ฮาวทู โฆษกจะรอดชีวิต จากการทำหน้าที่ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ทุกวันนี้ถึงแม้จะพ้นจากราชการประจำมานานปีแล้วก็ตาม แต่ผมก็ยังมีงานเบ็ดเตล็ดเล็กน้อยอื่นๆให้ทำอยู่เสมอ รวมทั้งงานสอนหนังสือและการไปบรรยายหรือร่วมวงสนทนาอภิปรายในหัวข้อที่ผมมีความสนใจอยู่เนืองๆ

บ่อยครั้งที่ผมใช้พื้นที่ในสื่อออนไลน์ที่เรียกว่า Facebook แสดงความคิดเห็น เล่าเรื่องส่วนตัวที่ผมได้พบมาด้วยตัวเอง หรือศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ ให้ผู้อ่านได้ร่วมอ่าน ร่วมสนุกหรือแม้กระทั่งร่วมคิดไปพร้อมกันกับผม

ดังนั้น ถ้าจะพูดกันตามข้อเท็จจริงแล้ว ชีวิตหลังเกษียณของผมจึงไม่ใช่ชีวิตที่เงียบหายไปจากการมีตัวตนอยู่ในสังคม เพียงแต่เป็นการมีตัวตนในรูปแบบใหม่ที่ผมไม่ผูกมัดยึดโยงอยู่กับตำแหน่งหน้าที่สำคัญอะไร

ความเป็นอิสระจึงมีมากอยู่พอสมควร

และเป็นอิสระในทางความคิดมากกว่าตอนอยู่ในราชการตั้งเป็นก่ายเป็นกอง

บางครั้งเมื่อมีประเด็นที่สื่อมวลชนนึกถึงผมขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม หรือบางทีก็เฉียดไปในเรื่องการบ้านการเมือง ก็จะมีคนโทรศัพท์มาถามความเห็นผมหรือเชิญผมไปร่วมรายการวิทยุทีวีต่างๆ อยู่เสมอ

ผมก็ให้ความเห็นไปตามสติปัญญาของผมล่ะครับ อย่าไปถือว่าเป็นความคิดเห็นที่สลักสำคัญอะไร

 

ตัวอย่างเช่น ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาขณะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคอย่างที่หลายท่านเรียกว่าเป็นการผสมข้ามขั้ว ขณะที่บางท่านขอให้เรียกแบบอ่อนละมุนลงมาหน่อยว่า เป็นรัฐบาลผสมสลายขั้ว

มีผู้สื่อข่าวที่คุ้นเคยกันมานานปีโทรศัพท์มาถามผมว่า รัฐบาลอย่างนี้จะมีอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง

คำถามอย่างนี้คนตอบต้องคิดหนักนะครับ ในเมื่อรัฐบาลยังอยู่ในฐานะเพิ่งตั้งไข่ จะติเรือทั้งโกลนก็ไม่เหมาะ จะเชียร์กันจนสุดลิ่มทิ่มประตูก็เกินงาม

คำตอบของผมจึงมีอยู่ว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสม มาจากพรรคการเมืองหลายพรรค ถึงแม้จะมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำหลักก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยจะทำงานตามใจชอบได้โดยลำพัง

เปรียบก็เหมือนชีวิตสมรสหรือคู่แต่งงาน ต่างคนมาจากพื้นเพที่ไม่เหมือนกัน เมื่อมาอยู่ร่วมกันแล้วก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน แม้มีเรื่องกระทบกันบ้างเหมือนลิ้นกับฟันก็ต้องอดทน

ผัวเมียบางคู่สามารถอยู่กันไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่บางคู่หม้อข้าวยังไม่ทันดำก็ต้องเลิกรากันเสียแล้ว

เราซึ่งเป็นประชาชนก็ต้องเฝ้าดูว่าคู่แต่งงานใหม่คราวนี้จะอยู่กันไปได้ยั่งยืนเพียงใด และทำงานให้เป็นประโยชน์กับเราได้มากน้อยแค่ไหน

 

คําตอบแบบนี้ผมเชื่อว่าตอบอีกสิบหนก็ไม่มีผิดครับ เพราะไม่ได้ฟันธงไปข้างหนึ่งข้างใด หากแต่ยืนอยู่บนข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลผสมนั้นไม่ใช่ของง่ายที่จะอยู่ด้วยกันไปตลอดเวลาสี่ปี ของอย่างนี้ต้องดูกันไปยาวๆ

เมื่อพูดถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนดังตัวอย่างข้างต้นแล้ว ผมนึกเองเออเองว่า ถ้าจะมีใครเขียนตำราว่าด้วยเรื่องการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนของผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายแล้ว น่าจะขายดีพอสมควรนะครับ

ผมเองเมื่อครั้งที่ยังทำงานประจำอยู่ได้เคยรับหน้าที่เป็นโฆษกอยู่หลายวาระ ตั้งแต่เคยเป็นโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 โฆษกกระทรวงยุติธรรมในเวลาที่ไปรับราชการอยู่ที่กระทรวงนั้นนานปี หรือแม้กระทั่งเป็นโฆษก ศปภ.เวลาน้ำท่วมใหญ่ เมื่อพุทธศักราช 2554

คำว่าโฆษกนี้ก็น่าคิดนะครับ โฆษะแปลว่าเสียงก้อง พอใส่ ก.ไก่ เข้าไปอยู่ข้างท้าย ก็มีความหมายว่าผู้ทำให้เสียงก้อง แปลเป็นภาษาชาวบ้านอีกทีหนึ่งว่าคนที่ส่งเสียงให้คนอื่นได้ยินนั่นเอง

 

ในทัศนะส่วนตัวของผมแล้ว ข้อแรกที่จะทำให้โฆษกรอดชีวิตในหน้าที่ได้ดีหรือล้มตายกลางคัน คือตัวเราต้องมีข้อมูลหรือมีความรู้ในเรื่องที่จะพูดได้อย่างมั่นใจ ห้ามเดาเป็นอันขาด ถ้าไม่รู้ก็ต้องขวนขวายหาเพิ่มเติม หรือมิฉะนั้นก็ชวนคนที่รู้มากกว่าเรามายืนอธิบายร่วมกันกับเราเลย

เมื่อครั้งที่ทำหน้าที่เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือโฆษกกระทรวงยุติธรรมนั้นผมไม่สู้หนักใจครับ เพราะเนื้อหาที่ต้องแถลงเป็นเรื่องกฎหมายเสียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นงานที่เราทำมากับมือตั้งแต่เบื้องต้น คลังข้อมูลที่มีอยู่ในสมองของเราจึงมีมากพอที่จะหยิบมาใช้เมื่อใดและอย่างไรก็ได้

แต่ตอนเป็นโฆษกน้ำท่วม เรียกโดยย่อว่าอย่างนั้นก็แล้วกันนะครับ เรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น

เพราะผมไม่ได้มีความรู้ในเรื่องการระบายน้ำ การบรรเทาทุกข์ การพยากรณ์อากาศ และอีกสารพัดการที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ที่ต้องเป็นผู้แถลงข่าวประจำวันต่อหน้าสื่อมวลชนนับสิบนับร้อยเลย

ในช่วงเวลาดังกล่าว ในแต่ละวันผมจึงมอบการบ้านให้กับตัวเองที่จะต้องหาความรู้จากหน่วยราชการต่างๆที่มีผู้มาร่วมทำงานในศูนย์ปฏิบัติการแห่งเดียวกัน ต้องติดตามสถานการณ์ให้ทันต่อเหตุที่เกิดขึ้นจริงอยู่ทุกขณะ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้มาสรุปและกำหนดเป็นประเด็นที่ตัวเองจะแถลงข่าวด้วยวาจากับสื่อมวลชนในเวลาหนึ่งทุ่มของทุกวัน

ข้อมูลบางอย่างต้องตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้แน่ใจว่าความจริงคืออะไร

เพราะในภาวะวิกฤตเช่นนั้นข่าวลือเยอะเหลือเกิน

 

เช่น มีอยู่วันหนึ่ง มีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่าถนนพระรามสองซึ่งเป็นเส้นทางหลักจากกรุงเทพมหานครลงสู่ภาคใต้เส้นทางหนึ่งถูกน้ำท่วมจนสัญจรไปมาไม่ได้ ผมจึงนั่งอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการตรงใกล้กับห้าแยกลาดพร้าวจะตรัสรู้ได้อย่างไร

ผมก็ต้องใช้วิธีสอบถามกับกระทรวงคมนาคมและตำรวจทางหลวงสิครับ ว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของทั้งสองหน่วยมีข้อมูลอะไรที่สามารถยืนยันได้บ้าง เมื่อได้ข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ผมยังไม่แล้วใจ ยังรู้สึกว่าตัวเองควรตรวจสอบเพิ่มเติมอีกสักนิด

ผมใช้วิธีโทรศัพท์หาลูกศิษย์หรือญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่บนเส้นทางถนนพระรามสอง ตั้งแต่ละแวกมหาชัยเรื่อยไปจนถึงสมุทรสงคราม แถมยังล้ำแดนเข้าไปในจังหวัดเพชรบุรีอีกนิดหน่อยด้วยว่า รถราแถวนั้นวิ่งได้เป็นปกติหรือไม่

ได้ความทั้งหมดแล้วจึงมาสรุปว่า ถนนพระรามสองมีน้ำท่วมมากพอสมควร ถ้าเป็นรถเล็กก็ผ่านไปมายากลำบาก แต่ถ้าเป็นรถขนาดใหญ่หรือมีความสูงจากระดับพื้นถนนมากพอสมควรยังพอผ่านไปมาได้สะดวก

นี่เป็นเพียงตัวอย่างนิดเดียวนะครับของประเด็นที่ว่าโฆษกต้องเป็นผู้รู้และมั่นใจในเรื่องที่ตัวเองต้องเป็นคนพูดแถลงข่าว

ห้ามมั่วเป็นอันขาด เพราะถ้าถูกจับได้ว่ามั่วเสียแล้วครั้งหนึ่ง จะไปเหลือเครดิตอะไรอีกเล่า

 

ประเด็นถัดไปนอกจากเรื่องของการมีข้อมูลหรือความรู้ที่แม่นยำแล้ว โฆษกต้องรู้วิธีพูดวิธีสื่อสาร พูดให้คนฟังเข้าใจง่าย พูดแล้วไม่ตกหล่นประเด็นสำคัญ และต้องใช้เวลาแถลงข่าวหรือให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนอย่างเหมาะสม

ไม่ใช่ยืนแถลงข่าวคราวเดียวซัดเสีย 3 ชั่วโมง ทำแบบนั้นประเด็นจะพร่ามัวหมด เพราะสื่อทั้งหลายจะไปย่อความเอาเองตามใจชอบ และถ้าเขาทำอย่างนั้นแล้ว เราอาจจะไม่ชอบก็ได้ ฮา!

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือต้องเป็นผู้มีทักษะความสามารถในการสื่อสาร รู้จักย่อความขยายความในโอกาสที่สมควร ไม่ถึงขนาดต้องเป็นนักโต้วาทีหรอกครับ แต่ต้องมีทักษะและความสามารถในการพูดต่อที่สาธารณะตามสมควร

 

อีกข้อหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญไม่แพ้กับข้อที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือการควบคุมอารมณ์และกิริยาท่าทางของตัวเองให้สุภาพและเป็นมิตรอยู่เสมอ เราต้องไม่ลืมว่าไมโครโฟนและสารพัดกล้องไม่ว่าจะเป็นกล้องภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวรวมทั้งกองทัพสื่อมวลชนที่อยู่ตรงหน้าเรานั้น แท้จริงแล้วคือประชาชนอีกเป็นแสนเป็นล้าน ที่เป็นผู้รอรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อกลางที่อยู่ตรงหน้าเราอีกทีหนึ่ง

การชักสีหน้าเมื่อมีคำถามที่ไม่พอใจ การส่งเสียงกราดเกรี้ยว การใช้วาจาดูแคลน หรือการใช้ถ้อยคำที่เป็นการยกตนข่มท่าน

ห้ามลืมเป็นอันขาดว่ากิริยาทั้งหมดที่ว่ามาเหล่านั้น ผู้แถลงข่าวกำลังสื่อสารกับประชาชน และเป็นประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ เป็นประชาชนที่เราพูดอยู่เสมอว่าเราอาสาเข้ามาทำงานเพื่อรับใช้ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนเหล่านั้นเสียด้วย

ขอให้เวลาหลายปีที่ผ่านมาและกำลังจะผ่านพ้นไปเป็นบทเรียนสอนใจผู้เกี่ยวข้องบ้างก็ยังดี

ไหนๆ ในวันที่เราพูดถึงเรื่องนี้กันอยู่ รัฐมนตรีใหม่ก็กำลังจะเข้ารับหน้าที่ โฆษกของทางราชการในระดับต่างๆ ตั้งแต่โฆษกรัฐบาลไปจนถึงโฆษกกระทรวง จะมีการแต่งตั้งใหม่หลายคน

ถ้าท่านโฆษกทั้งหลายไม่รังเกียจ ท่านอ่านบทความวันนี้แล้วนึกเสียว่าเป็นวรรณคดีประเภทกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ผมก็ไม่ขัดข้องนะครับ

ส่วนท่านรัฐมนตรีทั้งปวงอย่ามาอ่านบทความขี้กะโล้โท้อย่างนี้เลยครับ

ขอท่านได้โปรดเร่งฝีมือทำงานเถิด ประชาชนรอชมผลงานครับ