นโยบาย อย่างไร ไม่ขายฝัน | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่ไปร่วมจับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้สร้างวิกฤตความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองในเรื่องคำพูดของนักการเมือง เนื่องจากในช่วงการหาเสียง ได้มีการประกาศอย่างหนักแน่นว่าจะไม่จับมือตั้งรัฐบาลกับสองพรรคการเมืองดังกล่าว

วิกฤตความเชื่อมั่นในเรื่องจุดยืนทางการเมือง ลามไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในนโยบายการหาเสียงหรือแม้กระทั่งนโยบายที่แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่ายังจะสามารถเชื่อถือได้หรือไม่

นโยบายที่ประกาศจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาหรือจะเป็นเพียงนโยบายเพื่อขายฝันให้ได้มาซึ่งคะแนนนิยมเฉพาะหน้าเพื่อการเลือกตั้ง หรือเป็นการแถลงนโยบายแบบขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ

หรือจะมีแนวทางอย่างไรที่จะเป็นหลักประกันให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะมีความจริงจังในดำเนินการให้สำเร็จ

 

ความเป็นรูปธรรมของนโยบาย

แม้ว่านโยบายจะเป็นแนวทางกว้างๆ ที่รัฐบาลประกาศว่าในช่วงวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีจะทำอะไรบ้าง แต่หากเป็นหัวข้อที่ขาดรูปธรรมประกอบ ก็เป็นเหตุให้ประชาชนไม่เห็นถึงความแตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาลทุกชุดได้ดำเนินการ อีกทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ได้มีหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ตั้งแต่มาตราที่ 64 ถึงมาตราที่ 78 จำนวน 15 มาตราเขียนไว้เป็นหลักให้รัฐบาลทุกชุดต้องดำเนินการอยู่แล้ว

นโยบายของรัฐบาลจึงสมควรมีความแตกต่างเพิ่มเติมจากสิ่งที่ระบุในรัฐธรรมนูญ โดยมีสิ่งที่แตกต่างหรือมีการยกสิ่งที่เป็นรูปธรรมประกอบให้เห็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งกระทำให้เกิดผลสำเร็จ

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการปฏิรูประบบราชการ การยกรูปธรรม ได้แก่ การลดขนาดของระบบราชการให้เล็กลงโดยมีแผนการลดอัตรากำลังที่ชัดเจน การทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ การให้การติดต่อราชการผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ ให้เป็นการจ่ายเงินทางดิจิทัล (Digital payment) เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นจากเงินสินบน เงินใต้โต๊ะต่างๆ เป็นต้น

 

การมีกรอบเวลาในการปฏิบัติที่ชัดเจน

ความจริงจังของนโยบายที่ประชาชนสามารถรับรู้ได้ง่ายที่สุดในประการถัดมา คือ การกำหนดกรอบเวลาของการดำเนินการที่ชัดเจน เนื่องเพราะรัฐบาลมีวาระ 4 ปี และยังอาจมีความผันผวนทางการเมืองที่อาจทำให้มีการยุบสภาหรือการลาออกของนายกรัฐมนตรีทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ

ดังนั้น ประชาชนจะไม่มีความหวังกับนโยบายที่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาความสำเร็จ หรือนโยบายที่ประกาศว่าจะสำเร็จในช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล

ยิ่งรัฐบาลที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในความสามารถของทีมผู้บริหาร ยิ่งถูกปรามาสว่า นโยบายจะมีโอกาสทำสำเร็จก่อนหรือรัฐบาลจะไปก่อน

การกำหนดกรอบเวลาที่เป็นความหวังและไม่นานเกินไป จึงเป็นเรื่องที่มีความหมาย ไม่ใช่นโยบายที่ขายฝัน

สำหรับนโยบายที่อาจไม่สามารถทำได้ทันทีต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการ หรือให้เวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลง ก็ควรมีการแบ่งเป้าหมายในแต่ละปี โดยกำหนดเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาที่เรียกในทางบริหารว่า ค่าเป้าหมายตามไมล์สโตน (Milestone)

ตัวอย่างเช่น หากบอกว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันในปี พ.ศ.2570 หรือภายในระยะเวลา 4 ปี การกระจายเป้าหมายการขึ้นค่าแรงในแต่ละปีก็ควรเอาค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตลบด้วยค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน คือเอาตัวเลข 600 ลบ ตัวเลข 350 บาท เท่ากับ 250 บาท แล้วนำตัวเลขดังกล่าวไปหาร 4 ปี จะได้ค่าเป้าหมายย่อยการขึ้นค่าแรงทุกปี ปีละ 62.50 บาท เป็นต้น

ไมล์สโตนดังกล่าว จะเป็นเป้าหมายของการประเมินผลสำเร็จแม้รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบวาระ แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นสัดส่วนตามนโยบายที่แถลง

 

เห็นถึงทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินการ

นโยบายที่ไม่ขายฝันต้องสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีและความเป็นไปได้ในการดำเนินการ อาทิ มีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ มีกำลังทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีปัจจัยเกื้อกูลให้ประสบความสำเร็จ มีระยะเวลาที่ไม่เร่งรัดจนยากจะกระทำให้เกิดความสำเร็จ

ตัวอย่างเช่น การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้แก่ประชาชนจำนวน 56 ล้านคน เป็นเงิน 560,000 ล้านบาท ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขปริมาณเงินและกรอบเวลาที่เร่งรัดในการทำแล้วค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินยังไม่ผ่านสภา กว่าจะผ่านได้ก็น่าจะเลยสิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2566 ไปแล้ว และยังมีข้อจำกัดต่างๆ อีกมากมายทั้งในด้านที่มาของแหล่งเงินและวิธีการในการแจกจ่าย

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ถือเป็นจุดเด่นที่สำคัญของพรรคเพื่อไทยและเป็นสิ่งที่ประชาชนตั้งความหวังไว้มาก จะเป็นการพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาลว่าทำได้ ทำจริง

ส่วนจะเกิดผลสำเร็จทั้งในด้านคะแนนนิยมที่มีต่อพรรคกลับคืนมาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ หรือเกิดความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวคิดตัวทวีคูณ (Multiplier) ทางเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจะกลายเป็นปัญหาในด้านการบริหารงบประมาณแผ่นดินและการก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นของประเทศ ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม

 

มีการติดตามประเมินผลที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา

ความสำเร็จของนโยบายที่ไม่ขายฝัน คือ การต้องมีระบบการประเมินผลความสำเร็จ มีตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs. : Key Performance Indicators) ที่เป็นรูปธรรม มีค่าเป้าหมายที่ท้าทายและประเมินผลได้จริง มีการประเมินตามระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี

และที่สำคัญ คือการประเมินอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงและสามารถปรับแก้ได้ทันหากมุ่งที่จะผลักดันนโยบายให้เกิดความสำเร็จ

การใช้ที่ประชุมของรัฐสภาในการรายงานความสำเร็จตามนโยบายเมื่อบริหารงานครบรอบในแต่ละปีและเปิดโอกาสให้ใช้เวทีของรัฐสภามาช่วยในการเสนอแนะ ติติง

เปรียบเสมือนเป็นการรายงานต่อประชาชนถึงความสำเร็จในการดำเนินการตามนโยบายอีกทางหนึ่ง

 

บทเรียนจากการหาเสียง

การหาเสียงในอดีต อาจพูดไปแล้วไม่ทำก็ไม่มีผลอะไร แต่ในปัจจุบันที่คำพูดที่หาเสียงนั้นถูกบันทึกไว้ในรูปดิจิทัลที่สามารถสืบค้นได้โดยง่าย ดังนั้น สิ่งที่พูดไว้ในการหาเสียงเพียงเพื่อหวังคะแนนเสียงแต่เมื่อได้มาเป็นรัฐบาลกลับไม่มีการดำเนินการ หรือมีการบิดพลิ้ว ผัดผ่อนออกไป จากที่สิ่งที่หาเสียงว่าจะทำทันที กลายเป็นอีก 2-3 ปีจึงจะดำเนินการ จะถูกทวงถามจากประชาชน

ยิ่งเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมและเกี่ยวข้องกับปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ เกี่ยวข้องกับรายได้ รายจ่าย เงินในกระเป๋าของประชาชน นโยบายดังกล่าวจะถูกทวงถามแบบต่อเนื่อง ไม่ว่าผู้นั้นจะเลือกหรือไม่เลือกพรรคการเมืองดังกล่าวก็ตาม

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ฯลฯ นโยบายในการหาเสียงเหล่านี้ กลายเป็นเรื่องความลำบากต่อพรรคการเมืองที่ขึ้นมามีอำนาจเป็นรัฐบาล

การหาเสียงจึงจำเป็นต้องคิดทะลุไปถึงความสามารถในการดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเกทับบลัฟแหลก พรรคอื่นว่าอย่างไร เราพูดตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้นไปอีก การขายฝันจะถูกตรวจสอบด้วยผลในทางปฏิบัติที่สามารถทำได้จริงและมีผลต่อความเชื่อถือในนโยบายการหาเสียงที่มีขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

การขายฝันวันนี้ จึงอาจกลายเป็นฝันร้ายในวันหน้าได้