การเกิด…เติบโต และสลายตัว ของประชาธิปัตย์ (จบ) | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

การยึดอำนาจรัฐแบบบูรณาการ
ใช้ม็อบ…บอยคอตการเลือกตั้ง…
ตุลาการภิวัฒน์ และรัฐประหาร…

ปี2549 ใช้ม็อบประท้วงจนนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ลาออก มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน 2549 ซึ่งประชาธิปัตย์ (ปชป.) บอยคอตด้วยการไม่ส่งคนสมัครรับเลือกตั้ง เพราะลงแข่งก็แพ้ยับ และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช. ก็ทำรัฐประหารตามแรงกดดันของกลุ่มอำนาจเก่า นายกฯ ทักษิณต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ พรรคไทยรักไทยถูกยุบ กรรมการพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 111 คน แต่ก็ยังแปลงกายเป็นพรรคพลังประชาชนได้

ปชป.พ่ายแพ้ครั้งที่ 5 แม้ประเทศอยู่ภายใต้อิทธิพลของคณะรัฐประหาร คมช. และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2550 แต่ในการเลือกตั้งธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนซึ่งนำโดยนายสมัคร สุนทรเวช และตัวสำรอง ซึ่งอยู่ในสภาพถูกมัดมือ ก็ยังชกชนะ ปชป. ได้ ส.ส. 233 ต่อ 165 เสียง

แต่กลุ่มอำนาจเก่ากลัว…จะเสียของ…แผนยึดอำนาจจึงดำเนินต่อ โดยใช้ม็อบมาไล่รัฐบาล ถึงขั้นยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน มีตุลาการภิวัฒน์ปลดนายกฯ และยุบพรรครัฐบาลอีกครั้ง คราวนี้ ปชป.สามารถเปลี่ยนขั้วได้สมใจโดยมีกลุ่มเนวิน ชิดชอบ เป็นงูเห่าแยกออกมาเป็นภูมิใจไทย หนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ

หลังจาก ปชป.แพ้การเลือกตั้งมา 5 ครั้งซ้อนก็สามารถเป็นรัฐบาลได้โดยกลุ่มอำนาจเก่าทุ่มเทหมดหน้าตัก ใช้ทั้งม็อบ…ตุลาการภิวัฒน์และรัฐประหารมาช่วย แต่การเป็นรัฐบาลที่ตั้งมาจากค่ายทหาร ทำให้ ปชป.ไม่มีอำนาจจริง

จึงเกิดการปราบผู้ประท้วงที่ขอให้ยุบสภา ด้วยกำลังทหารติดอาวุธในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีคนตายคนเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นี่จะเป็นภาพที่หลอกหลอน ปชป.ไปอีกนาน และจะส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของพรรค ที่สำคัญคือขยายความขัดแย้งของประชาชน ซึ่งได้แสดงผลผ่านสีแดงและสีเหลือง

การแพ้ครั้งที่ 6 ปี 2554 เมื่อนายกฯ อภิสิทธิ์ยอมยุบสภา เลือกตั้งใหม่เดือนกรกฎาคม ก็แพ้แก่พรรคเพื่อไทย ด้วยคะแนน 265 ต่อ 159 เสียง ได้นายกฯ หญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 

ปชป.เลือกเดินทางลัดนอกสภา
เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล
แต่ครั้งนี้ถูกหลอกให้ใช้แผนเดิม

ปี2557…รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์โดนเกมการเมืองบีบ คล้ายปี 2551 มีม็อบ กปปส. ที่มีแกนนำซึ่งลาออกมาจาก ปชป. เปิดยุทธการ ปิดกรุงเทพฯ แม้ยุบสภาก็ไม่ยอม นำม็อบมาปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ (ถ้าปล่อยให้เลือกก็แพ้อีก จึงเปิดปฏิบัติการยิ่งกว่าปี 2551) มีตุลาการณ์ภิวัฒน์ปลดนายกฯ สุดท้ายไม่อยากเลือกตั้งใหม่ เลยต้องรัฐประหาร โดยคณะ คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเปิดหน้าเดินเกมการเมืองของ ปชป.ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ และพวกในปี 2557 ถือว่าแย่ที่สุด คำว่า เราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาของ ปชป. หายไป ส.ส.ของ ปชป.ลงทุนแสดงบทแรงในสภาและนอกสภา ออกหน้า แต่ไม่ได้อะไรเลย ถือว่าถูกหลอก เพราะ คสช.ยึดอำนาจไปเป็นของตัวเองเกือบ 5 ปี และพวกที่มาเป็น กปปส.ก็แยกออกจากพรรค ปชป.

การแพ้ครั้งที่ 7 หลังจากทำรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มี ส.ว.แต่งตั้งจาก คสช.มาโหวตนายกฯ ได้ ก็ยอมให้มีการเลือกตั้ง 2562 ปชป.ได้ ส.ส.แค่ 53 คนมาเป็นอันดับ 4 10.6% เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมหันไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ ของ คสช.

อภิสิทธิ์หัวหน้าพรรค ปชป. แพ้การเลือกตั้ง ลาออก แต่เขาได้ประกาศก่อนการเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีและไม่ร่วมรัฐบาล แต่ ปชป.กลับลงมติตระบัดสัตย์ที่ให้ไว้กับประชาชน นายชวน หลีกภัย มาเป็นประธานสภา และมีคนมาเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลกับ คสช.ตลอด 4 ปี

ถึงตอนนี้คนก็รู้ว่าว่า ปชป.ทำทุกทางเพื่อเป็นรัฐบาล หรือร่วมรัฐบาล

แพ้ครั้งที่ 8 อย่างย่อยยับในการเลือกตั้ง 2566 เมื่อ คสช.สืบทอดอำนาจโดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรัฐบาล 4 ปี มีการเลือกตั้งใหม่

ปชป.ลงสนามในสภาพที่มีแผลเต็มตัว ได้ ส.ส.เพียง 25 คน 5% เป็นอันดับ 6

 

วิเคราะห์ความเสื่อมทรุด

มีผู้วิเคราะห์ว่า การได้เข้าร่วมรัฐบาลยุคป๋าเปรม ติณสูลานนท์ 8 ปี การใช้งูเห่าช่วยในการตั้งรัฐบาลหลัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออก และอิงตุลาการภิวัฒน์ เปลี่ยนขั้วอำนาจจนได้เป็นรัฐบาล จากพฤติกรรมเหล่านี้จะเห็นว่า ปชป.ไม่เคยกำหนดจุดยืนในกรอบประชาธิปไตย ขอแต่ให้ได้อำนาจ ไม่ว่าจะด้วยการเลือกตั้ง หรือด้วยวิธีพิเศษใดๆ ก็เอาทั้งนั้น ความนิยมจึงเสื่อมลง

ดูจากคะแนนของประชาธิปัตย์ จากบัตรปาร์ตี้ลิสต์ ที่เลือกพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งปี 2544 ซึ่งได้ 7.6 ล้านคะแนน เลือกตั้ง 2548 ได้ 7.2 ล้านคะแนน ปี 2550 หลังรัฐประหารได้ 12.1 ล้าน ปี 2554 ยังได้ถึง 11.4 ล้านคะแนน มาถึงการเลือกตั้ง 2562 เหลือคะแนนนิยมทั้งประเทศ 3.9 ล้านคะแนน แสดงว่าคะแนนที่หายไป มากกว่า 7.5 ล้านคะแนน (11.4 -3.9 ล้าน)

และล่าสุดปี 2566 ได้เพียง 925,349 คะแนน ทั้งประเทศมีคนลงคะแนนให้ไม่ถึงล้าน ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติได้ 4.7 ล้านคะแนน

การที่คะแนนย้ายไปที่พรรคอนุรักษนิยมขวา ทั้งปี 2562 และ 2566 ก็เพราะพรรค ปชป.ได้สร้างความกลัว สร้างปีศาจ แล้วทำตัวเป็นหมอผี ปลูกฝังให้ผู้สนับสนุนตนเองจำนวนมากนิยมชมชอบระบอบเผด็จการ จนเป็นปกติ มีการบอยคอตการเลือกตั้ง ขัดขวางการเลือกตั้ง สนับสนุนดีใจกับการรัฐประหาร

สุดท้ายแกนนำบางส่วน ส.ส. และฐานคะแนน ปชป.จึงย้ายไปร่วมกับผู้ทำรัฐประหารอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

 

การดำรงอยู่หรือสลายตัวของ ปชป. ขึ้นอยู่กับ…

1.ฝ่ายนำของพรรคตั้งแต่หัวหน้าจนถึง ส.ส. จะต้องเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางรัฐสภา ยอมรับและฟังเสียงประชาชน ต้องเลิกคิดวิธีการต่างๆ ที่จะใช้ฉกฉวยอำนาจรัฐโดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้เลือก

2. ในเชิงนโยบาย ปชป.จะต้องปรับนโยบายโดยมุ่งผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ มีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน นโยบายจึงจะทำได้จริงและผลประโยชน์ตกถึงชาวบ้านจริงๆ อย่ายึดติดกับผลประโยชน์และความอยู่รอดคนในพรรคมากเกินไป

3. ทัศนะต่อประชาชน ปชป.ต้องยึดมั่นความเท่าเทียม ต้องมองว่าประชาชนทุกกลุ่มไม่ใช่ศัตรู การใช้อำนาจและอาวุธปราบประชาชน ไม่ใช่ของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันจะสายเกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะคำเตือนนี้มีมากว่า 5 ปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง

บทเรียนของ ปชป. ทำให้ผู้ที่เข้ามาเป็นนักการเมือง ผู้ที่จะเข้ามาใช้อำนาจในการบริหารและปกครอง จะต้องตระหนักว่า ปัจจุบันรัฐไม่สามารถโกหกประชาชนได้ง่ายๆ อีกแล้ว และประชาชนยังสามารถส่งเสียงคัดค้าน และเรียกร้องความถูกต้อง ความเป็นธรรมได้ตลอด

แม้ระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมยังไม่เอื้ออำนวยให้กับประชาชน แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งความตื่นตัวของประชาชนได้ การขยายตัวของกระแสก้าวหน้าจะยิ่งแรงขึ้นอีกไม่นานนัก