกิด “พลังอำนาจใหม่” จากการรวมตัวของนายทหารระดับเพียงพันตรีแห่ง จปร.7 ที่ต่อมาจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น “คณะทหารหนุ่ม”

ก่อนหน้าการล่มสลายของเครือข่ายอำนาจภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ไม่นาน พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2516 อันเป็นช่วงใกล้จุดระเบิดของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ในความเป็นจริง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ก็คือหนึ่งในเครือข่ายอำนาจซึ่งได้รับการวางตัวเป็นทายาททางอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิมนั่นเอง ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เครือข่ายอำนาจที่สืบทอดยาวนานมาตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็คงจะดำเนินต่อไปในลักษณะเดิม ภายใต้ร่มเงาจอกแหนของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร

แม้ทั้งจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร จะหลุดจากอำนาจจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่ก็ยังคงมีความพยายามที่จะหวนกลับสู่บัลลังก์อำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยมีทั้งเครือข่ายในกองทัพบกที่ยังคงจงรักภักดี มีทั้งพรรคชาติไทย ของ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเมื่อจอมพลทั้งสองพยายามกลับประเทศ ทั้งความพยายามที่จะผลักดันให้ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

รวมทั้งการสร้างกระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” เพื่อเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การฟื้นฟูกลุ่มอำนาจเดิม

 

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เคยเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จึงมีความใกล้ชิดผูกพันและได้รับความเชื่อถือไม่น้อยจากนายทหารระดับคุมกำลังสำคัญในกรุงเทพฯ ดังนั้น โอกาสที่จะเป็นผู้นำในการฟื้นฟูอำนาจในรูปแบบเดิมขึ้นมาใหม่จึงมีความเป็นไปได้สูง แต่การถึงแก่อสัญกรรมกะทันหันเมื่อ 23 เมษายน พ.ศ.2519 ก่อนที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทำให้ทุกอย่างชะงักงัน เกิดเป็นสุญญากาศทางการบังคับบัญชากองทัพบกอีกครั้ง พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ ติดตามด้วย พล.อ.เสริม ณ นคร ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อมาตามลำดับ แต่ก็ไม่สามารถฟื้นฟูศูนย์อำนาจในกองทัพบกที่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เริ่มไว้ได้

ช่วงเวลาของสุญญากาศแห่งอำนาจของกองทัพบก ช่วงเวลาที่ “พระเจ้าหลับใหล” อย่างยาวนานเช่นนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการก่อเกิดและพัฒนาเติบใหญ่ของคณะทหารหนุ่ม จปร.7

แต่การเข้าสู่อำนาจสูงสุดแห่งกองทัพบกของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตามมาด้วยอัศวินคู่ใจ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก กลับทำให้อำนาจการบังคับบัญชาของกองทัพบกเริ่มฟื้นตัวขึ้นทีละน้อยๆ จนแทบสังเกตไม่เห็น

อำนาจที่เริ่มฟื้นตัวนี้ยังเป็นพลังดึงดูดนายทหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่คณะทหารหนุ่มให้เข้ามาสวามิภักดิ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย และที่เกิดผลอย่างชัดเจนคือการรวมตัวของ จปร.1-จปร.8 โดยเฉพาะ จปร.1 ถึง จปร.6 ซึ่งล้วนเป็นนายทหารรุ่นพี่ จปร.7 ที่มีแบบธรรมเนียมยึดถือระบบอาวุโสมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนนายร้อย

และมีไม่น้อยที่ครองยศและตำแหน่งสูงกว่า จปร.7 เนื่องจากจบออกรับราชการก่อน

 

พ.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี แกนนำสำคัญของ จปร.5 เข้ารับตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 หน่วยรบสำคัญในกรุงเทพมหานคร ควบคู่กับกรมทหารราบที่ 1 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2520 ซึ่งขณะนั้น คณะทหารหนุ่ม จปร.7 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพียงผู้บังคับกองพันยศไม่เกินพันโท

ขณะเดียวกัน ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพบก พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ จปร.1 พี่ใหญ่แห่ง จปร.หลักสูตรใหม่ ที่ได้รับความเชื่อถือทั้งความเป็นผู้อาวุโสและความปราดเปรื่อง ความสำเร็จจากการประกาศใช้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/23 ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้น เชื่อกันว่าเป็นผลงานจากมันสมองก้อนโตของ พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ อีกทั้งยังได้รับโปรดเกล้าฯ ยศนายพลในตำแหน่ง “นายทหารคนสนิท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ ตุลาคม พ.ศ.2522 ภาพความเป็น “ลูกป๋า” ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น

ณ บัดนี้คำว่า “ลูกป๋า” จึงมิได้ผูกขาดอยู่เฉพาะ จปร.7 เท่านั้นอีกต่อไป

พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ “ขงเบ้งกองทัพบก” ก็มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้อำนาจการบังคับบัญชาของกองทัพบกฟื้นตัวเป็นระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น และจะมีบทบาทสำคัญไปอีกยาวนาน

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปี พ.ศ.2523 ถึงต้นปี พ.ศ.2524 ศูนย์การนำของกองทัพบกจึงเริ่มฟื้นตัวสู่ความน่าเชื่อถือ ความแน่นแฟ้นในสายการบังคับบัญชาของกองทัพบกเริ่มปรากฏชัดขึ้นตามลำดับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กลายเป็นแบบอย่างของผู้นำที่นายทหารให้การเชื่อถือทั้งในหน้าที่ราชการและส่วนตัว จากความซื่อสัตย์ สุจริต และการทุ่มเทอุทิศตนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ภาพลักษณ์ของกองทัพบกภายใต้การนำของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เริ่มได้รับการยอมรับจากประชาชนมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

ปลายปี พ.ศ.2523 คณะทหารหนุ่มจึงมิได้ดำรงตนอยู่ท่ามกลางสุญญากาศแห่งอำนาจของกองทัพบกเช่นในอดีตอีกต่อไป

บัดนี้ พระเจ้าตื่นจากหลับใหลแล้ว

 

คณะทหารหนุ่มกับ “ป๋า”…

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คณะทหารหนุ่มมีส่วนไม่น้อยในการสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา แต่บทเรียนที่ชัดเจนก่อนเหตุการณ์นี้คือ แม้คณะทหารหนุ่มจะสนับสนุนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดก็ถอนการสนับสนุน แล้วเปลี่ยนมาที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

มีหรือที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งบัดนี้พรั่งพร้อมด้วยทีมงานและฝ่ายเสนาธิการจะไม่รับรู้และเรียนรู้บทเรียนสดๆ ร้อนๆ นี้

โดยเฉพาะเมื่อกลางปี พ.ศ.2523 ที่เกิดสัญญาณสำคัญจากฝ่ายคณะทหารหนุ่ม

เป็นสัญญาณที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กันของ “การต่ออายุ” กับ “ปฏิญญา 27 มิถุนายน”

 

“หลักการ” กับ “บุคคล”

กลางปี พ.ศ.2523 ซึ่งกำลังมีการรณรงค์ต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกที่คณะทหารหนุ่มแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผยนั้น มีการประชุมสมาชิกใหม่ของคณะทหารหนุ่มและมีการแจกเอกสาร “ปฏิญญา 27 มิถุนายน” โดยเจตนาให้มีการเผยแพร่ในวงกว้าง ซึ่ง ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ให้ความเห็นว่า คณะทหารหนุ่มยังคงยอมรับว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มี “คุณธรรมความดีเฉพาะตัวท่าน” หากไม่ได้ก้าวเข้าไปมีตำแหน่งทางการเมือง ก็คงจะถูกประเมินบทบาทเฉพาะทางด้านการทหาร แต่เมื่อไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องแยกความสัมพันธ์และการให้ความสนับสนุนออกจากกัน

คณะทหารหนุ่มประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะยึด “หลักการ” มากกว่า “ตัวบุคคล” หลักการที่จะใช้วัดบทบาททางการเมืองของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็คือความสามารถในฐานะผู้นำรัฐบาล ถ้าประชาชนไม่ยอมรับ

“เราก็ไปอุ้มท่านไว้ไม่ได้ และเราก็จะทำตามอุดมการณ์ของเรา คือยึดหลักการมากกว่าตัวบุคคล”

เหมือนดังที่เคยถอนการสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาแล้ว