เบิ่งอีสานภายหลังการปฏิวัติ : ตะลอนไปกับทีมปาฐกถาประชาธิปไตย (1) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ภายหลังการปราบกบฏบวรเดช (2476) แล้ว รัฐบาลประเมินสถานการณ์การเมืองในปีถัดมา (2477) ว่า ยังอยู่ในภาวะแกว่งไกว ว่า ประชาชนที่ “พอใจและนิยมชมชอบ” ในระบอบประชาธิปไตยมีเพียงร้อยละ 25 ประชาชนที่ไม่พอใจมีร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 นั้น “ไม่รู้ไม่ชี้อะไรด้วยเลย”

(สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 5)

รถเผยแพร่ข่าวสารของสำนักงานโฆษณาการ (2476-2483) และเด็กๆ ในศรีสะเกษ ช่วงปลายทศวรรษ 2470

รัฐบาลเร่งเผยแพร่ระบอบใหม่
แสวงหาการสนับสนุนระบอบใหม่

ภายหลังที่คณะราษฎรเผชิญกับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยมด้วยการก่อกบฏบวรเดช (2476) นั้น ทำให้รัฐบาลตระหนักว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทแดนไกลนั้นคุ้นเคยกับวัฒนธรรม ความเชื่อ การปกครองของระบอบเก่า โดยยังไม่ตระหนักในความเป็นเจ้าของประเทศ สิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น สำนักงานโฆษณการ เสนอว่า “ฝ่ายบริหารซึ่งน่าจะจัดการให้ประชาชาติอีก 60 ในร้อยนั้นได้รู้ว่า เขามีส่วนได้อะไรในระบอบการปกครองใหม่นี้บ้าง… เพราะหากไม่กระทำดั่งนั้น จะบังเกิดการต่อต้านระหว่างพวกที่นิยมกับไม่นิยมขึ้น แม้พวกที่นิยมจะมีมากกว่าพวกไม่นิยม อันหวังผลชะนะได้ก็จริง แต่ถ้าเราเป็นพวกที่มีกำลังน้อย เราจะต่อต้าน [พวกไม่นิยมระบอบประชาธิปไตย] ไปตลอดได้หรือ เราย่อมหากำลังพรรคพวกให้มากขึ้น พวกนั้นจะได้มาจากไหน ก็ได้มาจากพวก 60 ในร้อยซึ่งยังไม่รู้อะไรเลย เมื่อถูกปั่นไปทางไหน ใครมาพูดก่อน ย่อมไปทางนั้นแน่ๆ ดังนั้น ฝ่ายบริหารจะต้องพยายามหาโอกาสชี้แจงกับพวกเขาเสมอเนืองๆ แล้ว พวกเขาย่อมคล้อยมาด้วยกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายที่ต่อต้านเมื่อไม่สามารถหาพวกได้แล้ว ก็จำต้องระงับความคิดในการต่อต้านและนานๆ ไปอาจกลับใจ หมดทิฏฐิมานะในการต่อต้านลงก็ได้” (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 5-7)

แผนกปาฐกถาของสำนักงานมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนด้วยการรับฟังและสนทนาแลกเปลี่ยนด้วย “การบอกเล่าให้ถึงปากถึงตัว” พร้อมเปิดให้ประชาชนซักถาม พร้อมมีคำแนะนำว่า หากมีปาฐกถาในชุมชนที่มีการศึกษาให้ใช้ภาษาสละสลวย แต่หากเป็นชุมชนที่อ่อนการศึกษาให้ใช้ภาษาเรียบง่าย สามัญ และถ้าใช้ภาษาถิ่นได้จะดีมาก

นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่จัดหาปาฐก ผู้มีความรู้อย่างกว้างขวางที่เกี่ยวข้องกับในหลัก 6 ประการ หาปาฐกที่มีคุณวุฒิมาช่วยงาน วางระเบียบหลักการหรือจัดทำคู่มือปาฐก จัดให้มีการปาฐกตามหลัก 6 ประการและนโยบายของรัฐบาล ให้จัดปาฐกถาทั่วประเทศอย่างน้อยปีละ 6 เดือน (สำนักงานโฆษณาการ, 2477, 33-35)

ไพโรจน์ ชัยนาม อดีตข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์เล่าไว้ว่า เมื่อปี 2477 สำนักงานจัดตั้งหน่วยปาฐกถาขึ้น 3 หน่วยขึ้น มีการกำหนดไปแสดงปาฐกถาในภาคอีสานก่อนภาคอื่น ด้วยเห็นว่า อีสานเป็นพื้นที่กันดารมากกว่าที่อื่น งานปาฐกถาครั้งแรกในภาคอีสานเริ่มช่วงเดือนมกราคม 2477 เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน มีแผนไปทุกอำเภอ และพยายามไปให้ถึงตำบลใหญ่ๆ ให้มากที่สุด (ไพโรจน์, 2504, 548)

 

ชีวิตคนอีสาน
ในกระแสความเปลี่ยนแปลง

สภาพชีวิตคนอีสานใช่วงทศวรรษ 2470 จากความทรงจำของ “นายหนหวย” (ศิลปชัย ชาญเฉลิม, 2465-2543) ชาวอุบลราชธานี บันทึกไว้ว่า ความเป็นอยู่ของคนอีสานนิยมปลูกพืชในสวนหลายชนิดเพื่อการยังชีพ และเลี้ยงสัตว์อยู่ใต้ถุนบ้านที่ยกขึ้นสูง ใช้เก็บเกวียนอุปกรณ์การเกษตรด้วย บางบ้านใช้ใต้ถุนบ้านตั้งที่ทอผ้า บ้างก็ใช้เป็นที่พักผ่อนพร้อมเป็นที่รับแขกด้วย (นายหนหวย, 2537, 33)

เมื่อนายหนหวยได้เข้าเรียนแล้ว เขาจำได้ว่า ครั้งเกิดการปฏิวัติ 2475 “ปีนั้นคือปี พ.ศ.2475 เรียนจบประถม 3 ลูกเสือก็เป็นแล้ว ในเดือนมิถุนายนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วมีหนังสือพิมพ์ลงข่าว เวลานั้นเมืองอุบลมีคนรับหนังสือพิมพ์อ่านกันมากพอสมควร เพราะรถไฟไปถึงนำความเจริญไปด้วย ผมถูกให้ผู้ใหญ่อ่านคำแถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 สู่กันฟัง อ่านซ้ำอ่านซาก ประเดี๋ยวคนโน้นยังไม่ได้ฟังต้องอ่านอีก…ผมอ่านแล้วรู้เรื่องดีเพราะอ่านหลายสิบครั้งจนจำได้เป็นบางตอน จึงทำให้สนใจเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคมและบ้านเมืองตั้งแต่นั้นมา จำชื่อพระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิ์ฯ ตั้งแต่ครั้งโน้น” (นายหนหวย, 2537, 54-55) เขาเล่าว่า ในเมืองอุบลสมัยนั้นไม่มีวิทยุ พระภิกษุบางรูปรับรู้ข่าวสารจากการอ่านหนังสือพิมพ์ศรีกรุง (นายหนหวย, 2537, 90-91)

จากบันทึกนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชาวอุบลฯ ในตัวเมืองนั้นรับทราบการปฏิวัติ 2475 ที่เกิดขึ้นในพระนครแล้ว และมีความสนใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

ต่อมา “ปี 2476 ผมเรียนชั้น ป.5 ได้เกิดศึกกลางเมือง เรียกสมัยนั้ยว่ากบฏบวรเดช เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม รบกันตามทางรถไฟจนถึงโคราช ผมได้ทราบข่าวและติดตามความเคลื่อนไหวจากหนังสือพิมพ์ ไทยเขษมรวมข่าวที่พ่อรับเป็นสมาชิก…” (นายหนหวย, 75)

ข้าราชการในอีสานที่ภักดีต่อระบอบเก่าด้วยการช่วยเหลือกบฏบวรเดชถูกปลดจากการกระทำผิดโดยตรงและต้องสงสัยว่ามัวหมอง รวมทั้งญาติของนายหนหวยถูกพักราชการด้วย (นายหนหวย, 2537, 94-95)

ชีวิตชาวอีสานในช่วงทศวรรษ 2450

สภาพอีสาน
ภายหลังการสิ้นสุดระบอบเก่า

สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมหาสารคามภายหลังการสิ้นสุดระบอบเก่านั้น พระยาสารคามคณาภิบาลและนายทองม้วน อัตถากร ได้บรรยายสภาพความห่างไกลของมหาสารคามไว้ว่า หากท่านจะมาเยือนมหาสารคามนั้น “…อาจไปได้โดยทางรถไฟจากพระนคร พักที่นครราชสีมา 1 คืน ขึ้นรถไฟต่อไปทางสายขอนแก่นลงที่สถานีบ้านไผ่ ขึ้นรถยนต์ต่อไปอีกราว 4 ถึง 6 ชั่วโมงจึงจะถึงที่ตั้งจังหวัด ส่วนการคมนาคมระหว่างท้องที่ต่างๆ ในจังหวัดนี้โดยมากต้องไปทางเกวียน ที่ไปด้วยรถยนต์ได้นั้นมีน้อย ทางรถยนต์ส่วนมากเป็นทางเกวียนมาก่อน…” (สำนักงานโฆษณาการ, 2478, 117)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพการคมนาคมหลักของอีสานเมื่อสุดทางรถไฟครั้งนั้นแล้ว คือ ทางเกวียน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยากลำบากมากในฤดูฝนที่เต็มไปด้วยปรักโคลน ผิวทางขรุขระ มิพักจะกล่าวถึงการเดินทางไปยังจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลเข้าไปในดงลึกของอีสาน

ผู้แทนฯ มหาสารคามเล่าถึงหนทางมาเยือนจังหวัดของเขาไว้ว่า ก่อนหน้าที่รถไฟจะถึงจังหวัดขอนแก่นเมื่อ 2476 การเดินทางระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับมหาสารคามยากลำบากยิ่ง ต้องใช้เกวียนซึ่งเดินทางได้ไม่เกินวันละ 20 กิโลเมตร และในฤดูแล้งต้องใช้เวลาถึง 10 วันต้องนั่งในเกวียนบนเส้นทางฝุ่นตลบ กันดารทั้งน้ำบริโภคและใช้สอย บางทีต้องไปหาน้ำห่างที่เกวียนพักหลายร้อยเส้น บางทีก็มีแต่น้ำขุ่นๆ เจือไปด้วยมูลโค ก่อนใช้น้ำต้องกวนด้วยสารส้ม กว่าจะได้ดื่มก่อนหรือหุงหาอาหารก็เหนื่อยแทบเป็นลม

นักเดินทางในครั้งนั้น ถ้าไม่เป็นคนอดทนอาจต้องเลิกราเสียกลางทางก็ได้ มิพักต้องกล่าวถึงการเดินทางในฤดูฝนอาจต้องใช้เวลาเดินทางถึง 20 วัน นับว่าได้รับความทรมานในการเดินทางเป็นอย่างมาก ต้องนำเกวียนโคลุยน้ำลุยโคลนไปแทบตลอดทาง บางคราวถึงขนาดต้องนอนบนโคลนตม จะหาฟืนใช้หุงหาอาหารก็หายาก (118)

ส่วนการกินอยู่หลักของชาวมหาสารคามนั้น ผู้แทนฯ มหาสารคามเล่าว่า เท่าที่พบเห็นทั่วไปคือการกินข้าวเหนียวกับพริกผง เกลือ และปลาร้า ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดยากจน ทำให้มาตรการกินจึงต่ำ (119)

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของอีสานที่ห่างไกลและประชากรจำนวนมาก อีกทั้งอีสานยังเคยเป็นฐานกำลังสำคัญของการก่อกบฏบวรเดช ทำให้รัฐบาลคณะราษฎรให้ความสำคัญแก่ภาคอีสานด้วยการส่งทีมปาฐกถาเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนเพื่อสร้างสำนึกความเป็นเจ้าของประเทศและเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยเข้าแทนที่ความคุ้นเคยที่ประชาชนเป็นเพียงผู้ถูกปกครองตามระบอบเดิม

เส้นทางเกวียนในอีสานปลายทศวรรษ 2470 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton
เด็กๆ ศรีสะเกษ ปี 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton