สอนหนังสือ ดูหาเสียง และนักศึกษาไทยในตุรกี (1)

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

สอนหนังสือ ดูหาเสียง

และนักศึกษาไทยในตุรกี (1)

 

ผมเดินทางไปสอนหนังสือที่ตุรกีตามโครงการ Erasmus + Programme Bilateral Inter Institutional Agreement ตามโครงการ Mobile Teaching ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งกรุงอังการา ซึ่งในภาษาตุรกี (Turkish) มีชื่อว่า Ankara Sasyal Bilinsler Universitesi (ASBU) ระหว่างวันที่ 15-23 พฤษภาคม 2023

วัตถุประสงค์โดยรวมของการสอนแลกเปลี่ยน (Mobile Teaching) ระหว่างอาจารย์ของไทยกับอาจารย์ของตุรกีเป็นการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาระหว่างประเทศ

รวมทั้งการอภิปรายและการแลกเปลี่ยนความรู้ที่มีความทันสมัยและความเป็นสากล

รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งอังการา ตุรกี

หนังสือว่าด้วยความสัมพันธ์ไทย-ตุรเคียร์ ตีพิมพ์ด้วยภาษาตุรก็โดยมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งกรุงอังการา
เป็นงานศึกษาว่าด้วยประเทศไทยในตุรกี-1 บรรณาธิการ โดย A.Merthan DUNDAR และ Ekrem SALTIK

ทั้งนี้ หากมองในบริบทของความทันสมัยและกลยุทธ์ความเป็นสากลของสถาบันที่เกี่ยวข้องในการสอนแลกเปลี่ยนก็จะเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2022-2027 ว่าด้วยกำลังคนในอนาคต ชีวิตและสังคมในอนาคต และความร่วมมือในอนาคต

เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างอาจารย์ของธรรมศาสตร์กับอาจารย์ผู้สอนที่สถาบันพันธมิตร เชื่อมโยงเพื่อการสัมมนา การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมโครงการวิชาการของคณาจารย์ บุคลากร และโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษานานาชาติ

ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ การพัฒนาวิชาชีพของเจ้าหน้าที่ผู้สอนและความสามารถของนักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย

เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและนักวิชาการทั้งสองฝ่าย ตลอดไปจนถึงประสบการณ์ในการสอนแบบแลกเปลี่ยนเคลื่อนที่ในสถาบันอุดมศึกษาระดับนานาชาติ

นักศึกษาจะได้รับประโยชน์จากความรู้และความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ที่ได้รับเชิญเป็นด้านหลัก

ทั้งนี้ อาจารย์ส่วนใหญ่ของตุรกีมากกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ในกรุงอังการาของตุรกีจะจบการศึกษามาจากอังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐ ส่วนที่เหลือจะจบจากมหาวิทยาลัยในตุรกีเอง

ปัจจุบันมีคนตุรกีที่ทำงานอยู่ในเยอรมนีไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ทั้งนี้ จะพบว่าในทีมฟุตบอลของเยอรมนีจะมีนักฟุตบอลเชื้อสายตุรกีอยู่เสมอไม่มากก็น้อย

ที่ผ่านมาอาจารย์ของคณะรัฐศาสตร์ ส่วนใหญ่ก็ต้องสอนนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว นักศึกษาเหล่านี้จะมาจากสหรัฐ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสเป็นด้านหลัก

อุสมาน วาเด๊ะ (ซ้าย) นักศึกษาไทยที่อาษาเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกี

ขณะที่เป็นหัวหน้าสาขาอินเดียศึกษาวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ผมมีโอกาสได้สอนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ (California Berkeley) ที่มาเรียนไทยศึกษาวิชาศาสนาอิสลามในประเทศไทย (Islam in Thailand) อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยที่ส่งนักศึกษามาเรียนที่ประเทศไทยมาโดยตลอดก็คือมหาวิทยาลัยอาโอยามะของญี่ปุ่นที่มาแลกเปลี่ยนเป็นช่วงๆ

ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มาเรียนกับคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นช่วงๆ ก็มีมหาวิทยาลัย City Hongkong จากฮ่องกง

นอกจากนั้นก็จะมีนักศึกษาจากแต่ละประเทศมากบ้างน้อยบ้างมาเรียนทั้งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และคณะรัฐศาสตร์เช่นกัน เช่น นักศึกษาจากลิธัวเนีย เม็กซิโก สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว พม่า ปากีสถาน บรูไน อินเดีย และจากเอเชียตะวันตกอย่างอิรัก การ์ตา ตุรกี

แต่จากประสบการณ์ในการสอนที่คณะรัฐศาสตร์และวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ยังไม่เคยมีนักศึกษาจากมาเลเซียมาเรียนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยจากสวิตเซอร์แลนด์เชิญผมสอนวิชาอินเดียศึกษาให้กับคณาอาจารย์ และนักศึกษา โดยมาจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในบางปีอีกด้วย

อาจารย์ไทยบางคนจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ของไทย อาจารย์ไทยและอาจารย์ชาวจีนที่สอนอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จะไปสอนให้นักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสวิตเซอร์แลนด์สามหัวข้อด้วยกันคือ การเมืองไทย การเมืองจีน และการเมืองอินเดีย

ผมจึงคุ้นเคยกับการสอนนักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนในเมืองไทยในระดับหนึ่ง

การแลกเปลี่ยนการสอนระหว่างมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ของอังการากับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และตามแนวคิด Erasmus + Enriching lives, opening minds ของสหภาพยุโรป (European Union)

อันเป็นโครงการเรียนรู้และการเคลื่อนไหวแลกเปลี่ยนเพื่อการศึกษาของนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนในหมู่สมาชิกของสหภาพยุโรปและประเทศที่สามที่มีความผูกพันอยู่กับ Program นี้

การทำงานขององค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกีที่อุสมานเข้าร่วมทำงาน

การเลือกตั้งในตุรกี

แม้ว่าผมจะเข้าสอนหลังการเลือกตั้งรอบแรกในตุรกีผ่านไปแล้วแด่บรรยากาศการหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งรอบสองทั้งในกรุงอังการาและอิสตันบูลก็ดูจะคึกคักอยู่ไม่น้อย

ทั้งนี้ หลังมีการเลือกตั้งในประเทศไทยแล้ว ผมก็เดินทางไปตุรกีในวันรุ่งขึ้น (15 พฤษภาคม 2023) แม้จะไม่ทันได้เห็นการเลือกตั้งรอบแรก แต่เนื่องจากได้อยู่ตุรกีต่อมาอีกหลายวัน จึงได้เห็นการรณรงค์หาเสียงของตุรกี ที่ประชาชนมีความตื่นตัวกับการเลือกตั้งครั้งที่สองไม่ต่างไปจากการเลือกตั้งครั้งแรก

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ตรงกับการเลือกตั้งในประเทศไทยไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนมากกว่าร้อยละ 50 จึงต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ในรอบที่สอง

ผู้สนับสนุนผู้นำพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมารวมตัวกันในจัตุรัสต่างๆ ของประเทศ พวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนพร้อมโบกสะบัดธงของผู้สมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งประธานาธิบดีที่ตนสนับสนุนกันอย่างคึกคัก เต็มไปด้วยสีสัน แต่ไม่มีการปะทะกันให้เห็นแต่อย่างใด

ทุกคนมุ่งมั่นอยู่กับธงของตัวเอง มีรูปผู้นำทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญของประเทศ

Bekir Ozcelik เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในกรุงอังการาเมืองหลวงของตุรกีซึ่งลงคะแนนให้แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) กล่าวว่า “ไม่มีผู้นำคนใดในโลกที่จะทัดเทียมแอร์โดอานได้” แม้ว่าเขาจะอยู่ในอำนาจมาแล้วกว่า 20 ปี (รวมทั้งการเป็นนายกรัฐมนตรี 9 ปี) สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2023

มุมมองนี้มีมาจากคนส่วนใหญ่ของชาวเติร์กที่มีส่วนสำคัญในการทำให้แอร์โดอานกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีอีกครั้ง เป็นเวลา 5 ปี ด้วยคะแนนเสียงอย่างเป็นทางการที่ร้อยละ 52 ต่อร้อยละ 48 (คะแนนการเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละจะอยู่ที่ร้อยละ 52.16 กับร้อยละ 47.84) อันเป็นคะแนนเสียงที่มีขึ้นในรอบที่สองจากการลงคะแนนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2023 ทำให้ประธานาธิบดีคนเดิมเอาชนะ เคมาล กิลิกดาโรกลู (Kemal Kilicdaroglu) คู่ต่อสู้ที่นิยมตะวันตกและมีวัยใกล้เคียงกันไปได้

พรรค AK (พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา) และพันธมิตรได้ที่นั่ง 323 ที่นั่งจาก 600 ที่นั่ง ประธานาธิบดีแอร์โดอานยังสามารถรับประกันได้ถึงเสถียรภาพที่เขาจะได้รับทั้งจากสภานิติบัญญัติและรัฐบาล

ในจำนวนชาวเติร์ก 85 ล้านคน มี 64 ล้านคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ลงคะแนนประมาณร้อยละ 75 ถึงร้อยละ 80 ในรอบที่สอง ซึ่งมีความจำเป็นต้องออกมาลงคะแนนให้ผู้ที่ตนชื่นชอบอีกครั้ง เพราะในการลงคะแนนรอบแรกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ไม่มีผู้สมัครจากพรรคใดได้เสียงข้างมาก

ทั้งนี้ แอร์โดอานกับกิลิกดาโรกลู มีคะแนนในรอบแรกสูสีกันมาก โดยในการเลือกตั้งครั้งแรก เขาได้ร้อยละ 49.5 เทียบกับร้อยละ 44.8 จากผู้ท้าชิงของเขา แม้ว่าการสำรวจก่อนการเลือกตั้งแอร์โดอานจะมีคะแนนนำถึงร้อยละ 15 หรือมากกว่านั้นก็ตาม

การทำงานขององค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกีที่อุสมานเข้าร่วมทำงาน
การทำงานขององค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกีที่อุสมานเข้าร่วมทำงาน
การทำงานขององค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกีที่อุสมานเข้าร่วมทำงาน
การทำงานขององค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกีที่อุสมานเข้าร่วมทำงาน
การทำงานขององค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกีที่อุสมานเข้าร่วมทำงาน
การทำงานขององค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในตุรกีที่อุสมานเข้าร่วมทำงาน
หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากแผ่นดินไหวหลังได้รับการช่วยเหลือออกมาจากซากปรักหักพังของอาคารที่อยู่อาศัยในตุรกี
คุณ อภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ.ถลาง เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอังการา ประเทศตุรกี พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ของตุรกีว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคี ไทย-ตุรกี ที่ร้าน Quick China กรุงอังการา
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังการสอน
ห้องสมุดประชาชนที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงของกรุงอังการา
ภาพของเออร์โดอัน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของตุรกีที่มีอยู่ทั่วไปตามจตุรัสสำคัญของประเทศ