คอฟฟี่เบรก ประภาส อิ่มอารมณ์ / จากกันที่…วัดสุทัศน์

คอฟฟี่เบรก/ประภาส อิ่มอารมณ์

จากกันที่…วัดสุทัศน์

เมื่อ พ.ศ.2504 คณะจิตรกรรมและประติมากรรม (ตอนนั้นยังไม่มีภาพพิมพ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับนักศึกษาใหม่ รุ่นที่ 18 จำนวน 30 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากนักเรียนโรงเรียนช่างศิลป์จบปีที่ 2 โรงเรียนเพาะช่างจบปีที่ 3 และมาจากนักเรียนที่จบชั้นอุดมศึกษา (ม.8) จากโรงเรียนต่างๆ ซึ่งในรุ่นนี้มีอยู่ 2 คน

นักศึกษารุ่นนี้เป็นรุ่นสุดท้ายที่มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในระหว่างที่มหาวิทยาลัยยังอยู่ในระหว่างการปิดเทอม

นักศึกษาใหม่จาก ม.8 ทั้งสองคน แรกๆ ยังไม่คุ้นเคยกับการเรียนในบรรยากาศที่มีเพื่อนร่วมชั้น แต่งตัวแปลกๆ คำพูดคำจาก็สรรหาและแต่งคำให้ดูโก้หรู…แต่ในไม่ช้า พวกเขาก็ถูกสลายพฤติกรรมที่เคยถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ กลายมาเป็นจิ้งจกที่สามารถเปลี่ยนสีเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่เคอะเขิน

คนหนึ่งมาจากโรงเรียนฝรั่ง ใส่แว่นสายตาสั้นแต่ซ่อนแววตาไว้ใต้เลนส์กันแดดอยู่เสมอ ชื่อ…แต่เพื่อนๆ เรียกเขาว่า มังกือ

อีกคนเป็นก็ลูกคนจีน หัวคงดีมากเพราะสอบเทียบได้ ม.แปด ชื่อ… เช่นกัน เพื่อนๆ เรียกเขาว่า มังกู๋ เพื่อให้สอดคล้องในฐานะมาจาก ม.แปดด้วยกัน

ทั้งสองคนนี้จึงมีพื้นความรู้ภาษาอังกฤษมาเป็นอย่างดี ซึ่งตรงข้ามกับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ที่ไม่ใส่ใจกับการเรียนภาษาอังกฤษมาก่อนเลย จนตอนสอบสัมภาษณ์กับอาจารย์ศิลป์ ท่านจะกำชับและขอสัญญาให้ต้องใส่ใจเรียนภาษาอังกฤษเมื่อเข้ามาได้

แม้จะได้อาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มีความรู้เป็นที่ยอมรับกันว่า นอกจากจะจบมาจากเมืองนอกแล้ว อาจารย์ยังมีเทคนิคการสอนให้เป็นแรงจูงใจกับนักเรียนที่กลัว และกลายเป็นเกลียดวิชาภาษาอังกฤษ ได้มีความสนุกและเห็นประโยชน์ของวิชานี้ แต่ก็ไม่สามารถจะมาชนะใจนักเรียนติสต์ๆ เหล่านี้ได้

ดังนั้น เมื่อมีการสอน ก็ต้องมีการสอบเพื่อเป็นการวัดระดับการศึกษา อาจารย์ก็ช่างรู้ใจลูกศิษย์ที่เป็นนักเรียนศิลปะพวกนี้เสียจริงๆ เพราะเมื่อเดินแจกข้อสอบเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ออกจากห้อง (อย่างจงใจ) หายวับไปทำธุระส่วนตัวนอกมหาวิทยาลัยทันที (รู้ได้เพราะมีกองสอดแนมแอบไปเห็นอาจารย์ขับรถออกไปข้างนอกแล้ว)

เท่านั้นเอง…เข้าทำนองแมวไม่อยู่หนูร่าเริง วิ่งกันอลหม่านไปทั่วห้องเรียน เพราะเพื่อนๆ ต่างไปมะรุมมะตุ้มกับนักเรียน ม.แปดทั้งสองคนทันที

“ไอ้กือ! ขอกูลอกหน่อยๆๆๆๆๆๆๆ…ไอ้กู๋! ขอกูลอกหน่อยๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ…”

จากผลการทดสอบเบื้องต้น อาจารย์ชมว่า “นักศึกษาทุกคนเข้าใจภาษาอังกฤษไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์”

นักศึกษาก็… (หน้าด้าน) ปรบมือกันเกรียว…

และ “เหตุการณ์ได้สร้างวีรบุรุษจริงๆ” ไอ้กือกับไอ้กู๋จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ และต่างให้ความสนิทสนมมากกว่าเดิมเป็นพิเศษ (หวังผลในการสอบภาษาอังกฤษครั้งต่อๆ ไป)

แต่…วาสนาในการเป็นนักเรียนศิลปะของนายมังกือ ก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อเขาต้องเสียเตี่ยที่เป็นเสาหลักของครอบครัวไป ด้วยการป่วยกะทันหัน กือจึงต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อไปช่วยครอบครัวทำมาหากิน ทิ้งนักเรียน ม.แปด มังกู๋ ไว้แต่เพียงผู้เดียว

ด้วยพื้นฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานศิลปะที่ต้องมาเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ จึงทำให้ผลงานที่ได้รับการตรวจให้คะแนนจากอาจารย์ ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เรียนไม่ทันเพื่อน แม้จะได้กำลังใจและคำแนะนำจากเพื่อนๆ ที่เห็นใจเขามากมายก็ตาม

กู๋ ซึ่งภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว จึงหันมาค้นคว้าศึกษาศิลปะจากหนังสือต่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์ความรู้พิเศษที่นอกเหนือและล้ำหน้าไปกว่าเพื่อนๆ เขาจึงหาทางลัด กระโดดข้ามขั้น ด้วยการเริ่มลงมือทำงานด้วยแบบแผนใหม่เป็นการวัดดวงกับอาจารย์ เล่นเอาเหล่าอาจารย์แปลกใจกับการหักมุมแบบไม่คาดฝันของเขา

จนต้องพูดกับกู๋ว่า… งานของเขามันเป็นสไตล์สมัยใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่นักศึกษาจะใช้มันในการสร้างผลงานส่งอาจารย์ มันเหมาะสำหรับคนที่ต้องการทำงานเป็นศิลปินอิสระ

แม้จะไม่สามารถให้คะแนนผ่านเกณฑ์ตัดสิน ก็ขอให้เขาอย่าทิ้งวิธีคิดและการสร้างผลงานที่นำเสนอมานี้…จงทำต่อไป เพื่อสู่จุดหมายและลงตัวเป็นเอกลักษณ์ที่สมบูรณ์ของเขาต่อไป

สรุปง่ายๆ “จงทำงานที่ดีเลิศในระดับนักศึกษาให้สำเร็จก่อน แล้วค่อยข้ามขั้นไปเป็นศิลปินในเวลาต่อไป”

กู๋…เริ่มท้อแท้ และมาเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง มีเพื่อนบางคนที่สนิทกับเขาเล่าว่า กู๋กำลังออกไปสมัครงานหลายแห่งเพื่อรอผลการเรียก และต้องเป็นงานที่เขาพอใจด้วย

แต่มีหนึ่งวิชาที่กู๋ไม่เคยขาด แม้เช้าจะไม่เข้าห้อง แต่ตอนบ่ายที่เป็นวิชานี้ เขาจะติดตามไปพบกับเพื่อนๆ และอาจารย์ที่สอนวิชานี้ตามสถานที่ที่จะต้องไปเรียน วิชาดังกล่าวคือ Research Thai หรือการไปลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาที่มีผลงานของศิลปินไทยสมัยโบราณได้เขียนไว้

ถามเขาว่า ทำไมจึงชอบวิชานี้ ทั้งๆ ที่เขียนรูปสมัยใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างกันชนิดจูนกันไม่ติด เหมือนร้องเพลงร็อกแอนด์โรลกับวงดนตรีไทยอะไรแบบนั้น เขาตอบว่า…

อาจารย์ศิลป์เขียนหลักสูตรวิชานี้ขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจรากเหง้า จิตวิญญาณ และวิธีคิดของศิลปินไทยรุ่นก่อน ก่อนที่จะก้าวข้ามไปทำงานสมัยใหม่ตามลัทธิของฝรั่ง ซึ่งเป็นตรรกะง่ายๆ ว่า ตัวเราเองยังไม่เข้าใจตัวเอง…แล้วจะไปเข้าใจคนอื่นได้อย่างไรนั่นเอง…คมนะมึง

การไปเรียน Research Thai นี้ อาจารย์ผู้หญิงซึ่งดูแลวิชานี้ มีกำชับเป็นพิเศษว่า จะใส่รองเท้าอะไรไปก็ตาม เมื่อเข้าไปยังสถานที่แล้ว ต้องถอดรองเท้า และ…ห้ามมีกลิ่นเท้า (สมัยนั้นชอบใส่รองเท้าผ้าใบและไม่เคยซักจนกว่ามันจะพังคา (ตีน) เท้า)

ซึ่งมาตรการนี้…เธอเอาจริง ถ้าเข้าไปตรวจงานคนไหนและพบว่าไม่ใช่กลิ่นหนูเน่าที่ไหนแต่มาจากเท้าของนักศึกษาคนไหน คนคนนั้นจะถูกตะเพิดให้กลับบ้านไปทันที และรับไข่เน่า หรือ 0 คะแนนในชั่วโมงนั้นไป

ถึงอย่างไรยังไม่เคยมีปัญหาในเรื่องนี้เกิดขึ้นกับใครสักคน อาจจะเป็นเพราะกลัวและเกรงใจอาจารย์คนนี้ เพราะแม้เธอจะมีลูกแล้วสามคน แต่ก็ยังจัดอยู่ในผู้หญิงที่มีความเท่และสวย แต่ที่สำคัญเธอปากจัดเอามากๆ

วัดที่จะไปทำงานและขออนุญาตทางนั้นไว้เรียบร้อย คือ วัดสุทัศนเทพวราราม ตรงที่มีเสาชิงช้าอยู่หน้าวัดนั่นเอง พวกเราไม่อยากขึ้นรถเมล์เพราะมีสัมภาระติดตัวพอสมควร จึงเดินตัดท้องสนามหลวงผ่านศาลหลักเมืองแล้วเลียบถนนข้างกระทรวงกลาโหม ข้ามคลองหลอดแล้วตัดอีกทีที่สี่กั๊กพระยาศรี แล้วคุยกันไปหยอกล้อกันไปไม่นานก็โผล่เห็นเสาชิงช้า

เมื่อถึงก็ไปถอดรองเท้าไว้หน้าโบสถ์ แล้วถือโอกาสพักเหนื่อย รออาจารย์มาถึงและฟังเธออธิบายถึงสิ่งที่นักศึกษาจะได้รับจากการมาทำ Research ในครั้งนี้

ปรากฏว่าคนที่มาก่อนอาจารย์ คือไอ้กู๋ ซึ่งวันนี้มันแต่งตัวเรียบร้อย ใส่รองเท้าหนังคัตชูใหม่เอี่ยม ซึ่งเมื่อถอดเท้าออกมา กลิ่นความใหม่ของหนังยังติดออกมาเป็นการรับประกันว่า ของเขาหนังดีจริงๆ จึงโดนเพื่อนอำกันเป็นที่สนุกสนาน

ไอ้กู๋ขอโทษเพื่อนๆ ที่เขาจำเป็นต้องใส่รองเท้าคู่ใหม่นี้มา มิใช่เป็นการมาข่มเพื่อน แต่เพราะเขาต้องไปสัมภาษณ์งานที่สมัครไว้…และได้งานทำเสียด้วย เพื่อนจึงจับไม้จับมือกับเขาด้วยความยินดี

อาจารย์ผู้สอนอธิบายให้ฟังว่า จิตรกรรมฝาผนังของวัดนี้ น่าจะเขียนกันเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 และมีการบูรณะต่อกันมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีเนื้อหาปะปนกันหลายเรื่อง ตอนสำคัญๆ ของรามเกียรติ์ ไตรภูมิ นิทานชาดก และภาพสัตว์ในแดนหิมพานต์ เป็นต้น

จึงทำให้นักศึกษากระจายกันหามุมที่ตนพึงพอใจ และลงมือลอกภาพเขียนเหล่านั้นใส่ในกระดาษที่เตรียมกันมาอย่างเพลิดเพลิน จนอาจารย์บอกหมดเวลาให้ทุกคนกลับบ้านได้ จึงทยอยกันออกมาหน้าโบสถ์เพื่อใส่รองเท้าที่แต่ละคนวางตำแหน่งของตนไว้

รองเท้าของไอ้กู๋ ซึ่งใหม่และสังเกตได้ง่าย ได้อันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย แม้เพื่อนๆ จะช่วยกันหาจนรอบโบสถ์ เผื่อจะมีใครสักคนคิดเล่นตลกเอาของมันไปซ่อน ทำเอาไอ้กู๋หน้าเสีย เพราะมันจะเป็นคนเดียวในหมู่พวกเราที่จะต้องเดินกลับบ้านเท้าเปล่า บนถนนลาดยางมะตอยที่ยังอมความร้อนระอุจากแสงแดดที่แผดเผามาทั้งวัน เล่นเอาทุกคนมึนตึ้บไม่รู้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร อาจารย์ก็กลับไปก่อนแล้ว…ไอ้กู๋เองก็ปลิ้นกระเป๋าให้ดูว่าทั้งเนื้อทั้งตัวเหลือแต่ค่ารถเมล์กลับบ้านที่สาธุประดิษฐ์เท่านั้น

ในที่สุด มีเพื่อนคนหนึ่งปิ๊งไอเดียขึ้นมาได้ เขาจึงเอากระดานสเก๊ตช์มาเป็นถาดถือร่อนไปตามเพื่อนทุกคนเพื่อขอเงินบริจาค…ซื้อรองเท้าให้ไอ้กู๋ใส่กลับบ้าน ซึ่งทุกคนก็ยินดีและให้การสนับสนุนความคิดนี้ จึงมีเงินตามมีตามเกิดจำนวนหนึ่งพอที่แก้ปัญหานี้ให้จบลงได้…และเขาจะเป็นคนออกไปซื้อรองเท้าใหม่ให้ไอ้กู๋เองเพราะมันคงจะทนเดินเท้าเปล่าตามไปด้วยไม่ได้แน่ เขาจึงเอาเท้าของเขามาวัดกับเท้าไอ้กู๋เพื่อกะขนาดและเพื่อความแน่ใจว่าจะสามารถเลือกขนาดรองเท้าคู่ใหม่มาใส่ได้อย่างลงตัว…

เวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อนคนนั้นก็กลับมาพร้อมถุงใส่รองเท้าใหม่มาให้ไอ้กู๋ และเป็นขนาดที่มันกะได้เหมาะเหม็งมาก ไอ้กู๋จึงสามารถเดินออกจากวัดมากับเพื่อนๆ ได้ด้วยรองเท้าคู่ใหม่…แม้มันจะเป็นแค่รองเท้าแตะฟองน้ำ ตามจำนวนเงินที่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากเพื่อนๆ แบบตามมีตามเกิด…

ไอ้กู๋เดินไปและมองรองเท้าคู่ใหม่ที่เพื่อนออกเงินซื้อให้ด้วยความซาบซึ้งใจ และน้ำตาไอ้กู๋ก็นองหน้า ขณะโบกมืออำลาเพื่อนๆ เพื่อแยกตัวต่างคนต่างกลับบ้าน…ซึ่งไม่มีใครสังหรณ์ใจสักนิดว่า นั่นมันเป็นการแสดงการอำลาของเขากับเพื่อนๆ เป็นครั้งสุดท้าย…

เพราะหลังจากนั้นเป็นต้นมา ไอ้กู๋ไม่ได้กลับมาเรียนและหายไปจากการสื่อสารระหว่างเพื่อนฝูงอย่างมืดมน…นักเรียน ม.แปดคนสุดท้ายของรุ่น จึงสูญเลียบไม่เหลือหลอไว้อีกเลย…