อ้อย

 

อ้อฯยฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “อ้อย”

อ้อยเป็นไม้ล้มลุก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saccharum officinarum L. เป็นสมาชิกในวงศ์ POACEAE (GRAMINEAE) คำว่า Saccharum มาจากภาษากรีก “sakchar” แปลว่า “น้ำตาล” และ officinarum เป็นภาษาละติน แปลว่า “ของคนขายสมุนไพร หรือของเภสัชกร” ภาษาอังกฤษเรียก Sugar cane แปลตามตัวอักษรก็หมายถึง “แท่ง” หรือ “ไม้เท้าน้ำตาล” นั่นเอง

อ้อยเป็นพืชจำพวกหญ้าขนาดใหญ่ สูง 2-5 เมตร มีข้อปล้องชัดเจน ลำต้นสีอมเขียว ม่วง แดง มีไขสีขาว ไม่แตกแขนงกิ่งก้าน ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปใบหอกแคบ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 0.5-1 เมตร ขอบใบจักซี่ละเอียดเป็นหนามคม ก้านใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายยอด สีขาว ผลแห้งแบบเม็ดข้าว ขนาดเล็ก แหลม รอบโคนมีขนปุยสีขาว

อ้อยในอุตสาหกรรมหลักๆ คือผลิตน้ำตาลทราย กากอ้อยใช้ทำเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น particle bord ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้เป็นเชื้อเพลิง กากน้ำตาลนำไปเป็นสารตั้งต้นผลิตสุรา ซีอิ๊ว เป็นต้น

ปัจจุบันมีการนำอ้อยไปผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ตลอดจนนำไปใช้ประโยชน์ทางยาและเครื่องสำอาง ในล้านนาเราจะใช้น้ำอ้อยสดมาเคี่ยวแล้วทำเป็นก้อน เรียกว่า “น้ำอ้อย” เก็บไว้ใช้ประกอบอาหารและขนมได้หลายอย่าง อาทิ แกงฮังเล จอผักกาด ตำมะม่วง ตำมะปราง (กินเป็นกับข้าว) ทำไส้ขนมขนมเทียน สำหรับโรยหน้าขนมนางเล็ด และในฤดูหนาวจะนำไปตำกับงาขี้ม้อนที่เรียกว่า “งาตำอ้อย” วิธีกินคือสอดไส้ในปั้นข้าวเหนียว เรียกว่า “ข้าวบ่ายงาตำอ้อย” กินเป็นของกินเล่นช่วยเพิ่มความอบอุ่นในฤดูหนาว

 

อ้อยในพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ใช้ทั้งประดับตกแต่งและเป็นเครื่องบูชา อาทิ การสืบชะตา งานแต่งงาน (เครื่องแห่ขันหมาก) ใช้ประดับตกแต่งประตูป่าในประเพณียี่เป็ง เครื่องเซ่นสังเวยในกระบะบัตรพลี โดยใช้เป็นหน่ออ้อย ต้นอ้อย หรือเป็นท่อน ตามแต่จะระบุไว้ในแต่ละพิธี โดยอ้อยที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ จะใช้เป็นอ้อยแดง

ส่วนการใช้ประโยชน์ทางยาที่มีการระบุใช้เป็นเครื่องยาไม่ว่าจะเป็นตำรับใดในทางพื้นบ้านล้านนาก็จะใช้เป็นอ้อยแดงเช่นกัน ถือว่าอ้อยแดงเป็นอ้อยที่ให้คุณในทางยา ใช้เป็นอ้อยเข้ายา มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้ช้ำรั่ว แก้ไอ ช่วยเจริญอาหาร แก้พิษตานซาง

และเมื่อพูดถึงอ้อย เราก็มักจะนึกถึงช้างที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา จึงทำให้เข้าใจกันว่าอ้อยเป็นอาหารหลักของช้าง แท้จริงแล้วช้างใช้เวลาในการกิน 16-18 ชั่วโมงต่อวันนั้น กินอาหารค่อนข้างหลากหลาย

หากเป็นช้างป่าอาหารที่กินจะแตกต่างไปขึ้นกับฤดูกาล แหล่งที่อยู่ และพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นใบไม้ เปลือกไม้ ผลไม้ รวมถึงหญ้าและสมุนไพรในปริมาณมาก

สืบฯฯชาตา ใช้อ้อฯยฯแดงฯเนิ่อฯเจ้า
สืบจาต๋าใจ๊อ้อยแดงเน่อเจ้า
พิธีสืบชะตา ใช้อ้อยแดงนะคะ

ส่วนช้างเลี้ยงจะใช้หญ้าเนเปียร์ และหญ้าบาน่า (ลูกผสมของหญ้าเนเปียร์และหญ้าไข่มุก) เป็นหลัก รสชาติของหญ้าชนิดนี้จะมีรสหวาน มีลำต้นเป็นปล้องคล้ายอ้อย มีสารอาหาร และโปรตีนเพียงพอ และเพื่อให้อาหารมีความหลากหลายทดแทนการที่ช้างไม่สามารถเลือกกินอาหารหลากหลายได้ตามธรรมชาติ จึงมีการให้อาหารเสริมที่ช้างชอบด้วย ได้แก่ กล้วย อ้อย มะละกอ ฟักทอง ข้าวโพด เป็นต้น และเสริมสมุนไพรช่วยระบาย ได้แก่ มะขาม โดยเติมเกลือ เพื่อทดแทนดินโป่งที่ควรจะได้รับตามธรรมชาติอีกด้วย

บทบาทของอ้อยในชีวิตของชาวล้านนา มีการใช้หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในพืชอาหาร พิธีกรรมและประเพณีต่างๆ ยาสมุนไพร และพืชอาหารเสริมของช้างที่เป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมป่าไม้ของล้านนาในอดีต อ้อยจึงนับเป็นพืชสำคัญที่ยังคงนิยมปลูกไว้ซึ่งอย่างน้อยก็ใช้ในพิธีกรรมที่มีตลอดฤดูกาลในวิถีล้านนา •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง