เศรษฐกิจจีนทรุด สะเทือนถึงไทยและทั่วโลก | เทศมองไทย

ใครที่ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่บ้าง คงได้สดับรับฟังมาไม่น้อยว่า จีน ประเทศที่เศรษฐกิจเคยขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องกันนานร่วม 30-40 ปี กำลังมีปัญหา ทั้งๆ ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งในจีนและในต่างประเทศพากันคาดหวังว่า สิ้นวิกฤตโควิดเมื่อใด เศรษฐกิจจีนจะกลับมาฟื้นฟู และเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้รุดหน้าต่อไปได้ด้วยดี เหมือนกับที่เคย “แบก” เศรษฐกิจของทั้งโลกมาแล้ว 2 ครั้ง 2 คราในอดีต

แต่จนถึงขณะนี้ เศรษฐกิจจีนไม่เพียงไม่ฟื้นเท่านั้น ยังดูเหมือนทรุดตัวลงไปเรื่อยๆ

อาการชะลอตัวลงสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจน สถานการณ์โดยรวมส่อให้เห็นว่ากำลังเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นที่นั่น

ทำให้นักวิชาการหลายคนออกมาเตือนว่า ให้ระวังจะกลายเป็น “วงจรอุบาทว์ของภาวะเงินฝืด” ที่จะทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีแบบที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญมา

ผมคงไม่หยิบเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ ถ้าหากไม่บังเอิญเจอรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เมื่อ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่บอกว่า ปัญหาเศรษฐกิจในจีนกำลังส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่นออกไปทั่วโลก

เตือนไว้ด้วยว่า ภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ เอเชีย แล้วยังชี้ด้วยว่า หนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือไทย

 

ตามรายงานของบลูมเบิร์ก แสดงให้เห็นว่าปัญหาของจีนที่จะกระทบไทยแบบ “จั๋งหนับ” มีอยู่สองเรื่องด้วยกัน แรกสุดก็คือในเรื่องของการค้า ถัดมาเห็นจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ทั้งสองอย่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด

บลูมเบิร์กระบุว่า หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเพื่อนบ้านในเอเชีย ถือว่าจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดที่รองรับสินค้าที่ส่งออกจากประเทศของตนสารพัดอย่าง ตั้งแต่เรื่องของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน

ปัญหาก็คือว่า นับย้อนหลังไปในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าสินค้าของจีนจากประเทศต่างๆ ลดลงเสีย 9 เดือน หลังจากที่เคยนำเข้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเกิดวิกฤตโควิด

มูลค่าการนำเข้าสินค้าของจีนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาลดลงมากจากมูลค่าการนำเข้าในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

บลูมเบิร์กระบุว่า ที่จีนนำเข้าลดลงมากที่สุดเป็นสินค้าจากแอฟริกาและเอเชีย สถิติในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการนำเข้าจากทั้งสองภูมิภาคลดลงมากกว่า 14 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลของบลูมเบิร์กชี้ว่า ผู้บริโภคชาวจีนหันมาใช้จ่ายเพื่อการบริการ อย่างเช่น การเดินทางและท่องเที่ยวมากกว่าจะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า แต่ปัญหาก็คือ การเดินทางและท่องเที่ยวที่ว่านั้นยังจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศ มีบ้างที่เดินทางท่องเที่ยวในต่างแดน แต่ไม่มากเหมือนก่อนหน้าเกิดวิกฤตโควิด

เหตุผลก็คือ รัฐบาลจีนเพิ่งจะมายกเลิกคำสั่งห้ามการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ไปยังหลายๆ ประเทศเมื่อเร็วๆ นี้นี่เอง ในเวลาเดียวกันเที่ยวบินที่เคยคับคั่งก่อนหน้านี้ก็ลดน้อยลง ทั้งสองอย่างนั้นหมายความว่า ถ้าหากจะไปเที่ยวต่างประเทศ ก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

บลูมเบิร์กระบุว่า วิกฤตโควิดที่ผ่านมาบวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงกลายเป็นปัจจัย “จำกัด” รายได้ของคนจีนไปในตัว ในขณะเดียวกันปัญหาระดับวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลากยาวมาร่วมสองปีทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทรุดหนัก ราคาร่วงลงอย่างหนัก กระทบต่อความเชื่อมั่นในความมั่งคั่งของครัวเรือนจีน ยิ่งอนาคตไม่แน่นอนมากเท่าใด ชาวจีนยิ่งระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น

นั่นหมายความว่า ตราบเท่าที่ความรู้สึกไม่มั่นคงนี้ยังคงอยู่ ก็ยากที่ชาวจีนจะแห่แหนกันออกไปเที่ยวต่างแดนแบบก่อนหน้านี้ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในภูมิภาคก็ต้องใช้เวลานานมากขึ้น

ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเช่นไทย ก็จะได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ นั่นเอง

 

บลูมเบิร์กยังชี้ด้วยว่า ปัญหาเศรษฐกิจจีนยังส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย ค่าของเงินหยวน หยวนอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์จนเกือบทะลุแนวรับ 7.3 หยวนต่อดอลลาร์ไปเมื่อไม่นานมานี้ พาลดึงเอาเงินสกุลของเพื่อนบ้านอย่างเช่น เงินบาทไทย เงินดอลลาร์สิงคโปร์ ให้อ่อนยวบตามไปด้วย

อันที่จริงภาวะเศรษฐกิจจีนก็ส่งผลในด้านดีด้วยเช่นกัน ตัวอย่างชัดๆ ก็คือกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งกระฉูดจนเป็นปัญหา แถมยังช่วยลดแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศอีกด้วย

ปีเตอร์ เบเรซิน นักเศรษฐศาสตร์ของบีซีเอ รีเสิร์ช เตือนเอาไว้ว่า ลำพังเศรษฐกิจจีนเกิดภาวะเงินฝืดก็คงไม่กระไรนัก

แต่ถ้าหากส่วนอื่นๆ ที่เหลือของโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป ดันเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นตามไปด้วย

ตอนนั้นแหละที่จะพากันเป็นปัญหาไปทั้งโลก!