เปิดใจ ‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ ว่าที่หัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9?? ‘ประชาธิปัตย์ยังขลัง แก้ปัญหาได้-ไปต่อ’

ความขัดแย้งวุ่นวายในพรรคประชาธิปัตย์ห้วงเวลานี้ที่ยังสรรหาหัวหน้าพรรคไม่ได้ เปรียบเหมือนเรือกลางลมพายุในมหาสมุทร ถูกคลื่นซัดโคลงเคลงหาฝั่งไม่เจอ แม้ว่าจะมีการประชุมใหญ่ของพรรคมาสองรอบแล้ว แต่ก็เกิดปัญหาองค์ประชุมล่มทั้งสองครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้จนป่านนี้ยังไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคคนที่ 9 และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้

ความขัดแย้งดังกล่าวมาจากความคิดเห็นไม่ตรงกันของ “คนรุ่นเก่า” และ “คนรุ่นใหม่” ภายในพรรค ในการเข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยตามที่มีข่าวปรากฏออกมา

ขณะที่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ นับเป็นพรรคใหญ่และเป็นสถาบันทางการเมือง โดดเด่นชัดเจนมาตลอดเรื่องจุดยืนข้างประชาธิปไตย

แต่แล้วการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ทำให้ประชาธิปัตย์ต้องสูญพันธุ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งที่เคยเป็นฐานเสียงสำคัญผูกขาดชัยชนะมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับทางภาคใต้ที่เคยแข็งแกร่ง ก็ถูกคู่แข่งเจาะได้สำเร็จในหลายพื้นที่ ทำให้จากที่เคยเป็นพรรคขนาดใหญ่ในอดีต ได้ ส.ส.มากกว่าร้อยคน ต้องกลายเป็นพรรคที่มี ส.ส.ไม่ถึงครึ่งร้อยในปัจจุบัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ประชาธิปัตย์จำต้องเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่กำลังตกต่ำลงเรื่อยๆ ด้วยการเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่มาแทนชุดรักษาการให้ได้ ในการประชุมพรรคครั้งที่ 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่กำหนดวันที่แน่นอน

หนึ่งในนั้นมีชื่อ “นราพัฒน์ แก้วทอง” ที่ได้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” สนับสนุนลงชิงกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่มีผู้อาวุโสมากบารมีในพรรคอย่าง “ชวน หลีกภัย” ทั้งผลักทั้งดันเต็มที่

 

“นราพัฒน์ แก้วทอง” เพื่อนๆ และคนทั่วไปเรียก “ตุ้ม” เป็นทายาทของ “ไพฑูรย์ แก้วทอง” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอดีต ส.ส.พิจิตร ปชป.หลายสมัย

ปัจจุบัน ตุ้ม นราพัฒน์ เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เสนอตัวเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ด้วยเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการกับปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้ได้

“นราพัฒน์” เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค ปชป.ตั้งแต่ปี 2544 เริ่มจากเดินหาเสียงเป็นผู้ช่วยคุณพ่อตอนปี 2542 พอปี 2544 จึงลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.เขตในจังหวัดพิจิตรแทนคุณพ่อ ที่ย้ายไปเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เขามองความพ่ายแพ้ของประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งล่าสุดที่ผ่านมา ว่ามีเหตุมาจากมวลชนที่เคยสนับสนุน ปชป.เริ่มสับสนในจุดยืนของพรรค ไม่รู้ว่าจะเอาแบบอนุรักษนิยม หรือต่อสู้กับฝั่งทุจริตคอร์รัปชั่น หรือฝั่งสืบทอดอำนาจกันแน่ ปชป.ไม่เป็นเอกภาพ คะแนนจึงหายไป

“ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งมันคืออารมณ์มากกว่าจะเป็นเรื่องของเหตุและผล การเมืองเป็นการสร้างอารมณ์และสร้างกระแสบวกการตลาด ประกอบกับการหาเสียงสมัยนี้คนสนใจข้อมูลทางโซเชียลมีเดียมากกว่าจะมาคุยกับเรา เพราะฉะนั้น โซเชียลมีเดีย ระบบการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้เราสร้างความจริง ความพอใจให้กับประชาชนในโลกโซเชียลได้ ผมเชื่อว่าถ้าเราทำได้เขาจะกลับมาหาเรา”

ดังนั้น หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ นราพัฒน์เห็นว่ากติกาเรื่องนี้อาจเป็นหัวข้อใหญ่ที่ต้องมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าให้มีการแข่งขันทางการเมืองอย่างเท่าเทียม

“ไม่งั้นพรรคไหนรวยก็ยิ่งได้เปรียบทางการเมือง มีทุนซื้อสื่อ ซื้อโซเชียล” เขากล่าว

 

วกกลับมาที่ประเด็นการฟื้นฟูประชาธิปัตย์ นราพัฒน์กล่าวหนักแน่น “ทุกปัญหาแก้ไขได้ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ เพียงแต่ว่าวันนี้การแก้ไขไม่สามารถทำได้ภายใต้คนคนเดียว ต้องมีความร่วมมือกัน”

ความเห็นของเขาคือพรรคต้องเปิดช่องทาง เปิดพื้นที่ และให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ วันนี้เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ที่เก่ง พรรคจะรอด จำเป็นต้องเอาคนใหม่ สังคมใหม่ๆ เข้ามาให้เขาทำงานให้ ปชป.

ทำให้ ปชป.อาจเปลี่ยนลุคจากเดิมที่เอาแต่ไปเดินปราศรัยเคาะประตูหาเสียง อาจจะมาทำงานบนโลกออนไลน์มากขึ้น ดึงมวลชนเปิดห้องสาธารณะให้แสดงความคิดเห็น ถ้าเห็นด้วยก็มาร่วมเป็นสมาชิกพรรค มาผลักดันกฎหมาย

“ผมว่า ปชป.ขลังพอสมควร อย่างน้อยพระแม่ธรณีเราขายได้ ความเป็น ปชป.เราขายได้ เรามีประวัติศาสตร์ที่ขายได้ เพียงแต่ว่าเราต้องเปลี่ยนของเก่า วิธีการและเทคนิคในการนำเสนอต้องเปลี่ยน แล้ว ปชป.จะกลับมา”

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น “ตุ้ม นราพัฒน์” มีข้อเรียกร้อง อย่างแรก คือทุกคนหยุดวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีด่ากัน บลั๊ฟฟ์กันในพรรค หยุดใช้คำว่ารักพรรคๆๆ มาเป็นอุปสรรคในการจะประนีประนอมหรือพูดคุยกัน ให้ทุกคนมานั่งประชุมร่วมกัน

“ผู้ใหญ่ในพรรคจริงๆ ก็อยากเรียกร้องท่าน รวมทั้งคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาปิดห้องจับเข่าคุยกัน ปชป.จะเดินไปยังไงต่อ ซึ่งเมื่อมีความเห็นแตกต่างกัน แต่สุดท้ายจะถูกตัดสินด้วยที่ประชุมว่ามีมติเห็นอย่างไร”

สิ่งต่อมาที่ประชาธิปัตย์ต้องมี คือ การสื่อสารทั้งภายในและภายนอกพรรค นราพัฒน์มองว่าหากมีการสื่อสารให้สมาชิกหรือคนในครอบครัวรับรู้อย่างเข้าใจทั่วถึง ก็จะพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกัน ไม่เกิดการถกเถียงกันในวงนอก

 

เมื่อถูกแย้งว่าคนรุ่นเก่าที่เป็นผู้ใหญ่ในพรรคยัง “ดื้อ” เล่นเกมในพรรค นราพัฒน์หัวเราะบอกว่าต้องใช้เวลา เป็นวัฒนธรรมของความเคารพนับถือกันของ ปชป.

“อาจจะอยู่ในช่วงทำใจและคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครชนะ มีแต่ ปชป.ที่แพ้ คือแพ้ภัยตัวเอง”

“สำหรับผมในระบอบประชาธิปไตยทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้ แต่ต้องวงเล็บข้างท้ายว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่มติที่ประชุมพรรค ถ้าทุกคนรักพรรคจริงและเป็นประชาธิปไตย ถ้าเสียงข้างมากเขาบอกอย่างนี้แล้วคุณไม่เห็นด้วย คุณทำได้ 2 อย่างคือ เงียบ และสอง ถ้าคุณไม่เงียบ ไม่เดินตาม ก็ต้องออกจากพรรคไป”

“ผมว่าไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยง โลกหมุนไปเรื่อย พรรคการเมืองเกิดใหม่เรื่อยๆ นักการเมืองเกิดใหม่เรื่อยๆ ถ้าปรับตัวทันก็ไปกับเขาได้ ถ้าปรับไม่ทันก็ต้องเสื่อมสลายไป ผู้ใหญ่ในพรรคเขารู้ ไม่ต้องไปบอก มันก็เหมือนกับไดโนเสาร์บางประเภทที่อยู่ได้ บางประเภทก็ไม่รอด สูญพันธุ์ อย่างจระเข้มันปรับตัว มันจึงอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องปรับตัว” นราพัฒน์กล่าว

เมื่อถามว่าการประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารชุดใหม่รอบ 3 จะจบหรือไม่ นราพัฒน์แคนดิเดตหัวหน้าพรรคกล่าวว่า ยังมีปัญหาข้อถกเถียงเรื่องสัดส่วนเสียงโหวต 70 ต่อ 30 ที่ให้น้ำหนักการโหวตของ ส.ส.ร้อยละ 70 และสมาชิกพรรคร้อยละ 30 กรณีที่ยังไม่มีการแก้ไขข้อบังคับพรรค ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 100 ที่นั่งขึ้นไป แต่ครั้งนี้พรรคได้มาเพียง 25 ที่นั่ง จึงต้องมาหารือกันให้ ส.ส.และสมาชิกพรรคมีน้ำหนักในการโหวตเท่ากันคือ 1 ต่อ 1

“คิดว่าจบหรือไม่จบอยู่ที่ หนึ่ง-ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยในการเลือกตั้งหัวหน้ายังจะมาประชุมหรือไม่ ถ้าไม่มาประชุมก็ไม่จบ สอง-แต่ถ้าคณะกรรมการบริหาร (รักษาการ) ยอมที่จะพูดคุยและมีมติให้ชัดเจนว่าสามารถเพิ่ม (19) ข้อบังคับพรรคได้ เอา (19) มาใช้โดยโปร่งใสที่สุด เช่น เปิดรับสมัครคนที่อยากมาเป็นองค์ประชุมจากทุกภูมิภาค แล้วจับสลากให้เหลือภาคละ 20 คน เท่ากับ 100 คน ให้มาเป็นองค์ประชุม ก็ถือว่าเป็นตัวแทนของสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการจัดตั้งของใคร แต่เป็นสมาชิกทั่วประเทศที่เขามีความประสงค์อยากมาลงคะแนนให้ ปชป.เดินหน้า ต่อให้พวกเกเรเล่นตุกติก ก็ไม่น่าจะมีผลแล้ว”

“จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรครอบหน้า ไม่งั้นก็เกิดปัญหาทำให้องค์ประชุมไม่ครบ เสียค่าใช้จ่ายเพราะประชุมแต่ละครั้งใช้เงิน 3-4 ล้าน เวลาก็เสีย ภาพลักษณ์ของพรรคก็ไม่ดี คิดว่าหลายคนน่าจะยอมรับในแนวทางนี้ ถ้าแนวทางนี้ทำได้ น่าจะจบในการประชุมพรรคครั้งหน้า”

 

ถามอีกว่าถ้าเลือกตั้งรอบ 3 ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค คิดจะย้ายพรรคหรือไม่?

นราพัฒน์กล่าวแบบไม่ต้องเสียเวลาคิด “พรรคการเมืองเหมือนกันหมด จะย้ายไปทำไม อยู่พรรคไหนก็เหมือนกัน ส่วน ส.ส.ประชาธิปัตย์ 18 คน เขาเกิดจากประชาธิปัตย์ เขาไม่ย้ายพรรคหรอก เพียงแต่ว่าบางคนพยายามจะผลักเขาออกไปด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ขออย่าไปคิดขนาดจงเกลียดจงชังเขาเลย อย่างน้อยเขาทำให้พรรคได้ ส.ส.มากันเป็นแถวไม่ใช่เหรอ ถ้าไม่มีเขาวันนี้ ถามหน่อย ปชป.เหลือ ส.ส.กี่คน”

“เพราะงั้นอย่าไปรังเกียจกัน การเมืองมันต้องผสมผสาน การเมืองขาวสะอาดใสซื่อ ไม่มีทาง ไม่มีการเมืองพรรคไหนขาวบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วประสบความสำเร็จ เพียงแต่ว่าเราอย่าทำอะไรที่มันไม่ถูกไม่ควร หรือน่าเกลียดจนเกินไป”

นราพัฒน์ตบท้ายว่า “ผมไม่ไปไหนหรอกครับ ถ้าอยู่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ ก็คงต้องเลิกเล่นการเมือง อยู่บ้านพักผ่อน”