6 ประเด็นเกี่ยวกับ ‘แมนสรวง’

คนมองหนัง

หนึ่ง

ผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยสามผู้กำกับฯ “กฤษดา วิทยาขจรเดช”, “พันพัสสา ธูปเทียน” และ “ชาติชาย เกษนัส” ก็มีลักษณะรวมๆ ไม่ต่างไปจากใบปิดภาพยนตร์ที่เป็นศิลปะแบบคอลลาจฝีมือ “นักรบ มูลมานัส” ซึ่งปะติดปะต่อนู่นนี่มาผสมปนเปกัน แบบน่าตื่นเต้นตื่นตาบ้าง ผิดฝาผิดตัวบ้าง

ดังนั้น โลกใน “แมนสรวง” จึงเป็น “โลกเฉพาะ” มากกว่าจะเป็น “โลกจำลอง” ของรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ช่วง ร.3 ต่อ ร.4) แบบเที่ยงตรง

 

สอง

เช่นเดียวกัน ตัวละครหลักทั้งสี่คนของหนังเรื่องนี้ ได้แก่ “เขม” “ว่าน” “ฉัตร” และ “อาฮ้ง” ก็มีบุคลิกลักษณะประหนึ่ง “เด็กหนุ่ม (หนุ่มวาย) ยุคปัจจุบัน” ที่โผล่ไปมีชีวิตโลดแล่นอยู่ใน “โลกเฉพาะ” ใบดังกล่าว มากกว่าจะมีความเป็นคนในยุคต้นรัตนโกสินทร์จริงๆ

แม้จะไม่ได้วางโครงเรื่องอยู่บนพล็อต “ย้อนเวลา-เจาะเวลาหาอดีต” เหมือนซีรีส์เรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ผลงานสร้างชื่อก่อนหน้านี้ของหนึ่งในผู้กำกับฯ อย่างชาติชาย

ทว่า “แมนสรวง” กลับประกอบภารกิจไม่ต่างกัน นั่นคือ การพยายามนำเอาตัวละครนำที่อยู่ “ผิดที่ผิดทาง” ในยุคสมัยอันไกลโพ้นตามท้องเรื่อง มาวิพากษ์ “ความเป็นจริงในปัจจุบัน” ผ่านบริบทของ “อดีตที่เพิ่งสร้าง”

 

สาม

“โลกเฉพาะยุคต้นรัตนโกสินทร์” ใน “แมนสรวง” ถูกนำมาฉวยใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์การเมืองไทยยุคปัจจุบัน บทสรุปของหนังฉายภาพ “ความเป็นจริงทางการเมืองไทย” (แต่อาจไม่ใช่ “สัจนิรันดร์”) ได้อย่างแม่นยำแหลมคม

นอกจากนี้ หนังยังเชิดชูสถานภาพ “ความเป็นไพร่” ของสามัญชนคนเล็กคนน้อย ในขณะที่สงครามการเมือง “อำมาตย์ปะทะไพร่” นอกจอภาพยนตร์ เมื่อทศวรรษ 2550 แปรเปลี่ยนความหมายไปเยอะแล้ว

เช่น บางคนที่เคยนิยามว่าตนเองเป็น “ไพร่” อาจพร้อมจะจับมือประนีประนอมกับ “อำมาตย์” (ส่วนผู้ที่ได้รับสมญานามว่า “สุภาพบุรุษไพร่” ก็สูญเสียพลังและเครดิตทางการเมืองไปไม่น้อย)

กระนั้นก็ตาม รายละเอียดต่างๆ ในเส้นเรื่องเกี่ยวกับ “การเมือง” ของ “แมนสรวง” กลับดูหลวมๆ งงๆ เบลอๆ เช่น เอาเข้าจริง จนถึงตอนจบ ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าระหว่างตัวละคร “พระยาสองคน” ในหนัง พระยาคนไหนเป็นขุนนางฝั่งรัชกาลที่ 3 และพระยาคนไหนเป็นขุนนางฝั่งรัชกาลที่ 4?

สี่

ตามความตั้งใจของผู้สร้างภาพยนตร์ “แมนสรวง” นั้นไม่ใช่ “หนังวาย” และเป็นสื่อบันเทิงที่พยายามจะ “ไปให้พ้นความเป็นวาย” แต่อีกด้านหนึ่ง ภาพลักษณ์ความเป็น “ดาราวาย” ก็ติดตัวมากับนักแสดงนำ อย่างไม่อาจจะลบหายไปได้ง่ายๆ

ภาวะย้อนแย้งข้างต้นส่งผลให้เพศสภาพของตัวละครและความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเพศต่างๆ ในหนัง ดูแปลก พิลึก อัดอั้นอึดอัด ชอบกลอยู่

โดยแนวคิดเบื้องต้นแล้ว สถานที่เช่น “แมนสรวง” น่าจะเป็น “พื้นที่พิเศษ/พื้นที่ยกเว้น” ซึ่งเต็มไปด้วยเพศสภาพและความสัมพันธ์ทางเพศอันลื่นไหล ทว่า ไปๆ มาๆ “แมนสรวง” กลับเป็นพื้นที่ทางเพศที่ “สะอาด” หมดจด จนเป็นคล้าย “โลกไร้เพศ” มากกว่าจะเป็น “โลกแห่งความหลากหลายทางเพศ”

“แมนสรวง” คือพื้นที่ประหลาดๆ ที่ “โลกของผู้หญิง” และ โลกของผู้ชาย” แทบจะแยกขาดออกจากกัน (เหมือนจะมีผัวเมียแค่คู่เดียว -เป็นคนรับใช้และแม่ครัว- ในโลกใบนี้)

ส่วนปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้ชาย” กับ “ผู้ชาย” ก็ดำเนินไปผ่านการเล่นหูเล่นตาเท่านั้น จนแลดูเรียบร้อยใสๆ เกินเหตุ

หากเหล่าตัวละครใน “แมนสรวง” มีชีวิตอยู่จริงๆ ในยุคต่อเนื่องระหว่างรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 สายสัมพันธ์ที่สะอาดเรียบร้อยปราศจากมลทินและ “ไร้เพศ” ของพวกเขา ย่อมนำไปสู่ “จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” อย่างไม่ต้องสงสัย

 

ห้า

“ตัวละครชาติพันธุ์จีน” ใน “แมนสรวง” ดูมีความน่าสนใจในเชิงรูปลักษณ์บางอย่าง เช่น การแต่งกายเป็นฝรั่งผสมจีนของ “อาฮ้ง” หรืออาณาจักร “แมนสรวง” ที่ดูเป็นโลกพันธุ์ทางแบบคอลลาจ มากกว่าจะสถาปัตยกรรมนิยมจีนแบบวัดยุค ร.3 ที่เราคุ้นเคย

อย่างไรก็ดี อุดมการณ์ “ลูกจีนรักชาติสยาม/ไทย” ที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง “สงครามเก้าทัพ” (2531) ก็มีตัวละครประเภทนี้ ซึ่งมิได้มีความผิดแผกทางอุดมการณ์จากบรรดา “ตัวละครไทยจีน” ใน “ลอดลายมังกร” หรือ “อยู่กับก๋ง” มากนัก

เร็วๆ นี้ ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูหนังไทย-ฮ่องกงเรื่อง “กตัญญูปกาสิต” (2501) และดูบางส่วนของละครทีวีเรื่อง “กตัญญูประกาศิต” (2533) ด้วยความรู้สึกว่า “ความเป็นจีน” ของตัวละครใน “กตัญญูปกาสิต-กตัญญูประกาศิต” นั้นเป็นประสบการณ์แปลกแยก-น่าสนใจสำหรับคนในสังคมไทยร่วมสมัย

เนื่องจากทั้งสองเรื่องนำเสนอชะตากรรมของตัวละคร “ลูกจีนในไทย/จีนสยาม” ที่เป็น “ลูกจีนรักชาติ” อีกแบบหนึ่ง เพราะ “ชาติ” ที่พวกเขาและเธอรัก คือ “ชาติจีน” ซึ่งกำลังถูกญี่ปุ่นรุกรานช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ชาตินิยมทางไกล) มิใช่ “ชาติไทย”

 

หก

จุดน่าเสียดาย คือ แม้ “แมนสรวง” จะเป็นหนังไทยที่ระดม “นักแสดงละครเวที” ชั้นนำระดับยอดฝีมือมาสวมบทบาทในจอภาพยนตร์กันอย่างคับคั่ง แถมยังมีคน-ครูละครเวทีอย่างพันพัสสามาเป็นหนึ่งในผู้กำกับฯ ด้วย

แต่มหรสพสองแบบกลับยังจูนเข้าหากันอย่างไม่ค่อยลงล็อกลงตัวสักเท่าใดนัก เห็นได้จากการที่ “นักแสดงละครเวที” แทบทั้งหมด ไม่สามารถเปล่งฉายศักยภาพของพวกตนออกมาได้อย่างพอเหมาะพอดีภายในแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงไป •

 

| คนมองหนัง