‘ศิโรตม์’ คุยกับผู้กำกับฯ ‘แมนสรวง’ เรื่อง ‘ไพร่’ ‘ปัจจุบันในอดีต’ และ ‘ดีลลับ’

หมายเหตุ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” สนทนากับ “ชาติชาย เกษนัส” หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “แมนสรวง” ในรายการ “มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา

 

: อะไรคือสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในหนังเรื่อง “แมนสรวง”?

ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงงานพีเรียด (หนัง-ละครย้อนยุค) เรามักจะพับเพียบเรียบร้อย แบบแต่งองค์ทรงเครื่องแล้วก็มีท่าทีไปในทางคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษนิยม)

แต่ว่าในความเป็นจริง เราก็เชื่อว่าในทุกยุคทุกสมัย คนไทยนี่เป็นคนที่ม่วนแซบและแสบสันต์มาตลอด ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในทุกยุคทุกสมัยที่เราไม่ค่อยได้เรียนกันในตำราเรียน ก็แน่นอน ชิงไหวชิงพริบกันเมามัน ผมเชื่อว่ามันไม่ได้ต่างจาก “The Crown” หรืออาจจะเกินเบอร์ “The Crown” ไปเยอะ

ก็เลยคิดว่า จริงๆ เราน่าจะนำเสนองานพีเรียดในลักษณะแบบนี้ บวกกับแคแร็กเตอร์ของพี่ปอนด์ (กฤษฎา วิทยาขจรเดช หนึ่งในผู้กำกับฯ และผู้บริหารบริษัท “บี ออน คลาวด์” ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้) ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์และผู้กำกับฯ เขาก็เป็นคนที่ชอบงานเอนเตอร์เทน ชอบปาร์ตี้ ชอบไนต์คลับ เราก็คุยกัน เราน่าจะทำเกี่ยวกับเรื่องคลับ-บาร์ในยุคนั้น

ครูหนิง (ผศ.ดร.พันพัสสา ธูปเทียน อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และหนึ่งในผู้กำกับฯ) เองก็ชอบ (ประวัติศาสตร์) ในช่วงรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 ก็มองว่าเป็นรัตนโกสินทร์ที่เต็มไปด้วยสีสัน เพราะมันมี “สุนทรภู่” โผล่มาในช่วงนั้น แล้วก็มีอิทธิพลฝรั่งเริ่มกลับเข้ามา มีจีนก๊กแก๊งอะไรต่างๆ

แล้วเอาเข้าจริงๆ เราก็เชื่อว่าในทุกยุคทุกสมัย ไอ้สิ่งที่เราเห็นข้อตกลงบ้านเมืองในสภา มันไม่ได้จบในสภา สภามันเป็นแค่หน้าฉาก (ศิโรตม์ – หมายถึงมันมีดีลลับกันเยอะ?) มันมีดีลลับ หมายถึงมันอาจจะมีหลังบ้าน มันอาจจะไปตกลงกันที่อื่น

แล้วเราก็ค่อนข้างมั่นใจว่า ไอ้ที่ที่มันใช้เชื่อมสัมพันธ์กัน มันคุยกันสนุก แล้วมันแบบว่า เฮ้ย! เป็นเพื่อนกัน มันน่าจะเป็นที่ที่เมาๆ เทาๆ นี่แหละ ก็เลยคิดว่าน่าจะวางไอ้ตัวคลับนี้ แล้วเลือกชื่อ “แมนสรวง”

 

: คำว่า “แมนสรวง” มาจากไหน?

จริงๆ คิดว่าทีมบทน่าจะเอามาจากเมืองของพระลอ

บังเอิญคำว่า “แมนสรวง” มันฟังดูดี แล้วพอแปลไปหาภาษาอังกฤษ ก็ไปเจอคำว่า “mandate” ก็เป็นเหมือนสรวงสวรรค์ ที่ที่อาณัติสวรรค์ (ถูกส่งมอบ) ลงมา

แต่ว่ามันก็เป็นที่เทาๆ

 

: ในการสร้างตัวละครหลักแต่ละตัว มีการคิดแคแร็กเตอร์อย่างไร? เพราะเหมือนหลายเรื่องมันมีไอเดียหรือประเด็นของสังคมร่วมสมัยเยอะมาก

อยากจะเล่าถึง “เขม” กับ “ว่าน” (ตัวละครหลัก) คู่แรก คือจริงๆ ทางทีมเขียนบทกับครูหนิงเขาจะชัดเจนว่าสองตัวนี้คือ “ไพร่” (ศิโรตม์ – เออ หนังเรื่องนี้ใช้คำว่า “ไพร่” เยอะมาก ซึ่งหนังไทยไม่ค่อยใช้คำนี้กันเยอะ อันนี้จงใจด้วยไหม?) จริงๆ เราก็จงใจใช้คำว่า “ไพร่”

ต้องยอมรับว่าสังคมในอดีต ในเรื่องชนชั้นมันก็แบ่งกันค่อนข้างชัดเจน แต่ที่สำคัญก็คือ เราอยากที่จะให้กำลังใจคนดูว่า เฮ้ย! การเป็น “ไพร่” มันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้

ที่สำคัญก็คือ ในทุกๆ การปะทะชนกันของอำนาจ ในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใหญ่ๆ ก็แน่นอนว่า “คนข้างล่าง” ทั้งหลายแหล่ก็ถูกหลอกใช้อยู่ตลอดเวลา แล้วมันก็เป็นเรื่องที่เกิดซ้ำเกิดซากในสังคมไทยมาโดยตลอด ดังนั้น ก็จงใจที่จะใช้คำว่า “ไพร่”

แล้วก็มันเหมือนกับว่าเวลาที่เราดูงานพีเรียด ถ้าตัดงานของ “เชิด ทรงศรี” ออกไป งานพีเรียดไทยจะไม่ค่อยมีตัวละคร “ข้างล่าง” เป็นตัวนำเท่าไหร่

แต่ที่สำคัญก็คือว่าตอนจบ ที่ผมบอกว่าบางทีเราอาจจะจบดีกว่าความเป็นจริงในสังคมไทยไปหน่อย คือตอนจบตัวเอกก็แบบว่าฉันเป็น “ไพร่” ฉันอยู่ตรงนี้ ฉันอยู่ข้างล่าง ฉันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไอ้คำนี้มันให้ความหวังในสังคมมากเลยนะ ซึ่งในสังคมทุกวันนี้ เราก็เจอแต่เรื่องที่ทำให้ “คนข้างล่าง” ผิดหวัง อกหัก และดูเหมือนเขาไม่มีค่า

 

: แสดงว่าบริบทของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นในอดีต แต่ว่าหลายอย่างน่าจะสะท้อนความรู้สึกที่เป็นสำนึกในยุคปัจจุบัน?

ใช่ครับ เพราะเราคุยกับคนดูที่อยู่ในปัจจุบัน แล้วความรู้สึกนึกคิดของคนในอดีต ยังไงเราก็ไปไม่ถึง เราย้อนเวลากลับไปไม่ได้ เราเกิดไม่ทันอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือว่าหนังที่มันทำให้คนดูรู้สึกรักและสามารถจะบอกต่อได้ มันต้องมีอะไรที่สัมผัส (กับเขา) คือเหมือนกับรู้สึกว่ามีตัวเขาอยู่ในนั้น เขาถึงจะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจตัวละคร

มันก็เลยเป็นสิ่งที่ว่า ทำไมเราถึงต้องสร้างตัวละครที่พูดคุยกับคนปัจจุบันรู้เรื่อง

 

: มีหลายเรื่องในหนังที่ดูแล้วคล้ายๆ กับการเมืองไทยยุคปัจจุบัน ที่มีเรื่องผู้มีอำนาจยุให้ประชาชนทะเลาะกัน แล้วผู้มีอำนาจก็เหมือนกับจะทะเลาะกันด้วย แต่ตอนจบมันเหมือนมี “ดีลลับ”

จริงๆ ต้องบอกว่าทั้งหมดนี้ตอนที่เขียน (บทภาพยนตร์) เราไม่รู้หรอกว่าการเมือง (ปัจจุบัน) มันจะมาลงเอยแบบนี้ คือ ตอนที่หนังใกล้ฉาย เช็กความเรียบร้อยก่อนฉายโรง (ก็คุยกันว่า) คนต้องคิดว่าฉากนี้เราถ่ายใหม่เพื่อให้เข้ากับการเมืองแน่เลย มันไม่จริงเลย ไม่ใช่เลย

คือบทนี่เสร็จตั้งแต่ปีที่แล้ว หนังถ่ายเมื่อกุมภาฯ ถึงพฤษภาฯ ที่ผ่านมา ช่วงก่อนเลือกตั้ง ก็ไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดสิ่งเหล่านี้

มันเป็นไปตามแรงขับเคลื่อนในใจของตัวละคร แล้วเราก็เชื่อว่าในทุกยุคทุกสมัย ด้วยความที่เราเคารพนับถือสถาบันกษัตริย์ เราจึงไม่ค่อยพูดถึงเรื่องความซับซ้อนของขุนนางที่อยู่ใกล้ๆ เพราะมันจะไปกระทบกระทั่งกระเทือน

แต่ว่าคราวนี้มันเป็นภาพยนตร์ แล้วก็เป็นโลกที่เราจินตนาการขึ้นมา เราก็เลยสนุกกับการละเลงจินตนาการประมาณหนึ่ง แต่เราก็ไล่ไปตามแรงขับเคลื่อนของตัวละคร ว่าในสถานการณ์อย่างนี้ ทั้งสองฝั่งก็สามารถจะฉวยโอกาสขึ้นมาได้เหมือนกัน

แล้วทุกๆ ครั้งของ (ความขัดแย้งใน) สังคมไทย ผมคิดว่ามันเป็นการวัดกำลัง พอวัดเสร็จแล้ว ดีลจบ ก็กลับบ้าน เป็นอย่างนี้มาตลอด

 

: ด้านหนึ่ง หนังพยายามบอกว่า “ไพร่” หรือคนธรรมดาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่ในตอนจบ ก็เหมือนกับว่า “ไพร่” หรือคนธรรมดา ไม่มีความหวัง ตามคำกล่าวของตัวละครที่ว่า “เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ” ตกลง “ไพร่” หรือคนธรรมดายังมีความหวังอยู่ไหม?

ผมคิดว่ามันใช้เวลา แล้วไม่ว่าจะอย่างไร จำนวน “ไพร่” มันเยอะขึ้นทุกวัน ประชากรมันใหญ่ขึ้น ในสังคมโลกที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ เราไม่เคยเผชิญหน้ากับประชากรหลายพันล้าน หรือไทยเองก็เถอะ ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามีประชากรอยู่สิบกว่าล้านคน แล้วตอนนี้ เรามาเผชิญหน้ากับประชากรระดับ 60-70 ล้านคน

เผชิญหน้ากับสังคมสูงวัย และการจัดการที่ไม่ดี ที่ไม่มีระบบการกระจาย (ทรัพยากร) ออกไปให้แต่ละคนเข้มแข็งได้ ก็จะเป็นปัญหา

จริงๆ เรื่อง “ไพร่” ก็อยากจะให้กำลังใจ แล้วผมคิดว่า ด้านหนึ่ง ไม่ว่าใครจะป่าวตะโกนอะไรยังไงก็ตามแต่ แต่ว่าเราอยู่กับเด็กรุ่นใหม่ ผมกลับมีความหวัง

ทุกวันนี้ เราก็ทำบริษัทเล็กๆ มีพนักงานอยู่ 30-40 ชีวิต ช่วงที่เริ่มตั้งบริษัทในสิบปีก่อน ค่อนข้างเหนื่อยกับบุคลากรรุ่นเดียวกัน แล้วก็คนรุ่นก่อนหน้า แต่พอมาเป็นรุ่นใหม่ที่ทำงานด้วย ปรากฏว่าสิ่งหนึ่งที่ผมชอบ ก็คือว่า หนึ่ง เขามีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะเล่นตามกติกา ขอให้วางกติกาอย่างเป็นระบบและเป็นธรรมกับเขา เขาเล่นด้วย

บางทีผมก็จะสนุกว่า พี่ขอลองแบบนี้ได้ไหม ขอเล่นตามนี้ก่อน เสร็จแล้วเรามาประเมินกัน ถ้ามันไม่เวิร์ก เดี๋ยวเรามาสร้างระบบใหม่ แต่พี่ขอให้ไปแบบนี้ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นมันจะหลายสูตรเกินไป แล้วเราไม่สามารถจะประเมินได้ว่า วิธีการทำงานมันใช่หรือไม่

สนุกกับการทำงานกับเขา (คนรุ่นใหม่) มาก แล้วเขาก็มีความภักดีกับองค์กรสูงมาก (ศิโรตม์ – แสดงว่าเห็นคนรุ่นใหม่ แล้วรู้สึกว่าโลกของเขายังมีความหวังอยู่?) คือเราไม่ควรจะไปทำลายสิ่งนี้

และที่สำคัญ เราต้องติดอาวุธให้เขา