ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (2) การศึกษาจะไปทางไหน

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ไหว้ครูแสนดี ติมอร์-เลสเต (2)

การศึกษาจะไปทางไหน

 

กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าไร้เมล็ด บนโต๊ะเครื่องดื่มในห้องรับรองสนามบิน ถูกวนเวียนมาเด็ดกินลูกแล้วลูกเล่าด้วยความเอร็ดอร่อยจนเหลือแต่โคนหวี ขณะบทสนทนาระหว่างเจ้าภาพกับคณะผู้มาเยือนว่าด้วยการศึกษาติมอร์ ไทย ดังให้ได้ยินเป็นระยะๆ

“แต่ก่อนรัฐบาลจะส่งความช่วยเหลือไปที่โรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองไม่รู้ว่าโรงเรียนเอาไปทำอะไรบ้าง ไม่มีรายงาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นส่งตรงไปที่ตัวเด็กและครอบครัวทำให้ได้ประโยชน์มากกว่า เพราะกระตุ้นให้สนใจดูแลเด็กมากขึ้น รู้ว่าควรจะเอาไปใช้อะไร ช่วยติดตามการเล่าเรียน การไปโรงเรียนไม่ให้ขาด”

“ที่ประเทศไทยเรามีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ทุนสมทบเพิ่มกับเด็กที่ยากจนพิเศษ ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน”

นพ.สุภกร อดีตผู้จัดการกองทุน กสศ. สวมบทนักขายทางการศึกษาตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึง คุณอัลเฟรโด เดออาลาวโค นักการศึกษาอาวุโส ฝ่ายประสานงานต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการติมอร์ รับฟังด้วยความสนใจ ทำท่าจะรับซื้อความคิด

เสียงเลขานุการเอก สถานทูตไทยแจ้งว่า การประทับตราวีซ่าเข้าเมืองเรียบร้อยแล้ว เตรียมออกเดินทางต่อ แต่ขอขยับเวลาเล็กน้อยเพื่อให้คลายเหนื่อยกับกาแฟชั้นยอด สินค้าส่งออกเลื่องชือของติมอร์ที่ร้านกาแฟขายดีกันก่อน

ทันทีที่ไปถึง คุณสกลวัฒน์ ทองเจริญ อุปทูต ณ กรุงดิลี ยืนยิ้มรอรับอยู่ก่อนแล้วเพื่อร่วมคณะไปด้วยกัน

“ท่านเอกอัคราชทูต ณ กรุงดิลี เพิ่งได้รับคำสั่งย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำคูเวตสองเดือนแล้วครับ” อุปทูตหนุ่ม วัย 53 ศิษย์เก่าเอแบคและมหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ อังกฤษ เล่าความเป็นไปของการทูตไทยในติมอร์ก่อนบอกให้ออกเดินทาง

Jesus Soares รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการติมอร์-เลสเต (สตรีคนที่สามจากขวามือ) พร้อมด้วยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ติมอร์-เลสเต ทั้ง 5 คน ต้อนรับคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ที่กระทรวงศึกษาธิการ ติมอร์-เลสเต

ถึงห้องรับรองกระทรวงศึกษาธิการก่อนเวลานัดเล็กน้อย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บริหารการศึกษาและกิจการโรงเรียน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน จับมือทักทายทุกคน ระหว่างรอ Dulce de Jesus Soares รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำลังมาถึง

เธอเป็นนักการศึกษาระดับแถวหน้า เกิด 20 ตุลาคม พ.ศ.2510 อายุ 56 ปี จบปริญญาตรีสาขาการศึกษา วิชาเอกการสอน จากมหาวิทยาลัยอูดายานา บาหลี อินโดนีเซีย ปริญญาโท สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ออสเตรเลีย

ผ่านประสบการณ์เป็นครูภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษา หัวหน้าฝ่ายสังคม วัฒนธรรม การวางแผนพัฒนาเทศบาล โบโบนาโร เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิเด็ก ค.ศ.2000-2012 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้านการศึกษาพื้นฐาน ค

ศ.2014-2017 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬา ค.ศ.2018-2020

ต่อมาเป็นผู้ประสานงานการแก้สถานการณ์โควิด-19 ที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา ยูเนสโก ประจำกรุงเทพฯ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านการศึกษา 2022 ถึงปัจจุบัน

มีบทบาทด้านการศึกษาและเด็กอย่างต่อเนื่องในช่วงที่นายกุสเมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ค.ศ.2007-2015 เห็นฝีไม้ลายมือกันมาก่อน เมื่อเขากลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 เลยชวนเธอเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาธิการอีก

พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการที่ตามมา เดิมกระทรวงศึกษาธิการรวมเอางานด้านเยาวชนและกีฬาเข้ามาอยู่ด้วยชื่อว่า กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬา ช่วงต่อจากนี้ ค.ศ.2023-2028 แยกเป็น 2 กระทรวงได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยมีตำแหน่งระดับรองจากรัฐมนตรีเพิ่ม 2 ตำแหน่ง คือ Secretary of State for High School and Technical Schools กับ Secretary of State for Vocational Training and Employment

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเพราะเหตุผลทางการศึกษาล้วนๆ หรือมีเหตุผลทางการเมืองด้วย เสียดายไม่มีโอกาสถามเธอ

อย่างไรก็ตาม แนวคิด ทิศทางนโยบายน่าสนใจ ด้วยการจัดระเบียบ ปรับปรุงกฎหมายก่อนมัธยมศึกษา มัธยมศึกษาและการศึกษาท้องถิ่น เน้นสร้างระเบียบวินัยและจริยธรรมครู ระบบการทดสอบความเป็นครูให้มีศักดิ์ศรี วางแนวทางการเปิดโรงเรียนช่วงสถานการณ์โควิด ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ ทบทวนหลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรก่อนปฐมวัย ปฐมวัย

 

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิ กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่น ก่อนเล่าถึงการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ตั้งแต่มอบรางวัลครั้งแรก พ.ศ.2558 และทุกสองปีต่อมา

“ขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการติมอร์ในการสนับสนุนกระบวนการคัดเลือกครูรางวัลฯ ตลอดมา รุ่นที่ 5 จะมีพิธีพระราชทานรางวัลวันที่ 17 ตุลาคมนี้ที่กรุงเทพฯ ช่วงเช้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่ครูทั้ง 11 ประเทศ ช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเยี่ยมชมโครงการหลวงในวันรุ่งขึ้น”

“ในช่วงโควิด-19 มีโปรเจ็กต์ออนไลน์ ติดต่อประสานงานกับผู้ปกครองและเด็ก ติดตามข้อมูลว่าแต่ละประเทศจัดการการศึกษาอย่างไร เมื่อเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ติมอร์จัดตั้งเป็นกลุ่มโรงเรียนในรูปแบบคลัสเตอร์ แตกต่างจากประเทศไทย”

“การพระราชทานรางวัลในรอบถัดไป ทรงมีพระราชดำริเพิ่มอีก 3 ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย ภูฏาน และบังกลาเทศ ติมอร์-เลสเต เป็นจุดตั้งต้น เนื่องจากจะได้เข้าร่วมอาเซียนในอนาคต”

หลังรับฟังการดำเนินงานของมูลนิธิจบ Dulce Soares กล่าวตอบ “รู้สึกยินดีที่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีให้การยอมรับติมอร์-เลสเต รวมถึงการสนับสนุนที่มอบให้ครู พวกเขาสามารถนำประสบการณ์กลับมาแบ่งปันกับเพื่อนร่วมงาน สร้างแรงจูงใจให้ครูคนอื่นๆ ได้ปฏิบัติตามเพื่อเป็นครูที่ดีและได้รับการประเมินจากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ถึงแม้ว่าเวลานั้นติมอร์-เลสเตยังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนก็ตาม ก็ได้รับเกียรติตั้งแต่ปี 2558”

พิธีการต้อนรับ สนทนาจบลง ทั้งสองฝ่ายเปิดเวทีให้สื่อมวลชนติมอร์ซักถาม พูดคุยกับครูรางวัลฯ ติมอร์-เลสเตทั้ง 5 คน อย่างเต็มที่

 

“มูลนิธิมีกระบวนการคัดเลือกครูเข้ารับรางวัลอย่างไร” เหยี่ยวข่าวสาวติมอร์คนแรก ยิงประเด็นทันที

“มูลนิธิจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกณฑ์ที่ครูจะได้รับการเสนอชื่อมาจากคุณูปการที่ให้กับการศึกษาและเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่ครูผู้อื่น แต่ละประเทศมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเลือกสรรเอง จากผลงานของครูในการสอนนักเรียนและกิจกรรมทางการศึกษาที่มีเป้าหมายนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา” ประธานมูลนิธิตอบ

ฟังบทสนทนาภายใต้เวลาจำกัด นักสังเกตการณ์ทางการศึกษาอยากรู้ไม่รู้จบ “ทิศทางทางการศึกษาภายใต้สภาวะขาดแคลนของติมอร์-เลสเต จะไปทางไหน”

มาพบคำตอบในเวลาต่อมาจาก ณัฐวุฒิ เนาวบุตร ประธานนักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา รุ่น 11 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายไว้ในวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประเทศติมอร์ของเขา

 

การจัดการด้านการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะรัฐใหม่อย่างติมอร์-เลสเต การศึกษาเป็นการต่อยอดโครงการที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ในช่วง ค.ศ.1999 -2000 ปัจจุบันยังมีการขาดแคลนโรงเรียน บุคลากร และวัสดุที่ดี การเรียนการสอนจะได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครต่างๆ เช่น UNTAET CNRT UNICEF WORLD BANK และอื่นๆ เพื่อยกระดับบุคลากรในอนาคต โดยมีโรงเรียนที่เปิดทำการเพิ่มอีก 130 โรง จากที่มีอยู่ประมาณ 900 โรง ทั้งนี้ เงิน 50% ของกองทุนงบประมาณยังถูกนำมาใช้เพื่อการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ โดยโครงการทางการศึกษาหลัก 8 โครงการมีเป้าหมายดังนี้

1. ขยายการเข้าถึงการศึกษาและปรับปรุงประสิทธิภาพภายในของระบบโรงเรียน

2. ปรับปรุงคุณภาพด้านการศึกษา 3. สร้างศักยภาพด้านการบริหารและปรับปรุงการให้บริการ

4. สนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียนและการรู้หนังสือในประชาชนกลุ่มผุ้ใหญ่

5. สนับสนุนวัฒนธรรมและศิลปะของประเทศ

6. สนับสนุนการพลศึกษาและกีฬาในโรงเรียน

7. สนับสนุนสวัสดิการเยาวชน

8. พัฒนาการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

“การสร้างการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิกาพสูงสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจน คนพิการ ผู้สูงอายุและสตรี เพื่อให้ประชาชนของชาติมีความรู้และมีทักษะที่จะช่วยสร้างประเทศ”

คณะเดินทางฝ่ายไทยบอกลาเจ้าภาพ เตรียมตัวสำหรับรายการต่อไป พบคนไทยในติมอร์-เลสเต ที่สถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงดิลี ในบ่ายวันเดียวกัน