ใครกันแน่จอมบงการ เกมวัดกึ๋นรัฐพันลึก : ไทย-เขมร?

อภิญญา ตะวันออก

มันคือความพันลึกในรัฐประเทศอย่างไทย-เขมรที่มองผ่านกลับไปหา 2 มหาอำนาจ “จีน-สหรัฐ” ในอดีตที่พาดผ่าน 2 รัฐไทย-แขมร์แห่งภูมิภาคนี้

ช่างมีแต่ความพิลึก-พิลั่น…และพันลึกเลยสินะ

โดยเฉพาะไทย-เขมร ‘2 นครา’ ที่ต่างเป็นเหมือนสนามจำลองวอชิงตัน-ปักกิ่ง!

วกไปกว่า 50 ปีที่ผ่านมา สหรัฐตัดสินใจใช้นโยบายหักดิบเมื่อเห็นพระองค์เจ้านโรดม สีหนุ ดีงามกับปักกิ่งและฮานอย

พลัน วอชิงตันก็จัดการฝ่ายราชานิยมโดยส่ง พล.อ.ลอน นอล โค่นทำรัฐประหารอย่างเบ็ดเสร็จ 18 มีนาคม 2513

และก็ยึดไทยเป็นฐานทัพจีไอที่ร่วมสู้หวังสกัดการคุกคามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ล้อมไทยไว้ทุกด้าน ทั้งลาว เวียดนาม และเขมร

ผ่านไปเพียงครึ่งทางศตวรรษ แม้คนหนุ่มหลายฝ่ายในภาคี 4-5 ประเทศเวลานั้นจะล้มหายตายจาก และที่เหลืออยู่บ้างก็กลายเป็นนักโทษ บ้างก็เป็นปูชนียบุคคล อาทิ นายเขียว สัมพัน หรือนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ และนายทหารไทยคนหนึ่งที่ทางจีนให้การนับถือ คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

แต่เชื่อไหม จากวันนั้นถึงวันนี้ หากสามารถย้อนเวลากลับไปหาความหนุ่มคนเหล่านี้ เราจะเผลออุทานออกมาว่า ฉิบหายล่ะ “ทำไมเวลามันถึงวนกลับมาบนทางเดิม?”

 

ผ่านกาลเวลากว่า 2 เจเนอเรชั่น บริบทต่อสู้กันของ 2 ลัทธิขั้วอำนาจ “ทุนเสรี-คอมมิวนิสต์” หรือที่เรียกว่า ซ้าย-ขวาในอดีต ที่ดูเหมือนจะสลายขั้วไปเองหลังทศวรรษ’90 ที่สหภาพโซเวียตแตกยับและจีนหันมาปฏิวัติการค้ากับโลกเสรี เช่นเดียวกับกัมพูชาที่กลับมาเริ่มใหม่

สลัดทิ้งกลิ่นอายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงครามประชาชนในวันวาร และอย่างจงใจที่นักการเมืองซึ่งครองอำนาจยาวนานจนกลายเป็นชนชั้นนำผู้มั่งคั่งไม่กี่ตระกูล และหันไปเปิดทางการลงทุนจีนที่เข้ามาทำสัมปทาน หนุนกัมพูชาด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างสอดคล้องสมดุล

และส่งเสริมให้กัมพูชาหันไปสู่การเมืองแบบซัวเถา จนเข้าสู่เขมรวันนี้ที่ดีดตัวกลับขึ้นมาอยู่บน “วงแหวน” บนระนาบเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน! ที่ตัวอย่างความสัมพันธ์กัมพูชา มีระบอบสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นบริบทรองรับ ทว่า พัฒนาเป็นทุนเสรีนิยมลูกผสมกึ่งไฮบริด ที่สามารถคงอุดมการณ์การเมืองแบบเดิมของตน

กัมพูชาเดิมทีที่ถูกผลักดันแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกที่ต้องเปิดกว้างด้านการตรวจสอบ ในที่สุดก็เลือกทำ “abusive constitutionalism” (บิดเบือนหลักการรัฐธรรมนูญ) ผลักตัวเองไปสู่ระบอบเดียวกับจีน

น่าทึ่งทีเดียวสำหรับความยึดมั่นของรัฐบาลเขมรอันมีต่อกองทัพปลดแอกประชาชนจีนที่อุ้มสมกันมาตั้งแต่สมัยพลพต ผ่านไป 43 ปี การหลอมรวมนี้ยังคงเป็นไป ช่างเป็นยุทธวิธี “พิสดาร” ทั้ง “ดีมานด์และซัพพลาย” และดูจะง่ายดายกว่าอดีต!

จนกลายมาเป็นวันนี้ วันที่ผลผลิตลัทธิประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ มีอันแพ้ทางต่อ “abusive constitutionalism” ที่ช่างบังเอิญว่า ไทยและกัมพูชา เกิดมาใช้วิธีการนี้ที่ “พ้องกัน!”

 

ได้แต่สงสัยว่า อเมริกาเอง ซึ่งพัวพันไทย-เขมรในภูมิภาคนี้ พร้อมๆ กับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน/พรรคคอมมิวนิสต์เวลานั้น แต่วันนี้ ขณะที่อเมริกันยังงงเป็นไก่ตาแตกยิ่งกว่าสมัยสงครามอินโดจีนที่พวกตนทำแต่วิจัย

ตามบันทึกวิจัยของหน่วยข่าวกรองสหรัฐที่ฝังตัวในลาว สอดแนมในไทยและกัมพูชาตามสายอาชีพต่างๆ ทั้งซีไอเอในคราบเอ็นจีโอ หรือนักบินพาณิชย์ ฯลฯ ต่างให้ความเห็นทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงระบบคอร์รัปชั่นอันเลวร้ายในหมู่ชนชั้นนำและกองทัพ (กัมพูชา ลาว และไทย) ที่เป็นตัวก่อชนวนสงครามและความวิบัติ

จนถึงวันนี้ ก็ยังเป็น “จุดอ่อน” ของวอชิงตันที่ถอดบทเรียนนี้ไม่ได้!

โดยเฉพาะการบิดเบือนรัฐธรรมนูญ (abusive constitutionalism) เพื่อผลลัพธ์การเลือกตั้งกัมพูชาที่ผ่านมา นอกจากลิดรอนหลักการตามระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพประชาชนแล้ว ยังส่งผลเลวร้ายต่อความมั่นคงภูมิภาคเมื่อผู้นำกัมพูชาหมายยกระดับฐานทัพเรือตน แต่ให้กองทัพจีนดูแล!

กัมพูชากำลังทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นแดน “สงครามตัวแทน” อย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่ ย้อนไป ไม่ต่างจากสมัยที่สหรัฐปกป้อง “ไซ่ง่อน” จากฮานอยเวียดนามเหนือ!

แต่ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันไม่ใช่อดีตที่จะฉายซ้ำบนภาพเดิม! ซึ่งการทูตเชิงรุกสหรัฐครั้งนี้ คือปล่อยตัวนักโทษการเมือง และใช้กฎหมายทางการค้าบีบกัมพูชาประเด็นสิทธิมนุษยชน

ในเชิงรุก นี่คือการตอบโต้ของสหรัฐต่อปักกิ่ง โดยมีรัฐบาลใหม่กัมพูชาเป็นหนูทดลอง เทียบได้กับเป็นโดมิโนตัวสุดท้าย! สมัยสงครามอินโดจีน!

ในทันทีนั้น กัมพูชาและจีนกำลังเผชิญวิบากด้านเศรษฐกิจในรอบ 30 ปี!

สหรัฐใช้วิธีแบบไต้หวัน คือไม่ต้องตั้งฐานทัพ ใช้กำลังพลหรืออาวุธ แต่เป็น “สงครามการค้า” เป็นเกมโจมตีและสกัดกั้นอิทธิพลจีนในอินโดแปซิฟิกที่ตนเคยมีอิทธิพลครึ่งศตวรรษก่อน

และเกมนี้จะวัดกึ๋นจีน-สหรัฐต่อการสร้างอิทธิพลในไทย ซึ่งดูเหมือนโมเดลเลือกตั้งแบบพิธีกรรม (abusive constitutionalism) ยังคงอยู่ในกำมือในพรรคอนุรักษนิยมและกลุ่มทุนผูกขาดที่ “ถูกใจ” ทางการจีน

เป็นเกมที่สหรัฐระมัดระวังและสงวนท่าที กระนั้นก็ไม่วายถูกโจมตีจากหน่วยไอโอของกลุ่มฝ่ายขวาที่กล่าวหาด้วยแบบทฤษฎีสมคบคิด เช่น การตั้งฐานทัพในไทยและเป็นเรื่องแนวคิดที่ล้าหลังที่เหมาะจะโฆษณาชวนเชื่อในกัมพูชามากกว่าไทย!

ไม่ว่าจะกระแสพลเมืองไทยเจนซี (Z) ที่ไปไกลกว่าเพื่อนบ้าน และนี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พิธีกรรมการฟอร์มรัฐบาลในไทยมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่ากัมพูชาไปมหันต์ ซึ่งผิดคาดหากจะกล่าวว่า ทำไมสหรัฐและอียูกลับ “ยอมรับ” ในวิถีพิสดารการเมืองไทยเมื่อเทียบกับกัมพูช?

หรือแสดงให้เห็นว่า ไทยไม่ถูกจัดลำดับเป็น “สงครามตัวแทน” เช่นที่เขมร?

และสหรัฐเองเวลานี้ แทบไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อ “ปักกิ่ง-พนมเปญ” จะง่อนแง่นไปเอง ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่จะส่งผลระยะยาว ซึ่งนั่นจะทำให้นักลงทุน “การเมือง” ไทยพากัน “ระมัดระวัง” ในการเอาตัวเองเล่นเกม “ตัวแทน” แบบเดียวกับเขมร!

 

หรือนี่คือทฤษฎีสมคบคิดในความผิดของใครกัน? ระหว่าง “ไทย-กัมพูชา” หรือ “จีน-สหรัฐ” ที่ต่างผันผ่านเข้ามาและอยู่บนเส้นขนานเส้นเดียวกัน!

จากประสบการณ์ยุคโน้น โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่แพ้ไทยในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงซึ่งมีสหรัฐนั่นแหละที่หว่านแหไว้ให้ และมันได้พัฒนาอยู่ในกองทัพ ภายใต้ชื่อว่า “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” หรือ กอ.รมน.!

ปั๊ดโธ่ จะบ้า!

ก็อย่างนี้นี่แหละที่ต้นทางของ abusive democracy (ประชาธิปไตยภายใต้เผด็จการ) แฝงเต็มในกองทัพ ก็อเมริกันนั่นแหละตัวดีที่สปอลย์ชนชั้นนำไทยสมัยต่อสู้กับคอมมิวนิสต์อินโดจีน จนเสพติดความมั่งคั่งร่ำรวยตามลัทธิบริโภคนิยม

และเป็นต้นทางของการทำธุรกิจกองทัพ, การซื้ออาวุธคอมมิสชั่น, ระบบทุนผูกขาดและอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้นำมาสู่การทำรัฐประหารในรัฐบาลพลเรือนอีกด้วย!

เราเลยไม่รู้จะโทษใครดี ระหว่าง ทุนการเมืองจีนในภูมิภาคนี้? หรือ ระบอบประชาธิปไตยแฝงแบบกองทัพในอดีตของสหรัฐ?

กับอีก “จริตนิสัย” อันลื่นไหลพิสดารระหว่าง “ผู้นำไทย-กัมพูชา” ที่บังเอิญมาบรรจบพบกันในคราบ เป็น “สงครามตัวแทน” ของมหาอำนาจและในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งนี่เองที่ทำให้ “2 นครา” แห่งนี้ ที่ผ่านมา ต่างมี “จริตพิเศษ” ที่หาไม่ได้ในประเทศอื่น?

ตั้งแต่ย้อนอดีตมาจนถึงปัจจุบันบนเกมสงครามตัวแทนจีน-สหรัฐในภูมิภาคนี้ที่รุก-รับกันไปมาบนปากเหวประสบการณ์ “ไม่มีมิตรแท้-ศัตรูถาวร” ของ “สอง” นครา “ไทย-เขมร” และหรือ “จีน-สหรัฐ?”

กับบทสรุปสุดท้ายใน “คำสดุดี” ต่อเกมเลือกตั้งครั้งล่าที่ “กลยุทธ์อันแยบยลและลึกเร้น” และ “นำ” ไปอีกก้าวเมื่อเทียบกับกัมพูชา

ของชนชั้น-นำไทย!