คลองผดุงกรุงเกษม

ปริญญา ตรีน้อยใส

ภาพวันนี้ของกรุงเทพฯ ในฐานะเวนิชแห่งตะวันออกไกล ในสายตาฝรั่งตะวันตก คงไม่ชัดเจนเท่าภาพในวันวาน

คูคลองที่ชาวต่างชาติเคยเห็นเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้น ก็ไม่ใช่เป็นทางน้ำหรือคลองธรรมชาติทั้งหมด หากเป็นคูคลองที่เพิ่งขุดขึ้น พร้อมกับการสร้างบ้านสร้างเมือง

เหมือนอย่างคลองผดุงกรุงเกษม ที่เป็นข่าวว่า มีการปรับปรุงให้สวยงาม จะมีการเดินเรือในคลอง ให้สวยงามเหมือนอย่างในเวนิช หรืออัมสเตอร์ดัม

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ เลยจะพาไปย้อนอดีต มองที่มาของคลองผดุงกรุงเกษม

 

ต้องย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชได้ใน พ.ศ.2314 ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

แม้ว่าพระราชวังจะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคูรอบพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำด้วย เพื่อแสดงขอบเขตของพระนคร

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี ใน พ.ศ.2325 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ในพระราชพงศาวดาร ระบุว่า โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทำอิฐ รวมทั้งไปรื้ออิฐกำแพงเมืองกรุงเก่า รื้อป้อมวิไชเยนทร์ และกำแพงเมืองข้างฟากตะวันออก และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองรอบกรุง เพื่อขยายเขตพระนครให้กว้างกว่าเดิม

…เกณฑ์เขมร 10,000 เข้ามาขุดคลองคู ตั้งแต่บางลำพู ตลอดมาออกแม่น้ำข้างใต้ เหนือวัดสามปลื้ม ยาว 85 เส้น 13 วา กว้าง 10 วา ลึก 5 ศอก…

…ด้านแม่น้ำตั้งแต่ปากคลองรอบกรุงข้างใต้ไปจนปากคลองข้างเหนือ ยาว 91 เส้น 16 วา รวมทางน้ำรอบพระนคร 177 เส้น 9 วา

…แล้วขุดคลองหลอดจากคลองคูเมืองเดิม 2 คลอง ออกไปบรรจบคลองรอบกรุงที่ขุดใหม่ และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่า คลองมหานาค…

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ เช่นเดียวกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแสนแสบ ไปยังเมืองฉะเชิงเทรา

ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า

…พระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าแผ่นดินทั้ง 3 พระองค์ ก็ได้ทรงขุดคลองให้ราษฎรได้ไปมาโดยสะดวกใจ…

 

ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างมาก มีผู้คนอาศัยอพยพมาอยู่มากขึ้น จึงมีพระราชดำริขยายพื้นที่พระนคร โดยขุดคลองรอบพระนคร เพิ่มอีกชั้นหนึ่ง ในปี พ.ศ.2394

คลองใหม่นี้ เริ่มจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดเทวราชกุญชร (วัดสมอแครง) ย่านเทเวศร์ ขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ตัดผ่านคลองมหานาค ไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง บริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา

คลองใหม่นี้ ขุดเสร็จใน พ.ศ.2395 ได้รับพระราชทานชื่อว่า คลองผดุงกรุงเกษม

จะเห็นได้ว่า จากคลองที่ทำหน้าที่กำหนดขอบเขตพระนคร และเป็นคูน้ำป้องกันการบุกรุกของข้าศึกในอดีต กลายเป็นปัจจัยชี้นำความเจริญ และการขยายตัวของเมืองในเวลาต่อมา และกลายเป็นคลองใจกลางมหานครในปัจจุบัน

ความสำคัญ ของคลองผดุงกรุงเกษม จึงแปรเปลี่ยนจากด้านยุทธศาสตร์และการคมนาคมของพระนคร กำลังได้รับการปรับปรุงบทบาทใหม่ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในยุคอเมซิ่งไทยแลนด์ •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส