จาก ‘รัฐพันลึก’ ถึง ‘สองนคร’

อภิญญา ตะวันออก

น่าประหลาดใจอย่างมากเทียว

เมื่อเทียบละติจูดที่ตั้งของ 3 ประเทศ “ไทย-เมียนมา-เขมร” ซึ่งมีพรมแดนติดกัน และอย่างที่ทราบ มีรากวัฒนธรรมแบบเถรวาทที่คล้ายคลึงกัน ทว่าประหลาด พลเมืองของ 3 ประเทศนี้กลับมีสภาพหลายอย่างที่เหมือนกัน โดยเฉพาะไทย-กัมพูชา

“การเมือง” ประเทศทั้ง 2 นี้ ช่างมี “วาระ” หลายอย่างที่บังเอิญมาพ้องกัน!

หนึ่งในนั้น โดยมิได้นัดหมาย ต่อกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีที่ปรากฏว่า นอกจากระบอบรัฐสภาที่มีลักษณะพิเศษ ตั้งแต่พบว่า แม้ไทยจะมีการเลือกตั้งก่อนกัมพูชาราว 9 สัปดาห์ แต่ท้ายที่สุด ด้วยอิทธิพลแห่งราหูหรือความเชื่อใดๆ ที่กำหนดเป็นไปในฤกษ์งามยามดีของ 2 ประเทศจนนำพาให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในสภาวันเดียวกัน!

ดังนั้น ปรากฏการณ์นายกรัฐมนตรี “คนใหม่” ของไทย/กัมพูชา จากพิธี “เบาะโฉนด” หรือ “โหวตเสียง” ในรัฐสภา ซึ่งวันที่ 22 สิงหาคม 2566 วันดีที่สุดของปีนี้ที่ยังเผยให้เห็นว่า กระบวนการเลือกตั้งทั้ง 2 นคร 2 ขนบ ที่ผ่านมาอย่างพ้องกัน

กล่าวคือ เป็นเพียงแค่ “พิธีกรรม” แห่งระบอบปกครองของ 2 ประเทศนี้?

สมเด็จฮุน เซน ผู้นำเขมร ถึงกับแสดงความปลาบปลื้มใจในทวิตเตอร์ โดยคาดหวังว่า ทั้งสองนคร ราชอาณาจักร จะมีความร่วมมือต่อกันอย่างเอกอุในอนาคตที่นำโดยผู้นำคนใหม่!

เจิดมาก! ดังจะเห็นได้ว่า สมเด็จฮุน เซน พึงใจกับผลประโยชน์ที่ผ่านทางการท่องเที่ยวที่ผ่านมา และต่อความร่วมมืออย่างเอกอุที่ผ่านมา ตามที่ทราบจากข่าวที่เปิดเผยออกมา พบว่าระบอบของประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ 2557 จนหมดวาระไป ได้ให้ประโยชน์ต่อระบอบฮุนเซนอย่างไร?

และที่มาที่ไปในการอุ้มสม “ระบอบ 2 นครา” อันมีที่มาจากการเมืองระบอบเดียวกันของรัฐพันลึก (deep state) ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการพิธีกรรมอำพรางเลือกตั้ง/เบาะโฉนด-โหวตเสียงจากประชาชนคูหาถึงรัฐสภาของนักการเมืองและอื่นๆ

ซึ่งในที่สุดก็พบว่านี่คือวิถี “สังฆกรรม” อำนาจของระบอบที่เอื้อกันมาบนระนาบคาบเดียวกันของเผด็จการซ่อนรูปทั้งไทย-กัมพูชาโดยอาศัยการเลือกตั้งในการฟอกตัว!

จึงว่า ทำไมนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถึงถูกสมเด็จฮุน เซน “ด้อยค่า” ในทันทีที่ก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง?

โดยแท้ นี่คือพรรคการเมืองแนวใหม่ที่เป็นภัยความมั่นคงของทุนผูกขาดทั้งในไทยและเขมร ไม่ว่าจะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของระบอบประยุทธ์ และเพื่อไทยที่กลายมาเป็นรัฐบาลผสมพันธุ์กันวันนี้ หรือระบอบฮุนเซน!

วงแหวนลาวา “แห่งจิตวิญญาณ” การต่อสู้ของก้าวไกลที่มีประชาชนวงกว้างหนุนหลังนี้ ไม่เพียงแต่จะคุกคามการมีอยู่ของชนชั้นอนุรักษนิยมในไทยเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงแคมโบเดียที่ใช้โมเดลเดินเกมการเมืองแบบเดียวกันของกลุ่มผู้นำเขมรหนุ่มที่สืบทอดอำนาจนิยมของบิดา

ก้าวไกลเป็นปฏิปักษ์ร้ายแรงใหม่ที่จะกลายเป็นโมเดลการต่อสู้ของบางกลุ่มประชาชนที่มีต่อระบอบฮุนเซนในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่วิกฤตอันวิบากจากปัญหาโดดเดี่ยวเศรษฐกิจจากตะวันตกและการมาถึงซึ่งอัสดงของระบอบสี จิ้นผิง ในนโยบาย “1 ถนน 1 เส้นทาง” ที่ส่งผลกระทบต่อเขมรเป็นวงกว้าง จนกัมพูชาต้องสยบยอมต่อความช่วยเหลือใดๆ ในนโยบายด้านความมั่นคงของทางการจีน

และการพึ่งพิงตลาดจีนเดียวของกัมพูชากำลังจะส่งสัญญาณปัญหาบางอย่างที่ผู้นำเขมรต้องมีหลังพิงที่เป็นรัฐบาลเพื่อไทย ขณะที่ก้าวไกล ที่ผู้นำกัมพูชาคิดว่าเป็นภัยคุกคามในรูปปฏิวัติสี/ปฏิวัติวัฒนธรรมจะถูกสกัดกั้นไปเองโดยอัตโนมัติเหมือนที่รัฐบาลไทยในอดีตทุกสมัยเคยร่วมมือฮุน เซน ในการด้อยค่า/บีบพื้นที่พรรคฝ่ายค้านในเขมรอย่างซีเอ็นอาร์พี?

ตามนั้น ที่เป็นครรลองของการต่อสู้ 2 ฝ่ายในการเมืองไทย-เขมรบนระนาบเดียวกัน ทว่า หาใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด ไม่ว่าการไปฉลองวันเกิดสมเด็จฮุน เซน-บิดา และร่วมแสดงความยินดีฮุน มาแนต ว่าที่นายกฯ ผู้เป็นลูกชายของพี่น้องนายกฯ ตระกูลชินวัตร ที่ผู้นำเขมรอ้างว่าเป็นพี่ชายบุญธรรม

และนัยทีนั้น ตระกูลชินวัตรเองก็มีการ “ดองกัน” ผ่านทางเครือญาติและสะใภ้ตระกูลฮุน ซึ่งในที่นี้ก็มีตำแหน่งสำคัญทางการเมือง!

จึงไม่แปลกที่สมเด็จฮุน เซน จะเรียกขานท่านทักษิณ ชินวัตร ว่าเสมือนพี่ชายบุญธรรม!

สารจากทวิตเตอร์ฮุน เซน ยังแสดงความอาทรต่อนายกฯ ทักษิณอย่างสุดซึ้งผ่านวิถีการเมืองโดยพรรคเพื่อไทยและส่วนตัวต่อพี่ชายบุญธรรมโดยตรง ยังไม่นับความโอฬาริกจากสื่อเขมรทุกเครือข่ายที่หันมาเล่นข่าวรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มกระดาน!

 

มีอะไรใหม่ ที่รัฐบาลต่อไปของไทย-กัมพูชาจะต้องฝ่าด่านเผชิญหน้า?

รัฐบาลของฮุนเซน 1 ที่นำโดยฮุน มาแนต ดูเหมือนจะสร้างความเชื่อที่ว่าพวกเขาเป็นคนหนุ่มที่อาจพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม แต่ด้านหนึ่ง กลับพบว่า รัฐมนตรีหนุ่มเหล่านั้นกลับเป็นลูกหลานสมเด็จฮุน เซน ทั้งสิ้น ตัวอย่าง นายสก สุกัน รัฐมนตรีการท่องเที่ยวคนใหม่ในยุคฮุน มาแนต

และคาดว่า แนวคิดนโยบายรุ่นพ่อ ต่อการสร้างขนบวัฒนธรรมเขมรและการท่องเที่ยวในแบบ “สองนครา” แต่ “วิน-วิน” ในผลประโยชน์ร่วมกัน” อย่าง “2 ราชอาณาจักร : 1 เป้าหมายการท่องเที่ยว” (ทวิตเตอร์ : Sa-nguan Khumrungroj) ในสมัย “ฮุน เซน-ประยุทธ์” ที่ดำเนินกันมา

พลัน เมื่อประยุทธ์ไป-แต่เพื่อไทยมา สมเด็จฮุน เซน จึงย่อมยินดีเป็นธรรมดา?

แม้บัดนี้ สก โสกัน รัฐมนตรีท่องเที่ยวคนใหม่กัมพูชาซึ่งเป็นคนหนุ่มรุ่นวัย 40 กะเม็ง และมีฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของฮุน เซน ในฐานะลูกชายคนเล็กของนายสก อาน รมต.คู่ใจที่ฮุน เซน เลิฟมาก จนเมื่อสก อาน จากโลกนี้ไป ฮุน เซน ก็ดูแลลูกๆ ของเขาเป็นอย่างดี

โดย สก โสกัน นั้นสมรสกับลูกสาวเจ้าของ Vattanac Group ที่ควบธุรกิจให้ตระกูลฮุนมายาวนาน ทั้งภาคการเงินธนาคารและโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ด้านอสังหาริมทรัพย์

ไม่เท่านั้น สก โสกัน ยังเป็นน้องชายสก พุทธิวุธ รัฐมนตรีกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม และเป็นเขยโปรดของสมเด็จฮุน เซน

การที่สก โสกัน เข้ามานั่งเป็น รมต.รอบนี้ จึงไม่ต่างจากโควต้าตระกูลฮุนซึ่งคุมกระทรวงใหญ่ๆ เกือบทั้งหมดที่จะทำให้ระบอบฮุนเซนมั่นคงสถาพรตลอดจนยึดโยงผลประโยชน์มหาศาลของครอบครัวตระกูลทั้งแบบผูกขาดและแข่งขันผ่านนอมินีฝ่ายต่างๆ

และคาดว่า สก โสกัน จะรื้อทิ้งนโยบาย “2 เขตคาม 1 การท่องเที่ยว” (สอง/ราชอาณาจักร : หนึ่ง/การท่องเที่ยว) ที่ระบอบฮุนเซนตีกินซอฟต์เพาเวอร์ไทย จนสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้ระบอบของตนในรูปแบบต่างๆ ทั้งออกหน้าออกตาโปรโมตในประเทศและต่างแดน

อันน่าทบทวนว่า ทำไมกัมพูชา ซึ่งมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและโบราณสถานเป็นต้นทุนในระดับมรดกโลกจำนวนมาก

แต่ทำไมรัฐบาลฮุนเซนจึงมีนโยบาย “สงกรานต์องกอร์” และ “กุนขแมร์” ควบคู่ไปกับสงกรานต์-มวยไทย?

 

เอาเข้าจริง นั่นยังเป็นประเด็นรองของ “2 นครา” อย่างเห็นได้ว่า บัดนี้ “รัฐพันลึก” ในรูปแบบต่างๆ ที่ผ่านมาของไทยกำลังถูกต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ จากคนรุ่นใหม่ที่พากันเห็นว่า นี่คือผลไม้พิษที่ฉุดรั้งไม่ให้ประชาธิปไตยงอกงามในประเทศนี้?

พวกเขารู้สึกอ่อนล้าในการเผชิญหน้าที่จะเอาชนะ ทว่า ต่างจากกัมพูชา ที่กระแสต่อต้านรัฐพันลึกในไทย กลับเข้มแข็งและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันนี้ที่กัมพูชาผู้คนอ่อนแอไปมาก

แม้ในขณะที่ผู้นำสูงสุดอย่างฮุน เซน กำลังลงจากอำนาจ?

อะไรคือจุดแข็งแกร่งและเปราะบางของ “สองนครา” ประชากรประเทศนี้?