ก้าวไกล-ก้าวไปต่อ กำชัยเลือกตั้งซ่อม ‘ระยอง’ ปชป.ไม่ฟื้น แพ้แล้วแพ้อีก

ผลการเลือกตั้งซ่อม จังหวัดระยอง เขต 3 (อ.แกลง และ อ.เขาชะเมา) จบลงด้วยชัยชนะอีกครั้งของพรรคก้าวไกล

อะไรคือนัยที่ซ่อนอยู่ในผลการเลือกตั้งครั้งนี้

ย้อนดูผลการเลือกตั้งจังหวัดระยอง เขต 3 ในการเลือกตั้งใหญ่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา นครชัย ขุนณรงค์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง (29,034 คะแนน) เอาชนะพายัพ ผ่องใส ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (21,726 คะแนน) นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (14,668 คะแนน) และชัยณรงค์ สันทัสนะโชค ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (11,647 คะแนน)

แม้จะมี “เหตุ” ให้ “นครชัย” ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เนื่องจากมีปัญหาคุณสมบัติ แต่ชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อม ยังคงตกเป็นของ พงศธร ศรเพชรนรินทร์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล (39,296 คะแนน) เอาชนะ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ (26,466 คะแนน) ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมไปได้อีกครั้ง

นพ.บัญญัติ เป็นอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ 3 สมัย ต้นทุนทางสังคมสูงลิบในฐานะ “คุณหมอคนยาก” มีบ้านใหญ่ระยอง ตระกูล “ปิตุเตชะ” ให้การสนับสนุน ได้แก่ นายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (นายก อบจ.ระยอง) ดูแลสมาชิก อบจ. ในมือ 30 เขต นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายธารา ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.หลายสมัย

และในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ระดมขุนพลทั้งหมดของพรรคที่มีอยู่มาช่วยหาเสียง ทั้งชวน หลีกภัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่ก็ยังพ่ายแพ้

 

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมือง และยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อเขียนวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จังหวัดระยอง ระบุว่า ชัยชนะเลือกตั้งซ่อมของพรรคก้าวไกลที่เขต 3 จังหวัดระยอง มีนัยสำคัญดังนี้

1. แม้ว่าเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดระยอง มีความเป็นเมืองไม่สูงมากนัก แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ตื่นตัวทางการเมืองสูง และสามารถข้ามพ้นการเมืองระบบบ้านใหญ่แบบเก่าได้แล้ว พวกเขากำลังเดินเข้าสู่เส้นทางการเมืองแบบใหม่ที่เรียกว่า การเมืองแบบพลเมืองตื่นรู้

2. พรรคก้าวไกลสามารถรักษาความนิยมได้อย่างต่อเนื่องทั้งที่เป็นฝ่ายค้าน แสดงว่า จุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ของพรรคในภาพรวม และแนวทางการทำงานของพรรคในระดับพื้นที่มีความแข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับของประชาชน และอาจนำไปใช้เป็นตัวแบบในเขตเลือกตั้งที่มีบริบทคล้ายกันได้ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศได้

3. การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนชาวจังหวัดระยอง เสมือนการยืนยันซ้ำอีกครั้งให้กลุ่มอำนาจชนชั้นนำในเมืองหลวงรับรู้ว่า ประชาชนไม่ยอมรับการใช้อำนาจแบบเดิมอีกต่อไป และเป็นการแสดงออกที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่อื่นๆ จำนวนมากว่า ประชาชนชาวไทยต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

4. ในอดีตชัยชนะภายใต้บริบทการเลือกตั้งซ่อม เป็นการยากที่พรรคการเมืองแบบใหม่ จะเอาชัยชนะเหนือระบบอุปถัมภ์ ระบบบ้านใหญ่ และการใช้อำนาจรัฐได้ พรรคการเมืองแบบใหม่มักเอาชนะได้ในบริบทเลือกตั้งทั่วไป และเป็นเขตที่มีชนชั้นกลางมาก และมีความเป็นเมืองสูง

แต่ชัยชนะครั้งนี้ได้ทำลายแบบแผนเก่าลงไปได้สำเร็จ นั่นหมายความว่าแนวทางการเมืองแบบใหม่ ได้เป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีความเป็นไปได้สูงว่า ความต้องการการเมืองแบบใหม่ของประชาชนกำลังขยายตัวมากขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

5. มีความเป็นไปได้สูงเช่นกันว่า วิถีของการเมืองแบบใหม่อาจจะแพร่กระจายไปสู่การเมืองท้องถิ่นในระดับจังหวัด อย่างการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่กำลังจะมาถึงในต้นปี 2568 และการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับอื่นๆ ในปีถัดไป รวมทั้งการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2570 ด้วย

6. ปรากฏการณ์นี้ “การเมืองแบบประชาชนตื่นรู้” อาจสร้างความตื่นตระหนกแก่ชนชั้นนำของฝ่ายอนุรักษนิยม และมีความเป็นไปได้ว่า พวกเขาจะใช้กลไกอำนาจรัฐที่พวกเขายังควบคุมได้อยู่ ดำเนินการสกัดกั้นการเติบโตของการเมืองแบบใหม่ทุกวิถีทาง ทั้งการทำลายผู้นำ การทำลายภาพลักษณ์ และการยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม การทำลายพรรคการเมืองที่เป็นองค์การ หรือทำลายผู้นำที่เป็นตัวบุคคล โดยกลุ่มชนชั้นนำอำนาจนิยม ไม่อาจหยุดยั้งการเติบโตของการเมืองแบบใหม่ได้ เพราะการเมืองแบบใหม่กำลังเป็นฉันทามติร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ พรรคและผู้นำพรรคเป็นเพียงภาพสะท้อนของการเป็นตัวแทนของ “ฉันทามติร่วมของประชาชน” เท่านั้น

ดังนั้น แม้พรรค และผู้นำจะถูกทำลายก็ไม่สามารถขจัดฉันทามติร่วมแบบใหม่ของประชาชนได้ กลับยิ่งทำให้ฉันทามติร่วมขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น

 

สอดคล้องกับความเห็นของ โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีฐานอยู่ที่จังหวัดระยอง ยาวนานมาก แต่การเลือกตั้งใหญ่ (14 พฤษภาคม 2566) และการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เห็นถึงความถดถอย ส่งสัญญาณว่าความศรัทธาของคนภาคตะวันออกที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์

น่าจะเป็นจุดที่ตกต่ำที่สุดของประชาธิปัตย์แล้ว

และเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างไปถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองของจังหวัดระยอง และภาคตะวันออก เป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคพระชาธิปัตย์ และตระกูลปิตุเตชะ

โอฬารระบุว่า เขตเลือกตั้งจังหวัดระยอง เขต 3 (อ.แกลง และ อ.เขาชะเมา) ไม่ใช่เขตเมืองแบบ อ.มาบตาพุด อ.เขาชะเมายังเป็นป่า อ.แกลงไม่ใช่เขตเมือง แต่ประชาชนคิดถึงการเมืองแบบใหม่แล้ว ไม่อิงติดกับเครือข่ายการเมืองแบบเดิม ไม่อิงกับเครือข่ายตระกูลการเมือง วิธีคิดทางการเมืองแบบที่เปลี่ยนไป ไม่ได้มีเฉพาะชนชั้นกลางในเขตเมืองอีกต่อไปแล้ว

โอฬารระบุว่า ในทางหนึ่ง คะแนนของผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 กว่าหนึ่งหมื่นคะแนน อาจมาจากความไม่พอใจ “การสลายขั้ว” ของพรรคเพื่อไทย

อาจมาจาก “ความไม่ชอบธรรม” ที่พรรคก้าวไกลประสบพบเจอจาก “กลุ่มชนชั้นนำ” ที่กลัวพรรคก้าวไกลจะไปทำลายผลประโยชน์ แปรเปลี่ยนเป็น “ความสงสาร” จากประชาชน

ในอีกทางหนึ่ง อาจมาจากการทำงานเชิงพื้นที่ของพรรคก้าวไกลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รู้ข้อมูลปัญหาในพื้นที่ เช่น แถบเขาชะเมา มีปัญหาเรื่องช้างป่า เรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งชาวบ้านรู้ดีว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้แก้ง่ายๆ แต่การที่พรรคก้าวไกลทำงานพื้นที่ ลงไปอยู่เคียงข้างชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความไว้เนื้อเชื่อใจว่าปัญหาของเหล่านี้มีคนรับฟัง

แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่เคยเห็นความเอาจริงเอาจังจาก ส.ส.ระยอง ก่อนหน้านี้

 

โอฬารระบุว่า ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าความคิดความเชื่อของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว หากพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้าจับสัญญาณนี้ได้ ต่อยอดไปสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นในอีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า น่าจะสามารถชนะเลือกตั้งได้หลายพื้นที่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตำแหน่งนายก อบจ.ระยอง ซึ่ง อบจ.ระยอง มีงบประมาณสูงที่สุดในประเทศไทย จะส่งผลให้ตัวแทนของพรรคก้าวไกล ถ้าได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ระยอง และใช้งบประมาณของรัฐในการดูแลท้องถิ่น จะได้เปรียบที่จะนำนโยบายของพรรคก้าวไกลมาสู่การปฏิบัติ ระยะยาวหากพัฒนาได้ดีก็จะเป็นบวกต่อพรรคก้าวไกลอีกทางหนึ่ง

โอฬารระบุว่า หากมองให้กว้างขึ้นเป็นระดับภาค ภาคตะวันออกเป็นภาคที่มีพลวัตสูง จนถึงจุดหนึ่งที่การเมืองบ้านใหญ่ไม่สามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์สาธารณะได้ มีปัญหาการบริหารในเชิงลบ ภาพจำเหล่านี้สร้างความรู้สึกที่ไม่ดี เป็นความรู้สึกร่วมของคนภาคตะวันออก

นโยบายของพรรคก้าวไกล โดดเด่นเหนือพรรคการเมืองอื่น เป็นการขายความฝันร่วมที่เป็นเงื่อนไขในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งตอบโจทย์อนาคตการเปลี่ยนแปลงของคนภาคตะวันออก

โอฬารทิ้งท้ายว่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป กลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ต้องปรับตัว ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ทำการเมืองแบบใหม่เป็นการเมืองเชิงนโยบาย สร้างภาพลักษณ์ ทำงานเชิงข้อมูล เพราะลำพังการทำงานแบบเดิม อาศัยทรัพยากรเครือข่ายการเมืองท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่เพียงพออีกแล้ว

และหากไม่ปรับตัว ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป บ้านใหญ่ รวมถึงประชาธิปัตย์อาจสูญพันธุ์