พิษคดี ‘สว.อุปกิต’ บาน ก.ต.สอบรองอธิบดีศาล ถอนหมายจับฟอกเงิน ลุ้น อสส.นัดฟังสั่งฟ้อง

เป็นคดีใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีส่วนพัวพันกับองค์กรศาลยุติธรรมอย่างรุนแรง

สำหรับกรณี ส.ว.ทรงเอ อุปกิต ปาจารยางกูร ผู้ต้องหาในความผิดพัวพันองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ล่าสุดอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร

สุดท้ายถูกเลื่อนไป เนื่องจากนายอุปกิตยื่นคำร้องขอเอกสิทธิ์คุ้มครองเนื่องจากอยู่ในสมัยประชุม

เรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไร คงได้รู้กันอีกไม่นาน

แต่ที่แน่ๆ ที่พัวพันกับองค์กรศาล นั่นก็คือข้อกล่าวหาว่ามีข้าราชการตุลาการบางคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง กดดันให้เพิกถอนหมายจับนายอุปกิต ทั้งที่ศาลเพิ่งอนุมัติไปไม่นาน อ้างถึงความเป็นบุคคลสำคัญ

กลายเป็นประเด็นคำถามว่ามีการแทรกแซงอำนาจของผู้พิพากษาหรือไม่

ซึ่งล่าสุดก็มีความคืบหน้า เมื่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. มีคำสั่งสอบวินัยร้ายแรงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับรองอธิบดีศาลอาญา ซึ่งในคำร้องพาดพิงไปถึงระดับอธิบดีด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็เหลือเพียงรองอธิบดีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ

ส่วนผลจะออกมาอย่างไร คงต้องรอติดตาม!!!

สว.อุปกิต

กต.สอบถอนหมายจับ ‘อุปกิต’

กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง สำหรับคดีของนายอุปกิต ปาจารยางกูร ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาพัวพันกับเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติ จนถูกนำไปเป็นประเด็นการอภิปรายในสภา โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ที่นอกจากระบุถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับขบวนการแล้ว ยังเปิดเผยอีกว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจไปขออนุมัติศาลออกหมายจับนายอุปกิต ในความผิดคดียาเสพติดและฟอกเงิน ต่อมาศาลอนุมัติหมายจับ

แต่กลับมีการประชุมโดยผู้บริหารศาล สั่งยกเลิกหมายจับ และให้ออกเป็นหมายเรียกแทน โดยได้เรียกตำรวจที่ขอหมายจับเข้าพบ พร้อมสั่งการโดยตรง โดยผู้บริหารศาล

และต่อมามีการย้ายนายตำรวจระดับ ผู้กำกับที่ทำคดีนี้จากสืบนครบาล ไปอยู่ที่ สภ.บ้านเดื่อ จ.ชัยภูมิ

ทำให้เกิดคำถามการทำงานของกระบวนการยุติธรรม แถมเชื่อมโยงไปถึงตัวนายตุน มิน ลัต ผู้ต้องหาที่ถูกจับก่อนหน้านี้ เป็นเจ้าของบริษัท สตาร์แซฟไฟร์ กรุ๊ป มีบทบาทสำคัญกับการจัดหาอาวุธ และสนับสนุนการเงินให้กับกองทัพเมียนมา พ่อของเขาที่เคยเป็นอธิบดีกรมการโรงแรมของเมียนมา คือคนที่เซ็นอนุญาตให้นายอุปกิตสร้างโรงแรม หรือบ่อนกาสิโนในท่าขี้เหล็ก

ขณะที่ยังเปิดเผยความใกล้ชิดระหว่างนายอุปกิต และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ว่าเป็นเจ้าของที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วย

ทั้งหมดจึงกลายเป็นคำถามว่านี่หรือไม่ที่เป็นประเด็นในการเพิกถอนหมายจับอย่างกะทันหัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคารศาลยุติธรรม ถนนราชดำเนิน สนามหลวง นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 22/2566 โดยที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบวาระ 9 วาระ

ที่น่าสนใจ ก็คือการรับทราบกรณีศาลอาญา สั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงชั้นต้น กรณีข้าราชการตุลาการกระทำการอันเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยในการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว 3 ราย

และพิจารณาผลสอบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการตุลาการ กรณีมีพฤติกรรมและการปฏิบัติหน้าที่ มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยให้สำนักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อไป 1 ราย

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ ก.ต.เห็นว่ามีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น ผู้พิพากษาที่ถูกตั้งสอบ เป็นระดับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีการแทรกแซงจนมีการเพิกถอนหมายจับนายอุปกิต ในคดีสมคบฟอกเงิน ตุน มิน ลัต

ซึ่งตอนตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีการสอบผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 คนมีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาโดนสอบด้วย แต่มาหลุดในชั้น ก.ต.

โดยรองอธิบดีที่ถูกสอบวินัยร้ายแรง ก็เป็น 1 ใน 3 ตุลาการที่ถูกอธิบดีศาลอาญาสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงในอีกกรณีด้วย

เป็นที่น่าจับตาว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร!!!

‘โรม’ ถามคืบหน้าสอบอธิบดีศาล

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล โพสต์ข้อความในโซเชียล ระบุว่า จากการที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง รองอธิบดีผู้พิพากษาอาญา โดยมีมูลเหตุเชื่อว่าใช้อำนาจแทรกแซงผู้พิพากษาอื่น เพื่อเพิกถอนหมายจับของ ส.ว.อุปกิต ในข้อหาร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงินของตุน มิน ลัต

แต่ในส่วนของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่ กต.ยังไม่มีความเคลื่อนไหวว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

โดยก่อนหน้านี้ ตนได้ยื่นขอส่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยัง กต. เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดวินัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และได้ติดตามอีก 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด

จึงคาดหวังคำตอบจาก กต. ว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาหรือไม่อย่างไร และหวังว่า กต.จะใช้เวลาในการพิจารณาที่เร็วขึ้น เพราะหากนับตั้งแต่ที่ได้มีการเพิกถอนหมายจับเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 กต.ใช้เวลากว่าที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเกือบ 1 ปี

หรือหากนับตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้ส่งหนังสือไปครั้งแรกก็ได้ กต.ก็ใช้เวลากว่า 7 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกว่าทำไมถึงใช้ระยะเวลานานขนาดนี้

จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ที่เป็นหัวใจหลักในกระบวนการยุติธรรม

เมื่อศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอรรถคดีต่างๆ เป็นที่พึ่งหวังของประชาชน

เมื่อมีเหตุที่คนในองค์กรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลับใช้เวลาในการพิจารณาร่วมปี ความเชื่อมั่นของประชาชนที่คาดหวังต่อศาลจะไม่สั่นคลอนได้อย่างไรกัน

ดังนั้น เราจึงควรร่วมกันติดตามว่าศาลจะสร้างความยุติธรรมให้แก่พี่น้องประชาชนได้อย่างไร และความยุติธรรมแบบใดที่ศาลกำลังจะมอบให้กับประชาชนกันแน่

เป็นคำทวงถามจาก ส.ส.รังสิมันต์

โรมอภิปราย

รอฟัง อสส.สั่งฟ้องหรือไม่

ขณะที่ในทางคดี หลังจากที่นายวัชรินทร์ ภานุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ฐานะหัวหน้าคณะทำงานร่วมสอบสวนและพนักงานสอบสวน บก.ปส.3 นำตัวนายอุปกิต พร้อมสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง จำนวนกว่า 79 แฟ้ม มอบให้สำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเสนอฟ้องนายอุปกิตต่ออัยการสูงสุด เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เกิดนอกราชอาณาจักรตาม ป.วิ อาญา ม.20 กำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่เพียงผู้เดียว

โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องนายอุปกิตเพื่อดำเนินคดีในข้อหา เป็นสมาชิกวุฒิสภาสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและร่วมกันฟอกเงิน

เป็นสมาชิกวุฒิสภาร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติโดยสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีส่วนร่วมกระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรมหรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว

ซึ่งเดิมอัยการสูงสุด นัดฟังคำสั่งอัยการสูงสุด ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2566

แต่ก็เลื่อนไป จนกระทั่งนัดฟังคำสั่งครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ซึ่งนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า นายอุปกิตก็ได้แจ้งขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งอ้างเหตุว่าอยู่ระหว่างสมัยประชุมสภา จึงได้สิทธิ์รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งทางอัยการก็พิจารณาให้เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 12 ตุลาคม

รอจนหมดสมัยประชุม แล้วคงรู้ว่าจะมีบทสรุปอย่างไร!!