รัฐบาลเศรษฐา บนฉันทานุมัติที่พังทลาย | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดเพื่อไทยก็ตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยโผ ครม.ที่ไม่เกรงใจประชาชนเลย

เพราะไม่เพียงรัฐมนตรีเพื่อไทยจะมีคนที่ไม่เคยมีผลงานในกระทรวงที่ตัวเองดูแล, ได้ตำแหน่งเพราะต่างตอบแทน และได้ตำแหน่งเพราะเป็นนายทุน รัฐมนตรีในโควต้าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นก็มีปัญหาแบบนี้คล้ายคลึงกัน

รัฐมนตรีหลักยุคเศรษฐา 1 เกือบครึ่งคือรัฐมนตรียุคคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือถ้าไม่ใช่รัฐมนตรีเก่าก็เป็นคนจากกลุ่มก๊วนในรัฐบาลเก่าที่คนนามสกุลเดียวกันผลัดกันเป็นรัฐมนตรีมาเจ็ดชั่วโคตร

ที่ร้ายกว่านั้นก็คือคนใหม่จากพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ก็ไม่มีใครที่ได้ยินชื่อแล้วร้องว้าวได้เลย

สื่อสายเลียบอกว่ารัฐบาลเพื่อไทยมีรัฐมนตรีหน้าเก่าจาก ครม.ประยุทธ์ แค่ 9 จาก 36 หรือ 1 ใน 4 ซึ่งไม่ได้เยอะอะไร

แต่ข้ออ้างนี้เลอะจนรัฐบาลและคนพูดพากันเละ เพราะเสียงโหวตคุณเศรษฐา ทวีสิน มาจาก ส.ส. และ ส.ว.ฝ่ายคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เกินครึ่งจนรัฐมนตรีมาจากพรรคฝ่ายประยุทธ์ครึ่งหนึ่งแน่นอน

เมื่อคำนึงถึงความยอมรับต่อเพื่อไทยที่ดิ่งเหวหลังพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พลิกคำพูดไปจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจน “ศรีปทุมโพล” และ “ดีโหวต” พบคนไม่ต่ำกว่า 60% จะไม่เลือกเพื่อไทยอีก และอีกกว่า 60% จะหันไปเลือกก้าวไกล

คณะรัฐมนตรีคือด่านเดียวที่จะทำให้ความยอมรับรัฐบาลพุ่งขึ้นได้ แต่โผนี้ไม่ช่วยอะไรเลย

 

ปี 2566 คือปีที่ประเทศไทยกลับสู่วงจรเดิมของการสลับกันเป็นรัฐบาลระหว่างทหารกับพรรคเพื่อไทยเหมือนที่เป็นมา 22 ปี เพียงแต่ขณะเพื่อไทยในอดีตเป็นรัฐบาลเพราะชนะอันดับ 1 เพื่อไทยปีนี้ไม่ชนะเลือกตั้ง แต่ได้เข้าทำเนียบหลังพรรคการเมืองและ ส.ว.สายคุณประยุทธ์โหวตถล่มทลาย

เพื่อไทยมักประกาศว่าตัวเอง “เก๋าเกม” ในช่วงยังไม่ข้ามขั้วจากฝ่ายประชาธิปไตยไปฝ่ายรัฐบาลเดิม และถ้า “เก๋าเกม” หมายถึงแพ้เลือกตั้งแล้วได้ตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยในปี 2566 ก็คือแถวหน้าของการ “เก๋าเกม” แน่ๆ เพราะเป็นครั้งแรกในหลายสิบปีที่นายกฯ มาจากพรรคแพ้เลือกตั้งทันทีที่เลือกตั้งจบลง

อาจมีคนโต้แย้งว่าประชาธิปัตย์ยุคคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2552 เคยเป็นนายกฯ ทั้งที่แพ้เลือกตั้งปี 2551 แต่พรรคแรกที่เป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งปีนั้นคือพลังประชาชนที่สืบทอดจากไทยรักไทยหลังถูกยุบพรรคปี 2549 ประชาธิปัตย์จึงไม่ได้แพ้เลือกตั้งแล้วเป็นรัฐบาลทันที และมีกระบวนการเข้าสู่อำนาจไม่เหมือนเพื่อไทยปี 2566 อย่างที่เข้าใจผิดกัน

ครั้งสุดท้ายที่ประเทศนี้มีนายกฯ จากฝ่ายแพ้เลือกตั้งทันทีที่การเลือกตั้งจบลงคือปี 2529 ซึ่งประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งหลังประกาศชิงตำแหน่งนายกฯ จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ พล.อ.เปรมกลับได้เป็นนายกฯ เพราะทหารขู่ประชาธิปัตย์จนเป็นนายกฯ ไม่ได้ในที่สุด

นั่นเท่ากับเพื่อไทยคือพรรคที่แพ้เลือกตั้งแต่ตั้งรัฐบาลพรรคแรกในรอบเกือบ 40 ปี

 

ปัญหาใหญ่ของการเป็นรัฐบาลทั้งที่พรรคแพ้เลือกตั้งคือประชาชนจำได้ว่าประเทศมีพรรคอื่นชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้ตั้งรัฐบาล เมื่อใดที่ใครหรือพรรคการเมืองได้เป็นรัฐบาลทันทีที่พรรคแพ้เลือกตั้ง เมื่อนั้นก็จะเกิดรัฐบาลที่อำนาจรัฐวางอยู่บน “ฉันทานุมัติที่แตกสลาย” (Consensus Breakdown) ว่าใครควรได้เป็นรัฐบาล

เป็นธรรมดาที่ต่างคนต่างคิดเรื่องใครควรมีอำนาจรัฐและเป็นรัฐบาล แต่เมื่อประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ฉันทานุมัติในระบอบประชาธิปไตยจึงหมายถึงระบอบที่ประชาชนต้องมีโอกาสตัดสินใจว่าใครจะเป็นรัฐบาลมากที่สุด เพื่อให้เจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่มีความหมายจริงๆ

ผลเลือกตั้งปี 2566 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ฝ่ายคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาล ทันทีพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยพรรคฝ่ายคุณประยุทธ์ทั้งหมดโหวตคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยจึงให้กำเนิดรัฐบาลที่ประชาชนไม่มีส่วนตัดสินใจให้เกิด

และเป็นรัฐบาลที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ประชาชนเลย

 

สื่อสายเลียอ้างว่าประชาชนเลือกพรรคไปเป็นรัฐบาลจนพรรคทำอะไรก็ได้ให้เป็นรัฐบาล แต่ประชาธิปไตยหมายถึงระบอบที่พรรคทำหน้าที่ตามสัญญาประชาคมตอนเลือกตั้ง ไม่ใช่พรรคมีอำนาจเด็ดขาดที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ และการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วไม่ใช่สัญญาประชาคมที่พรรคกับประชาชนตกลงกันอย่างแน่นอน

เพื่อไทยไม่เคยประกาศว่าคุณเศรษฐา ทวีสิน จะจับมือกับพรรคขั้วรัฐบาลประยุทธ์เพื่อตั้งรัฐบาล

สิ่งเดียวที่พรรคบอกก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือปิดสวิตช์ 3 ป. และปิดสวิตช์ ส.ว. การตัดสินใจข้ามขั้วจึงเป็นการแตกหักจากสัญญาประชาคมที่พรรคให้ไว้กับประชาชนอย่างชัดเจน

นอกจากเพื่อไทยที่จัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไวักับประชาชน พรรคขั้วคุณประยุทธ์ที่โหวตหนุนคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ทั้งหมดก็ไม่ทำตามสัญญาที่ให้กับผู้สนับสนุนพรรคตัวเองด้วย

เพราะรวมไทยสร้างชาติ, พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ก็หาเสียงโดยไม่เคยบอกว่าจะหนุนนายกฯ เพื่อไทยด้วยเช่นกัน

 

ด้วยข้อเท็จจริงเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่คุณเศรษฐาได้เป็นนายกฯ จากการโหวตของ ส.ส. และ ส.ว. ทั้งที่ไม่ได้เป็นพรรคที่ประชาชนเลือกสูงสุด อำนาจรัฐกรณีนี้จึงวางอยู่บน “ฉันทานุมัติที่พังทลาย” (Consensus Breakdown) ที่สังคมกระอักกระอ่วนใจที่จะยอมรับว่ารัฐบาลเป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่ในสังคม

ประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงระบอบที่พรรคคิดเอง เออเอง และตัดสินใจเองโดยไม่ปรึกษาหารือประชาชน ความสัมพันธ์ของพรรคกับประชาชนต้องอยู่บน “สัญญาประชาคม” ไม่อย่างนั้นพรรคการเมืองก็จะคล้ายองค์อธิปัตย์ (The Leviathan) ที่ได้อำนาจจากประชาชนแล้วยึดอำนาจเป็นของตัวเองตามสบาย

ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่อยู่บน “ฉันทานุมัติที่พังทลาย” ทั้งในสายตาคนเลือกเพื่อไทยและคนเลือกพรรคขั้วคุณประยุทธ์ที่ถูกยกคะแนนเสียงไปให้เพื่อไทย รัฐบาลเศรษฐา 1 ในที่สุดจะเผชิญปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ “ความชอบธรรมบกพร่อง” (Legitimacy Deficit) ซึ่งจะกลายเป็นผีร้ายที่หลอกหลอนรัฐบาลตลอดเวลา

สำหรับนักรัฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่สนใจเพื่อเอาทฤษฎีประชาธิปไตยไปทำงานกองเชียร์พรรคโดยอาศัยคราบสื่อหรือนักวิชาการ คำถามที่พรรคเพื่อไทยจะถูกหลอกหลอนคือคำถามว่า “ทำไมเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล”, “ทำไมเศรษฐาได้เข้าทำเนียบ”, “ทำไมพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้เป็นนายกฯ” และ “ทำไมคนดีๆ กว่านี้ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี”

 

ทางรอดเดียวของเพื่อไทยเพื่อแก้ปัญหา “ความชอบธรรมบกพร่อง” คือการสร้างความชอบธรรมใหม่เพื่อชดเชยปัญหาการเข้าสู่อำนาจที่ยากจะอ้างได้ว่าเป็นรัฐบาลของคนทุกฝ่ายในสังคม และดูเหมือนว่าในสายตาพรรคเพื่อไทย การสร้างความมั่งคั่งจะเป็นทางออกเดียวของปัญหาที่พรรคเผชิญ

น่าสังเกตว่าเรื่องเดียวที่คุณเศรษฐาเปิดปากพูดด้วยตัวเองหลังรับตำแหน่งนายกฯ คือเรื่องเศรษฐกิจไทย

คุณเศรษฐาพูดเรื่องฟื้นท่องเที่ยว จากนั้นก็โพสต์ภาพร่วมกับอภิมหาเจ้าสัวในธุรกิจผูกขาดและกึ่งผูกขาดทั้งหมดว่าคนเหล่านี้มาแสดงความยินดีที่คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ แต่ไม่พูดเรื่องการเมืองเลย

ด้วยการจัดตำแหน่งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเพื่อไทย มีความเป็นไปได้ว่าเรื่องใหญ่อย่างการปฏิรูปกองทัพและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทยต่อไปแล้ว

แต่การฟื้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่งคั่งและสร้างความชอบธรรมใหม่ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

ตรงข้ามกับรัฐบาลเพื่อไทยในอดีตที่มีทีมเศรษฐกิจแข็งแรง รัฐบาลคุณเศรษฐามีมือเศรษฐกิจคือคุณเศรษฐา และคุณภูมิธรรม เวชยชัย ที่ทั้งคู่ล้วนไม่มีประสบการณ์ในงานกระทรวงคลังและกระทรวงพาณิชย์ การบริหารนโยบายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ไม่ต้องพูดถึงการผลักดันนโยบายซึ่งหลายเรื่องยังไม่ชัดเจน

จุดเด่นของรัฐบาลเพื่อไทยในอดีตคือการเป็นพรรคชนะเลือกตั้งที่บริหารนโยบายสาธารณะได้ดี

แต่รัฐบาลเพื่อไทยยุคนี้แพ้เลือกตั้งและมีข้อกังขาเรื่องการบริหารนโยบายอยู่มาก

การแก้ไขสองเรื่องนี้ทำได้ไม่ง่าย และด้วยสภาพของการตั้งรัฐบาลแบบนี้อาจไม่มีวี่แววทำได้เลย

ไม่มีใครตอบอนาคตของรัฐบาลนี้ได้เท่ากับคุณเศรษฐาซึ่งจะเป็นนายแบกเพียงคนเดียวของพรรคและรัฐบาลเพื่อไทย