ศรัทธาของคนเล็กๆที่ไม่มีอำนาจ : เสาหลักของระบอบประชาธิปไตย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ข่าวเด่นเร็วๆ นี้คืออดีตผู้นำรัฐบาลถูกนำขึ้นศาลเพื่อพิจารณาโทษ

อย่าเพิ่งตื่นเต้นตกใจไป ผู้นำรัฐบาลที่ผมกำลังจะพูดถึงไม่ใช่ลุงคนปัจจุบันในประเทศนี้ หากแต่ทั้งสองคนเป็นอดีตหัวหน้ารัฐบาล คนหนึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อีกคนเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ใครที่ติดตามข่าวมากหน่อยคงเดาได้ว่าผมหมายถึงใคร

คนแรกคือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน อดีตประธานาธิบดีสมัยเดียวในยุคที่ใครๆ ที่ได้ตำแหน่งนี้มักต่อจนครบสองสมัยทั้งนั้น นั่นเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ลุงทรัมป์ไม่พอใจอย่างยิ่งจนหาทางวางแผนในการทำลายการเลือกตั้งที่นายโจ ไบเดน พรรคเดโมแตรตได้ชนะไปเมื่อปี 2020

ขณะนี้นายทรัมป์ถูกศาลมลรัฐนิวยอร์ก วอชิงตัน และจอร์เจีย รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมเองด้วยที่ลงมาดำเนินการฟ้องคดีอาญารวมทั้งหมด 4 กรณีใน 91 กระทง ตั้งแต่เรื่องใช้เงินหาเสียงผิด ถึงการครอบครองเอกสารลับสุดยอดระดับความมั่นคงแห่งชาติ ก่อการกบฏในเมืองหลวงและท้ายสุดกระทำการทำลายประชาธิปไตยของประเทศ และบ่อนทำลายผลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

เขาเลยกลายเป็น “พระเอก” หรือ “ทรชน” แล้วแต่ด้อม ที่ถูกทางการฟ้องร้องด้วยคดีอุกฉกรรจ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

อีกหนึ่งอดีตผู้นำรัฐบาลที่ผมพูดถึงคืออดีตนายกรัฐมนตรีนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกแย่งอำนาจรัฐไปจากการรัฐประหารนำโดยผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น

จากนั้นรัฐบาลแต่งตั้งนอกรัฐธรรมนูญมีการดำเนินการฟ้องร้องคดีความผิดต่อหน้าที่ราชการ 3 คดี

ได้แก่ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาลงโทษ 7 ปีเมื่อสามปีก่อน

อดีตนายกฯ หลบหนีออกนอกประเทศ ลี้ภัยไปกว่าสิบปี ในที่สุดกลับมารับโทษเมื่อวันเลือกนายกฯ ใหม่ที่มาจากพรรคของเขา

ในที่สุดได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจำคุกเหลือเพียงปีเดียว ท่ามกลางปฏิกิริยาที่ยังขัดแย้งกันในสังคม

 

ข้อที่แตกต่างกันคือคดีฟ้องร้องนายทรัมป์ยังอยู่ขั้นรอการสอบสวนในศาลอยู่ เพราะกว่าอัยการและกระทรวงยุติธรรมตัดสินใจลงมือฟ้องร้องเองด้วยการแต่งตั้งอัยการพิเศษให้ดำเนินการคดีกับนายทรัมป์ก็ใช้เวลารวบรวมหลักฐานและพยานเกือบสองปี จนนำมาสู่การฟ้องร้องสำเร็จในที่สุด

นายทรัมป์ถูกฟ้องร้องรวมทั้งหมด 4 คดีใหญ่ ใน 91 ข้อกล่าวหา โดยศาลสหพันธ์ในมลรัฐนิวยอร์ก กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ศาลสหพันธ์ในมลรัฐฟลอริดา และศาลมลรัฐจอร์เจีย

สังเกตว่าอเมริกาไม่มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนมีตำแหน่งไม่ใช่ทางการเมืองกับการเมือง กฎหมายต้องปฏิบัติต่อคนอเมริกันทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือฐานะใดก็ตาม จึงต้องเดินเรื่องไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ยกเว้นเรื่องเอกสารปิดลับที่ต้องตั้งอัยการพิเศษมาเดินเรื่อง

ข้อที่ใกล้เคียงเกือบตรงกันในสองประเทศคือการใช้อำนาจทางกฎหมายปกติในการดำเนินคดีกับหัวหน้ารัฐบาลนั้นเป็นเรื่องยากลำบากและทำแทบไม่ได้

ตอนแรกที่ได้ยินนายโดนัลด์ ทรัมป์ พูดหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกนั้น เขากล่าวว่า ต่อให้เขาไปยิงคนตายในกลางถนนในมหานครนิวยอร์กก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเขา

แม้จะไม่ได้อธิบายว่าเขาเอาตัวรอดได้อย่างไร แต่นัยที่เขาท้าทายคนทั่วไปก็คือเขามีอิทธิพลมากพอที่จะเจรจาต่อรองกับฝ่ายอำนาจบ้านเมืองได้ทุกเรื่อง

ผมนึกในใจว่าไอ้หมอนี่คุยโวเกินตัว ไม่มีทางที่เขาจะทำอย่างนั้นได้หรอก ผมยังเหมือนคนจำนวนไม่น้อยในโลกที่เชื่อว่ากฎหมายในอเมริกาศักดิ์สิทธิ์ ยากที่จะให้สินบนได้ง่ายๆ นอกจากเขาเป็นมาเฟียเหมือนในหนัง ซึ่งก็จบด้วยน้ำมือของเจ้าพ่ออีกค่าย หรือไม่ก็ถูกถล่มและจับเข้าคุกในที่สุด

แต่ทรัมป์ไม่ใช่เจ้าพ่อมาเฟีย เขาเพียงเป็นมหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจบริการต่างๆ จึงไม่น่าจะมีอิทธิพลและอำนาจมืดได้อย่างเป็นจริงเป็นจังนอกจากเป็นครั้งคราวไป

 

ในระบบการเมืองอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าตำรับของทฤษฎีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นสามส่วน คืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการนั้น

อำนาจฝ่ายบริหารหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าอำนาจประธานาธิบดีหรือทำเนียบขาว ไม่ค่อยเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและอภิปรายกันมากมายเท่ากับอีกสองอำนาจอธิปไตย

ผมเปิดรัฐธรรมนูญอเมริกา ซึ่งประกาศใช้ในปี 1789 (พ.ศ.2332) มาถึงปัจจุบันโดยไม่เคยถูกยกเลิกหรือฉีกทิ้ง ปรากฏว่าเนื้อหามาตราที่ว่าด้วยอำนาจบริหารนั้นมีน้อยกว่านิติบัญญัติ คือมี 3 อนุมาตรา (section) เท่ากับอำนาจตุลาการ ไม่มีการระบุถึงอำนาจอะไรที่ผู้เป็นใหญ่สุดในมหาชนรัฐนี้จะทำได้บ้าง

หากมีแต่การพูดมากถึงระเบียบและวิธีการในเลือก (ตั้ง) ประธานาธิบดี ซึ่งเราคงคุ้นเคยกันมากขึ้นคือระบบคณะผู้เลือกตั้ง ไม่ยอมให้เลือกทางตรงโดยประชาชนมาแต่แรก กำหนดวาระให้สี่ปี

จากนั้นก็เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเหมาะสมเป็นประธานาธิบดีได้ ซึ่งเอาแค่เบาะๆ ว่าอายุไม่น้อยกว่า 35 ปีและมีภูมิลำเนาในสหรัฐมาไม่น้อยกว่า 14 ปี (คุณสมบัติต่ำกว่าเทพที่ทนทุกข์ล้างเท้าให้ก่อนขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์หรือกรรมการองค์กรอิสระในไทยเสียอีก)

วรรคที่ระบุถึงการมีอำนาจสูงสุดของประธานาธิบดีได้แก่การเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ (บกและเรือยังไม่มีอากาศขณะนั้น) ดังนั้น อำนาจของประธานาธิบดีจึงเป็นอำนาจในตำแหน่ง ไม่ใช่ของส่วนตัว จึงไม่ต้องอภิปรายอะไรให้มากเรื่อง

มีวรรคหนึ่งในมาตรา 2 นี้ที่ระบุว่า “ประธานาธิบดีจักมีอำนาจอันได้รับความเห็นชอบและการให้คำปรึกษา (advice and consent) จากวุฒิสภาในการทำสนธิสัญญา แต่งตั้งเอกอัครรัฐทูต คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษาแห่งศาลสูงสุดและข้ารัฐการอื่นๆ แห่งสหรัฐ”

นั่นคือการใช้อำนาจของประธานาธิบดีโดยเฉพาะในการบริหารปกครองนั้นจักต้องผ่านกระบวนการปรึกษาและเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน อันเป็นที่มาของการปฏิบัติปัจจุบันที่ตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้พิพากษาศาลสูง ฯลฯ ที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อแต่งตั้งนั้นต้องผ่านการตรวจสอบซักถาม (testify) และลงมติเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน

ดูๆ ไปแล้วอำนาจประธานาธิบดีไม่ค่อยมากมหาศาลอย่างที่คิดไว้นะ อำนาจที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลกลางนั้นถูกกำกับและตรวจสอบโดยคองเกรสแทบทุกเรื่อง

ไม่มีอำนาจของฝ่ายบริหารที่ลอยอยู่เหนือวอชิงตันโดดๆ ได้

ในอนุมาตรา 9 ระบุข้อห้ามแปดเรื่องที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะทำไม่ได้ เช่น รัฐบาลสหรัฐให้ตำแหน่งขุนนางไม่ได้ คนที่มีตำแหน่งในหน่วยงานที่ให้กำไรหรือต้องมีความน่าเชื่อถือ (trust) จะรับของขวัญ ค่าจ้างค่าตอบแทน ตำแหน่งเครื่องอิสริยาภรณ์ใดๆ ก็ตามจากกษัตริย์ เจ้าหรือรัฐต่างประเทศโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อนไม่ได้

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากยึดถือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอเมริกาอย่างเคร่งครัด อำนาจฝ่ายบริหารนั้นถูกกำกับ ควบคุม ถ่วงดุลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากสภาคองเกรส จนแทบกระดิกไม่ได้

 

แต่เมื่อทำเนียบขาวตกอยู่ภายใต้กำมือของทรัมป์ เขาสามารถทำให้ข้อห้าม ระเบียบ กฎเกณฑ์และการถ่วงดุลจากอำนาจรัฐสภาและกลุ่มประชาสังคมไร้น้ำยาไปแทบหมดสิ้น

เขาทำได้อย่างไร หลักๆ ก็ลงมือออกกฎหมายพิเศษในนามของคำสั่งฝ่ายบริหาร โดยที่ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาคองเกรสด้วย

ที่เป็นข่าวใหญ่มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ การต่อต้านการก่อการร้าย ความไม่สงบภายในประเทศ

และที่ไม่ค่อยเป็นข่าวได้แก่การปลดล็อกกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อม การขุดน้ำมัน เหมืองถ่านหินที่ออกโดยรัฐบาลก่อนหน้านี้ เป็นต้น

การใช้อำนาจบริหารดังกล่าวดำเนินไปถึงขั้นมีการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังไม่พูดถึงข้อความในทวิตเตอร์ที่เขามีคนตามอ่านนับหลายล้านซึ่งเต็มไปด้วยข่าวลวงและคำโกหกที่เขาโจมตีฝ่ายตรงข้ามเขา

ฝ่ายค้านทรัมป์อย่างพรรคเดโมแครตจึงกลับไปหารัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนทรัมป์ จึงเป็นมาตรการสุดท้ายที่สถาบันนิติบัญญัติจะสามารถถ่วงดุลและกำกับควบคุมอำนาจบริหารได้

นั่นคือหลักการว่า สถาบันการเมืองอยู่แต่นักการเมืองไม่อยู่ก็ได้ ระบบสำคัญกว่าตัวบุคคล แต่ผลการถอดถอนก็ไม่บรรลุผล เมื่อไปถึงวุฒิสภาซึ่งเสียงข้างมากเป็นรีพับลิกัน ลงคะแนนไม่ถอดถอนทรัมป์ในที่สุด

จากประสบการณ์ของทรัมป์ในตอนที่มีอำนาจในมือว่าเขาทำได้ทุกอย่างที่ต้องการ ไม่เกรงกลัวกฎหมายทั้งหมด เขาแสดงตัวราวกับผู้เผด็จอำนาจในประเทศโลกที่สามหรือในรัสเซียใต้วลาดิมีร์ ปูติน หรือสี จิ้นผิง ของจีนที่ไม่มีใครต้านทานเขาได้

เมื่อแพ้คะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ทรัมป์จึงไม่ลังเลที่จะวางแผนและลงมือบ่อนทำลายกระทั่งกระทำการจะทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไป อันเข้าข่ายการกระทำกบฏ

เขาปลุกระดมมวลชนคนขวาสุดขั้วออกมาเดินขบวนแล้วบุกเข้าไปในรัฐสภาขณะทำการประชุมคณะผู้เลือกตั้งเพื่อรับรองผลการเลือกตั้งที่โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง เกิดการปะทะใช้กำลังทำร้ายตำรวจรัฐสภาถึงตายและบาดเจ็บหลายคน

เหตุการณ์จลาจลหน้ารัฐสภาคองเกรสเป็นเรื่องร้ายแรงมากและไม่เคยเกิดมาก่อน แต่ก็ใช้เวลาและพลังมหาศาลกว่าที่กฎหมายของประเทศจะถูกนำมาใช้ฟ้องร้องเพื่อลงโทษนายโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรคพวกได้

 

ข้อคิดและบทเรียนจากความขัดแย้งในการเมืองอเมริกัน จุดที่ผมสนใจคือในยุคโลกาภิวัตน์ที่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแตกแขนงเติบใหญ่ไปทั่วทุกหัวระแหง สิ่งที่สภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกทำให้ระบบการเมืองภายในประเทศได้รับผลสะเทือนไม่มากก็น้อย

กรณีของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่แหวกแนวออกจากขนบธรรมเนียมจารีตของการเมืองประชาธิปไตยเสรีของอเมริกามาสู่การปฏิบัติตนในแบบอย่างของผู้นำการเมืองอำนาจนิยมไม่ประชาธิปไตยในโลกที่สามทำให้ผมอดถามไม่ได้ว่า ในที่สุดแล้วปัจจัยอะไรที่กำหนดและทำให้ระบบการเมืองในประเทศดำเนินไป

คงไม่ใช่ตัวผู้นำเพียงไม่กี่คนเท่านั้นกระมัง หรือว่าสภาพของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบต่างๆ หรือว่าแบบแผนของวัฒนธรรมและศาสนาทั้งหลายในสังคมนั้นที่เปลี่ยนไปในลักษณะที่ช่วยทำให้หนทางของระบบการเมืองดำเนินไปอย่างไร

ไม่ว่าอะไรก็ตาม การต่อสู้ระหว่างฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติและกระทรวงยุติธรรมเข้าสอบสวนความผิดของประธานาธิบดีทรัมป์ แม้ตอนแรกไม่อาจลงมติว่าเขาได้กระทำผิดกฎหมายก็ตาม

แต่ฝ่ายต่อสู้สรุปว่า

“ในที่สุดคติความเชื่อว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามคือบริหาร นิติบัญญัติและยุติธรรมเป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตยอเมริกันแสดงออกในการปฏิบัติท่ามกลางการทำความผิดของประธานาธิบดี ไม่ใช่การรอหวังให้อำนาจนอกระบบและสถาบันอภิสิทธิ์ที่อยู่เหนือประชาชนธรรมดามาเป็นผู้ตัดสินลงโทษให้

ระบบอเมริกันจึงดูแล้วเป็นเรื่องง่ายราวสามัญสำนึกแต่ทำจริงๆ ยาก เพราะต้องอาศัยศรัทธาของคนเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจมาช่วยกันทำ ใช้เวลาและความอดทน ระบบและกฎหมายไม่ได้ดีมาก่อน คนเก่งก็ไม่ได้มีมาจากที่ไหน ต่อเมื่อสำเร็จระบบตรวจสอบจึงเข้มแข็งขึ้นมาได้”

 

ข้อคิดสุดท้ายระหว่างผู้นำสองรัฐสองประเทศที่ไม่เหมือนกันเลย คือระบบอเมริกันยังศรัทธาเชื่อมั่นในพลังและอำนาจของคนเล็กๆ ที่ไม่ใช่คนเก่งหรือดีเลิศประเสริฐศรี กฎหมายและหน่วยงานใช้มันก็ไม่ได้ดีเด่นอะไรมาก แต่ด้วยศรัทธาและความพยายามของคนเล็กๆ เหล่านี้ที่ทำให้ระบบตรวจสอบอำนาจของประธานาธิบดีเข้มแข็งและนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด

ซึ่งข้อนี้ตรงกันข้ามกับประสบการณ์และการปฏิบัติในการเมืองไทย ที่เราไม่ยอมและสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของคนเล็กๆ และองค์กรธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ์และอำนาจเหนือหน่วยงานอื่นๆ ให้เข้ามาทำงานการตรวจสอบและพิจารณาความถูกผิดของผู้นำการเมืองทั้งหลายอย่างปกติธรรมดา

เราถนัดใช้สถาบันพิเศษที่เรียกว่าอิสระและมีอำนาจเหนือการตรวจสอบ

ซึ่งที่ผ่านมาสร้างคำถามมากขึ้นว่าได้สร้างความถูกต้องชอบธรรมและยุติธรรมอย่างแท้จริงขึ้นมาได้จริงหรือ