มองบ้านมองเมือง / สถาปัตยกรรมที่ดี

มองบ้านมองเมือง

สถาปัตยกรรมที่ดี

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ย่อมส่งผลต่อการออกแบบและก่อสร้างอาคาร การวางแผนลงทุนโครงการต่างๆ ที่สำคัญ แนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม

จากแนวคิดเดิม สถาปัตยกรรมที่ดี ต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากในยุคปัจจุบันที่วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างก้าวหน้า อาคารจึงมั่นคงอยู่ได้นาน

จากแนวคิดเดิม สถาปัตยกรรมที่ดี ต้องมีความสวยงาม อาจมีคำถามว่า สวยงามแบบไหน สวยงามในสายตาของใคร

จากแนวคิดเดิม สถาปัตยกรรมที่ดี ต้องสนองประโยชน์การใช้สอย ดังนั้น สถาปนิกต้องออกแบบพื้นที่ให้เหมาะสมกับกิจกรรมต่างๆ

จึงเป็นที่มาของหลักการที่สอนกันในชั้นเรียนเสมอมาว่า สถาปัตยกรรมที่ดี ต้องมั่นคงถาวร สวยงาม และสนองการใช้สอย

ครั้นเมื่อวิทยาการและเทคโนโลยีก้าวหน้า การสร้างอาคารให้มั่นคงแข็งแรง สูงใหญ่ ไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งมีวัสดุก่อสร้างนานาชนิด ที่คงทน อายุการใช้งานยาวนาน

ความสวยงาม ยังแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หรือตามอายุขัยของมนุษย์

จึงเกิดปัญหาว่า สถาปนิกจะออกแบบให้สนองประโยชน์ใช้สอยอย่างไร ถ้าวิถีชีวิตของผู้คนแปรเปลี่ยนไป การใช้สอย พื้นที่ และอาคาร ต่างไป ในแต่ละเวลา แต่ละสมัย

มองบ้านมองเมืองจะพาไปมองอาคารหลังหนึ่ง ที่เป็นกรณีศึกษาน่าสนใจ แม้ว่าจะเป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆ ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เริ่มจากเป็นอาคารเรียน สูงแปดชั้น มีทั้งห้องเรียน ห้องพักครู ห้องทำงานเจ้าหน้าที่และอื่นๆ ของโรงเรียน สถานศึกษาของเอกชน ที่เปิดสอนภาคปกติสำหรับนักเรียนทั่วไป และภาคค่ำสำหรับหลักสูตรพิเศษ เช่น ภาษาอังกฤษ ที่ผู้เขียนเคยไปเล่าเรียนมาแล้ว

ด้วยเป็นอาคารที่ก่อสร้างในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อหมดสัญญาจึงตกเป็นของมหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมทีจะใช้เป็นอาคารเรียนสำรองของมหาวิทยาลัย แต่ด้วยที่ตั้งอยู่ห่างจากอาคารคณะวิชาต่างๆ ไม่สะดวกกับนิสิตและอาจารย์ จึงเปลี่ยนแผนการใช้สอย เป็นหอพักสำหรับนิสิตบัณฑิตศึกษา

แม้จะแยกห่างไปจากหอพักนิสิตปริญญาตรี แต่ก็เหมาะกับวัยนิสิตที่ส่วนหนึ่งต้องทำงานกลางวันหรือทำงานตอนเย็น

ครั้นเมื่อจำนวนนิสิตบัณฑิตศึกษามีจำนวนมากขึ้น ประกอบกับสถานเริ่มทรุดโทรม การดัดแปลงห้องเรียนเป็นห้องพัก แบบห้องน้ำรวมก็ไม่เหมาะกับวัยนิสิตบัณฑิตศึกษา

จึงมีการปรับปรุงอาคารอีกครั้งให้ทันสมัย และเสริมระบบอาคารให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และเพิ่มห้องน้ำภายในห้องพัก เพื่อสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยในการต้อนรับนักศึกษาต่างชาติที่มาศึกษาดูงาน ฝึกงาน ทั้งแบบระยะสั้น ระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทำเลที่ตั้ง อยู่ในแผนพัฒนาที่ดินเชิงพานิช กำหนดให้เป็นอาคารขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย จึงยกเลิกกิจการหอพักนักศึกษานานาชาติ

วางแผนสร้างใหม่เป็นอาคารสูงหลายสิบชั้นแทน

ครั้นเมื่อสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งความสามารถในการบริหารของคณาจารย์ที่มีความรู้มากในเชิงวิชาการ แต่มีความรู้น้อยในเชิงปฏิบัติ โครงการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่เพ้อฝัน จึงปล่อยอาคารว่างไร้การใช้สอยอยู่นานหลายปี

เพื่อไม่ให้เสียโอกาสและรายได้ มหาวิทยาลัยจึงเลือกวิธีง่าย เปิดโอกาสให้นิสิตเก่าจุฬาฯ เข้ามาปรับปรุง ใช้งานอาคารได้ตามสัญญาระยะสั้นๆ

บังเอิญว่า เป็นนิสิตเก่าสถาปัตย์จึงใช้ความสามารถ ใช้สอยอาคารในรูปแบบใหม่ต่างไปจากเดิม กลายเป็นอาคารมิกซ์ยูสขนาดเล็ก ประกอบด้วยที่ทำงานแนวโคเวิร์กกิ้งสเปซ

ที่สามารถปรับพื้นที่ภายในอาคาร โดยการทุบพื้น ผนัง หน้าต่างเพียงบางส่วน ให้เกิดที่โล่งว่างต่อเนื่องกัน แบ่งกั้นพื้นที่ เพิ่มเฉลียง ระเบียง ทางเดิน เปลี่ยนทางสัญจรทางตั้ง จากบันไดแบบทึบทั่วไป เป็นบันไดรูปแบบใหม่เปิดโล่งโปร่งตา ทั้งภายใน ภายนอกอาคาร

ไม่นับรวมลิฟต์กระจก และสไลเดอร์หนีไฟ ที่สำคัญตกแต่งให้ได้บรรยากาศตามจริตผู้ใช้ คือนิสิตนักศึกษา นักเรียนมัธยม และคนทำงานวัยหนุ่มสาว

รวมทั้งจัดให้มีส่วนบริการและพื้นที่ต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ทำงาน พื้นที่ออกกำลังกาย ห้องพัก และร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายสเต๊ก อาหารของคนรุ่นใหม่

ส่งผลให้เป็นสถานที่คึกคัก โด่งดัง ได้รับความนิยม มีผู้ใช้อาคารทั้งวันทั้งคืน แม้แต่ห้องพักชั้นบนก็มีผู้เช่าอาศัยเต็มทุกห้อง

ไม่รู้จะสรุปได้ไหมว่า อาคารหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่ดี เพราะมีความมั่นคงถาวร อยู่มาแล้วกว่าสามสิบปี สนองประโยชน์ใช้สอยได้ ตั้งแต่เป็นโรงเรียน หอพักแบบธรรมดาและแบบหรู จนกลายเป็นมิกซ์ยูส และยังสวยงามตามยุคสมัยอีกด้วย