ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (3) แม่บ้านนานาชาติ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (3)

แม่บ้านนานาชาติ

 

ออกจากกระทรวงศึกษาธิการเดินทางไม่นานเข้าสู่ถนน Avenida de Portugal เลียบชายฝั่งทะเล เป็นที่ตั้งสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ติดต่อกัน ไทย มาเลเซีย สหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือของติมอร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ภูมิทัศน์เยี่ยม ด้านหน้าหันสู่ผืนน้ำกว้างใหญ่รับลมเย็นพัดโชยตลอดเวลา

ถึงสถานทูต สุภาพสตรีไทย 5 คนมารอตามคำเชิญ บางรายชวนสามีมาเป็นเพื่อน พูด ฟังภาษาไทยได้ไม่ขัดเขินพร้อมยิ้มกว้าง

“ทั้งประเทศติมอร์ มีคนไทยอยู่แค่ 40 คน เฉพาะเจ้าหน้าที่สถานทูตก็ 5 คนแล้ว ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่งงานกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ สามีตำแหน่งหน้าที่การงานดีย้ายมาประจำที่ติมอร์ คู่ชีวิตเลยติดตามมาเป็นแม่บ้านนานาชาติ”

อุปทูตสกลวัฒน์ เจ้าภาพ แนะนำทีละคน

วงสนทนาอย่างเป็นกันเองระหว่างกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กับคนไทยในติมอร์-เลสเต ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงดิลี

ประธานมูลนิธิ เล่าความเป็นมาและภารกิจการเยือนติมอร์ เพื่อพบครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผู้บริหารโรงเรียน เยี่ยมโรงเรียน ครูและเด็ก ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ พบสื่อมวลชนและนักธุรกิจไทยหรือคนไทย แนะนำครูรางวัลให้รู้จัก

“เราเชิดชูครูสอนคน ไม่ได้สอนแต่วิชา เป็นแบบอย่างแก่เพื่อนครู แต่ละประเทศเลือกสรรมา ติมอร์มีแล้ว 5 ท่านมาร่วมเวทีวันนี้ด้วย”

นายจูลิโอ ไซเมน มาเดียรา ปี 2558 นางลิโอโปลดีน่า โจอานา กูตาเรส ปี 2560 นางลูเดช แรงเจล โกนิโอเวส หรือมามาลู ปี 2562 นายวิเซนเต ปี 2564 คนล่าสุด นางฟิโลมิน่า ปี 2566

ผมเรียกทุกคนว่าครูแสนดีเพราะไม่เพียงแค่สอนดี แต่ครูทำดี แสนดี นอกจากสอนเด็กแล้วยังช่วยชาวบ้าน ชุมชน คนยากไร้ขาดโอกาส โดยไม่เหน็ดเหนื่อย

ก่อนวงสนทนาค่อยๆ คึกคักด้วยคำถามหลากหลาย

 

“คุณแม่เป็นครูมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม” สุภาพสตรีคนแรกแนะนำตัวเองพร้อมคำถาม “มูลนิธิให้รางวัลแล้วติดตามอย่างไร กระบวนการสรรหา กลั่นกรองเป็นอย่างไรคะ”

“ครูนำเงินที่ได้ไปช่วยพัฒนาโรงเรียน ซื้อเสื้อผ้า อุปกรณ์ให้นักเรียน ให้เพื่อนครู” ประธานมูลนิธิตอบ และว่า “สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงแค่รางวัล แต่ทำอย่างไรกับครูต่อไป มีการประชุมแลกเปลี่ยน โชว์และแชร์ประสบการณ์กับครูคนอื่นๆ หลังได้รับรางวัลเราทำงานร่วมกันตลอด อยู่กันไปจนจากกันไปข้างหนึ่ง ทุกคนเป็นทรัพยากรบุคคลให้กับประเทศ อย่างครูไซนุดดิน บิน วาคาเรีย ครูรางวัลฯ มาเลเซียคนแรก มาร่วมกับคณะเที่ยวนี้ด้วย”

“ครูพัฒนาทักษะไอทีเพื่อพัฒนาการศึกษา นำโปรแกรมมาใช้ในการเรียนการสอน พัฒนากิจกรรมและบทเรียนใหม่ๆ ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติ 11 แห่ง เรียกว่าห้องเรียนไร้พรมแดน เวอร์ชั่น 2.0 ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนร่วมกัน ผ่านโครงงาน Project Based Learning PBL และ ICT ต้องไปด้วยกัน สื่อสารกันผ่าน Skype Email หรือแอพพลิเคชั่น WhatsApp Telegram หรือ Messenger

“นักเรียนสามารถใช้ ICT เป็นตัวช่วยในการเรียน จะมีทักษะในยุคศตวรรษที่ 21 เช่น การสื่อสาร การทำงานด้วยกัน มีระเบียบวินัย ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคเลย” ครูไซนุดดินเสริมหนักแน่น

 

สุภาพสตรีคนต่อมายกมือแนะนำตัวเอง “ชื่ออรัญญา บรอทวิค ชื่อเล่น เอ๋ ค่ะ” ก่อนมาอยู่ติมอร์ เป็น Chef ที่เมืองเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ รับสอนทำอาหารด้วย

“อาหารไทยยอดนิยมของคนติมอร์ ชอบอะไรครับ” คำถามหนึ่งดังตามมา

“ส้มตำกับต้มยำ ค่ะ” เธอยิ้มตอบ ก่อนขอตัวไปจัดอาหารว่างให้ชิมรสฝีมือทั่วห้อง

วงสนทนาเริ่มเข้มข้น เข้าสู่ปัญหาการศึกษา การเรียนการสอนกับเด็กไทย

“เราเรียนประวัติศาสตร์กันอย่างไร แต่ก่อนแบ่งเป็นวิชาชัดเจน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม เวลานี้เอาไปรวมกันหมดในหมวดสังคมศึกษา เลยมีปัญหา ต้องมีครูแนะแนวที่เข้มแข็ง”

“เด็กถูกสอนให้เกลียดประเทศเพื่อนบ้าน พม่า เวียดนาม ทั้งๆ ที่เราต้องการขายของให้เขา การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่นิสัยของคนตะวันออก” สมาชิกวงสนทนาอีกรายให้ความเห็น

 

ก่อนสุภาพสตรีหน้าอ่อนวัยกว่าใครลุกขึ้นแนะนำตัว ชื่อ ดลลดา ธรรมธนาคม ค่ะ เป็นลูกสาวครูณัชตา ธรรมธนาคม โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ ชุมชนคลองเตย กทม. ครูคุณากร รุ่นแรกปี 2558

“จำได้ จำได้ คุณแม่สอนศิลปการแสดง ร้องรำไทย ดนตรีไทย นาฏมวยไทย มวยผสมดนตรีไทยสากล โลกกลมจริงๆ มาเจอลูกสาวที่ติมอร์” กรรมการมูลนิธิ ทั้งครูเบญจลักษณ์ ครูทินสิริเอ่ยพร้อมกัน

คุณดลลดาเป็นนักเรียนโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ ได้รับรางวัลนักเรียนทุนพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ปี 2536 เป็นยุวทูตวัฒนธรรมของ กทม.ไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ญี่ปุ่น เปอร์โตริโก

 

สุภาพสตรีคนต่อมา คุณกาญจนาภรณ์ แกริทออท เคยเป็นครู กศน. 12 ปี ไปอยู่ออสเตรเลียเป็นครูอนุบาล 11 ปี ก่อนย้ายมาติมอร์พร้อมสามี

“มูลนิธิมีโครงการสนับสนุนคนอยากเป็นครูไหมคะ ถ้ามีเด็กอยากเป็นครู” เธอตั้งคำถาม

“ที่ผ่านมาเราจะช่วยพัฒนาครู แต่ก็พูดคุยกับผู้ประกอบธุรกิจที่ไปลงทุนในประเทศครูรางวัล ให้มีทุนการศึกษาแก่นักเรียนในประเทศนั้นๆ ด้วย ที่ติมอร์เพิ่งเปิด Private Sector ยังไม่กว้างขวาง” ประธานมูลนิธิให้ความกระจ่าง

สุภาพสตรีอีกราย ผมคุยกับเธอต่างหาก คุณนงลักษณ์ จอร์จ เจ้าของร้านไทยลานนา นวดแผนไทย เป็นชาวลำปาง มาอยู่ติมอร์กับสามีได้ 20 ปีแล้ว

เธอเล่าถึงธุรกิจของคนไทยว่า ร้านอาหาร 2 ร้าน นวดแผนไทย 2 ร้าน เป็นของคนจีนอีก 2 ร้าน ค่าบริการร้านจีน 30 เหรียญ ร้านไทย 22 เหรียญ ถ้าหมอนวดติมอร์ 15 เหรียญ

“ทำธุรกิจที่ติมอร์เงินเก็บได้มากเพราะของกินหายาก ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ สมัยที่กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติอยู่รายได้ดีมาก”

ก่อนวงสนทนาปิดลง คุณอรัญญา เชฟรับปาก ยินดีสอนทำอาหารแก่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ติมอร์ มาเรียนที่บ้านเธอได้เลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น จะได้เอาไปสอนให้เด็กทำ

“ยังไม่มีทุนใหญ่ไทยมาทำธุรกิจ คุยกับภาคเอกชน ภาคประชาชนวันนี้ได้ผลทันที เร็วกว่าอีก” คุณหมอ อดีต ผจก.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของไทย เอ่ย

 

คุยกันไปคุยกันมาถึงชีวิตคนไทยในติมอร์ใกล้จบ เสียงหนึ่งดังขึ้นเบาๆ “ท่านประธานาธิบดี มีลูกสะใภ้เป็นคนไทย”

เหยี่ยวข่าวจากกรุงเทพฯ ได้ยินแล้วนั่งไม่ติด รักษามารยาท ไม่เอ่ยถามเจ้าภาพ “จริงหรือ เธอผู้โชคดีคนนั้นเป็นใคร”

ต่อมาถึงได้รับรู้ความจริงจากคุณกุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงดิลี เขียนไว้ในบทความเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย – ติมอร์-เลสเต ในประสบการณ์นักการทูต”

“ผู้นำคนปัจจุบันของติมอร์-เลสเต ประธานาธิบดี จูแซ รามุซ ออร์ตา มีลูกสะใภ้เป็นคนไทย ลูกชายไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ตกหลุมรักเพื่อนนักศึกษาสาวไทยจนถึงขั้นขอแต่งงาน ออร์ตาในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เชิญผมไปกินข้าวที่บ้านและปรึกษาเรื่องการจัดงานแต่งงานที่กรุงเทพฯ จัดขึ้นอย่างสมเกียรติที่โรงแรมเซ็นทรัล ลาดพร้าว แขกเหรื่อมาจากทั่วโลก รวมถึงผู้นำระดับสูงของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีติมอร์ไปร่วมงานเกือบทั้งหมด นำโดยประธานาธิบดีกุสเมา คณะรัฐมนตรีไทยก็ไปร่วมด้วยหลายคน นายทหารใหญ่น้อยของไทยจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การสหประชาชาติและเพื่อนๆ ของออร์ตาจากทุกมุมโลก กล่าวโดยสรุปคือ ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของติมอร์ตะวันออกมีลูกสะใภ้เป็นคนไทย”

ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ เส้นทางมิตรภาพ 2 ทศวรรษไทย – ติมอร์-เลสเต ธันวาคม พ.ศ.2565 ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ติมอร์ โดยศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ไพลิน กิตติเสรีชัย เป็นบรรณาธิการ

ไทย ติมอร์ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต 20 พฤษภาคม 2545 สถานเอกอัคราชทูต ณ กรุงดิลี เปิดทำการ 28 ตุลาคม 2545 นายรามุซ ออร์ตา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนแรก ของติมอร์-เลสเต พ.ศ.2545

คุณกุลกุมุท เป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรก พ.ศ.2546 เล่าด้วยว่า รามุซ ออร์ตา เป็นนักคิด นักหนังสือพิมพ์ นักต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยคนสำคัญของติมอร์ตะวันออก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

หนังสือรวบรวมบทความของผู้มีประสบการณ์ตรงกับติมอร์-เลสเต หลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ มีคุณค่า สาระน่าอ่านมากจริงๆ