เริ่มต้นใหม่

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

“อย่าเสียใจที่จบลง

แต่จงดีใจและภูมิใจที่ได้เริ่มต้นทำมันขึ้นมา”

ผมเชื่อว่าชีวิตก็เหมือนกับ “ดนตรี”

มีตัวโน้ตในชีวิตให้เลือกเล่นหลายตัวเพื่อบรรเลงเป็นเพลง

แต่โน้ตตัวหนึ่งที่คนชอบลืม

คือ โน้ตตัว “หยุด”

เราจะเลือกเล่นโน้ตตัวนี้เมื่อไร

เพื่อให้เพลงนั้นไพเราะและมีความหมายที่สุด

ในชีวิตการทำงาน ผมทำงานประจำอยู่ 2 ที่

ที่แรก คือ มติชน

ผมทำงานที่มติชนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต

ก่อนที่จะ “หยุด”

และมาทำที่ใหม่ที่ไม่ใช่งานประจำ

แต่ยิ่งกว่าประจำ

นั่นคือ หลักสูตร ABC ที่ทำมานาน 10 ปี จนถึงรุ่น 14

และผมเพิ่งเล่นโน้ตตัว “หยุด” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

พร้อมกับความทรงจำที่งดงาม

ABC เริ่มต้นจากคนไม่เคยทำหลักสูตร 2 คน คือ ผมกับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ

โดยมี “พี่เหน่ง” ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นผู้ริเริ่มและให้การสนับสนุนทุกอย่าง

เราเริ่มต้นจาก “ความไม่รู้” จนกลายเป็น “ความรู้ใหม่”

ABC เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์

เราเอาสมองซีกซ้ายและซีกขวามากระทบชิ่งกัน

วันหนึ่งมีวิทยากร 2 คน

คนหนึ่งก็เป็นเรื่องธุรกิจ อีกคนหนึ่งเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์

ให้นักเรียนฟังบ่อยๆ ทุกวันคงจะเกิดการสันดาปทางความคิด

เกิดไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมา

กิจกรรมในหลักสูตรก็เน้นเรื่องความสนุกที่แฝงมุมคิดบางเรื่อง

พยายามให้ทุกคนหันด้านดีเข้าหากัน

เราทำต่อเนื่องมา 10 ปี 14 รุ่น

การทำ ABC ทำให้ผมได้รู้ว่าการมีพาร์ตเนอร์หรือคู่หูในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญมาก

ใครได้ “คู่หู” ดี คนนั้นโชคดี

“โจ้” เป็นผู้บริหารที่เก่งมากๆ

เป็นน้องที่น่ารัก นิสัยดี

ผมได้เรียนรู้การเป็นนักบริหารมืออาชีพจากเขาหลายเรื่อง

การตัดสินใจ การกระตุ้นทีม ฯลฯ

มีน้องหลายคนถามว่าทำงานด้วยกันเคยทะเลาะกันไหม

เขาคงอยากได้เป็นกรณีศึกษาในการทำงาน

แต่เชื่อไหมครับว่าผมพยายามนึกหลายครั้งแบบจริงจัง

…นึกไม่ออกครับ

ถามน้องในทีมก็ไม่มีใครนึกออก

ไม่น่าเชื่อว่าเราทำงานด้วยกันมา 10 ปี

ไม่เคยทะเลาะกันเลย

ความสำเร็จของ ABC ส่วนหนึ่งมาจากเรามีทีมงานที่ดีมาก

ตอนที่ทำรุ่นแรก ผมกับโจ้จะอยู่หน้าเวทีทุกช่วงเวลา

ดูแลทีมงานเองทุกอย่าง

พอจะเริ่มรุ่นสอง ผมคิดว่าเราน่าจะมีใครที่ช่วยสร้างความสนุกสนานหน้าเวที และช่วยดูแลทีมงาน

ผมนึกถึง “ก้า” อริณธรณ์ ขึ้นมา

“ก้า” เป็นนักเขียน นักดนตรี ที่คุ้นเคยกันมานานตั้งแต่ผมเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน

ตอนทำงานแฮปปี้ บุ๊กเดย์ ตะลอนทัวร์

ผมก็ชวน “ก้า” มาเป็นพิธีกรสัมภาษณ์นักเขียน

เขาเป็นคนมีอารมณ์ขัน สนุกสนาน

ตอนที่ผมทำ ABC “ก้า” เบนเข็มไปทำงานด้านการตลาดของบริษัทผลิตถุงพลาสติกรายใหญ่แห่งหนึ่ง

เจอกันทีไรผมก็จะถามด้วยความเป็นห่วง

เขาก็บ่นว่าต้องเดินทางไปทำงานไกลมาก ในขณะที่ลูกก็ยังเล็ก

ผมรู้สึกตลอดมาว่า “ก้า” อยู่ผิดที่ผิดทาง

เมื่อ ABC รุ่น 1 ประสบความสำเร็จ รอดแน่

ผมก็เลยชวน “ก้า” มาเติม “จิ๊กซอว์” ที่ขาดไป

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“ก้า” ก็กลับมามีความสุขอีกครั้งหนึ่ง

และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ABC มีสีสันมากขึ้น

 

ผมเชื่อว่าความสำเร็จของงาน “ทีมงาน” มีความสำคัญมาก

นอกจาก “ก้า” แล้ว อีกคนหนึ่งที่มาเป็น “จิ๊กซอว์” ในรุ่นที่ 12 คือ “จั๊ก”

“จั๊ก” เป็นนักเรียน ABC รุ่น 3 แต่มาช่วยงาน ABC ตลอด

ช่วงแรกๆ ผมกับ “โจ้” สนุกกับกิจกรรมตอนกลางคืนของ ABC

แต่พอถึงรุ่นหลังๆ เราเริ่มไม่ไหว

ผมกับ “โจ้” ก็ปรึกษากันว่าเราควรหาคนมาช่วย

เรานึกถึง “จั๊ก” เพราะเธอเป็นคนสนุกสนานมาก

นิสัยดี เข้ากับคนได้ดี

และมีความสุขกับการร้องเพลงและเต้น

เราให้ “จั๊ก” รับหน้าที่ไดเร็กเตอร์ตอนค่ำ

พระอาทิตย์ตกเมื่อไร เธอใหญ่ที่สุด

ทั้ง “ก้า-จั๊ก” 2 ไดเร็กเตอร์ที่เติมเต็มในสิ่งที่ผมกับ “โจ้” ไม่มี

ส่วนทีมงานคนอื่นๆ ก็เหมือนกับ “อเวนเจอร์” ที่มีความสามารถคนละด้าน

แต่พอรวมทีมกันปั๊บ

พลังเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

ทั้ง”แพน-ข่อย-เกตุ-โจ๊ก-นิว-เป็ด-แพตตี้”

และทีมงานมีเดีย-แม่บ้านของ ม.ศรีปทุม

ทุกคนทำให้ ABC เป็น ABC

เราตั้งใจทำหลักสูตร ABC เป็น “การเดินทาง”

การเดินทางของความรู้ ประสบการณ์ และมิตรภาพ

ถักทอหลักสูตรด้วยเส้นด้ายที่ชื่อว่า “รายละเอียด” ที่นักเรียนนึกไม่ถึง

กลุ่มคนเรียน หลายคนเป็นคนที่ผ่านประสบการณ์งานบริการระดับประเทศและระดับโลกมามาก

พักโรงแรมหรูๆ มามาก

แต่ทุกคนยังชม “รายละเอียด” ที่เราสอดแทรกไว้ทุกช่วงเวลาในหลักสูตร

ไม่ต้องแพง

แต่ใส่ความใส่ใจเข้าไป

ในทางธุรกิจต้องถือว่า ABC ประสบความสำเร็จ

เราต้องเปิดรับพร้อมกัน 2-3 รุ่นล่วงหน้า เพราะคนรอคิวยาวเหยียด

ถ้าจะทำไปเรื่อยๆ ก็คงได้ไม่ต่ำกว่า 10 รุ่น

แต่ช่วงหลังๆ ผมรู้สึกว่าการทำงานเริ่มไม่ค่อยตื่นเต้น

แม้ว่านักเรียนทุกรุ่นยังน่ารักเหมือนเดิม

อาจเป็นเพราะรู้ทุกขั้นตอนของการทำงานแล้ว

เริ่มต้นใหม่ ก็ซ้ำแบบเดิม

เป็นความรู้สึกเหมือนตอนที่ลาออกจาก “มติชน”

ความรู้สึกของการอิ่มตัว

ผมจึงตัดสินใจ “หยุด”

ด้วยข้ออ้างว่า “ความรู้สึก คือ เหตุผลอย่างหนึ่ง”

ส่วน “โจ้” เลือกที่จะ “หยุด” เพราะอยากหยุดในวันที่ถึงจุดสูงสุด

แทนที่ต้องถูกบังคับให้หยุดเพราะไม่มีคนเรียน

ผมเชื่อว่าศิลปะการหยุด คือ ศิลปะที่สำคัญในการใช้ชีวิต

 

คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นวันปิดคอร์ส ABC รุ่น 14

และเป็นการปิดหลักสูตร ABC อย่างเป็นทางการ

เราพานักเรียนทุกคนเดินทางจากวันเริ่มต้นจนถึงวันสุดท้าย

เช่นเดียวกับที่นักเรียนทุกคนก็พาผมกับ “โจ้” มาที่วันสุดท้ายเหมือนกัน

นอกจาก “ของขวัญ” ที่ค่อยๆ ปล่อยมาตลอดทั้งวัน

เราใช้กิจกรรมเล่นสงกรานต์ร่วมกันเป็นการปิดคอร์ส

ผมใช้เวลาซึมซับกับผู้คน และบรรยากาศต่างๆ ยาวนานที่สุด

เพราะคงจะไม่มีบรรยากาศแบบนี้อีกแล้ว

เจอน้องคนหนึ่งบอกว่าประทับใจมาก

เขาไม่นึกว่าวันจบจะมีเซอร์ไพรส์เยอะขนาดนี้

ผมยิ้มแต่นึกในใจ

“ยังไม่หมด พรุ่งนี้เช้ามีอีก 555”

เพราะเราทำคลิปภาพตอนเรียนของแต่ละคนส่งทางไลน์เป็น “ของขวัญส่วนตัว” ในตอนเช้า

เป็น “รายละเอียด” ที่ทุกคนนึกไม่ถึง

เป็น “ของขวัญชิ้นสุดท้าย” จากเรา

“การสิ้นสุดของสิ่งหนึ่ง คือ การเริ่มต้นของสิ่งใหม่เสมอ”

เป็นคำที่ใช้ในคลิปนี้

เพราะเรารู้ว่าการสิ้นสุดของ ABC 14 จะเป็นการเริ่มต้นของมิตรภาพใหม่

เช่นเดียวกับการสิ้นสุดของหลักสูตร ABC สำหรับผม

มันต้องเกิดสิ่งใหม่ๆ บางอย่างขึ้นมาอย่างแน่นอน

แต่จะเป็นอะไร

…ไม่รู้

 

บางทีผมชอบสภาวะแบบนี้

เริ่มต้นแบบไม่รู้อะไรเลย

ใครถามว่าจะทำอะไรต่อ

“ไม่รู้” คือ คำตอบของผม

เพราะไม่รู้จริงๆ

รู้เพียงแต่ว่าเรื่องราวและผู้คนที่สะสมมาทั้งชีวิตก็น่าจะนำพาสิ่งใหม่ๆ ที่สนุกมาให้เล่นอีก

หากแต่ตอนนี้นอกจากความสนุกแล้ว ผมยังมี “คำถามแห่งชีวิต” ใหม่

คือ “ทำไปทำไม”

ถ้ามี “คำตอบ”

นั่นคือ เวลาของ “ความสนุก” ครั้งใหม่ในชีวิต •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC