ผู้นำใหม่เอสซีจี

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เอสซีจี เครือข่ายธุรกิจรากฐานไทย ปรับตัวครั้งสำคัญ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวจากนี้ จะว่าเป็นตอนต่อครั้งก่อนหน้าก็ได้ (“เอสซีจีห้วงเวลาท้าทาย” มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 11 สิงหาคม 2566) โดยเฉพาะมิติว่าด้วยการปรับตัวทางธุรกิจ ทั้งแผนการใหม่ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร สู่การแต่งตั้งผู้นำคนใหม่

ล่าสุด (28 สิงหาคม 2566) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ประกาศแต่งตั้ง ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ขึ้นดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ แทน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง (ดำรงตำแหน่ง 1 มกราคม 2559-31 ธันวาคม 2566) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และที่แตกต่างอย่างมีนัยยะ ผู้นำคนใหม่จะควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ว่าไปแล้ว แผนการสร้างผู้สืบทอด (Succession plan) ข้างต้น เดินตามแบบแผนตลอดช่วง 2 ทศวรรษ ตั้งแต่หลังยุคชุมพล ณ ลำเลียง (ดำรงตำแหน่ง 2536-2548) โดยตั้งต้นครั้งแรก ยุคกานต์ ตระกูลฮุน (2549-2558)

ในช่วงต่อเนื่อง ยุครุ่งโรจน์ รังสิโยภาส มีการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะกรรมการการ เปิดกว้างมากขึ้น มีผู้มาใหม่ มีประสบการณ์กว้างขวางกว่าเดิม ทั้งอดีตผู้บริหารนโยบายการเงิน-ตลาดทุน และการค้าของรัฐ แวดวงการศึกษาวิชาการบริหารธุรกิจ ผู้บริหารกิจการระดับโลก

ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ คือกลุ่มผู้บริหารจากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย

 

กระบวนการสรรหาผู้สืบทอดอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีขึ้นในปลายยุคชุมพล ณ ลำเลียง เพื่อสรรหาอย่างตั้งใจให้ “คนใน” หรือ “ลูกหม้อ” ขึ้นเป็นผู้นำ

เมื่อพิจารณา Profile อย่างกว้างๆ ทั้ง กานต์ ตระกูลฮุน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ดูคล้ายๆ กัน

โดยเฉพาะประสบการณ์กับเครือข่ายธุรกิจเอสซีจีในต่างประเทศ ดูมีความสำคัญ จากนั้นเป็นช่วงเวลาฝึกปรืออย่างเข้มข้น ก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง

โดยเฉพาะเริ่มต้นด้วย ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน ที่เรียกกันว่า CFO อย่างกรณี รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส อยู่ในตำแหน่งนี้นานพอควร (2548-2553) ขณะ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ใช้เวลาพอๆ กัน แต่มี 2 ขั้น จาก ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ (2561-2564) มาเป็นรองผู้จัดการใหญ่ (2565-2566) ดูแลงานเดียวกัน ถือเป็นประสบการณ์ต่อเนื่องที่จำเป็น มองเห็นภาพใหญ่ทางยุทธศาสตร์ของเอสซีจี

เมื่อพิเคราะห์อย่างจริงจัง จะพบว่า ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ถูกวางตัวอย่างแตกต่าง เขาไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการบริหารกลุ่มธุรกิจหลักโดยตรง เช่นกรณี กานต์ ตระกูลฮุน และ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และการที่เขามีตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง อีกตำแหน่งนั้น เชื่อว่าสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่อีกมิติไม่กี่ปีมานี้

เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ สะท้อนการปรับตัวครั้งสำคัญ ด้วยแผนการใหญ่ใหม่ นำบริษัทหลักในเครือข่าย เข้าตลาดหุ้นอย่างเป็นขบวน

 

เปิดฉากชิมลางในปี 2561 เมื่อควบรวมกิจการเซรามิกทั้งหมด โดยยึดบริษัทซึ่งอยู่ในตลาดหุ้น แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO เป็นการซอยแบ่งกิจการส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจหลักซึ่งพัฒนามาแต่ดั้งเดิม ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

ที่ถือว่าตั้งหลักไมล์ คือกรณี บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP : เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปลายปี 2563 ถือเป็นบทเรียนแห่งความสำเร็จในฐานะกิจการที่เข้าตลาดหุ้นในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยเป็นทั้งกลุ่มธุรกิจหลัก-ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง

ตามมาด้วย บริษัท เอสซีจีเคมีคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC แผนการที่ใหญ่กว่า เดิมพันที่สูงกว่า เปิดขึ้นเมื่อปลายปี 2565 แต่ได้รีรอมา ทีแรกว่าจะรอจังหวะในปลายปีนี้ ด้วยเชื่อว่าสถานการณ์เกี่ยวข้องจะดีขึ้น แต่แล้วสถานการณ์ไม่เป็นใจ “ตามที่ SCGC ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2566 ให้ขยายระยะเวลาการอนุญาตให้เสนอขายหุ้น IPO ออกไปถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 และไม่สามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีก” ถ้อยแถลงล่าสุดของเอสซีจี วันเดียวกันกับการประกาศแต่งตั้งผู้นำคนใหม่

“โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ความพร้อมของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่จะรองรับ IPO ขนาดใหญ่จากบริษัทไทยในขณะนี้รวมถึงสถานการณ์ภายนอก เช่น ด้านเศรษฐกิจและวิกฤตราคาพลังงาน เป็นต้น” ดังนั้น เอสซีจีจึงตัดสินใจยกเลิกแผนการดังกล่าว ด้วย ” …เห็นว่ายังไม่สามารถที่จะดำเนินการ IPO ในช่วงเวลานี้” แต่เน้นว่าจะเริ่มต้นกระบวนการใหม่อีกครั้ง เมื่อ “สถานการณ์เอื้ออำนวย” เชื่อกันว่าคงอยู่ในยุคผู้นำคนใหม่แล้ว

มีอีกแผนการคล้ายๆ กัน เกิดขึ้นล่าสุด “เตรียม SCG Decor เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก้าวสู่ผู้นำตลาดอาเซียนด้านวัสดุตกแต่งผิว และสุขภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม Smart Bathroom โดยมูลค่าตลาดอาเซียนมีโอกาสโตสูงถึง 78,000 ล้านบาท ในปี 2569” (อ้างจาก ถ้อยแถลงผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 เมื่อ 27 กรกฎาคม 2566)

ข้างต้นมีขั้นตอนสัมพันธ์กับสถานการณ์แวดล้อม เริ่มด้วยในหลังเลือกตั้งทั่วไป เอสซีจีตัดสินใจ (31 พฤษภาคม 2566) ในแผนการนำ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (SCGD) เข้าตลาดหุ้น “โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นจำนวนไม่เกิน 26.83% ของทุนชำระแล้ว” จากนั้นอีกประมาณหนึ่งเดือน (28 มิถุนายน 2566) SCGD ได้ยื่นคำขออนุญาต (Filing) ต่อ ก.ล.ต.

เชื่ออีกเช่นกันว่า แผนการข้างต้นจะบรรลุในยุคผู้นำคนใหม่

 

เมื่อเป็นไปตามแผนการข้างต้นแล้ว บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี จะมีบุคลิกใหม่อย่างแท้จริง

เป็นการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับดัชนีที่จำเป็นของนักลงทุน และคงบุคลิกพิเศษอย่างที่เคยว่าไว้ “เครือข่ายธุรกิจเก่าแก่ มั่นคง และเติบใหญ่ อยู่ในตลาดหุ้นมาตั้งแต่ปี 2518 (ภายใต้ชื่อย่อ SCC) จากทุนจดทะเบียนเพียง 740 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด ปัจจุบัน มีทุนจดทะเบียน 1,600 ล้านบาท (ชำระแล้วเพียง 1,200 ล้านบาท) ขณะเดียวกันเอสซีจีมีความสามารถจ่ายปันผลอย่างต่อเนื่อง… ในยุคใกล้กว่า 2 ทศวรรษ ได้จ่ายเงินปันผลไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท”

เอสซีจียุคใหม่ ในนามเก่าแก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย อาจเหลือเพียงธุรกิจดั้งเดิมอยู่มาตั้งแต่ก่อตั้งกว่าศตวรรษ บทบาทสำคัญจากนี้ ในฐานะบริษัทแม่ (Holding company) กำกับดูแลบริษัทแกน ครอบคลุมธุรกิจหลักเช่นเดิม ขณะการบริหารแต่ละกิจการจะเป็นเอกเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารการเงินจะเป็นไปอย่างคล่องตัว และยืดหยุ่นกว่าเดิม

อีกบทบาทหนึ่งคือ การบริหารกลุ่มธุรกิจการลงทุน โดยแต่เดิมมีผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อีกคนดูแลโดยเฉพาะ “การจัดสรรเงินเพื่อคาดหวังผลประโยชน์ในอนาคต การลงทุนเกี่ยวข้องกับการลงทุนในธุรกิจ การลงทุนในสินทรัพย์ การลงทุนในตราสาร เช่น หุ้น กองทุน การเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน การเก็งกำไร Cryptocurrency.” บทอรรถาธิบายภารกิจกว้างๆ ไว้ (อ้างจาก https://www.scg.com/th)

อีกด้านหนึ่ง “ดูแลด้านการลงทุนในกิจการต่างๆ ของเอสซีจี ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ Kubota, Yamato Kogyo, Aisin Takaoka Group, Nippon Steel, Toyota Motor เป็นต้น นอกจากนี้ธุรกิจการลงทุน เอสซีจี ยังดูแลธุรกิจที่ดินอุตสาหกรรมร่วมกับ Hemaraj Development.”

บทบาทผู้นำเอสซีจีคนใหม่ จึงเปลี่ยนไปพอสมควร •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com