หยั่งเสียง หอการค้า 5 ภาค ฝากโจทย์ ครม.สัญจร ‘เศรษฐา 1’ จี้โละปัญหาเก่า- เร่งสปีดฟื้นกำลังฐานราก

ฟังกันไปแล้ว ช่วงวันที่ 11-12 กันยายน สำหรับการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สะท้อนแผนการดำเนินงานตามนโยบายในทุกมิติชัดเจนขึ้นอีกระดับ สำหรับพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยในภาพรวมจากนี้

นโยบายใดจะเดินหน้าได้จริง หรือนโยบายใดคงเป็นได้แค่พิมพ์เขียว ต้องดูกันต่อไป

แต่การเปิดฉากการทำงานแรกๆ ที่หลายฝ่ายดูจะให้การสนับสนุน คือ การลงพื้นที่ต่างจังหวัด โดยผู้นำรัฐบาล นายกรัฐมนตรี จัดทีมไปลุยเอง เห็นภาพถึงการนั่งคุยหรือเดินลุยเข้าแหล่งชุมชน เปิดรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการภาคเอกชน และภาคประชาชน ยิ่งได้รับเสียงเชียร์ เมื่อรัฐบาลประกาศปัดฝุ่นสลับจัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร โดยกำหนด ครม.สัญจรนัดแรก ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

ทันทีที่มีกระแสกระจายออกไป “ครม.สัญจร” จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมการเข้าถึงของภาคท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางโดยตรง มาพร้อมกับเกิดความคาดหวังของภาคเอกชนและประชาชนท้องถิ่น เตรียมข้อมูลปัญหา สถานการณ์จริง ข้อเสนอ และอีกหลายความหวังว่า การส่งตรงถึงรัฐบาลใหม่ จะเป็นฟาสต์แทร็ก (fast track) ช่วยลดอุปสรรคปัญหาตามที่ได้เสนอ รวมถึงงบประมาณช่วยการพัฒนาในแง่ต่างๆ

“ครม.สัฐจร” จึงถูกมองว่าเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้เร็วที่สุด

และเชื่อว่า ครม.สัญจรจะเวียนไปทั่วประเทศ ดังนั้น ‘มติชนสุดสัปดาห์’ ได้สอบถามไปยังภาคธุรกิจทั่วประเทศ ผ่านประธานหอค้าไทย 5 ภาค คาดหวังและอยากให้รัฐบาลใหม่ให้น้ำหนักกับปัญหาสะสมที่รอคอยการแก้ไขอย่างไร

 

หยั่งเสียงภาคเอกชน พบว่า เรื่องกังวลแรกวันนี้ คือ หนีไม่พ้นกับความกังวลจากภัยแล้งที่ก่อตัวอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างมากขึ้น จากปรากฏการณ์เอลนิโญในประเทศไทยเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำน้อยลง

‘ปรัชญา สมะลาภา’ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก ยืนยันความกังวลว่า ปัญหาภัยแล้งจากหลายอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ปริมาณน้ำสูง เลือกไม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรน้อยลง เพราะมีแนวโน้มแล้งสูง จึงอยากเน้นให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ

ซึ่งนโยบายการแก้ไขน้ำอย่างเป็นระบบมีโครงการอ่างเก็บน้ำเริ่มทำบ้างแล้วแต่ยังไม่ได้ทำ เพราะอาจติดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างกระทรวงด้วยกันเอง เช่น พื้นที่อ่างที่ จ.จันทบุรี ปัจจุบันติดอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯ จึงรอรัฐบาลเข้ามาดำเนินการว่าจะทำอย่างไรต่อไป และต้องพิจารณาถึงลำดับความสำคัญว่าควรสงวนน้ำไว้ หรือควรเร่งทำการกักเก็บน้ำไว้ใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง

“อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเชื่อมโยงกันด้วยท่อเดียวกันหมด เนื่องจากเราไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดเดียวได้ เช่น ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) อยู่ใน จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี เป็นหลัก ซึ่งอ่างกักเก็บน้ำไม่เพียงพอจึงต้องทำอ่างที่อื่นและส่งน้ำเข้ามาช่วย เช่น จ.จันทบุรี ลุ่มแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ได้ส่งมาน้ำมาช่วย ซึ่งอนาคตอยากให้เพิ่มการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากยังมีความจำเป็นต้องใช้”

 

สอดคล้องกับ ‘สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย’ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวย้ำว่า ปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกิดน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซาก จึงอยากให้รัฐแก้ไข เช่น มีการเวนคืนถนนได้ แต่ทำไมไม่เวนพื้นที่มาทำคลอง หรือทำทางน้ำไหล เพราะไทยมีป่าไม้เยอะ สามารถใช้พื้นที่ป่าไม้ตัดผ่านให้น้ำไหลจะสามารถจัดเก็บน้ำได้ อีกทั้งอนาคตมีการเก็บคาร์บอนเครดิตก็นำไปขายได้ รวมถึงถ้ามีการส่งเสริมให้มีน้ำไหลผ่านในป่าไม้จะลดการเกิดไฟไหม้ป่าได้อีกทาง ระบบดังกล่าวเป็นการสร้างระบบนิเวศระยะยาว

ขณะที่ ‘สมบัติ ชินสุขเสริม’ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ มองไปเรื่องปัญหาภาคการท่องเที่ยว ระบุว่า ภาคเหนือเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งรัฐต้องแก้ปัญหาเรื่องคมนาคมให้สะดวกขึ้น ขณะนี้เส้นทางการบินลดน้อยลง เช่น จ.แม่ฮ่องสอน จ.แพร่ จ.น่าน ได้ลดเส้นทางการบิน และผู้ให้บริการสายการบินก็เหลือน้อยลงเช่นกัน ส่งผลกระทบต่อราคาเที่ยวบินสูงขึ้น ซึ่งช่วงฤดูท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ทำให้เที่ยวบินไม่เพียงพอรองรับนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาประเทศไทย เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาที่ทำลายบรรยากาศท่องเที่ยว

“อยากให้รัฐบาลขยายด่านชายแดนที่เปิดไว้ชั่วคราวทำให้เป็นด่านชายแดนถาวร เพื่อเพิ่มช่องทางการท่องเที่ยวและการค้าขายในหลายจังหวัด รวมถึงกระจายรายได้ในหลายจังหวัดเมืองรองมากกว่าจะมีเม็ดเงินไหลเวียนเพียงแค่ จ.เชียงใหม่ เท่านั้น เช่น สร้างจุดผ่านแดนถาวรบ้านห้วยโก๋น หรือด่านพรมแดนห้วยโก๋น-น้ำเงิน เป็นจุดผ่านแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว จ.น่าน ที่รอการฟื้นฟูและสร้างให้มีความคงทนมากขึ้น”

‘วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ’ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เสนอให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรเร่งจัดการ เพราะทำให้ภาคใต้เสียโอกาสจากปัญหาเรื่องระบบการเดินทางทั้งถนน ระบบราง ท่าเรือ เป็นหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจ หากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เติบโตขึ้น ระบบการขนส่งต้องผ่านภาคใต้ เช่น ท่าเรือน้ำลึกระนอง แต่เดิมเล็กและทรุดโทรม ขณะนี้กำลังหาท่าเรือใหม่ หากได้โปรเจ็กต์นี้ หรือเป็นโปรเจ็กต์ของรัฐบาลชุดเก่าทำโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) และรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-พังงา (ท่านุ่น)

การพัฒนาทั้ง 2 ทางสามารถเชื่อมทะเลอันดามัน-อ่าวไทยได้ หากสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง ระเบียงเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาและเฟื่องฟูอย่างยั่งยืนภายใน 2-3 ปี

 

อีกปัญหาที่กลายเป็นกับดักเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยคงระดับสูงที่สะสมเป็นเวลานาน

‘ธวัชชัย เศรษฐจินดา’ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง สะท้อนว่า เศรษฐกิจยังมีปัญหา วันนี้สังเกตได้ชัดเจนว่าประชาชนไม่มีเงิน เพราะต้นทุนในการใช้ชีวิตโดยค่าครองชีพในปัจจุบันอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนขาดสภาพคล่อง แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหายาวนานที่ต้องใช้เวลาแก้ไข แต่ในระยะสั้นนี้อยากให้รัฐบาลช่วยลดการเพิ่มราคาด้านต้นทุนลง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นผลดีในระยะสั้นนี้

“แต่การแก้ปัญหาระยะยาวก็ยังเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลจะนำนโยบายอะไรที่เข้ามาช่วยเหลือได้ตรงจุดมากกว่าการพักหนี้ รวมถึงการอัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าประชาชน เพราะผลกระทบอาจวนอยู่ที่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจนบิดเบี้ยวขึ้นเรื่อยๆ” ธวัชชัยกล่าวทิ้งท้าย

จากความคาดหวังของภาคเอกชนนับเป็นโจทย์หินที่กัดเซาะเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน ได้แต่หวังว่าเสียงสะท้อนนี้จะถูกรื้อแล้วหยิบขึ้นมาถกกันบนโต๊ะ ให้ ‘รัฐบาลเศรษฐา 1’ ได้โละปัญหาเหล่านี้ทิ้ง เพื่อเศรษฐกิจไทยที่ดีกว่าเดิม!