กีฬาในร่ม (10)

ญาดา อารัมภีร

เจ้าชายปาณฑพทั้งห้า นางกุนตีพระชนนี และนางเทฺราปทีหรือกฤษณาพระชายา เดินทางไม่ทันพ้นเขตนครหัสตินาปุระ ทุรโยธน์ก็รีบไปร่ำไห้ต่อว่าท้าวธฤตราษฎร์พระบิดา ดังที่ “สงครามภารตคำกลอน” บรรยายว่า

“โอ้!พระองค์ทรงชัยพระไม่ควร ที่จะด่วนเสือกไสพวกไพรี

เหมือนปล่อยเสือเข้าป่าน่าวิตก คงเวียนวกรบพุ่งถึงกรุงศรี

เขาเกรียงไกรในวุฒิยุทธวิธี เราคงปี้ป่นแท้เป็นแน่นอน

ฉะนั้นจึงเลี่ยงท้าสะกาเขา ใครแพ้เอาเมืองกันไม่ผันผ่อน

เขาแพ้, แต่ภูบาลประทานพร คืนนครให้เขาน่าเศร้าใจ

ถ้าฝ่ายเราแพ้ลงคงพินาศ ใครจะอาจหยิบยื่นมาคืนให้

เขาก็จักข่มขี่เพราะมีชัย ครองกรุงไกรหัสดินนั่งกินเมือง”

ทุรโยธน์รู้ดีว่า พระบิดาราชาตาบอด แม้จะเอ็นดูหลานชายทั้งห้าเพียงใด ความรุ่งเรืองเกรียงไกรของเหล่าปาณฑพก็ทำให้แคลงพระทัยลึกๆ ตลอดมา ทุรโยธน์จึงโหมไฟความหวาดระแวงด้วยเหตุผลที่ว่า ยุธิษฐิระหรือยุธิษเฐียร

“ซึ่งเขากล้าแข่งขันพนันนี้ เพราะหวังมีอำนาจได้ปราชญ์เปรื่อง

อยากได้รัฐหัสดินบุรินทร์เรือง ไม่ต้องเปลืองรี้พลประจญชัย

แม้ไม่รบด้วยสะกาในครั้งนี้ ก็ต้องมีสงครามลุกลามใหญ่

กำลังเราอ่อนแอมาแต่ไร จะสู้ได้ก็สะกาท้าพนัน”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ทุรโยธน์ทูลเสนอให้เล่นสกาพนันอีกครั้งเพื่อมิให้เกิดการชิงความเป็นใหญ่ระหว่างฝ่ายปาณฑพและเการพอีกต่อไปในอนาคต ให้รู้แพ้ชนะกันโดยเด็ดขาด คำกาพย์เรื่อง “มหาภารตยุทธ” ถ่ายทอดเงื่อนไขของทุรโยธน์เกี่ยวกับพนันสกาครั้งนี้ ‘ผู้แพ้ต้องไปอยู่ป่า’

” เพื่อดับสัประยุทธ ให้สิ้นสุดลง เพื่อเการพพงศ์ ยืนยงอยู่ไป

แม้เฉยเมยอยู่ สงครามมาสู่ คงสู้ไม่ไหว

เชิญเขาแข่งขัน พะนันกันใหม่ แพ้เนรเทศไป สู่ไพรพงพลัน

สิบสองปีปลาย แถมปีสุดท้าย ห่อนวายชีวัน

กลับมาธานี ไม่มีโทษทัณฑ์ ผู้ชนะนั้น สบสันติ์เสรี

เมื่อทรงทราบความ แล้วทรงทำตาม สงครามไม่มี

ไม่ต้องล้มตาย สองฝ่ายน้องพี่ ใครโฉลกโชคดี ราศีรักษา”

สิ่งที่ ‘หมกเม็ด’ ในเงื่อนไขครั้งนี้ บันทึกอยู่ใน “มหาภารตยุทธ” ที่อาจารย์กรุณา – ศาสตราจารย์พิเศษ เรืองอุไร กุศลาสัย ศิลปินแห่งชาติทั้ง 2 ท่าน แปลและเรียบเรียงไว้

“ฝ่ายแพ้จะต้องเนรเทศตนเองไปอยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปี โดยนุ่งห่มหนังกวางและใช้ชีวิตเป็น ‘สันยาสี’ (นักบวช) ในปีที่ 13 จะต้องอยู่อย่างชนิดที่ไม่ให้ใครจำหน้าได้ หากมีผู้พบและจำได้ จะต้องอยู่ในป่าต่อไปเป็นเวลาอีก 12 ปี”

นางคานธารี มเหสีท้าวธฤตราษฎร์ ท้าวภีษมะ และโทฺรณาจารย์พยายามทูลทัดทานว่าที่ท้าวธฤตราษฎร์ทรงตัดสินพระทัยก่อนหน้านี้นั้นประเสริฐสุด การอนุญาตให้ฝ่ายปาณฑพกลับไปครองอินทรปรัสถ์ตามเดิม เท่ากับหยุดชนวนสงครามของพี่น้องสองตระกูล ความเป็นศัตรูระหว่างเการพกับปาณฑพจะได้สิ้นสุดลง ไม่ต้องจองเวรจองกรรมกันต่อไป

อย่างไรก็ดี ท้าวธฤตราษฎร์เมินต่อคำทักท้วง กลับเชื่อคำของทุรโยธน์โอรสรัก

 

“ภูเบศเนตรบอด ยินลูกยอดออด เห็นสอดคล้องนา

ดังดินเหนียวถูก ลูกปั้นตุ๊กตา ยอมเชิญหลานยา เข้ามาเวียงชัย”

 

ยุธิษฐิระหรือยุธิษเฐียร พี่ใหญ่แห่งปาณฑพ ทันทีที่ท้าวธฤตราษฎร์ส่งทูตไปเชิญมาเล่นสกาพนันอีกครั้ง พระทัยที่หมกมุ่น ‘ผูกแค้นแสนกระสันต์’ ทำให้ทรงคิดแต่ “จะกู้ชัยฝ่ายเดียวขับเคี่ยวกัน พระทรงธรรม์มิได้แคลงระแวงกล” ไม่มีใครคัดค้านพระองค์ได้ “สงครามภารตคำกลอน” เล่าว่า

“เสด็จยังหัสดินบุรินทร์รัตน์ ตามอาณัติสัญญาที่ว่านั้น

พร้อมอำมาตย์กลาดกลุ้มประชุมกัน ดูสององค์ทรงธรรม์พนันเมือง”

เมื่อพี่ใหญ่แห่งปาณฑพเจ็บไม่รู้จักจำ วงเวียนกรรมเริ่มทำงาน ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างน่าเศร้า ผู้เล่นสกาและกลโกงเดิมๆ ก็ดำเนินไป

“ศกุนิแทนพระทุรโยธน์ โสดต่อโสดฝีมือล้วนลือเลื่อง

ยุฐิษเฐียรโชคร้ายระคายเคือง ไม่กระเตื้องขึ้นหน้ามาแต่ไร

เพราะถูกลูกบาศก์ลวงถ่วงโลหะ หมดที่จะผันแปรคิดแก้ไข

เธอไม่ทราบเหตุการณ์สถานใด ยิ่งทอดไปก็ยิ่งยับอัประมาณ

ที่สุดทรงพ่ายแพ้เหลือแก้ไข พวกที่ใจซื่อตรงก็สงสาร

น้ำเนตรหลั่งดังเลือดด้วยเดือดดาล เพราะรู้การณ์แต่ไม่กล้าพูดจาไป

พวกที่ใจอำมหิตคิดประจบ ต่างก็ตบหัตถ์ลั่นสนั่นไหว”

ยุธิษฐิระพ่ายแพ้หมดทางสู้ สูญเสียนครอินทรปรัสถ์และสมบัติทั้งมวล เหล่าปาณฑพทั้งห้าและนางกฤษณาหรือเทฺราปทีพระชายา เนรเทศตนเองไปอยู่ป่า อำมาตย์วิทูรสงสารนางกุนตีพระชนนีปาณฑพที่ชราแล้ว ไม่ควรตกระกำลำบากไปกับลูกชายลูกสะใภ้

จึงขอดูแลแทนจนกว่าปาณฑพจะครบกำหนดกลับมา

 

“มหาภารตยุทธ” ฉบับสองศิลปินแห่งชาติแปลและเรียบเรียง บันทึกทิ้งท้ายว่า

“ก่อนออกเดินทางพ้นกำแพงเมืองหัสตินาปุระ ภีมะ อรชุน และสหเทพ ได้ลั่นวาจาไว้ว่า ‘แม้ภูเขาหิมาลัยจะพังทลายลงมาหมด และแม้ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตก เราก็จะขอกลับมาล้างเหล่าเการพให้สิ้นซากเสียให้จงได้!’

หลังจากที่พี่น้องปาณฑพได้เข้าป่าไปแล้วสัก 2-3 เพลา วันหนึ่งพระนารทมุนีผู้ทรงศีล และมีญาณรู้เหตุการณ์ในอนาคต ได้เดินทางมาแวะเยี่ยมท้าวธฤตราษฎร์และได้กล่าวเป็นคำเตือนไว้ว่า

‘ในปีที่ 14 นับแต่นี้เป็นต้นไป บาปกรรมอันมหันต์ของทุรโยธน์โอรสของมหาบพิตรจักเป็นมูลเหตุให้ตระกูลเการพทั้งสิ้นต้องมีอันมลายหายสูญไปจากผืนปฐพีนี้'” •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร