อนาคตของ ‘ชาติ’ สำคัญกว่า ‘วันชาติ’

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

อนาคตของ ‘ชาติ’

สำคัญกว่า ‘วันชาติ’

 

ผมได้อ่านบทความ “วันชาติ” ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเป็นบทความชิ้นสุดท้ายในชีวิตที่ลงในมติชนสุดสัปดาห์ (7-13 กรกฎาคม) ซึ่งยังไม่จบ บทความต้องการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิดจะด้วยอะไรก็ตามของผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีตำแหน่งอำนาจในระบบราชการ โดยเชื่อว่า “วันชาติคือวันที่เกี่ยวเนื่องโดยทางใดทางหนึ่งกับกษัตริย์หรือราชวงศ์” จะใช้วันอื่นๆ เช่น วันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในอดีตคือวันชาติครั้งแรกของสยาม ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าในกฎของผู้หลักผู้ใหญ่ที่บอกว่าต้องเกี่ยวเนื่องกับกษัตริย์หรือราชวงศ์เท่านั้น

ความเชื่อเรื่องวันชาติแบบหลังนี้อาจารย์นิธิบอกว่ามาจากความไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสถาบันกับตัวบุคคล

ในเรื่องนี้เรายังคงปฏิบัติต่อกษัตริย์อย่างเป็นบุคคลมากกว่าสถาบัน ที่สำคัญคือการเป็นสถาบันของกษัตริย์จะทำให้ประชาชน “เห็นว่าไม่มีวันจะมีพิษมีภัยต่อตนได้ ใครอยากมีไม่อยากมีก็เถียงกันไป” อย่างที่ปฏิบัติในหลายประเทศที่ยังมีกษัตริย์ทั่วโลก กุญแจดอกสำคัญที่ทำให้กษัตริย์ทั่วโลกในยุคสมัยใหม่เป็นสถาบันไปได้นั้น มาจากความสำเร็จของการที่รัฐราชสมบัติหรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐชาติ และชาตินั้นต้องยอมรับว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ด้วยเหตุดังนั้น “พลเมืองทุกคนจึงมีความเท่าเทียมกัน อภิสิทธิ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะมาจากกำเนิด ทรัพย์ศฤงคาร ศาสนาหรือนิกายทางศาสนา สีผิว ภาษา ชาติพันธุ์ ฯลฯ ไม่เป็นเหตุให้รัฐซึ่งเป็นสมบัติร่วมกันของ ราษฎรทั้งหลาย พึงยอมรับ” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความไม่เสมอภาคและอภิสิทธิ์จะไม่เหลืออีกเลย หากไม่เกี่ยวกับรัฐแล้ว ก็ยังคงมีให้ปฏิบัติกันต่อไป เพียงแต่ไม่ใช่เป็นสภาพครอบงำของคนชั้นสูงต่อคนอื่นที่เหลือตลอดเวลาในทุกเรื่อง

สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พยายามปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยรวมทั้งระบบปกครอง แต่เนื่องจากอยู่ภายใต้ฉายาอำนาจของมหาอำนาจยุโรป ไม่อาจเปลี่ยนรัฐราชสมบัติที่ดำรงอยู่มายาวนานตั้งแต่อาณาจักรอยุธยาให้เป็นสมัยใหม่ได้

ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงขนาดนั้นย่อม “ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์และโลกทรรศน์ของชนชั้นนำ” ขณะนั้น

ปัญหาคือจะผลักดันให้สยามเป็นรัฐสมัยใหม่โดยไม่ต้องเป็นชาติได้อย่างไร คือโจทย์ที่บรรดาผู้นำรัฐไม่เฉพาะสยามหากทั่วทั้งภูมิภาคและทวีปเอเชียก็ว่าได้ที่ต้องหาคำตอบให้แก่ตนเอง

สยามหาทางออกให้แก่ตนเองได้ด้วยการปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย อีกวิธีหนึ่งซึ่งให้ผลในระยะยาวกว่า คือการ “บิดผันความหมายของรัฐชาติให้ลงรอยกับความเป็นรัฐราชสมบัติ” เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะถูกบรรจุไว้ในระบบการศึกษา แม้หลัง 2475 มาแล้วก็ไม่ได้เปลี่ยน

 

คําวิพากษ์อันนี้ของอาจารย์นิธิที่ว่าด้วย “การบิดผันความหมายของรัฐชาติให้ลงรอยกับความเป็นรัฐราชสมบัติ” ถือได้ว่าเป็นคำวิจารณ์ที่ไม่เคยมีการเสนอและถกเถียงกันมาก่อนเลยในแวดวงประวัติศาสตร์ไทย นักรัฐศาสตร์คนแรกที่วิพากษ์วิจารณ์การปฏิรูปประเทศโดยรัชกาลที่ 5 คือศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ในบทความเรื่อง “ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา” (2558) ซึ่งสร้างปฏิกิริยาอย่างมากในหมู่นักวิชาการไทยศึกษา แต่ก็ไม่มีการศึกษาที่พิสูจน์ว่าคำวิพากษ์เหล่านั้นไม่ถูกต้องอย่างไร

บทความชิ้นสุดท้ายของอาจารย์นิธินี้ก็วิพากษ์ปัญหาและจุดอ่อนของการเปลี่ยนผ่านรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามอีกครั้ง เนื่องจากว่าผลสะเทือนและมรดกของการเปลี่ยนผ่านนั้นยังดำรงอยู่และฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกในการเมืองไทยปัจจุบัน เห็นได้จากการสืบทอดอุดมคติของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์เหนือสถาบันสังคมอื่นใด กระทั่งทำให้เป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์หากละเมิดหลักการข้อแรกนี้ ในขณะที่ไม่มีการให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่สถาบันประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย

เห็นได้จากการฉีกรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องตลอดมาหลายทศวรรษ จนทำให้ไทยเป็นประเทศนำหน้าในการฉีกแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในโลก ไม่มีการเคารพและปฏิบัติอย่างจริงจังในสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม (คือไม่ใช่คำสั่งคณะปฏิวัติ)

 

กลไกของรัฐในการบิดผันความหมายของชาติที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดได้แก่ระบบการศึกษาที่ไม่สร้างความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองให้แก่นักเรียนนักศึกษา หากมุ่งไปที่การสร้าง “เด็กดีที่จงรักภักดีและเชื่อฟังผู้ใหญ่โดยดุษณี”

ต่อหน้าความเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “disruptive” หรือการทำให้แตกแยกกระจายออก อันมากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นักการศึกษาและนักการเมืองอนุรักษนิยมต่างงุนงงและไม่เชื่อหูว่ามันจะเป็นสิ่งนำพาความก้าวหน้าและความเจริญให้แก่สังคมไทยได้

เพราะแนวคิดทฤษฎีทำให้แตกแยกนี้ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับอุดมคติของรัฐไทยที่บิดผัน หากรับมันมาใช้ก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ยึดโยงกับความก้าวหน้าของโลกของอุดมคติไทยมาตลอด จะเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกในเวทีโลกและลงมาถึงเวทีในประเทศของชนชั้นนำจารีต

ดังนั้น อย่างมากที่สุดที่รัฐบิดผันนี้จะยอมได้คือให้มีการใช้นโยบาย “แตกกระจาย” นี้อย่างจำกัดและอยู่ในการกำกับควบคุมของราชการอย่างเต็มที่

ซึ่งก็เหมือนกับการปฏิบัติปฏิรูปและพัฒนาประเทศในอดีต ที่ผลสุดท้ายลงเอยด้วยการทำอย่าง “หัวมังกุท้ายมังกร” คือ “ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา”

บรรดาธุรกิจและเทคโนขนาดเล็กและกลางก็จะไปไม่ถึงฝั่งนอกจากกลุ่มทุนผูกขาดและทุนของรัฐเท่านั้นที่จะยังเอาตัวรอดไปได้อีกเช่นเคย

 

ประเด็นสุดท้ายในการรักษาและจรรโลงรัฐ “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (virtual absolutism ดูใน https://sameskybooks.net/index.php/product/9786167667980/) อันเป็นศัพท์สร้างโดยเกษียร เตชะพีระ ให้ดำรงและพัฒนาต่อไป

ระบบราชการสมัยใหม่ที่ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถาบันที่เป็นเส้นเลือดและกำกับชีวิตของประเทศมาโดยตลอด

แน่นอนทุกประเทศต่างอาศัยระบบราชการมาช่วยบริหารผลักดันการทำนโยบายของรัฐบาลกันทั้งนั้น แต่กรณีของรัฐสยามไทยข้อที่แตกต่างอย่างสำคัญจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็นประชาธิปไตย คือการที่ระบบราชการไทยนับแต่แรกก่อตั้งมาไม่มีความเป็นอำนาจในระบบทั้งหมด หากแต่แตกกระจายเป็นหน่วยย่อยอิสระต่างคนต่างมีอำนาจตามกฎหมายของตนเองเพื่อไม่สามารถเป็นอันตรายต่ออำนาจส่วนกลางที่รวมศูนย์ได้

จึงไม่แปลกใจที่ข้าราชการโดยเฉพาะส่วนหัวพากันลิงโลดยินดีปรีดากับการทำรัฐประหารโดยกองทัพ เพราะรู้ว่าพวกนั้นจะไม่แตะต้องผลประโยชน์ของระบบราชการแม้แต่เสี้ยวเดียว

สิ่งที่ระบบราชการกระทำเหมือนกันอย่างเหนียวแน่น คือรักษาหน่วยงานของตนเองมากกว่าส่วนรวมของชาติ

ในรัฐชาติที่แท้จริงในระหว่างเปลี่ยนผ่านจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นรัฐสมัยใหม่ซึ่งก็คือรัฐระบบทุนนิยมนั่นเอง สถาบันราชการรวมถึงสถาบันอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ การศึกษาและวัฒนธรรม มักนำบุคลากรจากภายนอกได้แก่คนชั้นกลางและล่างมากขึ้นเข้าสู่ระบบราชการมากกว่าจากชนชั้นนำจารีตและพวกพ้อง แต่ระบบราชการไทยปฏิบัติตรงกันข้าม

ด้วยเหตุที่ระบบราชการสยามไทยถูกผูกขาดโดยลูกหลานและญาติมิตรของชนชั้นนำจารีตมาโดยตลอด หมายความว่าโอกาสและการปฏิบัติในนโยบายและความคิดใหม่ๆ นั้นกระทำได้ยากและแทบไม่ได้เลยในระบบราชการไทย นอกจากทำแบบประชาสัมพันธ์ผักชีโรยหน้าที่เราเห็นทุกวันนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์

เพราะนโยบายแบบ “แตกแยก” นั้นมักลิดรอนหรือทำลายผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ของคนข้างบนอย่างเลี่ยงไม่ได้ พัฒนาการของระบบราชการไทยจึงดำเนินมาพร้อมกับการสร้าง “คนใน” ที่คอยปกปักรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นตนไว้ ในขณะที่กีดกันและขัดขวางกระทั่งทำลาย “คนนอก” ที่จะหาญเข้ามาในระบบราชการและหรือควบคุมระบบการเมืองไทย

และนี่เองคือมูลเหตุที่ทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็น “คนนอก” ที่ไม่มีเพื่อนและคนสนับสนุนจากภายในระบบการเมืองไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องแปรผันมาเป็น “คนใน” ร่วมกับพรรคสองลุงในที่สุด หากจะได้อำนาจรัฐแบบเก่านี้

 

ทั้งหมดนี้เป็นอรรถาธิบายถึงความเข้าใจผิดของผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการไทยต่อสภาพของรัฐไทยปัจจุบันว่าแท้จริงแล้วยังไม่ได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเป็น “ชาติ” จริงๆ หากแต่ยังติดกักอยู่กับ “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

ซึ่งตลกดีที่กงล้อประวัติศาสตร์ของความเป็นสมัยใหม่แบบโลกาภิวัตน์กำลังจะวิ่งเข้าบดขยี้มันอีกเหมือนกับที่ชนชั้นนำจารีตได้เคยประสบมาก่อนแล้วในกลางศตวรรษที่ 19

ปัญหาใหญ่ของรัฐไทยจึงไม่ได้อยู่ที่ “วันชาติ” ว่าจะเอาวันแบบไหน หากแต่ที่อ่อนไหวน่าห่วงกว่านั้นคืออนาคตของ “ชาติ” จะยังธำรงอยู่ต่อไปอย่างมีความหมายทัดเทียมกับคนทั้งโลกได้จริงหรือ

เมื่อมันปฏิเสธพลเมืองส่วนใหญ่ว่าไม่ใช่เจ้าของชาติที่แท้จริง