จับตา พท.เปลี่ยนเกม ส่ง ‘สุทิน’ นั่ง ‘กห.’ โผส่งท้าย ‘บิ๊กตู่’ คอแดง ล้อม คอเขียว ‘บิ๊กหนุ่ย-บิ๊กหยอย’ ชิง ‘บิ๊กปู’ จับตา ‘บิ๊กต้น’ หมวกแดง กับเกมหมากล้อมของ ตท.24 จ่อยึดเหล่าทัพ และศึก ตท.27-28

รายงานพิเศษ

 

จับตา พท.เปลี่ยนเกม ส่ง ‘สุทิน’ นั่ง ‘กห.’

โผส่งท้าย ‘บิ๊กตู่’ คอแดง ล้อม คอเขียว

‘บิ๊กหนุ่ย-บิ๊กหยอย’ ชิง ‘บิ๊กปู’

จับตา ‘บิ๊กต้น’ หมวกแดง

กับเกมหมากล้อมของ ตท.24

จ่อยึดเหล่าทัพ และศึก ตท.27-28

 

แม้จะดูเหมือนพบกันครึ่งทาง ที่ให้บิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ ขึ้นเป็น ผบ.ทร.ก่อน 1 ปี แล้วจะให้บิ๊กวิน พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข จาก ผช.ผบ.ทร. ขึ้นเป็นรอง ผบ.ทร. จ่อเอาไว้ เพื่อเป็นต่ออีก 1 ปี เพราะเกษียณ 2568

แต่ “สัญญาใจ” หรือ “สัญญาสุภาพบุรุษ” ระหว่างบิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. ที่กำลังจะเกษียณ กับบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่กำลังจะหมดอำนาจ ย่อมไร้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ เพราะ พล.ร.อ.อะดุง ไม่ได้เป็นคนไปสัญญิงสัญญาใดๆ ไว้

จึงเป็นเพียงเทคนิคในการเจรจาต่อรองของ พล.ร.อ.เชิงชาย เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยินยอมพบกันครึ่งทางเท่านั้น

เพราะ พล.ร.อ.เชิงชาย ใช้กลยุทธ์ที่แยบยล ด้วยการเสนอชื่อบิ๊กโอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. ที่มีอายุราชการ 2 ปี เท่ากับ พล.ร.อ.สุวิน ก่อนเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ให้นโยบายว่า ต้องการให้ ผบ.เหล่าทัพมีอายุราชการอย่างน้อย 2 ปี จะได้ทำงานต่อเนื่อง

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีอ่อนลงในเรื่องอายุราชการ เพราะ ผบ.ทบ.คนใหม่ บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ.นั้น ก็มีอายุราชการเหลือแค่ปีเดียว รวมถึงแคนดิเดต ผบ.ทอ.ในขณะนั้น ตัวเต็งๆ ส่วนใหญ่ก็เหลืออายุราชการปีเดียวเช่นกัน

มีรายงานว่า พล.ร.อ.เชิงชาย จึงเสนอทางสายกลาง คือ ให้ พล.ร.อ.อะดุง ที่มีอายุราชการปีเดียว ขึ้นเป็น ผบ.ทร.ก่อน แล้วให้ พล.ร.อ.สุวิน ขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ทร. พล.ร.อ.ชลธิศ ขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทร. เพื่อชิงกันปีหน้า โดยมีบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ช่วยเจรจากับ พล.อ.ประยุทธ์

จนที่สุด ก็จบลงที่ชัยชนะของ พล.ร.อ.เชิงชาย โดยดัน พล.ร.อ.อะดุง ที่ได้รับการสนับสนุนจากบ้านป่ารอยต่อฯ ได้เป็น ผบ.ทร. พร้อมวางระเบิดเวลาไว้ใน ทร. เพราะแม้ พล.ร.อ.สุวิน จะขยับขึ้นรอง ผบ.ทร. ที่จะยิ่งอาวุโสสูงสุด จากที่เป็น ผช.ผบ.ทร. ที่อาวุโสที่สุดอยู่แล้ว ดูเหมือนจะได้เปรียบ

แต่ พล.ร.อ.เชิงชาย ก็ดันแคนดิเดต ผบ.ทร.คนต่อไป ขึ้นมาแข่งกับ พล.ร.อ.สุวิน เพิ่มอีก ทั้งบิ๊กน้อย พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง (ตท.24) จากหัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ ผบ.ทร. หน้าห้อง มาเป็น เสธ.ทร. จากที่โผเดิม จะให้เป็น ผบ.กองเรือยุทธการ เพราะจะให้มาเป็น เสธ.คู่ใจ ทำงานกับ พล.ร.อ.อะดุง และจะกลายเป็นทายาทของ พล.ร.อ.อะดุง ในโยกย้ายปลายปีหน้า มาแข่งกับ พล.ร.อ.สุวิน และ พล.ร.อ.ชลธิศ

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สันทัดเรื่องทหารเรือ เรื่องในกองทัพเรือ ไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร สายไหน และไม่ต้องการล้วงลูก จึงยอมพบกันครึ่งทาง แต่ก็เจอแผน 2 ชั้น และเกมหมากล้อม พล.ร.อ.สุวิน

พล.ร.อ.อะดุง พันธ์เอี่ยม

ท่ามกลางกระแสข่าวใน ตท.24 รุ่นของ พล.อ.สนิธชนก และบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่ ที่จะผลักดัน ตท.24 คุมทุกเหล่าทัพ เพราะโผนี้ บิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผช.ผบ.ทอ. ที่ก็เป็น ตท.24 ก็เบียดแคนดิเดตรุ่นพี่ ตท.23 ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.ได้

จึงน่าจับตามองข้ามช็อตไปที่กองทัพบก ที่จะเป็นครั้งแรกที่ระดับ 5 เสือ ทบ. มีทหารคอแดงมากถึง 4 คน และทหารคอเขียว 1 คน โดยหนึ่งเดียวคือ บิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ เสธ.ทบ. แกนนำ ตท.24 ที่คาดว่าจะขยับเป็น ผช.ผบ.ทบ. เพราะเป็นสายบุ๋นคนเดียว เพราะเติบโตมาในฝ่ายอำนวยการ ในสายยุทธการ มาเป็นส่วนใหญ่ เพราะบรรดานายทหารคอแดง ก็ล้วนเติบโตมาในสายคอมแมนด์

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล

โดยโผนี้ คาดว่าจะมี ตท.24 อีกคนที่น่าจับตา อย่างบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. ที่ครั้งนี้ได้รับคืนความชอบธรรม ได้ขยับมาเป็น ผช.ผบ.ทบ. นอกเหนือจากการโยกย้ายที่ไม่ลงตัว และต้องมีการวางแผนในการจัดวางทายาท และเกมการคุมอำนาจในกองทัพ

แต่ก็ทำให้ พล.อ.ธราพงษ์ ที่เป็นนายทหารคอแดงจากสายบูรพาพยัคฆ์ กลายเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.อีกคน ชิงกับบิ๊กปู พล.ท.พนา แคล้วปลอดทุกข์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่จะขึ้นพลเอก เสธ.ทบ. รุ่นน้อง ตท.26 ที่เกษียณ 2570 ส่วน พล.อ.ธราพงษ์ เกษียณ 2569

แม้ พล.อ.ธราพงษ์ จะเสียเปรียบ พล.ท.พนา ที่ผ่านตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 มาก่อนก็ตาม แต่เส้นทางเดินก็อยู่ในสายกำลังรบ เป็นคอมแมนด์เหมือนกัน ต่างกันแค่ที่ พล.อ.ธราพงษ์ เป็นสายบูรพาพยัคฆ์ ที่เติบโตมากับพี่น้อง 3 ป.

ส่วน พล.ท.พนา เป็นสายวงศ์เทวัญ ที่เติบโตมากับบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. และบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. สมัยลงไปอยู่ชายแดนภาคใต้ด้วยกัน และที่สำคัญคือ บิดาเคยปฏิบัติหน้าที่ในกรม ทม.รอ.

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์

ในสถานการณ์การเมืองที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล และหากมีนายสุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม พลเรือนคนแรก ที่ไม่ได้เป็นนายกฯ ที่ควบ รมว.กลาโหม ที่ถูกมองว่า เป็นการเล่นเกมกับฝ่าย 3 ป. และฝ่ายกองทัพ ที่เคยเสนอชื่อ บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาฯ สมช. ไปเป็น รมว.กลาโหม แต่ถูกเสื้อแดงต่อต้าน โดยที่ฝ่ายทหารเชื่อว่า เป็นการปล่อยข่าว หาเหตุที่จะไม่ให้ พล.อ.ณัฐพล เป็น รมว.กลาโหม จนเชื่อกันว่า อาจมีกลเกมซ่อนอยู่ หรือมีการต่อรองในอีกระดับหนึ่ง

จากที่เคยถูกมองว่า พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นอนุรักษนิยมใหม่ และจับมือกับ 3 ป. แต่ก็ไม่ได้ถูกครอบครอง หรือครอบงำโดยฝ่ายทหาร หรือพี่น้อง 3 ป. แม้ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเข้าไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงที่ทำเนียบ ที่ถูกมองว่า เพื่อขอบคุณที่ ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ โหวตสนับสนุนให้เป็นนายกฯ

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกมองว่าจะกลายเป็นผู้มีบารมีนอกรัฐบาลเพื่อไทยอีกคนหนึ่ง ถึงขั้นที่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เดินเกมเหนือเมฆ และกลายเป็นผู้ชนะ ยิ่งหาก พล.อ.ณัฐพล ได้เป็น รมว.กลาโหมคุมกองทัพด้วยแล้ว

แต่ในที่สุด การมีชื่อนายสุทิน เป็น รมว.กลาโหม ก็เป็นดัชนีชี้วัดว่า พรรคเพื่อไทยที่มีอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำจิตวิญญาณของพรรค เปลี่ยนแผน เปลี่ยนเกม เพื่อคุมอำนาจในการต่อรอง

จนส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับคนใกล้ชิดว่า ไม่สามารถต่อรองได้ตามที่ต้องการ ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ แม้แต่พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ยังต้องให้โควต้าคนนอก

ดังนั้น จึงเป็นที่จับตามองว่าอดีตนายกฯ ทักษิณมีแผนใดกับกองทัพหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร แม้ว่าโผทหารครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นคนจัดก็ตาม แต่บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ จะนั่งแค่ปีเดียวเพราะจะเกษียณกันยายน 2567

เมื่อนั้น รมว.กลาโหม ก็อาจจะมาผ่าตัดกองทัพ โดยอาจจะเลือกแคนดิเดต ผบ.ทบ. ที่ไม่ใช่ทหารคอแดง หรือไม่ใช่สายตรง 3 ป.

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี

จนมีการจับตามองไปที่ พล.อ.อุกฤษฏ์ ผช.ผบ.ทบ.สายคอเขียว หนึ่งเดียวใน 5 เสือ ทบ. ที่มีอายุราชการถึง 2570 และถือเป็นคนเก่งของรุ่น ตท.24 น่าจะเติบโตมาในสายบุ๋น แต่สมัยเป็นนายทหารเด็กๆ ก็เป็นทหารรักษาพระองค์ รับราชการใน ร.1 รอ.อีกด้วย

หรือหากจำเป็น ต้องเป็นนายทหารคอแดงก็ยังมี พล.อ.ธราพงษ์ แต่ก็เป็นสายบูรพาพยัคฆ์ สายบ้านป่ารอยต่อฯ ไม่ใช่สายตรง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ก็เป็น ตท.24 จึงทำให้ ตท.24 มีลุ้น

แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมาเปลี่ยนธรรมเนียมของ ทบ. เพราะมี ผบ.ทบ.เป็นทหารคอแดงมาเป็นคนที่ 3 แล้ว อีกทั้งเป็นที่รู้กันว่าโผทหารจะต้องผ่านการพิจารณาในส่วนของ ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

เป็นที่น่าจับตามองว่า พรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าจะมาปฏิรูปกองทัพ อาจจะรับฟังเสียงสะท้อนของทหารคอเขียวในกองทัพ ที่จะกลายเป็นเสมือนกำลังพลชั้น 2 ในกองทัพ เพราะทหารคอแดงเท่านั้นที่จะเป็น ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทบ.ได้ จนทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในกองทัพ

ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งมีข่าวว่า ทบ.จะส่ง พล.อ.ธราพงษ์ ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. ข้ามไปกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อไปเปลี่ยนเสนาธิการทหาร เพื่อจ่อเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อจากบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ที่จะขึ้นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ และจะเกษียณในปี 2568

ก็ปรากฏมีใบปลิวออนไลน์ส่งต่อกัน แสดงความน้อยเนื้อต่ำใจ ความอึดอัดใจ กับการเป็นทหารคอเขียว ท่ามกลางทหารคอแดง

เพราะแม้จะทำงาน เสียสละ ทุ่มเทให้กับหน่วยงาน และองค์กรที่รักยิ่ง แต่ระบบที่เป็นอยู่ ไม่ยุติธรรมกับทหารคอเขียวซึ่งเป็นกำลังพลส่วนใหญ่ของกองทัพ เกิดความเหลื่อมล้ำ บั่นทอนกำลังใจ เพราะทหารคอเขียวที่เก่ง มีความสามารถมีมากมาย

 

ทั้งนี้ กองทัพไทยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดคอแดงคนแรก บิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ที่ข้ามมาจากกองทัพบกเป็นเสนาธิการทหารก่อน 1 ปี แล้วจึงขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคอแดงคนแรก นั่ง 2 ปี และพยายามตั้งกฎว่า หาก ทบ.จะส่งคนมา ต้องอยู่ในตำแหน่งหนึ่งปีก่อน โดยจะไม่ให้มีการมาเสียบยอดอีกต่อไป

แต่ที่สุดก็มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดคอแดงคนที่ 2 คือ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่ก็ข้ามจากกองทัพบกมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดก่อน

ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่า พล.อ.ธราพงษ์ จะข้ามมากองทัพไทย มาเป็นเสนาธิการทหาร จึงมีแรงต้าน จนที่สุดกองทัพบกก็ต้องดัน พล.อ.ธราพงษ์ ให้ขึ้น 5 เสือกองทัพบก เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.ก่อน ท่ามกลางการจับตามองว่าโยกย้ายปลายปีหน้าจะส่งข้ามมาอยู่กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อจ่อคิวเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคอแดงคนที่ 3 ต่อจาก พล.อ.ทรงวิทย์ หรือไม่

ส่งผลให้ บิ๊กต้น พล.ท.ณัฐวุฒิ นาคะนคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) ไม่ได้ขึ้น 5 เสือกองทัพบก แต่ต้องเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ.แทน

อีกทั้ง พล.ท.ณัฐวุฒิ ก็จะถือว่าเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.อีกคนที่เป็นทหารคอเขียว แต่เป็นทหารหมวกแดง รบพิเศษ ไม่ใช่ทหารคอแดง แต่ถือเป็นดาวรุ่งของ ตท.24 สไตล์ ฟิตแอนด์เฟิร์ม สมาร์ต แบบทหารรบพิเศษ ที่ไม่อาจมองข้าม แม้จะเหลืออายุราชการแค่ปี 2568 ก็ตาม

ท่ามกลางการเมืองที่เปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนรัฐบาล ที่ดูเหมือนจะรอมชอม แต่ก็ไม่ใช่ซะทีเดียว และการอับแสงลงของขั้วอำนาจ 3 ป.

ดังนั้น อำนาจคุมกองทัพ กำลังจะถูกส่งไม้ต่อจาก ตท.22 ที่กำลังจะเกษียณราชการ 30 กันยายนนี้ ทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ พล.ร.อ.เชิงชาย และ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ. ให้กับ ตท.23 และ ตท.24 โดยที่มี ตท.24 โตขึ้นมาจ่ออยู่ในทุกเหล่าทัพ โดยที่กลาโหมก็มี พล.อ.สนิธชนก ตท.24 เป็นปลัดกลาโหม

โดยมี ตท.26 ขยับขึ้นมาจ่อใน ทบ. พล.ท.พนา ที่มาแรงแซงทุกโค้ง จาก ผบ.พล.ร.11 รอ. ขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 และโผนี้ขึ้น เสธ.ทบ. อยู่ใน 5 เสือ ทบ. ร่วมกับ พล.อ.ธราพงษ์ ที่เคยหลบทางให้ พล.ท.พนา มาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 มาแล้ว วันนี้จะได้มาอยู่ท็อปไฟว์ด้วยกัน และชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.ด้วย

แต่ที่ต้องจับตาคือ กองทัพบกภายใต้การนำของบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย จะแตกต่างจากยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ โดยจะแยบยลกว่า นิ่งกว่า และดึง พล.ท.พนา มาเป็น เสธ.ทบ. คู่ใจ ที่คาดว่าจะทำงานคู่กันใน ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

โดยดึง ตท.26 อย่างบิ๊กรุ่ง พล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพน้อยที่ 1 เพื่อนรัก พล.ท.พนา ขึ้นมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกำลังแทน และดันบิ๊กใหญ่ พล.ต.อมฤต บุญสุยา รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.27) ทหารเสือราชินีสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.เจริญชัย ขึ้นแม่ทัพน้อยที่ 1 ชิงความอาวุโสไว้ก่อน

ขณะที่ ตท.28 ทั้ง พล.ต.วรยส เหลืองสุวรรณ และ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 สายตรง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็ต้องรอคิวในตุลาคม 2566 ที่อาจต้องใช้พลังในการขึ้น แม่ทัพภาคที่ 1 จาก รองแม่ทัพภาคที่ 1 เลย เพื่อแซง พล.ต.อมฤต แต่ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.เจริญชัย ก็เป็นสายตรง พล.อ.ประยุทธ์ เช่นกัน และเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย ที่จะต้องพยายามดัน พล.ต.อมฤต ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 คนต่อไป

สถานการณ์เช่นนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้กับกองทัพ ที่นอกจากถูกจับจ้องและเป็นเสมือนจำเลยสังคม กำลังถูกกดดันให้ต้องปรับเปลี่ยน ประกอบกับกระแสความเคลื่อนไหวของทหารภายในกองทัพเอง ความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจ และศึกระหว่างรุ่นและขั้ว ก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของกองทัพได้ในอนาคตอันใกล้