ครั้งแรก ‘แคนดิเดต’ โชว์วิสัยทัศน์ แค่ ‘พิธีกรรม’ ผ่านๆ เลือก ผบ.ตร.

หลังจากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา 2 วาระสำคัญมีอันต้องล่มไป

วาระแรก คัดเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ แทน “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายนนี้

และวาระที่สอง การพิจารณาให้ความเห็นชอบ ระดับรอง ผบ.ตร. ลงมาถึง ผบก.

ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม ผบ.ตร. มีบันทึกข้อความที่ 0001.(ผบ)/156 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ถึง 4 “แคนดิเดต ผบ.ตร.คนที่ 14”

นั่นคือ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 1, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 2, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 3 และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. อาวุโสอันดับ 4

ใจความว่า การประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 9/2556 ได้มีมติให้ถอนการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ออกจากระเบียบวาระการประชุมตามที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. เสนอ เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลโดยให้นายกรัฐมนตรีใหม่ได้เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ต่อไป

หนังสือระบุอีกว่า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีในการคัดเลือกแต่งตั้งผู้จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. จึงให้รอง ผบ.ตร.ทั้ง 4 คน ดำเนินการจัดทำผลการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งสรุปสภาพปัญหาการปฏิบัติงานหรือสภาพปัญหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในปัจจุบัน

และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวในอนาคต หากได้รับการคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยจัดทำเป็นเอกสารรวมจำนวนไม่เกิน 4 แผ่น (ขนาด A4) แล้วส่งไปยัง ตร. (ผ่านสำนักงานกำลังพล) ภายใน 1 กันยายนนี้

 

จึงถือเป็นครั้งแรกของอาณาจักรโล่เงิน ที่ให้ “แคนดิเดต ผบ.ตร.” เขียนวิสัยทัศน์ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสม

ปรากฎว่าได้รับการขานรับจาก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างทั่วหน้าว่า ดีมาก เพราะ ผบ.ตร.คือผู้นำองค์กร การให้แสดงวิสัยทัศน์จะนำพาอนาคตองค์กรอย่างไรเป็นพันธสัญญาของการปฏิบัติหน้าที่

แต่น่าเสียดายกลับเป็นเพียง “พิธีกรรม” ที่เสมือนไร้แบบแผน คิดขึ้นมากันข้อครหา เพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบ “กติกา” การคัดเลือกผู้นำคนใหม่เท่านั้น แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดจะพัฒนา ตร.ให้เปลี่ยนแปลงก้าวหน้ากว่าเดิมอย่างไร

จากที่สดับรับฟังมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล คนเดียวที่ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการบ้าน 4 หน้ากระดาษ A4 ว่า ได้เขียนถึงผลงานที่เคยทำมาทั้งหมด ที่ประชาชนได้รับประโยชน์

โดยหลักมองว่างานตำรวจคือการทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย เชื่อมั่น และศรัทธา

คดีที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุดในขณะนี้คือการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และหนี้นอกระบบ

พร้อมตอบคำถามถึงผลงานชิ้นโบแดง ว่า คือการทำงานด้านการสืบสวนและปราบปรามคดีต่างๆ สามารถคลี่คลายคดีให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม เป็นงานหลักของตำรวจที่จะต้องสืบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมถึงเฉลี่ยทรัพย์คืนให้ประชาชนที่ถูกหลอกลวง วันนี้สามารถยึดทรัพย์จากคดีตู้ห่าว (นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์) ได้กว่า 6 พันล้านบาท เส้นทางการเงินเชื่อมโยงถึงคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีผู้เสียหายกว่า 2,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,700 ล้านบาท

เป็นมิติใหม่ในการคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน จากเดิมที่มีแต่การยึดทรัพย์ ไม่มีการเฉลี่ยทรัพย์คืน

 

สําหรับการได้มาของ “พิทักษ์ 1” ตาม พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 นั้น นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อจากจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรอง ผบ.ตร. โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

เป็นปีแรกของการใช้กฎหมายใหม่นี้ ที่ชื่อ ผบ.ตร.มาจากมติที่ประชุม ก.ตร. แตกต่างจากปีก่อนๆ ที่ชื่อคลอดจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)

สำหรับคุณสมบัติอาวุโส ของ 4 “แคนดิเดต ผบ.ตร.” พบว่า ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง จาก “ผกก. ถึงรอง ผบ.ตร.” พล.ต.อ.รอย นรต.รุ่น 40 มีระยะเวลา 21 ปี, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นรต.รุ่น 47 มีระยะเวลา 14 ปี, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ นรต.รุ่น 41 มีระยะเวลา 18 ปี และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ รัฐศาสตร์ มธ. มีระยะเวลา 6 ปี

ส่วนคุณสมบัติความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปรามนั้น “ให้พิจารณาโดยรวม” ไม่ใช่ดูภารกิจที่ได้รับมอบหมายคุมงานในปัจจุบันเท่านั้น แต่ให้ย้อนดูประวัติรับราชการที่ผ่านมาด้วย

พบว่า ทั้ง 4 คนล้วนเคยดำรงตำแหน่งงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปรามมาแล้วทั้งนั้น

จากปาก “บิ๊กเด่น” ล่าสุดคาดว่านัดประชุม ก.ตร.ได้กลางเดือนกันยายน รอให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 11 กันยายน ให้จบก่อน

คาดหมายกันว่าประชุม ก.ตร. จะมีขึ้นวันที่ 14 กันยายน เพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14

ส่วนจะมีการพิจารณาบัญชีระดับรอง ผบ.ตร.-ผบก. ใหม่หรือไม่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ระบุว่า ให้แต่งตั้ง ผบ.ตร.ใหม่ก่อน แล้วจะได้มาเป็นผู้พิจารณาบัญชีแต่งตั้ง คาดว่าจะทันตามกรอบระยะเวลาแน่นอน

 

ถ้าย้อนไปดูวันที่ 25 สิงหาคม การประชุม ก.ตร.ที่ประวัติศาสตร์สีกากีต้องจารึก ความเห็นที่ประชุม ก.ตร.วันนั้นตกผลึกร่วมกันว่า ให้กองบัญชาการทำบัญชีตามกระบวนการถูกต้องตามกฎหมายเสนอมาใหม่ แล้วให้ “บิ๊กเด่น” กับ ผบ.ตร.ใหม่กลั่นกรองร่วมกันเสนอให้ที่ประชุม ก.ตร.พิจารณา

ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ รับรอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจากเลือกตั้งจัดหนักอีกรอบ

สำหรับ “ตัวเต็ง” แม่ทัพสีกากี ผ่านโค้งสุดท้ายมาแล้ว แคนดิเดตอันดับ 4 ยังแรง

ถ้าไล่ดูจากการแต่งตั้ง “สีเขียว” ว่ากันว่ามีสัญญาณกระชับอำนาจ เพราะฉะนั้น น่าจะส่งถึง “สีกากี” ด้วย

อีกทั้งผู้มีอำนาจใหม่ต้องคำนึงถึงอนาคตตัวประกันที่ป่วยอยู่ด้วย

แน่นอนถ้านายกรัฐมนตรีเสนอชื่อนี้มาต้องอธิบายคุณสมบัติต่อที่ประชุม ก.ตร.ให้ได้ เป็นไปตามสเป๊กกฎหมายตำรวจใหม่อย่างไร

งานนี้น่าจะมีปุจฉาวิสัชนาจนแตกฉาน เพื่อปิดช่องไม่ให้ซ้ำรอยเมื่อปีที่แล้ว กรณี พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8 ยศขณะนั้นไม่ได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง จนต้องร้องศาลปกครอง ในที่สุดต้องแต่งตั้งเป็นจเรตำรวจ (สบ 8)

ดังนั้น ด้วยเงื่อนไขทั้งปวง ถ้าไม่สามารถเลือกอาวุโสอันดับ 1 ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนเยียวยาให้เก้าอี้ใกล้เคียงสมน้ำสมเนื้อกัน ตัดปัญหาการฟ้องในอนาคต

ที่สำคัญถ้าไม่อาวุโสสูงสุดต้องฝ่าด่านอรหันต์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจากเลือกตั้ง ที่มุ่งหวังจะให้เกิดธรรมาภิบาลสู่การปฏิรูป ตามสัญญาให้ไว้กับผู้ที่ลงคะแนนเสียง

เพราะถ้าปล่อยให้การแต่งตั้ง ‘ผู้นำ’ โดยไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ ไม่แคล้วเหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อๆ ไปก็ผิดหมด