นายกฯ เศรษฐา โชว์ฟิต! เดินสายถกเจ้าสัว-ธุรกิจใหญ่ เปิดฟรีวีซ่า-ยกเครื่องสนามบิน เติมนักท่องเที่ยวไตรมาส 4

ทันทีที่ที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้นั่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เมื่อ 22 สิงหาคม 2566 “เศรษฐา ทวีสิน” เริ่มทำงานทันที พร้อมประกาศนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เปิดประตูการท่องเที่ยว ทะลวงคอขวดอุปสรรคและปัญหาต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศโดยด่วน เพราะเชื่อว่า “การท่องเที่ยว” คือเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในระยะสั้น (Quick win)

โดยเฉพาะการแก้กฎระเบียบที่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การลดขั้นตอนการขอวีซ่าให้ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น สร้างการรับรู้และความประทับใจต่อประเทศไทยในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก

โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประมาณ 7 แสนล้านบาทในปี 2565 เป็น 3 ล้านล้านบาทในปี 2570

 

นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” คิกออฟภารกิจแรกด้วยการนำทีม “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คนใหม่ และคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพังงา เมื่อวันที่ 25-26 สิงหาคม 2566

เพื่อรับฟังข้อมูล ปัญหา และแผนงานในอนาคตของสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูเก็ต เพื่อเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึงในอีก 1 เดือนข้างหน้า

โดยมองว่าภูเก็ตเป็นเป็นจังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

การลงพื้นที่ครั้งนี้นายกฯ เศรษฐาได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในระยะเร่งด่วน 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

1. ยกเว้นวีซ่า หรือฟรีวีซ่า ให้นักท่องเที่ยวจีน เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนความยุ่งยากในการเข้าเมือง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น หรือในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยตั้งเป้าเริ่มใช้ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งมีช่วงวันหยุดยาววันชาติจีนเป็นต้นไป

รวมถึงมีแผนให้ฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวอินเดียและรัสเซียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และขยายเวลานักท่องเที่ยวพำนักในประเทศไทยจาก 30 วันเป็น 90 วัน สำหรับกลุ่มประเทศที่ฟรีวีซ่าด้วย

และ 2. ปรับโฉมและขยายสนามบินทั่วประเทศให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

และเร่งให้สร้างสนามบินใหม่ 2 แห่งคือ สนามบินภูเก็ต แห่งที่ 2 และสนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2

รวมถึงมีนโยบายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เข้าบริหารสนามบินในเครือข่ายของกรมท่าอากาศยาน (ทย.)

 

จากนั้น 28 สิงหาคม 2566 นายกฯ เศรษฐา พร้อมด้วย “สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้ารับฟังข้อเสนอแนะ และหาทางแก้ไขธุรกิจการบิน โดยมีเป้าหมายยกระดับการท่องเที่ยว

งานนี้มีซีอีโอ 8 สายการบิน ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยสมายล์แอร์เวย์, ไทยเวียตเจ็ท, ไทยไลอ้อนแอร์, นกแอร์, การบินไทย และสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย (AOT) เข้าร่วม

พร้อมเปิดให้ภาคเอกชนเสนอว่ามีอะไรบ้างที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจการบิน ซึ่งเอกชนได้นำเสนอในหลายประเด็น

ทั้งนี้ เป้าหมายคือ ทำให้ไตรมาส 4/2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ผลักดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงเป้าหมาย 30 ล้านคน

และในคืนวันเดียวกันนั้น นายกฯ เศรษฐา ยังได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับกลุ่มบิ๊กนักธุรกิจ พร้อมรับฟังปัญหาเพื่อพัฒนาประเทศจากบรรดาเจ้าสัวและนักธุรกิจแถวหน้าของประเทศ

เช่น ศุภชัย เจียรวนนท์ นายใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เจ้าของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ วิชิต สุรพงษ์ชัย ผู้บริหารใหญ่เอสซีบีเอ็กซ์ อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอ SCB ฐาปน สิริวัฒนภักดี นายใหญ่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ปลิว ตรีวิศวเวทย์ แห่ง ช.การช่าง จรีพร จารุกรสกุล ผู้บริหารใหญ่กลุ่มดับบลิวเอชเอ ฯลฯ

เรียกว่า นอกจากจะอัดยาแรงทุกตัวแล้ว ยังมีพันธมิตรระดับเจ้าสัวและนักธุรกิจใหญ่ของประเทศพร้อมซัพพอร์ตเต็มที่อีกด้วย

 

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุว่า นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศใช้นั้นเป็นสิ่งที่เอกชนภาคการท่องเที่ยวอยากเห็นนานแล้ว และลุ้นให้นำมาใช้สำหรับนักท่องเที่ยวจีนได้จริงในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นปลายปีนี้

และมั่นใจว่าจะเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยดันตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ให้ได้ถึง 30 ล้านคนได้แน่นอน

เพราะอุปสรรคการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่ผ่านมาคือ เรื่องความยุ่งยากของกระบวนการพิจารณาอนุมัติวีซ่า มาตรการ “ฟรีวีซ่า” จึงเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนได้ดีที่สุด และเติมนักท่องเที่ยวได้ทันที ขณะเดียวกันยังเป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่าและมีต้นทุนที่ต่ำ

นอกจากนี้ ยังทำให้สายการบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้น สามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น สุดท้ายจะทำให้ต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวถูกลงด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรด้านวีซ่าซึ่งเป็นเครื่องกระตุ้นการท่องเที่ยวระยะเร่งด่วนแล้วส่วนตัวอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความยั่งยืนให้การท่องเที่ยวในระยะยาว โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับเป็นบูตเตอร์ช็อตให้กับหน่วยงานด้านการตลาด อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ฯลฯ

รวมถึงสนับสนุนสายการบินให้สามารถกลับมาเพิ่มเส้นทางบินใหม่ หรือเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม และออกแคมเปญกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศร่วมด้วย

และตั้งกองทุนหรือธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว และ Tourism Clinic ช่วยซัพพลายไซด์ เนื่องจากปัจจุบันซัพพลายไซด์ส่วนใหญ่ของประเทศยังมีปัญหาเรื่องการฟื้นตัว รวมถึงการซ่อม-สร้างแหล่งท่องเที่ยว เติมทุน และเติมนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการ

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์

เช่นเดียวกับ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่มองว่า การใช้มาตรการวีซ่ามาเป็นเครื่องมือหลักในการฟื้นท่องเที่ยวในระยะเร่งด่วนถือเป็นเรื่องถูกต้องที่สุด และเป็นแนวทางที่สมาคม ATTA ขับเคลื่อนและรอมาตลอดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากเสนอให้รัฐพิจารณาใช้มาตรการฟรีวีซ่าในบางพื้นที่ เพื่อให้บริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวให้สอดรับกับศักยภาพในการรองรับของสนามบินแต่ละแห่ง เช่น ให้ฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่ลงสนามบินอู่ตะเภา เชียงราย กระบี่ ขอนแก่น อุดรธานี หาดใหญ่ เนื่องจากสนามบินเหล่านี้มีศักยภาพในการรองรับเหลืออีกมาก

นอกจากนี้ ยังทำให้สามารถกระจายนักท่องเที่ยวไปในพื้นที่เมืองรอง หรือเมืองที่อยากให้เติมนักท่องเที่ยวเข้าไป เพื่อการกระจายรายได้ให้ไม่กระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักไม่กี่จังหวัดเหมือนที่ผ่านมา

“ถ้าเราเปิดฟรีวีซ่าทุกพื้นที่ปัญหาที่ตามมาคือ นักท่องเที่ยวจะกระจุกตัว และศักยภาพการรองรับของสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่แออัดอยู่แล้วก็จะเกิดปัญหา ขณะเดียวกันการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลักนั้นยังทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การขาดแคลนเรื่องน้ำประปา ไฟฟ้า แรงงาน ฯลฯ”

วรเนติ หล้าพระบาง

และไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ชูแขนเชียร์เต็มที่ กลุ่มธุรกิจสายการบินก็มองเห็นความหวังเช่นกัน โดย “วรเนติ หล้าพระบาง” ซีอีโอ สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ บอกว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนผ่านมาตรการวีซ่า และอำนวยความสะดวกด้านการตรวจคนเข้าเมืองให้กับนักท่องเที่ยว

เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวจำนวนมาก ไม่ใช่จุดหมายปลายทางเดียวของนักท่องเที่ยวอีกต่อไป

สันติสุข คล่องใช้ยา

สอดคล้องกับ “สันติสุข คล่องใช้ยา” ซีอีโอ สายการบินไทยแอร์เอเชีย ที่บอกว่า มาตรการด้านวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีนนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นได้แน่นอน และจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในไตรมาสสุดท้ายได้ทันทีด้วย

 

จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-28 สิงหาคม 2566 รวม 17,571,069 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 735,956 ล้านบาท

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรกประกอบด้วย มาเลเซีย 2,797,462 คน จีน 2,182,038 คน เกาหลีใต้ 1,046,200 คน อินเดีย 1,006,629 คน และรัสเซีย 914,666 คน

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังมั่นใจว่าปี 2566 นี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นกลับมาได้ราว 80% ของปี 2562 หรือมีรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25-30 ล้านคน และสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ 100% เท่ากับปี 2562 มีรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทได้ในปี 2567

มาลุ้นกันว่า การผลักดันการท่องเที่ยวให้เป็นวาระแห่งชาติของนายกฯ เศรษฐา ครั้งนี้จะปลดล็อกปัญหา อุปสรรค และทำให้ “การท่องเที่ยว” กลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกครั้งหรือไม่