ประกาศกบูลชิท

ศัพท์ไทยไม่ได้แยกไว้ แต่ฝรั่งเขาแบ่งระหว่างการ “โกหก” กับ “บูลชิท”

ไม่รู้จะแปลบูลชิทเป็นภาษาไทยยังไง ถ้าเอาตามตัวเลยก็แปลได้ว่า “ขี้วัว” คือเป็นคำพูดที่ไม่มีสาระ

เอาเจาะจงกว่านั้น “บูล” ที่ว่าสื่อเฉพาะถึงวัวหรือกระทิงหนุ่ม เขาใช้คำนี้ก็เพราะส่วนใหญ่การบูลชิทมักเกิดขึ้นในวงสนทนาของผู้ชายที่ชอบพูดเลอะเทอะ บลั๊ฟฟ์ อวดโชว์ความรู้ ฐานะโน่นนี่กันไปมาโดยไม่มีสาระ พูดไปเรื่อย หลับหูหลับตาพูด

ซึ่งพฤติกรรมนี้แตกต่างจากการโกหก

เวลาใครสักคนจะโกหก เขาต้องรู้ว่าอะไรจริง เพียงแต่ต้องการจงใจปกปิดความจริงนั้น

ในขณะที่คนบูลชิทไม่มีเจตนาดังกล่าวเลย เขาเพียงเอาเรื่องโน้นมาผสมนี้ เรื่องที่เล่าอาจจะจริงหรือไม่จริง จริงบ้างไม่จริงบ้าง

แต่ในหัวนั้น เขาไม่รู้หรือไม่สนด้วยซ้ำว่าอะไรคือความจริง เน้นเพียงเล่าความอะไรก็ได้ที่น่าจะเข้าหู เสริมด้วยบุคลิกฉะฉาน มั่นใจ ชวนฟัง ที่ทำให้คนส่วนใหญ่หรือใครบางคนเห็นแล้วชอบ

 

ใครเคยใช้แชตจีพีทีคงพอจินตนาการอาการบูลชิทออก ตัวอย่างเช่น วันก่อนผมเห็นนักกฎหมายท่านหนึ่งช่วงหลังให้ความเห็นทางการเมืองในรายการโทรทัศน์บ่อย ดูฉะฉาน มั่นใจ ชวนฟัง เลยสนใจแล้วสืบค้นประวัติเขาโดยการถามแชตจีพีที ได้ความว่านักกฎหมายท่านดังกล่าวเป็นดังนี้

“เป็นนักวิจัยและนักเขียนชาวไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์สุโขทัยและประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนาไทย”

อย่างที่ว่าไป เขาเป็นนักฎหมาย และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับงานประวัติศาสตร์ ไม่ต้องพูดถึงสุโขทัยและล้านนา

คนในวงการเรียกพฤติกรรมแต่งเรื่องของแชตจีพีทีนี้ว่า “อาการหลอน”

เวลาผมเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง คู่สนทนามักถามกลับว่าทำไมแชตจีพีทีต้อง “โกหก”

ฟังแล้วผมต้องรีบแก้ทันที ว่าที่จริงแชตจีพีทีโกหกไม่เป็น แต่ปัญหาคือมันไม่มีความสามารถที่จะรู้เลยด้วยซ้ำ ว่าอะไรคือเรื่องโกหก-ไม่โกหก จริง-ไม่จริง

เมื่อแยกไม่ได้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ย่อมไม่มีเจตนาบิดเบือนความจริง และเมื่อไม่มีเจตนาและสามัญสำนึก ย่อมไม่เป็นการโกหก

หรือพูดง่ายๆ คือมันบูลชิทต่างหาก

 

พออธิบายเรื่องนี้บ่อยเข้าก็ขนลุก เพราะเริ่มคิดได้ว่าอาการบูลชิทของแชตจีพีทีกับคนนั้นมีที่มาที่ไปคล้ายกัน คือการถูกฝึกหรือตั้งเป้าหมายไว้ที่ “รางวัลทางสังคม” คือคนฟังจะชอบ

ในกรณีแชตจีพีที เขาทำงานคล้ายกับระบบ auto-completion ในมือถือที่เราคุ้นเคย คือพอเราเริ่มพิมพ์แล้วมันจะประมวลจากฐานข้อมูลจำนวนมหาศาลว่าโดยความน่าจะเป็นแล้ว คำต่อไปในประโยคน่าจะเป็นคำอะไร แล้วลองเสนอคำให้เรากดเลือกจะได้ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์

โมเดลทำงานทำนองนี้ เมื่อเราป้อนคำถามหรือสั่ง แชตจีพีทีจะประมวลเลือกคำต่อไปที่น่าจะเป็น มาจัดเป็นประโยคหรือข้อเขียนขนาดยาวที่ตอบสนองและน่าจะทำให้เราพอใจ

ซึ่งการทำงานเช่นนี้เกิดขึ้นได้ผ่านการประมวลฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล และความสามารถในการเรียนรู้ของเอไอในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เก่งกว่ามหาศาลแค่ไหนไม่สำคัญ ประเด็นคือเราจะเห็นได้ว่ากระบวนการสร้างคำตอบของแชตจีพีทีไม่ได้มีสำนึกถูก-ผิด จริง-ไม่จริง ใด

แต่เป็นการหาวิธีเอาคำที่น่าจะใช่ มาปั้นเป็นเรื่องที่คนฟังน่าจะชอบ

เรื่องที่ออกมาอาจถูกหรือไม่ถูกข้อเท็จจริงก็ได้ เอาเป็นว่าถ้าคนอ่านแล้วไม่สั่งแก้หรือให้ตอบใหม่เป็นอันใช้ได้

ว่าไปว่ามา อาการพูดไปเรื่อยเพื่อมุ่งรางวัลแบบนี้ก็ไม่ต่างจากอาการบูลชิทของเหล่าประกาศสมัยใหม่

ลุง Harry Frankfurt นักปรัชญาดาวดังของฮาร์วาร์ดผู้วิเคราะห์ นิยาม และทำให้บูลชิทติดตลาด เล่าว่าที่มาที่ไปที่ทำให้เขามาคิดเรื่องนี้ก็คือปรากฏการณ์โลกยุคใหม่ ที่สื่อมีพื้นที่ให้นักโน่นนักนี่จำนวนมากแห่กันออกมาให้ความเห็นกับสถานการณ์บ้านเมือง

ลุงเห็นว่านักต่างๆ เหล่านี้ก็แข่งกันแย่งพื้นที่สาธารณะดังกล่าวด้วยการแข่งขันกันปั้นคำ เนื้อหา หรือแนวคิดที่ฟังดูดี เพื่อสร้างฐานแฟนคลับหรือเป็นที่ยอมรับ

เมื่อประกอบกับบุคลิก น้ำเสียง พรสวรรค์ในการเรียบเรียงถ่ายทอด เนื้อหาเหล่านี้มักฟังดูสอดคล้องต่อเนื่อง ชวนฟัง และน่าเชื่อถือ

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือถ้าตั้งใจฟังจะพบว่าเนื้อหามันบูลชิท

 

สมมุตินักการเมืองพรรคหนึ่งอาจพูดสัญญาออกสื่อว่าไม่ได้หักหลังพรรคพันธมิตร ถ้าหักหลังจะลาออก

แต่เวลาต่อมาเราก็รู้ว่าเขา “โกหก” เพราะเขาแอบไปคุยจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วตรงข้าม แล้วสุดท้ายก็ไม่ลาออก

แบบนี้เราบอกว่าเขาโกหกก็เพราะเรารู้ว่าเขารู้ว่าความจริงคืออะไร เพียงแต่จงใจปกปิดเรื่องนี้ไว้เพื่อกันแรงต้านทางการเมืองจากภายนอก

แต่อาการบูลชิทนั้นแตกต่าง เราอาจนึกถึงนักให้ความเห็นทางโทรทัศน์ที่ไปได้ทุกงาน พูดได้ทุกเรื่อง พูดไปเรื่อย ไมมีเจตนาและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการโกหกคืออะไร

สมมุติมีนักการเมืองท่านหนึ่งกำลังจะหมดวาระจากตำแหน่ง นักข่าวจึงไปถามด้วยคำถามเชิงเปรียบเปรย ว่าการเดินทางไปเยี่ยมพื้นที่เย็นนี้จะเป็น “การเดินทางเที่ยวสุดท้ายหรือไม่” ใครฟังก็รู้ว่าคำถามนี้เป็นการถามโดยอ้อมว่าท่านจะหาทางสืบต่ออำนาจหรือไม่ แล้วท่านตอบว่าสำหรับประเทศชาติ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเที่ยวสุดท้าย เราทุกคนต้องสามัคคีกันเดินทางต่อไปเรื่อยๆ เพื่อชาติของเรา”

ฟังดูดี ลื่นหูนะ ครับ แต่คิดตามดีๆ อาจหลุดอุทานว่า “ตอบอะไร” (วะ)

หรือสมมุติประกาศกขาประจำในรายการทีวีให้ความเห็นว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ควรคิดดื้อดึงว่าตัวเองจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะสัจธรรมการเมืองไทยคือเรามีรัฐบาลพรรคผสมเสมอ แม้แต่สมัยไทยรักไทยชนะแลนด์สไลด์ ภายในพรรคเองก็มีมุ้งการเมืองมากมาย จึงต้องถือว่าเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคเช่นกัน

เนื้อหานี้เถียงกันได้หลายเรื่อง เช่น การมีพรรคหลักในรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่มีหลายมุ้งภายในไม่เท่ากับการมีรัฐบาลผสมหลายพรรค หรือทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับข้อสรุปว่าคนชนะการเลือกตั้งไม่ควรตั้งความหวังได้จัดรัฐบาล (วะ)

แต่ถ้าฟังแล้วไม่คิดก็ถือว่าลื่นหู และถ้าถามว่าเขาถึงกับโกหกหรือปล่าว ผมว่าไม่ แม้ทั้งหมดนี้จะฟังดูเลอะเทอะ แต่หากลดระดับสติปัญญาขณะฟังก็อาจจะไหลตามไปแบบงงๆ (แต่เอาไปเล่าต่อไม่ถูกนะ เพราะแค่รู้สึกว่าฟังดูดี แต่ไม่เข้าใจ)

ว่าไปก็ไม่ต่างจากพวกประกาศที่ออกมาปกป้องบุคคล พรรคการเมือง ที่ตนเองเชียร์ ว่าที่เขาทำอะไรดูเลวร้าย แท้จริงแล้วเขากำลังเสียสละ ยอมโดนด่าเพื่อให้ทุกอย่างไปต่อได้ อะไรทำนองนั้น

ถ้าถามว่าพวกนี้พูดโกหกไหมก็คงไม่ ผมว่าถึงที่สุดคนพูดเขาก็ไม่รู้ว่าที่เขาพูดมันจริงไหม และไม่ได้สนใจขนาดนั้น เพียงแต่บูลชิทแบกกันไว้ก่อน

 

ที่ชวนท่านผู้อ่านคุยเรื่องนี้ ก็เพราะบทเรียนจากโลกตะวันตกเขาว่าอาการบูลชิทนี่ทำไปทำมาน่ากลัวกว่าการโกหก

เพราะสมมุติคุณเจอคนจำพวกหลัง ถึงที่สุดคุณยังเจรจาต่อรองกับเขาได้ เพราะคุณมีฐานคิดร่วมกันคือยังใส่ใจจะรู้อยู่ว่าอะไรคือความจริงและเท็จ ถ้าจูงใจด้วยผลประโยชน์บางอย่างได้ เขาอาจเลิกโกหก หรือถ้าโกหกต่อ เราก็หาทางหาข้อเท็จจริงมาจับโป๊ะเขาได้

แต่กับคนบูลชิท มันคุยกันรู้เรื่องยาก เพราะเขาจะพูดไปเรื่อย ไม่มีข้อเท็จจริง เนื้อหา สาระอะไรเป็นฐานไว้เถียงกันเพื่อต้อนให้จำนวนหรือหาทางออกร่วมกันได้

คุยกันในทีวีไม่จบ อาจต้องชวนกันไปนั่งกินชาคุยกันต่อ แต่ต่อให้ไปก็ไม่จบอยู่ดี เพราะถึงที่สุดทั้งหมดนี้มันตั้งต้นจากความบูลชิท คนบูลชิทหลายคนไม่สามารถแยกแยะความจริงความเท็จในหัวได้ด้วยซ้ำ

สรุปคือคนพวกนี้จับยากกว่า น่ารำคาญกว่า กำจัดยากกว่า และเป็นภัยต่อสติปัญญาของสาธารณะกว่าคนโกหก ที่ถึงที่สุดยังเป็นแบบฝึกหัดให้สังคมช่วยกันต้อนจับโป๊ะได้

อย่างไรก็ตาม ผมว่าเราไม่ควรมองโลกแง่ร้ายเกินไป ต้องไม่ลืมว่าการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ การบูลชิทก็เป็นส่วนหนึ่งในเกมดังกล่าว เราไม่ควรยกตนว่ามีศีลธรรมสูงส่งวิจารณ์ด่าคนที่เขาอยู่ในเกมแบบไร้เดียงสา ถ้าถึงที่สุดแล้วไม่ชอบจริงๆ คุณก็ยังเปลี่ยนช่องหนีคนบูลชิทไปดูรายการอื่นได้ในอนาคต มากกว่านั้น การที่คนเหล่านี้ออกมานำเสนอความเห็นของตัวเองก็ถือเป็นวิถีประชาธิปไตย ที่คุ้มครองและสนับสนุนให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียง ใช่ครับ แทนที่จะกีดกั้น เราควรเปิดใจให้กว้าง ตั้งใจฟัง แล้วร่วมสนทนากับคนที่เราไม่เห็นด้วยเหล่านี้จะเป็นคุณกับสาธารณะมากกว่าครับ

ย่อหน้าตะกี้ผมบูลชิทครับ