ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เมื่อสื่อมวลชนรายงานข่าวว่า สุทิน คลังแสงรัฐมนตรีวาการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ ได้เปิดเผยรายชื่อที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันประกอบด้วยพลเรือนและทหารรวม 13 คน1

ผมได้สอบถามเพื่อนผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเพื่อขอความเห็น เพื่อนของผมกล่าวว่า “…ต้องดูที่ผลงานว่าจะทำตามที่บอกไว้ได้หรือไม่…”

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงต้องค้นคว้าเรื่อง ความมั่นคงแห่งชาติในยุคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมท่านใหม่ สุทิน คลังแสง

 

ความมั่นคงแห่งชาติในมือของบิ๊กทิน

สุทิน คลังแสง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความหมายทางการเมืองหลายประการ

ประการแรก สุทิน คลังแสงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยที่เป็นพลเรือนคนแรก ที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีควบอีกตำแหน่ง ในอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็นพลเรือนล้วนเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเช่น ชวน หลีกภัย สมัคร สุนทรเวช ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ด้วยเหตุนี้วินาทีแรกแห่งการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมคำถามที่รุนแรงมากคือ กองทัพจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเขา

ประการที่สอง สุทิน คลังแสง คือใครและมีความสำคัญอย่างไร ผู้ที่เลือกเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือใครกันแน่ในพรรคเพื่อไทย สุทิน คลังแสงเป็นตัวแทนของใครและอะไรจึงเข้าดำรงตำแหน่งอันสำคัญยิ่งของประเทศ ของพรรคเพื่อไทย เช่นนี้ สุทิน คลังแสงจะเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองเดินได้หรือไม่

ควรเข้าใจด้วยว่า พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่เป็นชนวนรัฐประหารในเดือนตุลาคมปี 2519 มาแล้ว

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่พยายามควบคุมกองทัพแต่ถูกรัฐประหารเสียก่อนในเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่มีนักการเมืองคนไหนไม่รู้ความอ่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งโดยธรรมเนียมมักปล่อยให้อดีตนายทหารอาวุโสดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายใต้แนวคิดที่ว่า ไม่มีใครรู้ใจทหารดีกว่าทหารด้วยกันเอง

หรือให้เกียรติทหารด้วยการให้นายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปเสียเลย

ประการที่สาม หากสุทิน คลังแสงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว ทิศทางของความมั่นคงไทยจะไปทางไหน ความมั่นคงมีความสำคัญมากๆ แล้วก็ยังมีเรื่องท้าทายอีกมากมายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงด้านกำลังรบ เทคโนโลยี และอื่นๆ อีกมากมาย

 

โหมโรงความมั่นคงไทย
เขาชื่อสุทิน คลังแสง

หลังจากคุณ เศรษฐา ทวีสินได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คณะรัฐมนตรีของคุณ เศรษฐา ทวีสินนับเป็นคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลผสม มีข้อสงเกตว่า พรรคเพื่อไทยได้ยินยอมให้พรรคร่วมรัฐบาลได้ตำแหน่งสำคัญทางด้านเศรษฐกิจไปพอสมควร

เช่น กระทรวงพลังงานตกอยู่ในโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นของพรรคพลังประชารัฐ

พร้อมกันนั้นพรรคเพื่อไทยยังแบ่งสรรงานสำคัญด้านความมั่นคงไปให้พรรคอื่นด้วยนั่นคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตกเป็นตำแหน่งของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังอยู่ในโควตาของพรรคเพื่อไทย แต่ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยเองยังหาผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ไม่ได้ง่ายๆ

ปรากฏว่ามีรายชื่อตามรายงานของสื่อมวลชนมาหลายชื่ออันสะท้อนถึงสถานะทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยกับกองทัพ อีกทั้งยังสะท้อนการเมืองภายในพรรคเพื่อไทยด้วย

ชื่อหนึ่งที่ปรากฏออกสื่อมวลชนคือ พลเอก ณัฐพล นาควานิช อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ชื่อของพลเอกท่านนี้มีการตีความถึงความเชื่อมโยงอันสำคัญระหว่างนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชากับรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย

เพราะนายพลท่านนี้ใกล้ชิดกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นมือทำงานทั้งเรื่องความมั่นคงและยังเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงโรคระบาดโควิด-19

นอกจากนี้ ยังมีชื่อพลเอกอีกหลายท่านที่สื่อมวลชนอ้างอิงว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่แห่งพรรคเพื่อไทย แต่แล้วสุทิน คลังแสงก็กลับเป็นรัฐมนตรีตัวจริง คำถามต่อตัวเขาดูเหมือนมากมายเสียเหลือเกิน พรรคเพื่อไทยเอานักการศึกษา นักการเมืองแห่งจังหวัดมหาสารคาม นักการเมืองผู้เก่งกล้าในสภามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้อย่างไร

ที่สำคัญคือ ทำไม?

จนกระทั่งตัวสุทิน คลังแสง ยังพูดติดตลกว่า อาจเป็นเพราะนามสกุล คลังแสง ก็ได้ นามสกุลสอดคล้องกองทัพ

แต่ผมกลับตีความสิ่งที่สุทิน คลังแสง หลุดปากออกมาว่า คลังแสงคือมีอาวุธมากแล้ว ซื้ออาวุธน้อยลงก็ได้

แล้วเรื่องเล่าก็กลายเป็นจริง ดูเหมือนเรื่องเล่าการผูกมิตรระหว่างสุทิน คลังแสงกับกองทัพเดินไปด้วยดี สุทิน คลังแสง เดินสายเข้าพบและขอคำปรึกษาจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเช่น พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีกลาโหม (สมัยพรรคไทยรักไทย) 2 พล.อ.อ.กำพล สุวรรณทัต พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ หรือแม้แต่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ให้ความเห็นต่อเขาทางโทรศัพท์ ล้วนเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมที่สนับสนุนสุทิน คลังแสง แล้วให้คำแนะนำต่อตัวเขาว่า ต้องให้เกียรติกองทัพ ไม่ทำตัวกร่าง

คีย์เวิร์ดคือ นโยบายต่อกองทัพของสุทิน คลังแสง

เริ่มต้นด้วย 29 สิงหาคม 2566 สุทิน คลังแสงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องการปฏิรูปกองทัพว่า3 “… ยังไม่ได้คุยกัน คงจะต้องมาคุย เรื่องนโยบายของรัฐบาลอีกครั้ง วันนี้เป็นเพียงนโยบายของแต่ละพรรค เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลต้องมาคุยกัน…”

หลังจากนั้นเขาพูดถึงนโยบายปฏิรูปกองทัพดังนี้ เช่น

– ลดขนาดกองทัพ “….กองทัพมีแผนลดกำลังพลอยู่แล้ว ปีพศ. 2570 นายพลจะมีจำนวนลดลงมาก…”

– การเกณฑ์ทหาร “…จะใช้วิธีสมัครใจ ปีนี้ให้มีการเกณฑ์ทหารตามปกติ หากมีการสมัครเข้าเป็นทหารมากๆ อาจปิดรับสมัครไปเลย…”

– งบประมาณกองทัพ “….เราต้องดูตามความเหมาะสม กองทัพต้องได้งบประมาณเพียงพอต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของกองทัพ…”

คีย์เวิร์ดเหล่านี้จากการให้สัมภาษณ์ของสุทิน คลังแสงนับว่าสร้างความพอใจให้กับผู้นำเหล่าทัพ แต่เกิดกระแสความไม่พอใจจากฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปกองทัพที่มากกว่าที่สุทิน คลังแสงคิดจะดำเนินการ

 

นัยยะของเรือดำน้ำจีน

9กันยายน ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา 1 ในวันที่ 11-12 กันยายน มีการอ้างอิงคำสัมภาษณ์ของสุทิน คลังแสงภายหลังการร่วมประชุมทางวิชาการเรื่อง “ความมั่นคงไทยในระเบียบโลกใหม่ ความท้าทายทางภูมิศาสตร์” จัดโดย นักศึกษาหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต ผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมทางสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต4

สุทิน คลังแสงให้สัมภาษณ์ว่า

“…ความมั่นคงแห่งชาติมี 9 ด้าน ความมั่นคงทางอาหารก็เป็นความมั่นคงแห่งชาติที่สำคัญ ดังนั้น …การจัดหาเรือดำน้ำต้องคำนึงถึงตามความจำเป็น ซึ่งหากรับไม่ได้กับเครื่องยนต์จีน ก็ต้องเจรจาและหาทางออก เช่น จัดหาเรือผิวน้ำแทนหรือยกเลิกสัญญา เปลี่ยนเป็นนำปุ๋ยจากจีนมาให้เกษตรกรในราคาถูกแทน…”5

ประการแรก ควรเข้าใจว่า สุทิน คลังแสงมีแนวทางการพัฒนากองทัพของเขาเองอยู่แล้ว การรับฟังความคิดเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมเป็นเพียงท่าทีทางการเมืองที่นิ่มนวล แล้วก็มุ่งสู่ประเด็นใจกลางด้านความมั่นคงแห่งชาติที่กำลังถกเถียงกันอยู่

โดยเริ่มต้นวางแผนให้เรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ของเยอรมันแทนเครื่องยนต์จีน โดยแนวคิดนี้ก็มีบางฝ่ายในกองทัพเรือเห็นด้วย

ดังนั้น เท่ากับว่าเป็นการ จมเรือดำน้ำจีน 3 ป.เลยทีเดียว คือ ละลายพลัง ทะลายเส้นสายเชื่อมโยงของ 3 ป.กับกองทัพที่ฝังแน่นยาวนานไปเลย

หากเป็นเช่นนี้ ทางการจีนถึงกับช๊อกเพราะเรือดำน้ำจีนเป็นตัวบ่งชี้ความสัมพันธ์ทางทหารจีนต่อไทย เป็นตัวแทนความใกล้ชิดต่อจีนของรัฐบาล 3 ป น่าสนใจ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสินและคณะชุดใหญ่เตรียมการเดินทางไปประชุมสหประชาชาติ เข้าพบรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา แล้วจะปรึกษาด้านความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกาโดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร. ปานปรีย์ พหิทธานุกรร่วมเจรจาด้วย6

ประการที่สอง เรือดำน้ำจีน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในยุคของ 3 ป. กว่า 9 ปีที่ผ่านมาระบอบประยุทธ์เดินแนวทางจีนเป็นหลัก ไม่เคยมีนโยบายและแนวทางใดที่สร้างปัญหาต่อจีนเลย นโยบายจีนเดียว (One China policy) เหนียวแน่นมาก ส่งชาวอุรกูย์ที่เดินทางผ่านไทยแล้วถูกทางการไทยจับได้ส่งกลับไปจีน เป็นพันธมิตรเหนี่ยวแน่นกับรัฐบาลทหารเมียนมา ให้การรับรองรัฐประหารเมียนมา ช่วยจัดประชุมอาเซียนโดยเชิญผู้แทนเมียนมาที่ประเทศไทย อันฝืนต่อ ฉันทานุมัติ 5 ข้อของอาเซียน

ประการที่สาม มีข้อริเริ่ม Barter Trade ใช้สินค้าเกษตรแลกเปลี่ยนกับการซื้ออาวุธ กลไกนี้ยุ่งยากสลับซับซ้อน แต่เป็นการลดบทบาทผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงคือ ทหารไปไม่น้อย

แน่นอนแรงต่อต้านรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนรุนแรง แต่นี่เป็นจุดเปลี่ยนความมั่นคงแห่งชาติของไทยเลยทีเดียว

 


1“เปิด 13 กุนซือ บิ๊กทิน ทีมผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ด้านบิ๊กแปะ ตกขบวน” Nation TV 9 กันนายน 2566

2“สุทินขอคำปรึกษา บิ๊กแอ๊ด อดีตรัฐมนตรีกลาโหมยุคไทยรักไทย วางคิวพบอดีตนายกฯ-ผบ.ทบ.” มติชน 2 กันยายน 2566.

3“สุทินระบุนโยบายเกณฑ์ทหารต้องถกพรรคร่วม หลังฟอร์มคณะรัฐมนตรีเสร็จ ชี้ต้องฟังทุกพรรคว่าทำได้หรือไม่” มติชน 29 สิงหาคม 2566.

4“สุทิน-รมว. กลาโหม ร่วมเวทีวิชาการ ม.รังสิต เผยภัยคุกคามใหม่ 9 ด้าน” ไทยโพสต์ 9 กันยายน 2566

5เพิ่งอ้าง., “สุทิน แย้มเจรจาจีน เปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือผิวน้ำ หรือไม่ก็แลกปุ๋ยมาช่วยเกษตรกร” มติชน 9 กันยายน 2566.

6“Will new Foreign Policy tillt away from China toward the West?” ThaiPBS Political Desk 8 September 2023.