‘ฟรานซิส อึ้ง’ จากอดีต ‘เด็กมีปัญหา’ สู่ ‘ยอดนักแสดง’ ชาวฮ่องกง

คนมองหนัง

“ฟรานซิส อึ้ง” หรือ “อู๋เจิ้นหวี่” คือหนึ่งในสุดยอดนักแสดงชาวฮ่องกง ที่คนดูหนัง-ซีรีส์ไทยยุค 90-2000 น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี

เขาเป็นนักแสดงที่แจ้งเกิดในยุคกลางทศวรรษ 1990 ซึ่งภาพลักษณ์ของ “ดาราชายยอดนิยม” ในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงกำลังผันแปรไป

จาก “ฮีโร่แมนๆ” ที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบ เช่น “โจวเหวินฟะ” มาสู่ “ดาราแบบบ้านๆ” ที่ไม่ได้เป็นยอดมนุษย์ ชีวิตเต็มไปด้วยความล้มเหลว ปัญหา และความไม่สมบูรณ์แบบต่างๆ นานา

ฟรานซิสคือหนึ่งในนักแสดงชายที่สอดแทรกตัวเองขึ้นมาในระยะเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

 

“ฟรานซิส อึ้ง” เกิดเมื่อปี 1961 (ปัจจุบันมีอายุย่าง 62 ปี) ในครอบครัวที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่

ฟรานซิสเล่าเอาไว้ในงานเดี่ยวไมโครโฟนของตัวเองว่า สมัยเด็กๆ เขาเคยบอกแม่ว่า อาชีพในฝันของตน คือ อาชีพที่ไม่ต้องการคุณวุฒิทางการศึกษา ไม่ต้องมีชั่วโมงการทำงานตายตัว แต่ได้ค่าจ้างสูง

แม่เลยแนะนำให้เขาไปลองทำงานเป็น “ขอทาน”

ฟรานซิสไปสังเกตการณ์การทำงานของบรรดาขอทานที่วัดชื่อดังแห่งหนึ่ง เขาพบว่านั่นเป็นงานที่ยุ่งยาก และมีระยะเวลาการทำงานที่เข้มงวด-เคร่งครัด ไม่เหมาะกับทัศนคติที่เชื่อเรื่องความเป็นอิสระและไร้ขีดจำกัดของตัวเอง

เขาจึงเบนเข็มมาเอาดีทางการแสดงอย่างเต็มตัว

หลังจากผ่านพบความล้มเหลวในการออดิชั่นเป็นนักแสดงมาหลายครั้ง

ฟรานซิสก็ได้เข้าวงการบันเทิงในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1980 เมื่อผ่านการคัดเลือกให้เข้าไปเป็นนักเรียนการแสดงของทีวีบี (รุ่นเดียวกับ “โจวซิงฉือ” และ “เหลียงเฉาเหว่ย”)

“พวกคุณชอบคิดว่าตัวเองจะได้เป็นซูเปอร์สตาร์เหมือนโจวเหวินฟะ แต่พอได้ดูวิดีโอเทปต่างๆ ไปเรื่อยๆ คุณก็จะเริ่มตระหนักว่าโจวต้องใช้เวลาหลายปีในการรับบทตัวประกอบเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่เขาจะได้เป็นเขาอย่างในทุกวันนี้”

ฟรานซิสร้อยรัดประสบการณ์ยากลำบากของตนเอง เข้ากับเส้นทางวิชาชีพของดาราใหญ่ยุคก่อนหน้าเขา

“ฟรานซิส อึ้ง” ในบท “อาเห่า” ทายาทเจ้าพ่อในภาพยนตร์ “Infernal Affairs II” (2003) อีกหนึ่งบทบาทที่แฟนภาพยนตร์จดจำเขาได้ / ภาพถ่ายโดย : SCMPost

“ฟรานซิส อึ้ง” ต้องรับบทตัวประกอบที่ไม่ค่อยโดดเด่นอยู่นานพอสมควร กระทั่งรสนิยมของคนดูเริ่มหันเหไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ในสภาวะที่เรียกกันว่า “การสิ้นสุดยุคทองของหนังกำลังภายใน”

“หนังกังฟูไม่ได้ครองตลาดอีกต่อไปแล้ว ก่อนหน้านั้น ผมมักพลาดบทบาทสำคัญๆ เพราะตัวเองแสดงฉากต่อสู้ไม่เป็น

“แต่พอคนดูหันมานิยมหนังแนว ‘ตลกเจ็บตัว’ ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาบทภาพยนตร์มากนัก ขอให้นักแสดงแสดงสีหน้าแปลกๆ ฮาๆ แบบตัวการ์ตูนเป็นพอ วงการหนังก็ไม่ต้องการนักแสดงที่สวมบทแนวดราม่าอีก

“จนเมื่อหนังแนวนั้นเสื่อมความนิยม คนดูก็หันมาตามหาเรื่องเล่าเชิงดราม่าแบบเข้มข้น ตอนนั้นนั่นแหละ ที่โอกาสของผมเดินทางมาถึง” นี่คือจุดเริ่มต้นยุคทองของฟรานซิส ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นราวกลางทศวรรษ 1990

โดยส่วนใหญ่ ฟรานซิสมักได้รับบทเป็น “ตัวร้าย” ที่พาผู้ชมไปสำรวจตรวจสอบด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกัน บางหน เขาก็สามารถสวมบท “ตัวตลกโปกฮา” ได้อย่างเหนือความคาดหมาย

เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ภาพลักษณ์ “ตัวร้าย” นั้นติดตัวตนเองมาตั้งแต่ช่วงเริ่มแสดงละครซิตคอมทางโทรทัศน์ ที่ผู้จัดหาคนมาแสดงเป็นตัวร้ายไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เขาพร่ำบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า ควรเก็บรักษา “อารมณ์ขัน” ไว้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในทักษะการแสดงของตนด้วย

ดาราในดวงใจที่ส่งอิทธิพลต่อการทำงานของ “ฟรานซิส อึ้ง” คือ “ทาเคชิ คิตาโนะ” ยอดนักแสดง-ผู้กำกับฯ ชาวญี่ปุ่น

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่จุดเด่นในจอภาพยนตร์ของยอดนักแสดงสมทบชาวฮ่องกง จะอยู่ตรงการระเบิดอารมณ์โกรธออกมาได้อย่างรุนแรง รวดเร็ว และคาดเดาไม่ได้

ลักษณะทางกายภาพที่ผอมและคล่องแคล่วของฟรานซิส ยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการแสดงที่เต็มไปด้วยพลวัตของเขา

นอกจากนั้น เขายังสามารถคลี่เผยอารมณ์ความรู้สึกอันแตกต่างหลากหลายผ่านการแสดงสีหน้าได้อย่างร้ายกาจ

คุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้สามารถประมวลรวมออกมาเป็นคุณลักษณะพิเศษ ดังที่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “ถ้ามีผมในกอง คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง”

Drifting

กระนั้นก็ดี แม้จะมีคุณลักษณะที่ตอบโจทย์ต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง แต่ผู้กำกับภาพยนตร์หลายคนในยุค 90 กลับมองว่า “ฟรานซิส อึ้ง” เป็นหนึ่งในนักแสดงรุ่นใหม่ที่ทำงานด้วยยาก เพราะเขาเป็นคนที่คนกล้าตั้งคำถาม โต้เถียง หรือวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการทำงานในกองถ่ายอย่างตรงไปตรงมา

กระทั่งถูกขนานนามให้เป็นพวก “เด็กมีปัญหา” ของวงการ

ทว่า ก็มีคนทำหนังบางส่วนที่ชื่นชอบท่าทีตื่นตัว-ไฟแรงเช่นนี้ อาทิ “กอร์ดอน ชาน” ผู้กำกับฯ รุ่นเก๋า ซึ่งมองว่า หลายๆ คำถามที่ “เด็กมีปัญหา” ของวงการเคยตั้งขึ้น นั้นเป็นประเด็นสำคัญที่ข้องเกี่ยวกับสาระ-เนื้อหาของการทำงานจริงๆ

ในที่สุด “อดีตเด็กมีปัญหา” อย่างฟรานซิสก็กลายเป็นบุคลากรหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับวงการภาพยนตร์ฮ่องกง พิสูจน์ได้จากการมีงานแสดงหนังเฉลี่ยปีละประมาณ 10 เรื่อง ตลอดช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 1990

ในจำนวนนี้ มีผลงานสำคัญๆ อาทิ “The Mission”, “Full Alert”, “Bullets Over Summer” และ “Once Upon a Time in Triad Society”

ล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2000 ฟรานซิสก็มีผลงานน่าจดจำอีกไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Infernal Affairs II” (ที่เขารับบทเป็น “ทายาทเจ้าพ่อ” ได้อย่างเข้มข้น) หรือ “Exiled”

เส้นทางการเป็นนักแสดงอาชีพของ “ฟรานซิส อึ้ง” ยังดำเนินต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยเมื่อปี 2021 เขาเพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากหลายสถาบัน ด้วยผลงานการแสดงในหนังเรื่อง “Drifting” ซึ่งบอกเล่าถึงปัญหาคนไร้บ้านในฮ่องกง •

ข้อมูลจาก

https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3232266/hong-kong-film-veterans-francis-ng-and-anthony-wong-and-their-careers-1990s-comedy-crime-and

https://en.wikipedia.org/wiki/Drifting_(2021_film)

 

| คนมองหนัง