อ.ศิลป์ พีระศรี ไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์ภาษิต ‘ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น’

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” เป็นภาษิตที่ชนชาวศิลปากรใช้เป็นคำขวัญประจำมหาวิทยาลัยนั้น แปลจากคำภาษาละตินที่หลุดออกมาจากปากของชาวอิตาเลียน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย ควบตำแหน่ง “เซนต์” (saint) หรือ “นักบุญ” แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรอย่าง อ.ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า “ars longa vita brevis”

และในเมื่อบุคคลระดับนักบุญของมหาวิทยาลัยตนเองเป็นคนพูด ก็เลยมีหลายต่อหลายคนเข้าใจผิดว่า อ.ศิลป์นี่แหละครับ ที่เป็นผู้คิดประดิดประดอยถ้อยความออกมาเป็นภาษิตบทนี้

แต่เอาเข้าจริงแล้ว อ.ศิลป์ไม่ได้เป็นผู้ที่ประดิษฐ์ภาษิตสุดคมคายบทนี้ออกมาเองหรอกนะครับ เพราะปรากฏหลักฐานอยู่ทนโท่ว่า ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาตินั้น ได้มีผู้หล่นภาษิตดังกล่าวนี้ออกมาจากปากให้เพียบคนไปหมด

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากบรรดาหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่นี้ ก็ทำให้เราพอจะประมวลได้ว่า คนที่ได้เอื้อนเอ่ยถ้อยคำที่ว่านี้เป็นคนแรก จนทำให้กลายเป็นภาษิตที่มีผู้ใช้ต่อๆ กันมาอีกนานนมนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “หมอ” ไม่ใช่ “ศิลปิน” หรือคนทำงานศิลปะที่ไหนเสียหน่อย

และหมอคนที่ว่านี้ก็เป็นชาวกรีกยุคคลาสสิคที่ชื่อ “ฮิปโปคราเตส” (Hippocrates, พ.ศ.83-166) โดยท่านเขียนไว้เป็นภาษิตบทนี้ไว้เป็นคำขึ้นต้นในตำราที่ชื่อว่า “Aphorism” ซึ่งท่านเป็นผู้ประพันธ์ขึ้นมาเอง

แต่คำว่า “aphorism” ของคุณหมอฮิปโปคราเตส ไม่ได้หมายถึงสุภาษิต หรือคำพังเพย ตามอย่างคำแปลในภาษาอังกฤษปัจจุบันนี้เลยสักนิด เพราะในตำราที่ท่านเขียนขึ้นฉบับนี้นั้นหมายความถึง “การแยกแยะ” (คือการแยกแยะประเภทของโรคภัยไข้เจ็บ) และ “การนิยาม”

แน่นอนว่าเมื่อผู้เขียนเป็นหมอ หนังสือเล่มนี้ก็ย่อมเป็นตำราทางการแพทย์ฉบับหนึ่ง

และหากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ภาษิต “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประโยคเต็มๆ ที่ว่า “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว วิกฤตในพริบตา ประสบการณ์ในภยันตราย และการตัดสินใจที่ยากลำบาก” ก่อนที่จะมีประโยคต่อท้ายตามมาว่า “นายแพทย์ไม่เพียงต้องเตรียมตนเองให้กระทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วย คณะทำงาน และปัจจัยภายนอก”

คำว่า “ศิลปะ” ของคุณหมอฮิปโปคราเตส จึงไม่น่าจะหมายถึงศิลปะเดียวกันกับ อ.ศิลป์ และยิ่งจะไม่น่าใช่ศิลปะเดียวกันกับในคำขวัญของมหาวิทยาลัยศิลปากรหรอกนะครับ

 

อันที่จริงแล้ว “Aphorism” เขียนด้วยภาษากรีกโบราณ ไม่ใช่ภาษาละติน ยิ่งถ้าอ่านจากเอกสารดั้งเดิมของคุณหมอฮิปโปคราเตสที่ผมแปลจากภาษาอังกฤษอีกทอดหนึ่งแล้วคัดลอกมาข้างต้น ก็จะเห็นได้ว่า คุณหมอขึ้นต้นว่า “ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” ต่อมาจึงค่อยมีผู้นำวลีนี้มาสลับกลับหัวกลับหางกันในภายหลังเป็น “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” เสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น ภาษิตที่สุดแสนจะคมคายประโยคนี้ จึงได้รับการเรียบเรียง ตีความ และจัดการอะไรอีกหลายอย่างมาตลอด 2,000 ปีเศษก่อนที่ อ.ศิลป์จะพูดออกมา จนกลายเป็นคำขวัญประจำมหาวิทยาลัยย่านท่าช้างแห่งนั้น

“ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว” ในต้นฉบับภาษากรีกของคุณหมอฮิปโปคราเตส คือ “Ho Bios Brachus, the de Techne Makre” คำที่ใครต่อใครแปลออกมาว่า “ศิลปะ” ในต้นฉบับในภาษากรีกก็คือคำว่า “Techne” ในประโยคนี้เอง

คำว่า “techne” ในภาษากรีกโบราณแปลว่า “ทักษะ” หรือ “งานช่าง” มีคำว่า “technite” แปลว่า “ช่างฝีมือ” อันนี้ตรงกับไทยที่เราเรียกว่า “ช่าง” หรือคำว่า “อี้ชู่” ในภาษาจีน ที่ปัจจุบันแปลว่า “art” แต่ในช่วงสมัยปลายราชวงศ์ฮั่น ในช่วงราว พ.ศ.600-700 คำนี้ก็แปลว่าทักษะเช่นกัน

ดังนั้น ความหมายของคำว่า “ศิลปะ” ในความหมายอย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันนั้น จึงคลาดเคลื่อนไปจากความหมายดั้งเดิมไปจนเสียไกลลิบ

 

ยุคกลาง ในยุโรป เมื่อราวหลัง พ.ศ.1500 มีคำว่า “studium generale” เป็นภาษาละติน (ในช่วงยุคกลางการเรียนการสอนในทุกสาขาจะเรียนด้วยภาษาละติน) ตรงกับคำว่า “general study” หรือการศึกษาทั่วไปในภาษาอังกฤษ สถานที่สอนการศึกษาทั่วไปที่ว่านี้จะต้องมีการสอนวิชาใดวิชาหนึ่งในสามวิชาที่ประกอบไปด้วย แพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ และเทววิทยา จึงจะเรียกว่าเป็นสถานที่สอนการศึกษาทั่วไปได้

การเรียนการสอนอย่างที่ว่านี้จึงต่างไปจากระบบการศึกษาของพวกกรีกที่เรียกว่า “academy” เพราะอะคาเดมีของกรีกมีผู้สอนเพียงคนเดียว ไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอน เนื้อหาก็สอนตามแต่ที่อาจารย์ถนัด และจำกัดผู้เรียน ต่างกันกับในยุคกลางที่มีการเรียนการสอนหลายวิชา และมีหลักสูตรการสอนที่แน่นอน

ระบบการจัดการของสถานที่สอนการศึกษาทั่วไปที่ว่านี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากที่ระบบการจัดการทางสังคมอื่นๆ ในยุคกลางที่เรียกว่า “กิลด์” (guild) ซึ่งอาจจะแปลอย่างง่ายๆ ได้ว่าคือ สมาคมอาชีพ เพราะการประกอบอาชีพใดๆ ในสังคมเมืองยุคกลางก็ตาม จำเป็นจะต้องได้รับการฝึกหัดและยอมรับจากสมาคมอาชีพนั้นๆ เสียก่อน สมาคมที่ว่ายังมีหน้าที่ในการจัดการควบคุมและดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในกิจการเกี่ยวกับอาชีพนั้นๆ อีกด้วย

และด้วยลักษณะที่ว่า หลายครั้งจึงเรียกกิลด์ต่างๆ ว่า “university” ซึ่งมาจากคำว่า universitas ในภาษาละตินที่แปลว่า “ทั้งหมด” ซึ่งมีนัยยะถึงการรวมกันของกลุ่มต่างๆ ดังนั้น ในระยะแรกคำว่ายูนิเวอร์ซิตี้จึงหมายถึงกลุ่ม หรือสมาคมของผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มียูนิเวอร์ซิตี้ของนักศึกษา และอาจารย์ ไม่ต่างจากยูนิเวอร์ซิตี้ของพ่อค้า หรือช่างตัดผม

จนกระทั่งในสมัยหลังจึงค่อยเป็นคำใช้เฉพาะแทนสถานศึกษา จนเลิกใช้คำว่า studium generale ไปในที่สุด

 

ที่สำคัญคือในมหาวิทยาลัยเหล่านี้เองที่เริ่มมีศัพท์คำว่า bachelor of arts และ master of arts ที่ปัจจุบันเราย่อว่า BA และ MA ซึ่งก็คือวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์ และศิลปศาสตร์นั่นแหละ โดย BA ต้องเรียน trivium ได้แก่ ไวยกรณ์ ศิลปะการพูด และตรรกวิทยา ส่วน MA ต้องเรียน quadrivium คือ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์

(ส่วนคำว่า “doctor” ที่เราแปลว่าหมอนั้น เดิมมาจากภาษาละตินที่สะกดอย่างเดียวกันมีความหมายว่า “ผู้สอน” มีรากมาจากศัพท์ในภาษาละตินเช่นกันว่า “docte” ซึ่งหมายถึง “ความชำนัญการ” หรือ “ความฉลาด” ดังนั้น คำว่า “Doctor” นอกจากจะหมายถึง “หมอ” แล้ว จึงมีความหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดของสาขาวิชาต่างอีกด้วยนั่นเอง)

ในสมัยกลาง คำว่า “art” จึงมีความหมายถึง “ความรู้” ตามอย่างชื่อวุฒิเมื่อสำเร็จการศึกษา และก็เป็นความหมายเดียวกันกับที่คุณหมอฮิปโปคราเตสหมายถึงไว้แต่แรกเริ่ม

และหากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว แต่ดั้งเดิมทีเดียว ภาษิตภาษาละตินที่ว่า “ars longa vita brevis” จึงควรที่จะแปลว่า “ความรู้ยืนยาว ชีวิตสั้น” จึงจะไม่ผิดพลความ พร้อมกันกับที่วิชาศิลปศาสตร์ที่จริงจึงหมายถึงวิชาที่ว่าด้วยความรู้ต่างๆ ด้วย

อ.ศิลป์ พีระศรี จึงไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์ภาษิตสุดคมคายที่ว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” แถมคำว่า “ศิลปะ” ในความหมายดั้งเดิมของภาษิตบทนี้ ยังไม่ได้หมายถึงศิลปะเดียวกันกับที่คนในยุคปัจจุบันเข้าใจอีกต่างหาก •