การ์ตูนที่รัก/Maus (จบ)

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Maus (จบ)

หนังสือการ์ตูนขาวดำรางวัลพูลิตเซอร์ของ Art Spiegelman จบเล่มหนึ่งแล้ว ขึ้นเล่มสอง And Here My Troubles Began อันเป็นบทสรุป ทั้งกับชีวิตของพ่อและชีวิตของผู้เขียน

ผู้เขียน อาร์ต เล่าเรื่อง อาร์ตี้ นักเขียนที่พยายามสานสัมพันธ์กับพ่อ วลาเด็ก ซึ่งเป็นชาวยิวโปแลนด์ที่รอดตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้เขียนแทนชาวยิวด้วยหนู ชาวโปลด้วยหมู และชาวเยอรมันด้วยแมว

ผู้เขียนคืออาร์ตและตัวละครคืออาร์ตี้ เคยเข้าโรงพยาบาลจิตเวช แม่ของเขา อันจา ผ่านเหตุการณ์ยากลำบากและเสี่ยงชีวิตมาด้วยกันกับพ่อหลายครั้ง เธอรอดชีวิต มาอเมริกาและฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา ทุกวันนี้พ่อเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวอย่างร้ายกาจ ร้ายกาจทั้งกับเมียใหม่คือ มาลา และตัวอาร์ตี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาร์ตี้พยายามให้พ่อเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อที่เขาจะได้เขียนการ์ตูน

จบเล่มหนึ่ง พ่อและแม่ถูกส่งตัวไปค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ อันเป็นที่รู้กันว่าคือจุดสุดท้ายของการเดินทางไกลของชาวยิว

ขึ้นเล่มสอง บทที่ 1 เมาช์วิตซ์ (Mauschwitz)

เมียใหม่ของพ่อ มาลา เชิดเงินของพ่อหนีไป พ่อตามตัวอาร์ตี้มาหาทันที อาร์ตี้และแฟนสาว ฟรังซัวส์ ขับรถไปหาพ่อ ระหว่างทางอาร์ตี้ได้เล่าความในใจหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่เรื่องแรกเลย เขาไม่แน่ใจว่าควรวาดฟรังซัวส์เป็นสัตว์อะไรดี สุดท้ายเขาตัดสินใจวาดฟรังซัวส์เป็นหนู โดยที่ตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าทำไม

“ผมไม่รู้ว่าจะเข้าใจพ่อได้อย่างไร กับพ่อผมยังทำไม่ได้เลย แล้วผมจะเข้าใจเอาช์วิตซ์หรือโฮโลคอสต์ได้อย่างไร” อาร์ตี้พูด ฟรังซัวส์เป็นคนขับรถ “ผมเคยคิดด้วยซ้ำ หากให้ผมต้องเลือกพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งส่งให้นาซีเอาไปเข้าเตาเผา ผมจะเลือกใคร”

“ผมคงเลือกแม่ เธอคิดว่าปกติมั้ย” อาร์ตี้ถาม

“ไม่มีใครปกติ” ฟรังซัวส์ตอบ

“ผมเคยคิดว่าตัวเองกับพี่ชายจะเข้ากันได้มั้ย” อาร์ตี้พูดถึงพี่ชายที่ตายในค่ายกักกัน พี่ชายที่เขาไม่เคยพบเห็น “พี่ชายผีของผมไง เขาตายตอนอายุประมาณห้าหรือหกขวบ”

“พ่อกับแม่ตามหาเขาทั่วยุโรปหลังสงคราม ไปสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าทุกแห่ง ที่จริงผมมิได้คิดถึงเขามากนักหรอก มีรูปของเขาที่บ้านแขวนอยู่ในห้องนอนของพ่อแม่” อาร์ตี้พูดถึงพี่ชายต่อ

“ชั้นนึกว่าเป็นรูปของเธอเสียอีก” ฟรังซัวส์บอก

“เปล่า พ่อกับแม่ไม่จำเป็นต้องมีรูปของผมในห้องนอน เพราะผมยังมีชีวิตอยู่นี่งัย” อาร์ตี้บอก “รูปถ่ายงอแงไม่ได้ ไม่สร้างความเดือดร้อน เป็นเด็กดีเสมอ ไม่เหมือนผม ผมมันไอ้ตัวแสบ”

ฟรังซัวส์เป็นนักฟังที่ดีมาก อาร์ตี้มาถึงจุดสำคัญ “มันหลอนๆ มั้ย เรื่องความอิจฉาระหว่างพี่น้องทั้งที่คนหนึ่งตายไปแล้ว”

“ผมฝันร้ายเรื่องนาซีบุกเข้ามาที่ห้องเรียนแล้วลากเด็กยิวออกไปหมด บางครั้งผมชอบนึกว่ามีแก๊ซไซคลอนบีออกมาจากฝักบัวแทนที่จะเป็นน้ำ ผมเคยคิดอยากผ่านเวลาช่วงโฮโลคอสต์พร้อมกับพ่อแม่บ้างจะได้รู้เรื่องว่าพวกท่านพบอะไรมา ผมรู้สึกผิดที่ชีวิตตนเองมันง่ายกว่าที่พวกท่านเจอมากกว่ามาก”

สองคนมาถึงบ้าน พ่อบ่นนั่นนี่ไม่หยุด และเรียกร้องให้อาร์ตี้ย้ายมาอยู่ด้วยเพื่อคอยดูแล ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนบ้านของพ่อก็ขอให้อาร์ตี้รับพ่อไปอยู่ด้วย เหล่านี้ทำให้เขาอึดอัดจนหายใจไม่ออก

พ่อเล่าเรื่องราวที่พ่อเผชิญที่ค่ายเอาช์วิตซ์ พ่อถูกแยกจากแม่ ชีวิตที่เลวร้ายเหมือนขุมนรก

บทที่ 2 เอาช์วิตซ์

หนังสือการ์ตูนประสบความสำเร็จ อาร์ตี้ไม่สามารถรับมือกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ มีข้อเสนอให้สร้างเป็นหนัง เขากลายเป็นที่จับตาของนักข่าวและนักวิจารณ์ ความสำเร็จบดขยี้เขากลายเป็นเด็กชายอีกครั้งหนึ่ง เด็กชายอาร์ตี้ไปพบจิตแพทย์ จิตแพทย์เป็นยิวที่รอดชีวิตจากโฮโลคอสต์

“ผมจำได้ว่าเคยทะเลาะกับพ่อ แล้วพ่อพูดว่าอย่างผมไม่มีทางทำอะไรได้สำเร็จ” อาร์ตี้เล่าความหลังฝังใจ

“เดี๋ยวนี้คุณประสบความสำเร็จ คุณรู้สึกไม่ดีที่พิสูจน์ได้ว่าพ่อผิด?” คุณหมอถาม

“ไม่ว่าผมจะทำอะไรสำเร็จ ก็เทียบไม่ได้กับเอาชวิตซ์” อาร์ตี้พูดต่อ

“แต่คุณไม่ได้อยู่ที่เอาชวิตซ์ คุณอยู่ที่รีโกปาร์ก” คุณหมอพูด “บางทีคุณพ่ออาจจะต้องการพิสูจน์ว่าเขาถูกเสมอ เขาจะเอาตัวรอดได้เสมอ เพราะที่แท้เขารู้สึกผิดที่รอดชีวิต”

“คุณชื่นชมพ่อที่รอดมาได้หรือเปล่า?” คุณหมอถามต่อ

“แน่นอน แม้ว่าจะมีโชคร่วมด้วย แต่พ่อก็ปรับตัวได้อย่างน่าประหลาดใจและมีพลังล้นเหลือ” อาร์ตี้ให้ความเห็น

“คุณคิดว่ามันน่าชื่นชมที่รอดมาได้ ดังนั้น ไม่น่าชื่นชมเอาเสียเลยถ้าไม่รอด ใช่หรือเปล่า?”

คุณหมอยังให้ข้อสังเกตต่อไป

“มีหนังสือที่เขียนเรื่องโฮโลคอสต์มากมาย แต่โฮโลคอสต์ยังคงอยู่ต่อไป อันที่จริงคนที่ตายไปในเหตุการณ์ไม่มีโอกาสเล่าเรื่องราวที่เขาพบเลย บางทีอาจจะดีกว่าถ้าไม่มีเรื่องเล่ามากไปกว่านี้อีก”

อาร์ตี้ตาสว่าง “แซมมวล เบ็คเก็ตเคยพูดว่า ทุกคำพูดเปรียบเหมือนรอยเปื้อนที่ไม่จำเป็นบนความเงียบและความว่างเปล่า”

แซมมวล เบ็กเก็ต (Samuel Beckett 1906-1989) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวไอริช ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่ใช้คำน้อยอย่างที่เรียกว่า minimalist ในการบรรยายความ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเขาเข้าร่วมกับหน่วยใต้ดินฝรั่งเศส

อาร์ตี้ หรือ อาร์ต สปิเกลแมน เป็นตัวอย่างของสิ่งที่เรียกว่า “การถ่ายทอดความละอายใจที่รอดชีวิตจากพ่อมาสู่ลูก” แม่อันจาอาจจะเป็นเพราะทนต่อความรู้สึกที่ท่วมท้นไม่ไหวจึงชิงฆ่าตัวตายไปก่อน ในขณะที่พ่อวลาเด็กเลือกที่จะถ่ายโอนมรดกที่ไม่พึงปรารถนานี้ให้แก่ลูกชายที่ไม่เคยเห็นโฮโลคอสต์เลยเพื่อให้ตนเองพอจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้บ้าง แต่ก็เป็นชีวิตที่มีความเสียหาย

การ์ตูนที่รักจบเรื่อง Maus ไว้เพียงนี้เพื่อให้ท่านที่สนใจได้หาต้นฉบับอ่านเพื่อติดตามโศกนาฏกรรมที่เอาช์วิตซ์ ท่านจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากหนังสือหรือหนังโฮโลคอสต์เรื่องอื่นๆ