วันชาติ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

วันชาติ

 

คุณวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เราไม่อาจเปลี่ยนวันชาติกลับไปเป็น 24 มิถุนายน 2475 ได้ ด้วยเงื่อนไขที่ทำให้เราแตกต่างจากคนอื่นดังนี้

1/ ในบางประเทศ วันชาติคือวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้มระบบเดิมเข้าไปสู่ระบบใหม่ แต่เพราะเรามีพระมหากษัตริย์สืบมา

2/ ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม ได้เอกราชคืนมาด้วยวิธีใดก็ตาม ย่อมถือเอาวันที่เริ่มเป็นเอกราช (เช่น อินเดีย) หรือวันประกาศเอกราช (เช่น อินโดนีเซีย) เป็นวันชาติ

3/ วันเกิดของประมุข คุณวิษณุคงหมายความว่าประมุขที่เป็นกษัตริย์ เพราะประมุขที่มาจากการเลือกตั้งจะเกิดวันใด ก็ไม่มีชาติไหนถือเอาเป็นวันชาติเด็ดขาด แต่ก็ยังดีกว่าปัญญาชนรุ่นก่อน ที่บิดเบือนความจริงไปเลยว่า ประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขย่อมถือวันพระราชสมภพเป็นวันชาติทุกประเทศในโลก เพราะนั่นไม่จริง นอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว แทบจะกล่าวได้ว่าไม่จริงในเกือบทุกประเทศ เช่น ไม่จริงในญี่ปุ่น, มาเลเซีย, กัมพูชา, เนเธอร์แลนด์, ฯลฯ

แม้แต่ในสหราชอาณาจักร บัดนี้ก็ไม่ถือเอาวันเฉลิมพระชนมพรรษาจริงของกษัตริย์หรือราชินีที่ทรงราชย์อยู่ แต่กำหนดวันสมมติขึ้นให้เป็นวันเฉลิมฯ ของทุกรัชกาล สังคมอังกฤษได้เลื่อนความหมายของกษัตริย์จากบุคคลไปเป็นสถาบันประมุข ซึ่งจำเป็นต้องมีในรัฐชาติทั่วโลก

คนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งผมเข้าใจว่ารวมคุณวิษณุด้วย ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลและสถาบัน แม้เรานิยมเรียกกษัตริย์เป็นสถาบันก็ตาม แต่ทัศนคติของเราต่อกษัตริย์ก็ยังเป็นบุคคลมากกว่าสถาบัน

ความแตกต่างระหว่างสถาบันและบุคคลนี้มีความสำคัญมาก สถาบันหมายถึงกฎระเบียบ, ประเพณี, ที่ตกทอดกันมาในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ไม่ใช่กฎระเบียบที่ผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นเอง แน่นอนไม่มีสถาบันอะไรจะดำรงอยู่โดยไม่เปลี่ยนด้วยบุคลิกภาพของผู้ดำรงตำแหน่งเลย แปลว่าบุคคลก็มีบทบาท แต่เป็นบทบาทที่น้อยและไม่กระทบต่อประชาชนในกลุ่มใดเลย เช่น กษัตริย์องค์นี้ชอบใช้ภูเขาเป็นที่หลบร้อน, อีกองค์หนึ่งชอบทะเล การเสด็จแปรพระราชฐานในแต่ละรัชกาลจึงอาจไม่ซ้ำกันเสมอไป

กษัตริย์ที่เป็นสถาบันอย่างนี้แหละที่ประชาชนเห็นว่าไม่มีวันจะมีพิษมีภัยต่อตนได้ ใครอยากมีไม่อยากมีก็เถียงกันไป อย่างสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่ของคนญี่ปุ่นดำเนินชีวิตของตนไปโดยไม่ได้คิดถึงสถาบันจักรพรรดิ ไม่ว่าจะลงทุนเรื่องอะไร, จะคบใครเป็นเพื่อน, จะสร้างคอนเนกชั่นกับคนกลุ่มไหนจึงจะได้กำไรที่สุด, ฯลฯ ไม่มีสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นเข้ามาในห้วงคิดสักแว่บเดียว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนญี่ปุ่นไม่มีความจงรักภักดีต่อประมุขของประเทศ ตรงกันข้าม อาจจะมากกว่าประชาชนใน “ราชอาณาจักร” ที่เป็นชาติอีกหลายแห่งด้วยซ้ำ

คำอธิบายว่า ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังมีกษัตริย์ เราไม่อาจมีวันชาติเป็นอื่นไปได้นอกจากวันที่เกี่ยวเนื่องโดยทางใดทางหนึ่งกับกษัตริย์หรือราชวงศ์ เป็นความเข้าใจผิด (โดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) ความเข้าใจผิดหรือเข้าใจไม่เพียงพอเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่แยกความแตกต่างระหว่างสถาบันและบุคคล แต่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจขนาดหูหนาตาเถื่อนทีเดียวเกี่ยวกับ “ชาติ” เพราะความเข้าใจผิดนี้ถูกยัดลงไปในหลักสูตรการศึกษามายาวนาน

 

ความท้าทายใหญ่อันหนึ่งที่ชนชั้นนำสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามและเครือข่ายต้องเผชิญในการนำประเทศเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ และเป็นความท้าทายที่แก้ไม่ตกสืบมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ “ชาติ” และ “ชาตินิยม”

ชาติคือรัฐที่ต้องยอมรับว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และด้วยเหตุดังนั้น พลเมืองทุกคนจึงมีความเท่าเทียมกัน อภิสิทธิ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะมาจากกำเนิด, ทรัพย์ศฤงคาร, ศาสนาหรือนิกายทางศาสนา, สีผิว, ภาษา, ชาติพันธุ์, ฯลฯ ไม่เป็นเหตุให้ “รัฐ” ซึ่งเป็นสมบัติร่วมของ “ราษฎรทั้งหลาย” พึงยอมรับหรือให้การปฏิบัติที่แตกต่าง ผมขอย้ำนะครับว่า อภิสิทธิ์ที่เคยมีก็ยังอยู่เหมือนเดิมตราบเท่าที่ยังไม่เกี่ยวกับรัฐ ลูกคนรวยก็ยังขอลูกสาวเขาง่ายกว่าลูกคนจน รัฐชาติหลายแห่งพยายามออกกฎหมายที่ทำให้ความได้เปรียบเหล่านี้มีความสำคัญลดลง แต่ไม่มีรัฐใดขจัดออกไปได้โดยสิ้นเชิง

ถ้าหลักการนี้ไม่เป็นจริง รัฐนั้นก็ไม่ใช่รัฐชาติ

ผมควรย้ำว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนรัฐโบราณ (เช่น รัฐราชสมบัติ) ให้ใกล้เข้ามากับความเป็นรัฐสมัยใหม่ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เยอรมัน, เนเธอร์แลนด์, ฯลฯ เป็นต้น แท้จริงสถาบันของรัฐสมัยใหม่หลายอย่างสอดคล้องกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่น มีรัฐบาลที่มีสมรรถนะในการรวมศูนย์อำนาจได้ในระดับหนึ่ง มีระบบกฎหมายที่เป็นเอกภาพ อำนาจของรัฐบาลกลางในการเข้าไปจัดการด้านการคลังและทรัพยากรมากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งหลายจึงมีแนวโน้มจะสนับสนุน “ความทันสมัย” สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรุ่นหลังๆ เช่น เยอรมัน, รัสเซีย และไทย ต้องเผชิญกับส่วนใหม่ๆ ของความทันสมัย ที่กลับเป็นปฏิปักษ์กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงพยายามในทุกวิถีทางที่จะจำกัดความทันสมัยไว้ในขอบเขตหนึ่ง

แต่ขอบเขตจำกัดนั้น ในหลายกรณี สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่ใช่มหาอำนาจอย่างเยอรมัน ไม่สามารถจะขีดขึ้นเองตามใจชอบได้ทุกเรื่อง

 

สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งไม่มีอำนาจในตัวเอง ซ้ำยังตกอยู่ภายใต้ฉายาอำนาจของมหาอำนาจยุโรป จะเปลี่ยนตนเองจากรัฐราชสมบัติอันเก่าแก่โบราณมาตั้งแต่ครั้งอยุธยา ให้กลายเป็นรัฐชาติได้อย่างไร ซ้ำรัฐชาติที่แท้จริงกลับบั่นรอนอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ นับตั้งแต่ระดับบนสุดลงมาจนถึงชั้นล่างสุดของเครือข่าย

การขยายตัวไปทั่วพิภพของจักรวรรดินิยมตะวันตก ไม่ได้นำเอาคติเรื่องชาติเข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้ “ชาติ” กลายเป็นองค์ประธานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น การได้รับการยอมรับของรัฐใดก็ตามว่าเป็นชาติ จึงเท่ากับยอมรับความเสมอภาคกับชาติอื่นในสากล อย่างน้อยก็ในกฎหมายระหว่างประเทศ (เช่น ได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ)

และนี่คือปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกของชนชั้นนำสยาม เปลี่ยนประเทศไปตามความทันสมัย (modernity) ของโลกย่อมเป็นความปรารถนาของชนชั้นนำสยาม เพราะเพิ่มพูนอำนาจและความมั่งคั่งขึ้นแก่ชนชั้นนำของรัฐราชสมบัติสยาม แต่เปลี่ยนรัฐราชสมบัติให้กลายเป็นชาติ ย่อมไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์และโลกทรรศน์ของชนชั้นนำ

ปัญหาคือจะผลักดันให้สยามเป็นรัฐทันสมัยโดยไม่ต้องเป็นชาติได้อย่างไร

 

นี่ไม่ใช่ปัญหาของสยามในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20 เพียงแห่งเดียว เจ้าอาณานิคมทุกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ประสบปัญหาอย่างเดียวกัน ทำอาณานิคมให้เป็นสมัยใหม่ ย่อมเพิ่มกำไรแก่เจ้าอาณานิคมอย่างมาก แต่ต้องระวังไม่ให้อาณานิคมกลายเป็นชาติ ซึ่งต่างก็อาศัยวิธีการที่แตกต่างกันไปในแต่ละอาณานิคม หรือแม้แต่ในอาณานิคมเดียวกัน (เช่น พม่า และอินโดจีน)

วิธีของสยามในการรักษาความเป็นรัฐราชสมบัติไว้ด้วยการทำให้เป็นรัฐราชสมบัติที่ทันสมัย เช่น มีระบบราชการแบบใหม่ซึ่งรับคนที่มีคุณสมบัติตามต้องการเข้ามาสู่ระบบ ควบคุมและให้บริการแก่ประชาชนด้วยกฎระเบียบชัดเจนจากส่วนกลาง แต่ระบบราชการสยามกลับไม่มีการสอบเข้ารับราชการ จนถึงปีท้ายๆ ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ทำเพียงปีเดียวแล้วก็ระงับไป อ้างวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก นั่นหมายความว่า ฐานของระบบราชการสมัยใหม่ของสยามคือฐานเดิมที่ใช้การแบ่งปันอำนาจและโภคทรัพย์ในหมู่ชนชั้นนำ

ระบบราชการสมัยใหม่ของสยามเป็นเครื่องมือสำคัญในการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่โดยแก่นสารแล้ว ก็ไม่ต่างจากระบบราชการโบราณขนาดเล็กของรัฐราชสมบัติอยุธยาและรัตนโกสินทร์

 

การทำให้รัฐราชสมบัติ “ทันสมัย” เป็นตัวอย่างหนึ่งในวิธีการที่จะป้องกันมิให้รัฐเช่นนั้นพัฒนาไปสู่ความเป็นชาติที่แท้จริงได้

อีกวิธีหนึ่งซึ่งให้ผลในระยะยาวกว่า คือการบิดผันความหมายของรัฐชาติให้ลงรอยกับความเป็นรัฐราชสมบัติ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเนื้อหาการบิดผันนี้ถูกส่งผ่านเข้าสู่ระบบการศึกษา จนมีผลสืบเนื่องมาแม้หลัง 2475 จนถึงปัจจุบัน ผมจะพูดถึงการบิดผันที่แนบเนียนนี้ไปทีละอย่างตามความเข้าใจของตนเอง

คนในสมัยนั้นสืบมาจนปัจจุบัน มักสรรเสริญ ร.5 ว่า สู้เสียสละดินแดนส่วนน้อย เพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่ไว้ แต่คำถามก็คือ ส่วนน้อย-ส่วนใหญ่ของใคร ถ้าเป็นของรัฐราชสมบัติ ก็ต้องถือว่าทรงชาญฉลาดที่จะรักษาราชสมบัติของท่านไว้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากขนาดนั้น

แผ่นดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชสมบัติของท่านนั้น เรียกตามศัพท์โบราณว่า “ขัณฑสีมา”

ขัณฑสีมาไม่ใช่ชาติ แต่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของ “ข้าขอบขัณฑสีมา” ซึ่งไม่ได้เป็นข้าที่เท่าเทียมกันด้วย แบ่งออกได้ตามสถานะที่เป็นทางการ, ชาติพันธุ์, ภาษา, ฯลฯ ซึ่งล้วนมีสถานภาพที่ต่ำสูงผิดกัน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าสยามเป็นชาติ เราจะยกศรีโสภณ, เสียมราฐ, พระตะบองให้อินโดจีนของฝรั่งเศสได้อย่างไร ราษฎรในสามจังหวัดนั้นก็เป็น “ราษฎร” ของสยาม เท่าเทียมกับราษฎรที่บางลำพู และล้วนเป็นผู้ถือ “อำนาจสูงสุด” (อำนาจอธิปไตย) ร่วมกันอย่างเท่าเทียม จากมุมมองของชาติ ดินแดนไม่สำคัญเท่า “ราษฎร” เราจะยกดินแดนให้ใครก็ได้ แต่เราไม่มีสิทธิ์ยกเจ้าของชาติให้แก่ใครได้

 

ไม่นานมานี้ คุณทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในอดีต ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เพราะยูเครนเอาตัวตลกไปเป็นประธานาธิบดี ก็เลยต้องทำสงครามติดพันเป็นเวลานาน บ้านเมืองเสียหายย่อยยับ เศรษฐกิจพังยับเยิน นัยยะที่ถูกซ่อนไว้ในความเห็นนี้ก็คือ น่าจะยอมเจรจากับผู้รุกรานซึ่งประกาศอย่างแน่ชัดว่า ดินแดนของยูเครนส่วนที่ยึดไปได้แล้ว จะอยู่นอกเหนือการเจรจา

จนถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางสิ่งปรักหักพังของเมืองทางตะวันออกของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครอง ยังมีประชาชนชาวยูเครนหลบเร้นตัวอยู่ตามซากตึก รอด้วยความหวังว่าแล้วกองทัพยูเครนก็จะเข้ามาขับไล่ข้าศึกออกไป แม้ว่ารัสเซียได้อพยพประชาชนในเมืองเหล่านั้น เท่าที่จะเข้าถึงตัวได้ไปไว้ในรัสเซีย อ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของชาวยูเครนเหล่านั้นเอง

ผมอยากจะพูดว่า คุณทักษิณไม่รู้จักว่าชาติที่แท้จริงคืออะไร ยังเข้าใจผิดว่าชาติคือรัฐราชสมบัติที่ทันสมัยเท่านั้น โชคดีแก่ชาวยูเครนสักเพียงไรที่ได้ตัวตลกเป็นประธานาธิบดี แทนจะได้พ่อค้าสัมปทาน

แต่ไม่ควรโทษคุณทักษิณคนเดียว เพราะคนไทยส่วนใหญ่ที่ได้รับการศึกษา ก็ตกเป็นเหยื่อของการบิดผันความหมายนี้ซึ่งกระทำสืบเนื่องมากว่าศตวรรษ ยิ่งเรียนหนังสือมาก ยิ่งสับสนระหว่างชาติและรัฐราชสมบัติ ทั้งมากขึ้นและแน่นขึ้น

ในครั้งหน้า ผมจะพูดถึงความเข้าใจผิดหรือความสับสนในเรื่องนี้ของผู้ใหญ่ไทยและสถาบันทางสังคมอื่นๆ เสริม

(ยังมีต่อ)