เดินตามประชาชน

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

เดินตามประชาชน

 

หลังพรรคเพื่อไทย “พลิกขั้ว” เขี่ยพรรคก้าวไกลทิ้ง แล้วหันมาจับมือกับ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” ส่ง “เศรษฐา ทวีสิน” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ “ก้าวไกล” เป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร โดยแต่ละพรรคประกาศแนวทางของนโยบายชัดเจน

ทำให้พรรคการเมืองไทยแยกเป็น 2 ปีกอย่างมีนัยยะของความแตกต่าง

บ้างก็แบ่งด้วยกรอบของแนวทาง “เสรีนิยม” กับ “อนุรักษนิยม” โดยมี “ก้าวไกล” เป็นหัวขบวนเสรีนิยม และมี “เพื่อไทย” พลิกขึ้นมานำสาย “อนุรักษนิยม” แทน “รวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ”

แต่นั่นเป็นการแบ่งจากให้ความหมายในกรอบอุดมการณ์ของพรรค

ยังมีการแบ่งอีกแบบที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นคือ “วิธิการก่อตั้งและสร้างพรรค”

 

ก่อนหน้า “พรรคอนาคตใหม่” จะถือกำเนิด และอวตารมาเป็น “ก้าวไกล” ในปัจจุบัน พรรคการเมืองทุกพรรคก่อตั้งด้วยการระดมคนมีชื่อเสียง ผู้มีอำนาจมาเป็นแม่เหล็กสร้างเครือข่าย เป็นแบบสร้างผู้นำขึ้นมาสร้างความเชื่อถือศรัทธากับประชาชน

คะแนนเสียงมาจากชื่อเสียงของนักการเมืองแต่ละคนมามีรวมกลุ่มกัน เป็นฐานให้พรรค

แต่เมื่อ “อนาคตใหม่” ถือกำเนิดขึ้นได้ ปรับวิธีก่อตั้งเสียใหม่ โดยเริ่มจากการให้ความรู้การเมืองกับประชาชน หลังจากนั้นคำเสนออุดมการณ์ของพรรคให้สอดคล้องกับความตื่นตัวรับรู้ของประชาชน เริ่มจากขายอุดมการณ์ของพรรค และนำเสนอภาพของผู้นำที่มีความร็ความสามารถสอดคล้องกับอุดมการณ์

และความต่างนี้เองที่ทำให้เกิดการแบ่งพรรคการเมืองเป็น 2 ปีกอีกแบบ

หนึ่ง ที่ “นักการเมืองเป็นผู้เดินนำประชาชน” กับสอง ที่ “ประชาชนกำหนดทางเดินให้พรรค”

จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านั้น พรรคก้าวไกลถูกพรรคการเมืองอื่นโจมตีว่าฟัง “ด้อมส้ม” หมายถึงประชาชนที่ให้การสนับสนุนพรรคมากเกินไป แต่ผู้บริหารพรรคก้าวไกลตอบว่าการให้ประชาชนกำหนดพรรคเป็นแนวทางของพรรค

ด้วยการแบ่งพรรคเป็น 2 ปีก แบบนี้เองเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบยังคับให้พรรคก้าวไกลต้องเลือกระหว่าง “หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน” กับ “รองประธานสภาคนที่ 1”

พรรคก้าวไกลจึงเลือกที่จะฟังเสียงของประชาชน

ซึ่งล่าสุด “นิด้าโพล” ช่วยชี้ทางแล้ว ในการสำรวจเรื่อง “พรรคก้าวไกลควรเลือกอะไร”

 

ในคำถาม “ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลควรเลือกในสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างรองประธานสภากับผู้นำฝ่ายค้าน” ในภาพรวม ร้อยละ 56.11 ให้เลือกผู้นำฝ่ายค้าน, ร้อยละ 39.08 ให้เลือกรองประธานสภา, ร้อยละ 4.81 ไม่ตอบ

และสำหรับผู้ที่เคยเลือกพรรคก้าวไกล รวมถึงเลือกในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ร้อยละ 52.69 ให้เลือกผู้นำฝ่ายค้าน, ร้อยละ 43.63 ให้เลือกรองประธานสภา, ร้อยละ 3.68 ไม่ตอบ

เมื่อผลสำรวจออกมาเป็นเช่นนี้ ย่อมนับว่าเป็นเรื่องแหลมคมยิ่งต่อการตัดสินใจของพรรคก้าวไกล ว่าจะสละเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้หัวหน้าพรรคไปรับตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” หรือไม่ ตามผลโพลหรือไม่

เพราะมีไม่น้อยที่เห็นว่าตำแหน่ง “รองประธานสภา” มีบทบาทต่อการผลักดันนโยบายของพรรคก้าวไกลมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ประชาชนอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่มีบทบาทอย่างเป็นทางการที่สำคัญกว่าในหลายเรื่อง อย่างเป็นการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง หรือเป็นกรรมการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ขณะที่ “รองประธานสภา” ต้องทำหน้าที่ในกรอบของความเป็นกลางในการพิจารณาเรื่องต่างๆ

ถึงวันนี้ สภาผู้แทนราษฎรยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการให้มี “ผู้นำฝ่ายค้าน”

แต่ถึงที่สุดแล้ว “พรรคก้าวไกล” จะต้องตัดสินใจเลือก

จะเลือกทางไหน จะต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและยอมรับ เนื่องจาก “ก้าวไกล” เป็นพรรคที่มีแนวทางขับเคลื่อนตามโดยความเห็นของประชาชนมีผลต่อการตัดสินใจมากกว่า