คณะทหารหนุ่ม (56) | การรวมตัวภายใต้รหัส 0143 ตำนานการรวมรุ่นนายทหาร ทบ.

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

รุ่น 0143

ต้นปี พ.ศ.2524 ขณะที่ จปร.7 กำลังเบ่งบานทั้งการเมืองและการทหารจนนำไปสู่ความหวาดระแวงและความไม่พอใจของนายทหาร จปร.รุ่นพี่ที่ใกล้เคียงโดยเฉพาะ จปร.5 นั้น ปรากฏข่าวของกลุ่มนายทหารที่เรียกตัวเองเป็นรหัสว่า “0143” ซึ่งหมายถึงการรวมตัวอย่างเหนียวแน่นของนายทหารบก นายทหารเรือ และนายทหารอากาศ โดยมีทหารบก จปร.5 เป็นแกน

“01” หมายถึงปี พ.ศ.2501 ที่นายทหารทั้งสามเหล่าทัพรุ่นนี้จบการศึกษาออกรับราชการพร้อมกัน

“4” หมายถึง ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ

“3” หมายถึง 3 สถาบันการศึกษา คือ โรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ

จปร.5 ขณะนั้นมีความสนิทสนมอย่างยิ่งกับ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ผ่าน พ.อ.วิโรจน์ แสงสนิท แกนนำ จปร.5 ซึ่งควบคุมเครือข่ายทหารปืนใหญ่ในกรุงเทพมหานครจนอาจถือได้ว่าเป็นการคานอำนาจกับคณะทหารหนุ่ม

ขณะที่ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก คือหัวหอกเปิดการรณรงค์สนับสนุนการต่ออายุราชการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนเป็นผลสำเร็จ แต่ถูกโยกย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 เมื่อตุลาคม พ.ศ.2523

 

รวมรุ่นธรรมเนียมใหม่

ในประวัติศาสตร์กองทัพไทย แม้นายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยจะมีรุ่นการศึกษาที่ชัดเจนและมักมีการรวมตัวกัน แต่ที่ผ่านมาก็มิได้เป็นการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองใดๆ เป็นเพียงเรื่องของการพบปะสังสรรค์ย้อนความทรงจำ เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีของเพื่อนร่วมรุ่น รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนๆ

การรวมตัวของ จปร.7 ในนาม “คณะทหารหนุ่ม” ที่เริ่มด้วย “กลุ่มนินทาเจ้านาย” จึงถือได้ว่าเป็นการเปิดประวัติศาสตร์ใหม่ของประเพณีการรวมรุ่นที่นำไปสู่อำนาจต่อรองทั้งทางทหารและทางการเมืองในที่สุด

การรวมตัวของ จปร.5 การรวมตัวภายใต้รหัส 0143 หรือการรวมตัวหลวมๆ ของ จปร.1-8 เว้นรุ่น 7 ล้วนเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอันสืบเนื่องจากการรวมตัวของ จปร.7 ทั้งสิ้น

และจะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการรวมรุ่นนายทหารในกองทัพบกในเวลาต่อมา

 

พล.ต.ชวลิต เลือก จปร.5

พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ จปร.1 เมื่อ พ.ศ.2523 เป็นนายทหารที่ได้รับการยอมรับในความรู้ความสามารถจากนายทหารในกองทัพบกและเริ่มมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นตามลำดับ อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในการผลักดันคำสั่ง 66/23 ให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยในขณะนั้น

นอกจากนั้น จปร.1 ยังเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นแรกหลังการปรับปรุงหลักสูตรตามโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ของสหรัฐ และเป็นรุ่นแรกที่โรงเรียนได้รับพระราชทานชื่อ “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จปร.1 จึงมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของนักเรียนนายร้อย จปร.ยุคใหม่ โดยยอมรับกันว่า จปร.1 คือ “พี่ใหญ่” ของนักเรียนนายร้อยหลักสูตรใหม่

วาสนา นาน่วม บันทึกไว้ใน “กำเนิดและอวสาน รสช.” อีกตอนหนึ่งว่า

“ความสัมพันธ์ของ พล.อ.ชวลิต กับ พล.อ.สุจินดา และนายทหาร จปร. 5 แน่นแฟ้นกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ พล.อ.ชวลิต ต้องเลือกที่จะอยู่ข้าง พล.อ.สุจินดา และ จปร.5 แทนที่จะเลือกข้างนายทหาร จปร.7 ของ พล.ต.มนูญ รูปขจร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อ พล.อ.สุจินดา ไม่พอใจที่ จปร.7 จะข้ามหัวรุ่นพี่ในการขึ้นนั่งตำแหน่งสำคัญในกองทัพ จึงจัดงานเลี้ยงรุ่น จปร.ทุกรุ่นและไม่เชิญ จปร.7 ซึ่งความขัดแย้งของ พล.อ.สุจินดา กับ จปร.7 นี้ พล.อก.สุจินดากล่าวว่า

‘ผมจะจัดงานเลี้ยงและผมจะแสดงให้รู้ว่าผมต่อต้านรุ่น 7 โดยเชิญทุกรุ่นยกเว้นรุ่น 7 พี่จิ๋วก็บอกไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้แล้วหรือ ผมบอกไม่มี เรายังบอกเลยว่าแล้วพี่จิ๋วจะเอาฝ่ายไหนล่ะ’

เมื่อถึงสถานการณ์ที่จะต้องเลือกข้าง พล.อ.ชวลิตเลือกฝ่าย จปร.5 ขณะเดียวกัน พล.อ.สุจินดา และ จปร.5 ก็เลือกเป็นฝ่าย พล.อ.ชวลิตเช่นกัน

อีกท่านหนึ่งที่ได้แสดงทัศนะต่อต้าน จปร.7 อย่างชัดเจนคือ พล.ต.ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย จปร. อดีตนักเรียนเตรียมทหารบกรุ่น 5 “รุ่น 5 ใหญ่” รุ่นเดียวกับนายทหารที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นคือ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก และ พล.ต.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ ฯลฯ ก็ให้สัมภาษณ์เมื่อปรากฏข่าวการพบปะสังสรรค์นักเรียนนายร้อยรุ่น 1-6 และรุ่น 8 โดยไม่เชิญ จปร.7 ไปร่วมครั้งนี้ว่า

“ชอบใจที่ พ.อ.เลิศ พึ่งพักตร์ (เลขานุการ จปร.5) แถลงข่าวการประชุมของ จปร.รุ่น 1 ถึง 6 และ 8 ที่ระบุว่า ทหารไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ยินดีที่ทหารไม่ออกนอกแถว นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ท่านเล่นการเมืองอยู่แล้ว ทหารอื่นไม่ควรไปเล่นการเมืองอีก”

ต้นปี พ.ศ.2524 อุณหภูมิความขัดแย้งในกองทัพจึงร้อนแรงขึ้นตามลำดับ…

 

ทหารหนุ่มสลายตัว?

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ หนึ่งในคณะทหารหนุ่ม บันทึกสถานการณ์ที่เริ่มพบกับแรงเสียดทานที่มากขึ้นจากนายทหารรุ่นพี่ จปร.เมื่อต้นปี พ.ศ.2524 ไว้ว่า

“ในต้นปี 2524 อันเป็นปีที่มีการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พี่จำลองก็อยู่บนหอคอยที่ทำเนียบกับป๋าแล้ว บทบาทของกลุ่มทหารหนุ่มกลับซบเซาลงอย่างน่าพิศวง มีอาการเหมือนเป็นใบ้ไปตามๆ กัน พี่นูญยิ่งเงียบหนักเข้าไปอีก เพราะโดยนิสัยแล้วพี่นูญไม่ชอบที่จะเปิดเผยตัวต่อสาธารณชนเหมือนกับสมาชิกคนอื่นๆ ความจริงงานของพี่นูญในระยะนั้นก็ค่อนข้างจะล้นมือครับ เพราะกรมทหารม้าที่ 4 กำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งหน่วย และยังต้องปฏิบัติภารกิจชายแดนอีกด้วย แถมพี่นูญยังต้องดูหนังสือสอบในหลักสูตรปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ที่ ม.เกษตรอีก”

“ในห้วงเวลานั้นก็ได้มีการพูดถึงการสลายตัวของกลุ่มทหารหนุ่มกันบ้างแล้วนะครับ และต่อมาก็ได้มีการประกาศสลายตัวของทหารหนุ่มออกมาเป็นทางการ แต่ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติกันมากนัก”

“การสลายตัวของกลุ่มทหารหนุ่มนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่งเพราะจะเป็นการเปิดเผยเจตนาที่ดีไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดกันว่าเป็นการตั้งกลุ่มเพื่อต่อรองกับผู้บังคับบัญชาครับ”

บันทึก “การปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า” ของ บุญชนะ อัตถากร ก็มีบันทึกเกี่ยวกับข่าวการสลายตัวของคณะทหารหนุ่มเช่นเดียวกันว่า

“คุณประมาณ อดิเรกสาร รองนายกฯ เคยบอกว่า เมื่อกลุ่มยังเติร์กประกาศสลายตัวเมื่อก่อนตุลาคม 2523 นั้นมีผลทำให้คุณเปรมในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมแต่งตั้งให้นายทหารในกลุ่มนี้ยังคงมีตำแหน่งหน้าที่บังคับบัญชาอยู่ในระดับเดิมทุกประการ”

 

แกล้งแพ้?

การประกาศสลายตัวของคณะทหารหนุ่มเมื่อใกล้วาระการโยกย้ายนายทหารประจำปี ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจจริงหรือเป็นเพียงกลยุทธ์ “แกล้งแพ้” เพื่อผลต่อคำสั่งโยกย้ายประจำปี แต่คำสั่งแต่งตั้งนายทหารประจำเมื่อตุลาคม พ.ศ.2523 ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงนามนั้น คณะทหารหนุ่มต่างขยับขึ้นคุมหน่วยกำลังสำคัญรบระดับกรมกันทั่วหน้า ภาพความใกล้ชิดของคณะทหารหนุ่มกับ “ป๋า” จึงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และดูเหมือนจะยิ่งตอกย้ำความเชื่อในความเป็น “ลูกป๋า” ให้กับสังคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ ปลายปี พ.ศ.2523 ถึงต้นปี พ.ศ.2524 พลังอำนาจแฝงและอิทธิพลของคณะทหารหนุ่มจึงมิได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด แม้จะมีการประกาศสลายตัวแต่ก็เป็นไปตามบันทึกของ พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ ที่ว่า “แต่ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติกันมากนัก”

ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ยังบันทึกไว้อีกด้วยว่า “พวกเขาสามารถต่อรองตำแหน่งให้แก่สมาชิกของกลุ่มอย่างเป็นระบบ สามารถคุมตำแหน่งสำคัญระดับกรมเกือบทั้งหมด ตลอดจนสามารถขจัดนายนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่งมิให้ได้รับตำแหน่งสำคัญทางทหาร”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า การย้ายกลับโคราชของ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ก็ดี การขึ้นยกแผงของคณะทหารหนุ่มก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากหมึกที่ปลายปากกาของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกทั้งสิ้น

แต่ความไม่พอใจ จปร.7 ของ จปร.1 ถึง จปร.8 ยังคงดำรงอยู่และทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น