สิ้นยุคทักษิณ…เริ่มยุคใหม่! | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การจัดตั้งรัฐบาลปัจจุบันกำลังถูกตั้งคำถามอย่างมากว่าเป็นการ “สลายขั้ว” จากปัญหาความขัดแย้งเดิมใน การเมืองไทย หรือเป็นเพียงการ “สลับขั้ว” เพื่อการตั้งรัฐบาล?

แน่นอนว่า คำถามเช่นนี้ตอบไม่ง่ายเลย อันเป็นผลจาก “อารมณ์ทางการเมือง” ของหลายๆ ฝ่ายในขณะนี้ อีกทั้งคำตอบยังขึ้นอยู่กับ “ทัศนะทางการเมือง” แต่ละบุคคลอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ถ้าลองมองในอีกมุมหนึ่ง การสลายขั้วทางการเมืองนั้นคือ “การบริหารจัดการความขัดแย้ง” (conflict management) ทางการเมืองให้ลดระดับความขัดแย้งลงให้ได้มากที่สุด แม้จะมิได้หมายความว่า การจัดการเช่นนี้จะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้หมดก็ตาม เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ความขัดแย้งในสังคมที่ดำรงอยู่มาในระยะเวลาหนึ่ง จะหายไปหมดทันที แต่เป็นการลดระดับของปัญหาจนไม่เป็น “วิกฤต” ในแบบเดิมอีกต่อไป

ในสังคมการเมืองไทยมีความขัดแย้งดำรงอยู่ในแต่ละช่วงเวลา เราอาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งชุดหลังสุด หรืออาจเรียกในบริบทของยุคสมัยว่าเป็น “ความขัดแย้งยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์” ซึ่งความขัดแย้งชุดนี้เริ่มขึ้นด้วยชัยชนะของ “พรรคไทยรักไทย” ในปี 2544 อันนำไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลทักษิณ” ด้วยการนำของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และเป็นเสมือนกับการเปิด “โฉมหน้าใหม่” ของการเมืองไทยอย่างน่าตื่นเต้น

แต่การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลทักษิณ ก็นำไปสู่ความขัดแย้งชุดใหม่ เพราะปีกอนุรักษนิยมหรือ “สายอำนาจเก่า” มองว่ากลุ่มการเมืองนี้เป็น “สายอำนาจใหม่” ที่กำลังเติบโต และมีอำนาจมากขึ้น จนถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อกลุ่มอำนาจเก่า ที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างทางการเมืองมาอย่างยาวนาน

การใช้อำนาจเพื่อการทำลายฝ่ายตรงข้าม จึงมีทั้งการยุบพรรค การลดทอนอิทธิพลทางการเมือง การจัดตั้งขบวนต่อต้านตั้งแต่กลุ่ม “ผ้าพันคอสีฟ้า-เสื้อเหลือง” จนถึงกลุ่ม “นกหวีด-ธงชาติ” และทำลายด้วยมาตรการสูงสุด 2 ครั้ง คือ รัฐประหาร 2549 และ 2557 ส่งผลให้ผู้นำของกลุ่มทั้ง 2 คนคือ ทักษิณ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ การต่อสู้อย่างเข้มข้นเช่นนี้ดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 หรือกล่าวได้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่ม “ทักษิณนิยม vs ต่อต้านทักษิณนิยม” ซึ่งมีทิศทางไปในแบบขวาจัด เป็นตัวแทนของความขัดแย้งในยุคหลังคอมมิวนิสต์ที่ชัดเจนของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม “ทักษิณนิยม” ซึ่งมีความสนับสนุนหลักจากกลุ่มคน “เสื้อแดง” พร้อมกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งรับบทบาทต่อจากพรรคไทยรักไทย สามารถอยู่รอดและไม่ได้แพ้อย่างราบคาบแต่อย่างใด แต่พรรคก็อ่อนแรงลงตามลำดับ และในปี 2566 เป็นครั้งแรกที่พรรคนี้ไม่ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 และทั้งยังมี “เงื่อนไขพิเศษ” ที่ผู้นำของกลุ่มตัดสินใจที่จะขอกลับเข้าประเทศในขณะที่เสียงสนับสนุนและสถานะของพรรคตกต่ำลง คู่ขนานกับชัยชนะของพรรคการเมืองอย่าง “พรรคก้าวไกล” ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเมืองไทย จนบางคนเปรียบเทียบว่า ชัยชนะของพรรคไทยรักไทย 2544 กับชัยชนะของพรรคก้าวไกล 2566 คือภาพเดียวกันของยุคสมัยที่แตกต่างกัน แต่มิได้หมายความว่าพรรคไทยรักไทยจะล่มสลายไปแต่อย่างใด

การกลับประเทศของผู้นำกลุ่ม พร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ร่วมกับพรรครัฐบาลเดิม ที่ส่วนหนึ่งเป็นพรรคที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 2557 … ประเด็นทั้ง 2 นี้ทำให้เราอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า ความขัดแย้งของยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2544 นั้น ได้มาถึงจุดสิ้นสุด ด้วยเหตุปัจจัยทั้ง 2 ประการดังที่กล่าวแล้ว หรือในอีกมุมหนึ่ง สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงการเมืองใหม่

ฉะนั้น เราอาจเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า “สิ้นยุคทักษิณ” หรือในอีกมุมหนึ่งคือ “จบยุคสงครามสีเสื้อ” แล้ว โดยใช้ระยะเวลาที่นานถึง 22 ปี หรือเป็นระยะเวลาที่การเมืองไทยเข้าสู่ “กับดักความขัดแย้ง” นานกว่า 2 ทศวรรษอย่างไม่น่าเชื่อ การสิ้นสุดของยุคทักษิณย่อมทำให้ปัญหาความขัดแย้งเดิมลดความเข้มข้นลงอย่างแน่นอน เพราะคู่ความขัดแย้งเดิมสามารถที่จะ “ประนีประนอม” กันได้ในระดับหนึ่ง แม้มวลชนที่เป็นผู้สนับสนุนเดิมบางส่วนของแต่ละฝ่ายจะยังทำใจไม่ได้ก็ตาม … มวลชนฝ่ายต่อต้านทักษิณทำใจไม่ได้เลย เช่นเดียวกับมวลชนแดงบางส่วนก็ทำใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วย

ว่าที่จริงแล้ว อาจไม่ต่างจากความพยายามที่จะประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับขบวนนักศึกษาในยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยประกาศ “นิรโทษกรรมแบบองค์รวม” ในปี 2521 คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หมด ผลที่ตามมาคือ ฝ่ายขวาจัดไม่พอใจ เพราะเป็นเหมือนการ “ยอม” ให้ฝ่ายนักศึกษาทั้งหมด และเป็นเหมือนฝ่ายขวาอ่อนแอ เพราะต้องยอมหมด ฝ่ายซ้ายไม่พอใจ ไม่สามารถฟ้องกลับ หรือไม่สามารถเปิดโปงด้วยกระบวนการทางศาล … สุดท้าย ทุกฝ่ายยอมรับว่า การนิรโทษกรรมคือ การปิดฉากความขัดแย้งชุด 6 ตุลาฯ ที่ดีที่สุด

อีกทั้งยังมีองค์ประกอบอื่นๆ … การประกาศนิรโทษกรรมตามมาด้วยการประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ด้วย “คำสั่ง 66/23” ที่ออกมาเพื่อการสลายความขัดแย้งในสงครามโดยตรง ซึ่งส่งผลให้เกิดการทะลักออกจากป่าของนักศึกษาและประชาชนที่หลบภัยการเมืองเข้าสู่ฐานที่มั่น จนนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในปี 2525-26 ผลเช่นนี้ทำให้ไทยในขณะนั้น เป็นตัวแบบที่ชัดเจนของการสลายความขัดแย้งเพื่อพาสังคมกลับสู่ภาวะปกติ และเป็นตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาในเวทีสากลของการยุติปัญหา “สงครามภายใน”

ดังนั้น ถ้าต้องคิดต่อถึงการสลายขั้วเพื่อให้เกิดการยุติความขัดแย้งชุดนี้จริงแล้ว เราอาจต้องคิดถึงมากกว่าการแก้ปัญหาในระดับของตัวผู้นำ หรือการตั้งรัฐบาลแบบ “ประนีประนอมยอมความ” ดังจะเห็นได้จากบทเรียน 6 ตุลาฯ ว่า การสลายความขัดแย้งนั้น มีทั้งการนิรโทษกรรมทั้งหมด การประกาศคำสั่ง 66/23 และตามมาด้วยการปรับยุทธศาสตร์ ท่าที แนวนโยบาย เพื่อการยุติความขัดแย้งทั้งระบบ และยังรวมถึงการรัฐประหาร 2520 เพื่อล้มระบอบเดิมที่เป็นหนึ่งในต้นทางสำคัญของปัญหา และทำให้เกิดการปรับนโยบายของรัฐไทย

แน่นอนว่า การสลายความขัดแย้ง “ยุคทักษิณ” นี้ อาจไม่จบลงทั้งหมด เพราะเป็นปัญหาที่ฝังรากมานานกว่า 2 ทศวรรษ และเป็นความขัดแย้งที่เสมือนการรบที่ “ผลัดกันรุก-ผลัดกันรับ” และต่างฝ่ายต่างมีมวลชนของตนอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมี “ตัวแสดงใหม่-มวลชนชุดใหม่” แทรกตัวเข้ามาในปัจจุบันด้วย

แต่อย่างน้อยการกลับจากการลี้ภัยของผู้นำ การตั้งรัฐบาลผสมกับกลุ่มอำนาจเดิม และการมาของกลุ่มการเมืองใหม่ ย่อมมีนัยถึงการสิ้นสุดของยุคทางการเมืองชุดหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสัญญาณถึงการเดินทางสู่ “เฟสใหม่” ของการเมืองไทย แต่ก็มิได้มีนัยว่า กลุ่มการเมืองเก่าล่มสลาย และพ่ายแพ้ไปทั้งหมด … การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปด้วยเงื่อนไขของสถานการณ์ใหม่และการจัดระเบียบทางการเมืองใหม่ และแน่นอนว่า การเปลี่ยนยุคทางการเมืองชุดนี้พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญกับความท้าทายชุดใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย!